Last updated: 16 พ.ค. 2566 | 1222 จำนวนผู้เข้าชม |
กฎหมายแพ่งและพานิชย์
บรรพ 5
ครอบครัว
ลักษณะ 1
การสมรส
หมวด 1
การหมั้น
มาตรา 1435 การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว
การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ
มาตรา 1436 ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
(2) บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่
ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจาก
มารดาหรือบิดาได้
(3) ผู้รับบุตรบุญธรรม ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
(4) ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1) (2) และ (3)หรือมี
แต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง
การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ
**แก้ไขโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
มาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้น
ให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง
ฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญ
อันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจ
สมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 412 ถึง
มาตรา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
**แก้ไขโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
มาตรา 1438 การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้
ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้
ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
**แก้ไขโดย มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการ
ในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริต
และตามสมควร
(3) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยว
แก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควร ด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
ในกรณีที่หญิงเป็นผู้มีสิทธิได้ค่าทดแทน ศาลอาจชี้ขาดว่าของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่
หญิงนั้นเป็นค่าทดแทนทั้งหมดหรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนที่หญิงพึงได้รับ หรือศาลอาจให้
ค่าทดแทนโดยไม่คำนึงถึงของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นก็ได้
มาตรา 1441 ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ ส่วน
ของหมั้นหรือสินสอดนั้นไม่ว่าชายหรือหญิงตาย หญิงหรือฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชาย
**แก้ไขโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
มาตรา 1442 ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น
ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้ และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย
มาตรา 1443 ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้นทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น
หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย
มาตรา 1444 ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของ
คู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น คู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้น ต้องรับผิดใช้
ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น
มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้น
ของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443
แล้วแต่กรณี
มาตรา 1446 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ข่มขืนกระทำชำเราหรือพยายาม
ข่มขืนกระทำชำเราคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้นได้ โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น
*มาตรา 1445 และมาตรา 1446 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2550
มาตรา 1447 ค่าทดแทนอันจะพึงชดใช้แก่กันตามหมวดนี้ ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์
สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามหมวดนี้ นอกจากค่าทดแทนตาม มาตรา 1440 (2) ไม่อาจ
โอนกันได้และไม่ตกทอดไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้เป็นหนังสือ หรือผู้เสียหาย
ได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
**แก้ไขโดย มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
"มาตรา 1447/1 สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตาม มาตรา 1439 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิด
สัญญาหมั้น
สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตาม มาตรา 1444 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันรู้หรือควรรู้
ถึงการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้บอกเลิกสัญญาหมั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วัน
กระทำการดังกล่าว
สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๕ และมาตรา ๑๔๔๖ ให้มีอายุความหกเดือน
นับแต่วันที่ชายหรือหญิงคู่หมั้นรู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของผู้อื่นอันจะเป็นเหตุให้เรียกค่าทดแทน
และรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าทดแทนนั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ผู้อื่นนั้นได้กระทำการดังกล่าว
**วรรคสามแก้ไขโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2550
"มาตรา 1447/2 สิทธิเรียกคืนของหมั้นตาม มาตรา 1439 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วั
นที่ผิดสัญญาหมั้น
สิทธิเรียกคืนของหมั้นตาม มาตรา 1442 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ได้บอกเลิก
สัญญาหมั้น
**แก้ไขโดย มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
หมวด 2
เงื่อนไขแห่งการสมรส
มาตรา 1448 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุ
อันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
มาตรา 1449 การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้
เป็นคนไร้ความสามารถ
