กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ 6 ลักษณะ3 หมวด3-6 ลักษณะ 4

Last updated: 17 พ.ค. 2566  |  362 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ 6 ลักษณะ3 หมวด3-6 ลักษณะ 4

              กฎหมายแพ่งและพานิชย์

               บรรพ 6

               ลักษณะ 3

               หมวด 3
               ผลและการตีความแห่งพินัยกรรม
 
               มาตรา 1673 สิทธิและหน้าที่ใดๆ อันเกิดขึ้นตามพินัยกรรม  ให้มีผลบังคับเรียกร้องกันได้ตั้งแต่ผู้ทำ
พินัยกรรมตายเป็นต้นไป เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาให้มีผลบังคับ
เรียกร้องกันได้ภายหลัง
               มาตรา 1674 ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรมมีเงื่อนไข และเงื่อนไขนั้นสำเร็จเสียก่อนเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย
หากว่าเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นมีผลเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย   หากว่าเป็น
เงื่อนไขบังคับหลัง  ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันไร้ผล
               ถ้าเงื่อนไขบังคับก่อนสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมมีผลตั้งแต่
เวลาเงื่อนไขสำเร็จ
               ถ้าเงื่อนไขบังคับหลังสำเร็จภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมมีผลตั้งแต่
เวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย แต่ตกเป็นอันไร้ผลในเมื่อเงื่อนไขนั้นสำเร็จ
               แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้กำหนดไว้ในพินัยกรรมว่า  ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคก่อนนั้น
ให้ความสำเร็จแห่งเงื่อนไขมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย  ก็ให้เป็นไปตามเจตนาของ
ผู้ทำพินัยกรรมนั้น
               มาตรา 1675 เมื่อพินัยกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อน  ผู้รับประโยชน์ตามข้อความแห่งพินัยกรรมนั้น จะร้อง
ต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมนั้นจนกว่าจะถึงเวลาที่เงื่อนไขสำเร็จ
หรือจนกว่าความสำเร็จแห่งเงื่อนไขตกเป็นอันพ้นวิสัยก็ได้
               ถ้าศาลเห็นเป็นการสมควร จะตั้งผู้ร้องนั้นเป็นผู้จัดการทรัพย์สินเสียเอง และเรียกให้ผู้ร้อง
นั้นวางประกันตามที่สมควรก็ได้
               มาตรา 1676 พินัยกรรมจะทำขึ้นโดยให้บุคคลใดตกอยู่ในภาระติดพันที่จะต้องก่อตั้งมูลนิธิ หรือจะสั่ง
จัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งตามบทบัญญัติ มาตรา 110 แห่ง
ประมวลกฎหมายนี้ก็ได้
               มาตรา 1677 เมื่อมีพินัยกรรมก่อตั้งมูลนิธิขึ้นตามมาตราก่อน  ให้เป็นหน้าที่ของทายาทหรือผู้จัดการ
มรดกแล้วแต่กรณี  ที่จะต้องร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลตาม มาตรา 118
แห่งประมวลกฎหมายนี้ เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น
               ถ้าบุคคลดั่งกล่าวแล้วมิได้ร้องขอให้รัฐบาลให้อำนาจบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใด
หรือพนักงานอัยการจะเป็นผู้ร้องขอก็ได้
               **มาตรา 1676,1677 แก้ไขโดย พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535 (รจ. เล่ม 109 ตอนที่ 42 วันที่ 8 เมษายน 2535)
