ค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างต้องระวังโดนฟ้องรับผิดร่วม

Last updated: 19 มิ.ย. 2566  |  865 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ค้ำประกันการทำงานของลูกจ้างต้องระวังโดนฟ้องรับผิดร่วม

นายจ้างมีสิทธฟ้องผู้ค้ำประกันให้รับผิดคืนเงินกรณีลูกจ้างยักยอกทรัพย์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9347/2544

พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง มีเจตนาให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลแรงงานเป็นไปโดยประหยัด สะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม จึงให้ศาลแรงงานกำหนดประเด็นข้อพิพาทและกำหนดวันสืบพยานไปทันทีในวันใดก็ได้ หาจำต้องกำหนดไม่น้อยกว่าสิบวันนับแต่วันชี้สองสถานดังเช่นที่ ป.วิ.พ. กำหนดไว้ไม่ ทั้งการกำหนดประเด็นข้อพิพาทในคดีแรงงานก็เป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ และเมื่อกำหนดประเด็นข้อพิพาทไปแล้วก็ไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้ศาลแรงงานต้องชี้ขาด คำคัดค้านการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของคู่ความก่อนวันสืบพยาน เพราะการกำหนดให้ชี้ขาดก่อนเช่นนั้นทำให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยล่าช้า ทำให้คู่ความไม่ได้รับความเที่ยงธรรมได้ การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจ สั่งให้รวมคำคัดค้านของจำเลยไว้ในสำนวนคดีความโดยไม่ชี้ขาดคำคัดค้านก่อนว่าควรเปลี่ยนแปลงการกำหนดประเด็นข้อพิพาทหรือไม่จึงหาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไม่

สัญญาจ้างระบุว่า อ. เป็นลูกจ้างของโจทก์ ทดลองงานเป็นระยะเวลาไม่เกิน 120 วัน และต้องทำงานให้โจทก์เป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือน หมายความว่าระยะเวลา 120 วันแรกเป็นระยะทดลองงาน เมื่อพ้นระยะ ทดลองงานแล้ว อ. ต้องทำงานให้โจทก์ต่อไปอีก ซึ่งนับรวมกับระยะทดลองงานแล้วต้องไม่น้อยกว่า 24 เดือน โดยสัญญาไม่ได้กำหนดวันสิ้นสุดสัญญาจ้างไว้ จึงเป็นสัญญาจ้างที่ยังไม่มีกำหนดระยะเวลา ในสัญญาค้ำประกัน ก็กำหนดไว้ชัดแจ้งว่าสัญญาค้ำประกันมีผลบังคับตลอดระยะเวลาที่ อ. ทำงานกับโจทก์ไม่ว่าตำแหน่งหน้าที่ใด ๆ ที่โจทก์กำหนดและระยะเวลาทำงานนานเท่าใด โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะไม่บอกเลิกสัญญาจนกว่าจะได้มีการหาบุคคลอื่นที่มีหลักฐานมั่นคงและโจทก์เห็นชอบให้เป็นผู้ค้ำประกันแทนได้เรียบร้อยแล้ว สัญญาค้ำประกันจึงหาได้ให้มีผลเพียงชั่วระยะเวลาทดลองงาน 120 วัน ไม่ ทั้งจำเลยก็มิได้หาบุคคลอื่นมาเป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันแทน โดยความเห็นชอบของโจทก์ จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดตามสัญญาค้ำประกันตลอดระยะเวลาที่ อ. ทำงานกับโจทก์จนถึง วันที่ อ. ลาออก และต้องรับผิดต่อความเสียหายที่ อ.ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงวันลาออกจากงาน

โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินที่ อ. ลูกจ้างของโจทก์ยักยอกไปหรือให้ชดใช้เงินที่ อ.ก่อให้เกิดความ

เสียหายต่อโจทก์เพราะการผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นการฟ้องเรียกเงินของโจทก์คืนจากผู้ยักยอกและจำเลยต้องรับผิดชดใช้คืนในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงมีอายุความฟ้องเอาคืนได้ภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 นับแต่วัน ยักยอกถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีไม่ขาดอายุความ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้