มาตรา 1450 ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสาโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา
หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี จะทำการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตาม
สายโลหิตโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
มาตรา 1451 ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้
มาตรา 1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
มาตรา 1453 หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อ
การสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่
(1) คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
(2) สมรสกับคู่สมรสเดิม
(3) มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคใน
สาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์ หรือ
(4) มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
มาตรา 1454 ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความใน มาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1455 การให้ความยินยอมให้ทำการสมรสจะกระทำได้แต่โดย
(1) ลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส
(2) ทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอมโดยระบุชื่อผู้จะสมรสทั้งสองฝ่ายและลงลายมือ
ชื่อของผู้ให้ความยินยอม
(3) ถ้ามีเหตุจำเป็น จะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนก็ได้
ความยินยอมนั้น เมื่อให้แล้วถอนไม่ได้
มาตรา 1456 ถ้าไม่มีผู้ที่มีอำนาจให้ความยินยอมตาม มาตรา 1454 หรือมีแต่ไม่ให้ความยินยอม
หรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมได้
ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลเพื่ออนุญาตให้ทำการสมรส
มาตรา 1457 การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น
มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงการยินยอม
นั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย
มาตรา 1459 การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมี
สัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้
ในกรณีที่คู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนตามกฎหมายไทยให้พนักงานทูต หรือกงสุล
ไทยเป็นผู้รับจดทะเบียน
มาตรา 1460 เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจทำการจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้
เพราะชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรืออยู่ในภาวะการรบ
หรือสงคราม ถ้าชายและหญิงนั้นได้แสดงเจตนาจะสมรสกันต่อหน้าบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่อยู่
ณ ที่นั้นแล้ว ให้บุคคลดังกล่าวจดแจ้งการแสดงเจตนาขอทำการสมรสของชายและหญิงนั้นไว้
เป็นหลักฐาน และต่อมาชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่อาจทำการ
จดทะเบียนต่อนายทะเบียนได้ โดยแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียน และให้นายทะเบียนจดแจ้งวัน
เดือน ปี สถานที่ที่แสดงเจตนาขอทำการสมรส และพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ในทะเบียนสมรส ให้
ถือว่าวันแสดงเจตนาขอทำการสมรสต่อบุคคลดังกล่าวเป็นวันจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนแล้ว
ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับถ้าหากจะมีการสมรสในวันแสดงเจตนาขอทำการสมรส
การสมรสนั้นจะตกเป็นโมฆะ
หมวด 3
ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา
มาตรา 1461 สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถ และฐานะของตน
มาตรา 1462 ในกรณีที่สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้
หรือถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือทำลายความผาสุกอย่างมาก สามีหรือภริยา
ฝ่ายที่ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้หรือฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือถูกทำลาย
ความผาสุก อาจร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้น ๆ ยังมีอยู่ก็ได้
ในกรณีเช่นนี้ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่
พฤติการณ์ก็ได้
*แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551
มาตรา 1463 ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
ภริยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามี
เหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ได้
มาตรา 1464 ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริตไม่ว่าศาลจะได้สั่งให้เป็นคนไร้ความ
สามารถหรือไม่ ถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูฝ่ายที่วิกลจริตตาม มาตรา 1461 วรรคสอง
หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอันเป็นเหตุให้ฝ่ายที่วิกลจริตตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิด
อันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดความเสียหายทางทรัพย์สินถึงขนาด
บุคคลตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 28 หรือผู้อนุบาลอาจฟ้องคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู
ให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือขอให้ศาลมีคำสั่งใดๆ เพื่อคุ้มครองฝ่ายที่วิกลจริตนั้นได้
ในกรณีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามวรรคหนึ่ง ถ้ายังมิได้มีคำสั่งของศาลว่าคู่สมรส
ซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถก็ให้ขอต่อศาลในคดีเดียวกันให้ศาลมีคำสั่งว่าคู่สมรสซึ่งวิกล
จริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ โดยขอให้ตั้งตนเองหรือผู้อื่นที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้อนุบาล หรือ
ถ้าได้มีคำสั่งของศาลแสดงว่าคู่สมรสซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถอยู่แล้ว จะขอให้ถอดถอน
ผู้อนุบาลคนเดิมและแต่งตั้งผู้อนุบาลคนใหม่ก็ได้
ในการขอให้ศาลมีคำสั่งใดๆ เพื่อคุ้มครองคู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตโดยมิได้เรียกค่าอุปการะ
เลี้ยงดูด้วยนั้น จะไม่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ หรือจะ