               มาตรา 1678 เมื่อมูลนิธิใดซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมได้ตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลแล้ว  ให้ถือว่าทรัพย์สินซึ่ง
ผู้ทำพินัยกรรมจัดสรรไว้เพื่อการนั้น ตกเป็นของนิติบุคคลนั้นตั้งแต่เวลาซึ่งพินัยกรรมมีผล  เว้นแต่
จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น
               มาตรา 1679 ถ้าจัดตั้งมูลนิธิขึ้นไม่ได้ตามวัตถุที่ประสงค์ ให้ทรัพย์สินตกทอดไปตามที่ระบุไว้ในพินัย
กรรม
               ถ้าพินัยกรรมไม่ได้ระบุไว้ เมื่อทายาท หรือผู้จัดการมรดก หรือพนักงานอัยการ หรือ
บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอให้ศาลจัดสรรทรัพย์สินนั้นให้แก่นิติบุคคลอื่น  ซึ่งปรากฏ
ว่ามีวัตถุที่ประสงค์ใกล้ชิดที่สุดกับความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม
               ถ้าหากว่าจัดสรรทรัพย์สินอย่างนี้ไม่ได้ก็ดี หรือว่ามูลนิธินั้นตั้งขึ้นไม่ได้เพราะเป็นการ
ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ดี ข้อกำหนด
พินัยกรรมในการจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันไร้ผล
               มาตรา 1680 เจ้าหนี้ของผู้ทำพินัยกรรมมีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งก่อตั้งมูล
นิธินั้นได้เพียงเท่าที่ตนต้องเสียประโยชน์เนื่องแต่การนั้น
               มาตรา 1681 ถ้าทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมนั้นได้สูญหาย ทำลาย หรือบุบสลายไป และ
พฤติการณ์ทั้งนี้เป็นผลให้ได้ทรัพย์สินอื่นมาแทน หรือได้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทน
ทรัพย์สินนั้น  ผู้รับพินัยกรรมจะเรียกให้ส่งมอบของแทนซึ่งได้รับมานั้นหรือจะเรียกร้องเอา
ค่าสินไหมทดแทนเสียเองก็ได้ แล้วแต่กรณี
               มาตรา 1682 เมื่อพินัยกรรมทำขึ้นเป็นการปลดหนี้ หรือโอนสิทธิเรียกร้อง  พินัยกรรมนั้นมีผลเพียง
จำนวนซึ่งคงค้างชำระอยู่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดไว้เป็น
อย่างอื่น
               ถ้ามีเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่ปลดให้หรือสิทธิเรียกร้องที่โอนไปนั้น ก็ให้ส่งมอบ
แก่ผู้รับพินัยกรรม และให้ใช้ มาตรา 303 ถึง 313 , 340  แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับโดยอนุโลม
แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมจะต้องกระทำการหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรานั้นๆ แล้ว
บุคคลผู้ต้องจัดการตามพินัยกรรมหรือผู้รับพินัยกรรมจะกระทำการหรือดำเนินการนั้นๆ แทนผู้ทำ
พินัยกรรมก็ได้
               มาตรา 1683 พินัยกรรมที่บุคคลทำให้แก่เจ้าหนี้คนใดของตนนั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามิได้ทำขึ้น
เพื่อชำระหนี้อันค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนนั้น
               มาตรา 1684 เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย  ให้ถือเอาตามนัยที่จะ
สำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด
               มาตรา 1685 ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมได้กำหนดผู้รับพินัยกรรมไว้โดยคุณสมบัติที่ทราบตัวแน่นอนได้
ถ้ามีบุคคลหลายคนทรงไว้ซึ่งคุณสมบัติที่จะเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดไว้ดั่ง
นั้นได้ ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ถือว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับส่วนปันเท่าๆ กัน
 
