สิทธิในที่ดิน
- ที่ดินที่เจ้าของมีกรรมสิทธิ์ ได้แก่ โฉนดที่ดิน โฉนดตราจอง โฉนดแผนที่และตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว
- ที่ดินที่เจ้าของมีสิทธิครอบครอง ได้แก่ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส.3, น.ส.3 ก. และ น.ส.3 ข. , ใบจอง น.ส.2 , ใบเหยียบย่ำ ส.ค.1 , น.ค.3 และ ส.ป.ก. 4-01
กรณี "ที่ดินมือเปล่า" คือที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ผู้ครอบครองที่ดินมีสิทธิเหนือบุคคลอื่นที่ไม่ได้ครอบครองที่ดิน
หมายเหตุ ภ.บ.ท.11 คือ ใบเสร็จที่เสียค่าบำรุงท้องที่ เป็นเพียงหลักฐานการเสียภาษี ยังไม่อาจถือว่าเป็นหลักฐานเอกสารสิทธิในที่ดินให้บุคคลผู้เสียภาษีเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวได้ ผู้ที่มีชื่อใน ภ.บ.ท.11 อาจไม่ใช่เจ้าของที่ดินก็ได้
ทั้งนี้ การเข้าครอบครองที่ดินของรัฐที่มีลักษณะเป็นสาธารณะสมบัติของเเผ่นดิน เช่น ทะเลสาบ ทางหลวง ห้วย หนอง คลอง บึง ทางน้ำ บึงที่ตื้นเขิน ที่สงวนหวงห้าม เช่น ป่าสงวนเเห่งชาติ โบราณสถาน วนอุทยาน หรือที่หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตหวงห้ามในท้องที่อำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอบ้านทวน อำเภอวังขนาย และอำเภอวังกะ จังหวัดกาญจนบุรี พุทธศักราช 2481 เป็นต้น ถือเป็นการกระทำความผิดอาจถูกดำเนินคดีได้ เเม้จะเข้าครอบครองนานเพียงใดก็ไม่อาจเรียกร้องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองจากรัฐได้ นอกจากรัฐจะดำเนินการออกกฎหมายถอดถอนสภาพที่ดินเสียก่อน
การใช้สิทธิในที่ดินของตนควรคำนึงตามหลักกฎหมาย ดังนี้
- เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ที่รุกเข้ามาจากที่ดินข้างเคียงได้ เเต่ถ้าเป็นกิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา เจ้าของที่ดินอาจบอกกล่าวให้ผู้ครอบครองที่ดินติดต่อให้ตัดได้ในเวลาที่เหมาะสม หากยังไม่ตัด เจ้าของที่ดินสามารถตัดเองได้
- ถ้ามีต้นไม้อยู่บนเเนวเขตที่ดิน สันนิษฐานว่าเจ้าของที่ดินทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกัน หากต้นไม้ออกผลหรือตัดต้นไม้นั้นลง ให้เจ้าของที่ดินทั้งสองแบ่งกันคนละครึ่ง
- เจ้าของที่ดินจะทำหลังคา หรือปลูกสร้างอย่างอื่นซึ่งทำให้น้ำฝนตกลงทรัพย์สินซึ่งอยู่ติดต่อกันไม่ได้
- หากมีบุคคลใดใช้สิทธิของตนทำให้เจ้าของที่ดินได้รับความเสียหาย เดือดร้อนมากเกินไป หากพิจารณาจากสภาพ ตำแหน่งที่อยู่ของที่ดินประกอบ เจ้าของที่ดินนั้นมีสิทธิทำการใดๆเพื่อให้ความเสียหายนั้นหมดไป เช่น มีการเปิดวิทยุเสียงดังมากรบกวนตลอดเวลา เจ้าของที่ดินมีสิทธิขอให้ผู้นั้นลดระดับความดังของวิทยุนั้นได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายได้โดยใช้สิทธิทางศาล
- ที่ดินซึ่งไม่มีทางออกสู่สาธารณะ "ที่ตาบอด" เจ้าของที่ดินรวมถึงบริวารของเจ้าของที่ดินนั้น มีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นเพื่อให้เป็นทางออกสู่สาธารณะได้
- บุคคลทั่วไปอาจพาสัตว์เลี้ยงของตนผ่านที่ดินของผู้อื่น ซึ่่งมิได้กั้นรั้วไว้เพื่อไปเลี้ยงและอาจเข้าไปเอาน้ำในบ่อหรือสระในที่ดินนั้นมาใช้ได้ เเต่ถ้าที่ดินที่เข้าไปเป็นที่เพราะปลูกหรือเตรียมเพราะปลูก หว่าน หรือมีธัญชาติขึ้นอยู่แล้ว เจ้าของที่ดินย่อมห้ามมิให้ผู้ใดนำสัตว์เข้าไปเลี้ยงได้เสมอ
ผู้มีสิทธิในที่ดิน อาจสูญเสียสิทธิในที่ดินได้ ดังต่อไปนี้
- รัฐเวียนคือที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น ทำถนน สร้างสถานที่ราชการ เป็นต้น
- ผู้มีสิทธิในที่ดินทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน ปล่อยรกร้างว่างเปล่าเกิน 10 ปี ติดต่อกันสำหรับที่ดินมีโฉนด หรือเกิน 5 ปีติดต่อกันสำหรับที่ดินทีมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ที่ดินนั้นย่อมตกเป็นของรัฐและเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน
- หากมีผู้ครอบครองที่ดินมีโฉนดของเจ้าของที่ดินด้วยความสงบ อย่างเปิดเผยและมีเจนาเป็นเจ้าของที่ดินนั้นติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้นั้นจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินไปทันที เรียกว่า การครอบครองปรปักษ์
การทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน
การทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน เช่น การซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ จำนอง การรับโอนมรดก ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย
- กรณีหากทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่มีโฉนด ให้ติดต่อ สำนักงานที่ดินจังหวัด
- หากเป็นที่ดิน น.ส.3 น.ส.3 ก ให้ติดต่อที่สำนักงานที่ดินอำเภอในท้องที่ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
หมายเหตุ การกู้เงินกันแล้วมอบโฉนดที่ดินของผู้กู้ให้ผู้ให้กู้ถือไว้เป็นประกันการชำระเงินคืน โดยไม่ได้ไปจดทะเบียนจำนองกันเลย กรณีเช่นว่านี้ ผู้ให้กู้ไม่มีสิทธิสามารถยึดที่ดินตามโฉนดที่ถือเอาไว้ได้ และยังมีหน้าที่ต้องส่งคืนโฉนดดังกล่าวให้แก่ผู้กู้ด้วย
การจำนองที่ดิน ผู้รับจำนองเป็นเพียงผู้ครอบครองที่ดินเท่านั้น เเต่เจ้าของที่ดินที่จำนองยังคงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินนั้นอยู่
แต่ในการขายฝากที่ดิน ผู้ขายฝากที่ดินย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินจนกว่าจะได้ไถ่ถอนที่ดินที่ขายฝากภายในระยะเวลาไถ่ถอน ดังนั้น หากขายฝากไม่ไถ่ถอนที่ดินภายในเวลาไถ่ถอน ผู้รับซื้อฝากย่อมเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินโดยสิ้นเชิง