ไม่ขอเปลี่ยนผู้อนุบาลก็ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าวิธีการคุ้มครองที่ขอนั้นจำต้องมีผู้อนุบาลหรือเปลี่ยน
ผู้อนุบาล ให้ศาลมีคำสั่งให้จัดการทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง แล้วจึงมีคำสั่งคุ้มครอง
ตามที่เห็นสมควร
"มาตรา 1464/1 ในระหว่างการพิจารณาคดีตาม มาตรา 1464 ถ้ามีคำขอ ศาลอาจกำหนด
วิธีการชั่วคราวเกี่ยวกับการอุปการะเลี้ยงดู หรือการคุ้มครองคู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตได้ตามที่เห็นสมควร
และหากเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความแพ่งมาใช้บังคับ
**แก้ไขโดย มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
หมวด 4
ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
มาตรา 1465 ถ้าสามีภริยามิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส
ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้นให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้
ถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของ
ประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความนั้นๆ เป็นโมฆะ
มาตรา 1466 สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ ถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อน
สมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ
คู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับ
การจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้
มาตรา 1467 เมื่อสมรสแล้วจะเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสนั้นไม่ได้ นอกจาก
จะได้รับอนุญาตจากศาล
เมื่อได้มีคำสั่งของศาลถึงที่สุดให้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสแล้ว ให้ศาล
แจ้งไปยังนายทะเบียนสมรสเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส
มาตรา 1468 ข้อความในสัญญาก่อนสมรสไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก
ผู้ทำการโดยสุจริตไม่ว่าจะได้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนโดยคำสั่งของศาลหรือไม่ก็ตาม
มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่
วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการ
โดยสุจริต
มาตรา 1470 ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินสมรส
มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ
หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา
(4) ที่เป็นของหมั้น
มาตรา 1472 สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้
เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทน
ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
มาตรา 1473 สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใด ให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ
มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อ
พินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
เป็นสินสมรส
มาตรา 1475 ถ้าสินสมรสใดเป็นจำพวกที่ระบุไว้ใน มาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือที่มี
เอกสารเป็นสำคัญ สามีหรือภริยาจะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมกันในเอกสารนั้นก็ได้
มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่ง
อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิ
เหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(3) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(4) ให้กู้ยืมเงิน
(5) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อ
การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(6) ประนีประนอมยอมความ
(7) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(8) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดย
มิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
**แก้ไขโดย มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
"มาตรา 1476/1 สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1476
ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติใน มาตรา 1465 และ มาตรา 1466
ในกรณีดังกล่าวนี้ การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของ มาตรา 1476
การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตาม มาตรา 1476
**เพิ่มเติมแก้ไขโดย มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
มาตรา 1477 สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุง
รักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส หนี้อันเกิดแต่การฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีดังกล่าวให้ถือว่า
เป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน
**แก้ไขโดย มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
มาตรา 1478 เมื่อฝ่ายใดต้องให้ความยินยอมหรือลงชื่อกับอีกฝ่ายหนึ่งในเรื่องจัดการทรัพย์สิน
แต่ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่ยอมลงชื่อ โดยปราศจากเหตุผล หรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอมได้
อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้
มาตรา 1479 การใดที่สามีหรือภริยากระทำซึ่งต้องรับความยินยอมร่วมกัน และถ้าการนั้นมี
กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็น
หนังสือ
มาตรา 1480 การจัดการสินสมรส ซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีก
ฝ่ายหนึ่งตาม มาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก
ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้
เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคล
ภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่
ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น
**แก้ไขโดย มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
มาตรา 1481 สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่
บุคคลใดได้
มาตรา 1482 ในกรณีที่สามีหรือภริยามีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
ก็ยังมีอำนาจจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวตามสมควรแก่อัตภาพได้ ค่าใช้จ่าย