               หมวด 4
               พินัยกรรมที่ตั้งผู้ปกครองทรัพย์
 
               มาตรา 1686 อันว่าทรัสต์นั้นจะก่อตั้งขึ้นโดยตรงหรือโดยทางอ้อมด้วยพินัยกรรมหรือด้วยนิติกรรมใดๆ
ที่มีผลในระหว่างชีวิตก็ดี  หรือเมื่อตายแล้วก็ดี  หามีผลไม่  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง
กฎหมายเพื่อการก่อตั้งทรัสต์เท่านั้น
*แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2550
               มาตรา 1687 ถ้าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะยกทรัพย์สินให้แก่ผู้เยาว์ หรือผู้ซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้
ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือแก่ผู้ซึ่งต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพราะเหตุ
วิกลจริต แต่ต้องการมอบการเก็บรักษาและจัดการทรัพย์สินนั้นแก่บุคคลอื่นนอกจากบิดามารดา
ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ของบุคคลเช่นนั้น  ผู้ทำพินัยกรรมต้องตั้งผู้ปกครองทรัพย์ขึ้น
               การตั้งผู้ปกครองทรัพย์นี้  ห้ามมิให้ตั้งขึ้นเป็นเวลาเกินกว่ากำหนดแห่งการเป็นผู้เยาว์
หรือกำหนดที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือกำหนดที่ต้อง
รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณี
               มาตรา 1688 การตั้งผู้ปกครองทรัยพ์นั้น ในส่วนที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิใดๆ อัน
เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ย่อมไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
               บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนหนี้ ให้ใช้บังคับแก่เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพ
และสัตว์พาหนะด้วย
               “วรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
               มาตรา 1689 นอกจากบุคคลที่ระบุไว้ใน มาตรา 1557 แห่งประมวลกฎหมายนี้ นิติบุคคล หรือบุคคล
ธรรมดาที่มีความสามารถบริบูรณ์จะรับตั้งเป็นผู้ปกครองทรัพย์ก็ได้
               มาตรา 1690 ผู้ปกครองทรัพย์นั้น  ย่อมตั้งขึ้นได้โดย
               (1)  ผู้ทำพินัยกรรม
               (2)  บุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ตั้ง
               มาตรา 1691 เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในพินัยกรรม  ผู้ปกครองทรัพย์จะทำ
พินัยกรรมตั้งบุคคลอื่นให้ทำการสืบแทนตนก็ได้
               มาตรา 1692 เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้กำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ในส่วนที่เกี่ยวด้วย
ทรัพย์สินที่ได้รับมอบไว้  ผู้ปกครองทรัพย์มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ปกครองตามความหมายใน
บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้
 
               หมวด 5
               การเพิกถอนและการตกไปแห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรม
 
               มาตรา 1693 ผู้ทำพินัยกรรมจะเพิกถอนพินัยกรรมของตนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในเวลาใดก็ได้
               มาตรา 1694 ถ้าจะเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อนเสียทั้งหมดหรือแต่บางส่วนด้วยพินัยกรรมฉบับหลัง
การเพิกถอนจะสมบูรณ์ต่อเมื่อพินัยกรรมฉบับหลังนั้นได้ทำตามแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้
               มาตรา 1695 ถ้าพินัยกรรมได้ทำเป็นต้นฉบับแต่ฉบับเดียว ผู้ทำพินัยกรรมอาจเพิกถอนพินัยกรรมนั้น
ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดยทำลายหรือขีดฆ่าเสียด้วยความตั้งใจ
               ถ้าพินัยกรรมได้ทำเป็นต้นฉบับหลายฉบับ  การเพิกถอนนั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้กระทำ
แก่ต้นฉบับเหล่านั้นทุกฉบับ
               มาตรา 1696 ถ้าผู้ทำพินัยกรรมได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรม
ใดด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไป
               วิธีเดียวกันนี้ให้ใช้บังคับ  เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายทรัพย์สินนั้นด้วยความตั้งใจ
               มาตรา 1697 ถ้าผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น และปรากฏว่าพินัยกรรม
ฉบับก่อนกับฉบับหลังขัดกัน ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลัง
เฉพาะในส่วนที่มีข้อความขัดกันนั้นเท่านั้น
               มาตรา 1698 ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป
               (1)  เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม
               (2)  เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นผลใช้ได้ต่อเมื่อเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลง
และผู้รับพินัยกรรมตายเสียก่อนเงื่อนไขสำเร็จ หรือปรากฏเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่
อาจจะสำเร็จได้
               (3)  เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม
               (4)  เมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่ยกให้สูญหาย หรือถูกทำลาย โดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ตั้งใจ
ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมมิได้ได้มาซึ่งของแทน หรือซึ่งสิทธิที่จะ
เรียกค่าทดแทนในการที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายไป
               มาตรา 1699 ถ้าพินัยกรรมหรือข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วย
ประการใดๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรม หรือได้แก่แผ่นดิน แล้วแต่กรณี
 
               หมวด 6
               ความเสียเปล่าแห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรม
 
