ค้ำประกัน หมายถึง การที่บุคคลภายนอกคนหนึ่งเข้าผูกพันต่อเจ้าหนี้รับผิดในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่ง เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
แยกองค์ประกอบ
1) สัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาอุปกรณ์
2) ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบุคคลภายนอก
3) บุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ว่าเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้นจะชำระ
4) การค้ำประกันนั้นเป็นการทำสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับบุคคลภายนอกผู้ค้ำประกัน
5) กฎหมายมิได้กำหนดแบบของสัญญาค้ำประกันไว้
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้ค้ำประกันคือบุคคลผู้ชำระหนี้แทนลูกหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำการชำระหนี้ให้แทนได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2563
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 680 บัญญัติว่า “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น” ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ไว้กับโจทก์ โดยสัญญาค้ำประกันทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ มีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ชั้นต้นที่ไปขอสินเชื่อจากโจทก์ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์แล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ย่อมมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 237 มิได้บัญญัติว่า การที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้กระทำลงภายหลังจากลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้แล้วแต่ประการใด ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ผู้ค้ำประกันได้กระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ก็ย่อมใช้สิทธิเพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4479/2561
สัญญาค้ำประกันการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งระบุว่า "...หาก ร. ผู้ต้องหา/จำเลย ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน หรือก่อให้นายประกันต้องถูกสั่งปรับในฐานะนายประกัน หรือการกระทำอื่นใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนายประกัน ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชอบยอมใช้หนี้สินและค่าเสียหายอย่างใด ๆ นั้นทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ให้กับนายประกันทันที..." ไม่ใช่กรณีที่จำเลยทั้งสามยอมชำระหนี้ต่อโจทก์ต่อเมื่อ ร. ไม่ชำระหนี้ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 ที่ต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎาก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4298/2561
จำเลยที่ 3 ลงชื่อในช่องผู้ค้ำประกันไว้ท้ายสัญญาและเขียนกำกับไว้ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนว่าใช้สำหรับประกันถมดินเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ค้ำประกันไว้ อันเป็นการค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัด จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดรวมถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้นั้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคหนึ่ง และมาตรา 683 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนเงินมัดจำและค่าเสียหายซึ่งโจทก์ต้องเสียไปจากการว่าจ้างผู้อื่นถมดินในราคาที่สูงขึ้น รวมเป็นเงิน 1,379,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามมาตรา 391 วรรคสอง และวรรคท้าย แต่ตามสัญญาว่าจ้างเหมางานถมดินและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงมีเฉพาะกรณีหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7016/2558
สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำต่อโจทก์นั้นไม่มีข้อตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสองมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลล่างทั้งสอง ก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 362/2558
คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง ตามฟ้องระบุสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำที่โรงแรมเรดิสัน ตั้งอยู่ที่เลขที่ 92 ถนนพระราม 9 เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เห็นได้ว่า เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแพ่ง โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลแพ่งได้
การที่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบทรัพย์ที่เช่าให้แก่โจทก์หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงและยังคงครอบครองต่อมา การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการผิดสัญญาเช่าและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาเช่าจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องชำระค่าเสียหายในเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาเช่าดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13582/2556
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม สัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นก่อนวันทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2548
โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าสินค้าของโจทก์สูญหายตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2548 (วันทำสัญญาค้ำประกัน) ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2548 เป็นจำนวนเงินเท่าใด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
คำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555
ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่าง ซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ ผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อ พ. ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันสมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคหนึ่ง เเม้ขณะที่ พ. ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังไม่ผิดสัญญาหรือผิดนัดก็ตาม สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของ พ. ไม่ สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ พ. ทำกับโจทก์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2552
สัญญาค้ำประกันเป็นบุคคลสิทธิซึ่งจำเลยเจ้าหนี้มีสิทธิบังคับเอาแก่โจทก์ผู้ค้ำประกันเมื่อ ป. ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ และเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินของโจทก์ผู้ค้ำประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น แตกต่างไปจากสิทธิตามสัญญาจำนองที่ทำขึ้นเพื่อประกันหนี้เงินกู้ของโจทก์ที่ได้ทำขึ้นในภายหลังและไม่ได้มีข้อความระบุว่าต้องให้โจทก์รับผิดรวมไปถึงความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันด้วย ประกอบกับโจทก์กู้เงินจำเลยเพื่อนำไปซื้อห้องชุดพิพาทแล้วนำมาจำนองไว้แก่จำเลย แสดงว่าโจทก์มีเจตนาจดทะเบียนจำนองห้องชุดพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ของโจทก์ที่มีแก่จำเลยเท่านั้น ดังนั้น สัญญาค้ำประกันจึงแยกต่างหากจากสัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง นอกจากนี้ขณะที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินให้แก่จำเลยครบถ้วน จำเลยยังไม่ได้ฟ้องโจทก์ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ความรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาค้ำประกันจึงยังไม่เกิดขึ้น เมื่อหนี้เงินกู้ของโจทก์อันเป็นหนี้ประธานได้ระงับไปและโจทก์ผู้จำนองแสดงความจำนงไถ่ถอนจำนองแล้ว จำเลยจะไม่ยอมให้ไถ่ถอนโดยอ้างว่าโจทก์ยังมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันอยู่อีกหาได้ไม่