ในการนี้ย่อมผูกพันสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย
ถ้าสามีหรือภริยาจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวเป็นที่เสียหายถึง
ขนาด อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจนี้เสียได้
มาตรา 1483 ในกรณีที่สามีหรือภริยามีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว ถ้าสามีหรือภริยา
จะกระทำหรือกำลังกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการจัดการสินสมรสอันพึงเห็นได้ ว่าจะเกิดความเสียหาย
ถึงขนาด อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้กระทำการนั้นได้
มาตรา 1484 ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรส
(1) จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
(2) ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง
(3) มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส
(4) ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
(5) มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส
อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว หรือสั่งให้
แยกสินสมรสได้
ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีคำขอ ศาลอาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราวเพื่อจัดการสินสมรส
ได้ตามที่เห็นสมควร และหากเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉิน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ
**มาตรา 1482,1483,1484 แก้ไขโดย มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
"มาตรา 1484/1 ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจในการจัดการสินสมรสของ
สามีหรือภริยาตาม มาตรา 1482 มาตรา 1483 หรือ มาตรา 1484 ถ้าต่อมาเหตุแห่งการนั้นหรือพฤติการณ์
ได้เปลี่ยนแปลงไป สามีหรือภริยาอาจร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ห้าม หรือ
จำกัดอำนาจจัดการสินสมรสนั้นได้ ในการนี้ศาลจะมีคำสั่งใดๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
**เพิ่มเติมโดย มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
มาตรา 1485 สามีหรือภริยาอาจร้องขอต่อศาลให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสโดยเฉพาะอย่างใด
อย่างหนึ่งหรือเข้าร่วมจัดการในการนั้นได้ ถ้าการที่จะทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า
มาตรา 1486 เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดตามความใน มาตรา 1482 วรรคสอง
มาตรา 1483 มาตรา 1484 มาตรา 1484/1 หรือ มาตรา 1485 อันเป็นคุณแก่ผู้ร้องขอ หรือตาม
มาตรา 1491 มาตรา 1492/1 หรือ มาตรา 1598/17 หรือเมื่อสามีหรือภริยาพ้นจากการเป็นบุคคล
ล้มละลาย ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส
มาตรา 1487 ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน ฝ่ายใดจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่ง
ไม่ได้ เว้นแต่เป็นการยึดหรืออายัดทรัพย์สินในคดีที่ฟ้องร้องเพื่อการปฏิบัติหน้าที่หรือรักษาสิทธิระหว่าง
สามีภริยาตามที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายนี้ หรือที่ประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้
โดยเฉพาะให้สามีภริยาฟ้องร้องกันเองได้ หรือเป็นการยึด หรืออายัดทรัพย์สินสำหรับค่าอุปการะ
เลี้ยงดูและค่าฤชาธรรมเนียมที่ยังมิได้ชำระตามคำพิพากษาของศาล
**มาตรา 1486,1487 แก้ไขโดย มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
มาตรา 1488 ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส
ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น
มาตรา 1489 ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของ
ทั้งสองฝ่าย
มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้น ให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นใน
ระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะ
เลี้ยงดู ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว และการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
(2) หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
(3) หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
**มาตรา 1490 (1) แก้ไขโดย มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
มาตรา 1491 ถ้าสามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย สินสมรสย่อมแยกจากกัน
โดยอำนาจกฎหมายนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายนั้น
มาตรา 1492 เมื่อได้แยกสินสมรสตาม มาตรา 1484 วรรคสอง มาตรา 1491 หรือ มาตรา
1598/17 วรรคสองแล้ว ให้ส่วนที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยา และบรรดาทรัพย์สินที่
ฝ่ายใดได้มาในภายหลังไม่ให้ถือเป็นสินสมรส แต่ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น และสินสมรสที่คู่สมรสได้
มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือตาม มาตรา 1474 (2) ในภายหลัง ให้ตกเป็นสินส่วนตัว
ของสามีและภริยาฝ่ายละครึ่ง
ดอกผลของสินส่วนตัวที่ได้มาหลังจากที่ได้แยกสินสมรสแล้ว ให้เป็นสินส่วนตัว
**แก้ไขโดย มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
"มาตรา 1492/1 ในกรณีที่มีการแยกสินสมรสโดยคำสั่งศาล การยกเลิกการแยกสินสมรส
ให้กระทำได้เมื่อสามีหรือภริยาร้องขอต่อศาล และศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิก แต่ถ้าภริยาหรือสามีคัดค้าน
ศาลจะสั่งยกเลิกการแยกสินสมรสได้ต่อเมื่อเหตุแห่งการแยกสินสมรสได้สิ้นสุดลงแล้ว
เมื่อมีการยกเลิกการแยกสินสมรสตามวรรคหนึ่ง หรือการแยกสินสมรสสิ้นสุดลงเพราะ
สามีหรือภริยาพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่ง
หรือในวันที่พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ยังคงเป็นสินส่วนตัวต่อไปตามเดิม
**เพิ่มเติมโดย มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
มาตรา 1493 ในกรณีที่ไม่มีสินสมรสแล้ว สามีและภริยาต้องช่วยกันออกค่าใช้สอยสำหรับ
การบ้านเรือนตามส่วนมากและน้อยแห่งสินส่วนตัวของตน
17 พ.ค. 2566
17 พ.ค. 2566
17 พ.ค. 2566
12 พ.ค. 2566