               มาตรา 1700 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในหมวดนี้ บุคคลจะจำหน่ายทรัพย์สินใดๆ โดยนิติกรรมที่มี
ผลในระหว่างมีชีวิตหรือเมื่อตายแล้ว โดยมีข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้รับประโยชน์โอนทรัพย์สินนั้นก็ได้
แต่ต้องมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งนอกจากผู้รับประโยชน์กำหนดไว้สำหรับเป็นผู้จะได้รับทรัพย์สินนั้น
เป็นสิทธิเด็ดขาด ในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอน
               ผู้ซึ่งกำหนดขึ้นดั่งกล่าวนั้นต้องเป็นผู้สามารถจะมีสิทธิต่างๆ ได้อยู่ในขณะที่การจำหน่าย
ทรัพย์สินนั้นมีผลบังคับ
               ถ้ามิได้กำหนดบุคคลที่จะเป็นผู้รับทรัพย์สินในเมื่อมีการละเมิดข้อกำหนดห้ามโอนไว้ ให้
ถือว่าข้อกำหนดห้ามโอนนั้นเป็นอันไม่มีเลย
               มาตรา 1701 ข้อกำหนดห้ามโอนตามมาตราก่อนนั้นจะให้มีกำหนดเวลาหรือตลอดชีวิตของผู้รับ
ประโยชน์ก็ได้
               ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้  ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลธรรมดา ให้ถือว่า
ข้อกำหนดห้ามโอนมีระยะเวลาอยู่ตลอดชีวิตของผู้รับประโยชน์  แต่ในกรณีที่ผู้รับประโยชน์เป็น
นิติบุคคล ให้มีระยะเวลาเพียงสามสิบปี
               ถ้าได้กำหนดเวลาห้ามโอนไว้  กำหนดนั้นมิให้เกินสามสิบปี  ถ้ากำหนดไว้นานกว่านั้น
ก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี
               มาตรา 1702 ข้อกำหนดห้ามโอนอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่อาจจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ได้นั้น
ให้ถือว่าเป็นอันไม่มีเลย
               ข้อกำหนดห้ามโอนอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
นั้น ไม่บริบูรณ์ เว้นแต่จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการห้ามโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
               บทบัญญัติในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับแก่เรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งแพและสัตว์
พาหนะด้วย
               “วรรคสามแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
               มาตรา 1703 พินัยกรรมซึ่งบุคคลที่มีอายุยังไม่ครบสิบห้าปีบริบูรณ์ทำขึ้นนั้น  เป็นโมฆะ
               มาตรา 1704 พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำขึ้นนั้นเป็นโมฆะ
               พินัยกรรมซึ่งบุคคลผู้ถูกอ้างว่าเป็นคนวิกลจริต  แต่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความ
สามารถทำขึ้นนั้น จะเป็นอันเสียเปล่าก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าในเวลาที่ทำพินัยกรรมนั้น ผู้ทำจริตวิกลอยู่
               มาตรา 1705 พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น  ถ้าได้ทำขึ้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1652
, 1653 , 1656 , 1657 , 1658 , 1660 , 1661 หรือ 1663  ย่อมเป็นโมฆะ
               มาตรา 1706 ข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นโมฆะ
               (1)  ถ้าตั้งผู้รับพินัยกรรมไว้โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์สินของเขา
เองโดยพินัยกรรมให้แก่ผู้ทำพินัยกรรม หรือแก่บุคคลภายนอก
               (2)  ถ้ากำหนดบุคคลซึ่งไม่อาจที่จะทราบตัวแน่นอนได้เป็นผู้รับพินัยกรรม  แต่ผู้รับพินัย
กรรมตามพินัยกรรมลักษณะเฉพาะนั้น  อาจกำหนดโดยให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้ระบุเลือกเอา
จากบุคคลอื่นหลายคนหรือจากบุคคลอื่นหมู่ใดหมู่หนึ่ง ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมระบุไว้ก็ได้
               (3)  ถ้าทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมระบุไว้ไม่ชัดแจ้งจนไม่อาจที่จะทราบแน่นอนได้
หรือถ้าให้บุคคลใดคนหนึ่งกำหนดให้มากน้อยเท่าใดตามแต่ใจ
               มาตรา 1707 ถ้าข้อกำหนดพินัยกรรมตั้งผู้รับพินัยกรรมโดยมีเงื่อนไขว่าให้ผู้รับพินัยกรรมจำหน่าย
ทรัพย์สินที่ยกให้โดยพินัยกรรมนั้นแก่บุคคลอื่น ให้ถือว่าเงื่อนไขนั้นเป็นอันไม่มีเลย
               มาตรา 1708 เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว  บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิก
ถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะเหตุข่มขู่ก็ได้ แต่หากผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ต่อมาเกินหนึ่งปี
นับแต่ผู้ทำพินัยกรรมพ้นจากการข่มขู่แล้ว จะมีการร้องขอเช่นว่านั้นไม่ได้
               มาตรา 1709 เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้ว บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะร้องขอให้ศาลสั่งเพิก
ถอนพินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นเพราะสำคัญผิด หรือกลฉ้อฉลได้ก็ต่อเมื่อความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉล
นั้นถึงขนาด  ซึ่งถ้ามิได้มีความสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลเช่นนั้น พินัยกรรมนั้นก็จะมิได้ทำขึ้น
               ความในวรรคก่อนนี้ให้ใช้บังคับ  แม้ถึงว่ากลฉ้อฉลนั้น บุคคลซึ่งมิใช่เป็นผู้รับประโยชน์
ตามพินัยกรรมได้ก่อขึ้น
               แต่พินัยกรรมซึ่งได้ทำขึ้นโดยสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลย่อมมีผลบังคับได้ เมื่อผู้ทำพินัยกรรม
มิได้เพิกถอนพินัยกรรมนั้นภายในหนึ่งปีนับแต่ที่ได้รู้ถึงการสำคัญผิดหรือกลฉ้อฉลนั้น
               มาตรา 1710 คดีฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดดั่งนี้
               (1)  สามเดือนภายหลังที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย ในกรณีที่โจทก์รู้เหตุแห่งการที่จะขอให้เพิก
ถอนได้ ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมมีชีวิตอยู่ หรือ
               (2)  สามเดือนภายหลังที่โจทก์ได้รู้เหตุเช่นนั้น ในกรณีอื่นใด  แต่ถ้าโจทก์ไม่รู้ว่ามี
ข้อกำหนดพินัยกรรมอันกระทบกระทั่งถึงส่วนได้เสียของตน แม้ว่าโจทก์จะได้รู้เหตุแห่งการที่จะขอ
ให้เพิกถอนได้ก็ดี อายุความสามเดือนให้เริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์รู้หรือควรจะได้รู้ว่ามีข้อกำหนด
พินัยกรรมนั้น
               แต่อย่างไรก็ดี  ห้ามมิให้ฟ้องคดีเช่นนี้เมื่อพ้นสิบปีนับแต่ผู้ทำพินัยกรรมตาย
 
               ลักษณะ 4
               วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก
               หมวด 1
               ผู้จัดการมรดก
 
               มาตรา 1711 ผู้จัดการมรดกนั้น รวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล
               มาตรา 1712 ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้
               (1)  โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง
               (2)  โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม ให้เป็นผู้ตั้ง
               มาตรา 1713 ทายาท หรือผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้
ในกรณีดั่งต่อไปนี้
               (1)  เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอก
ราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
               (2)  เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้อง
ในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
               (3)  เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใดๆ
               การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม
และถ้าไม่ข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึง
ถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
               มาตรา 1714 เมื่อศาลตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อการใดโดยเฉพาะผู้นั้นไม่จำต้องทำบัญชีทรัพย์
มรดก เว้นแต่จะจำเป็นเพื่อการนั้นหรือศาลสั่งให้ทำ
               มาตรา 1715 ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้
               เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น  ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้
จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่
คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคน  ให้
สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้
               มาตรา 1716 หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง  ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว
               มาตรา 1717 ในเวลาใดๆ ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่เจ้ามรดกตาย แต่ต้องเป็นเวลาภายหลังที่เจ้ามรดก
ตายแล้วสิบห้าวัน ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งจะแจ้งความถามไปยังผู้ที่ถูกตั้งเป็น
ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมว่าจะรับเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ก็ได้
               ถ้าผู้ที่ได้รับแจ้งความมิได้ตอบรับเป็นผู้จัดการมรดกภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันรับแจ้ง
ความนั้น ให้ถือว่าผู้นั้นปฏิเสธ แต่การรับเป็นผู้จัดการมรดกนั้นจะทำภายหลังหนึ่งปีนับแต่วันที่
เจ้ามรดกตายไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
               มาตรา 1718 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้
               (1)  ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
               (2)  บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
               (3)  บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย
               มาตรา 1719 ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัด
หรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
               มาตรา 1720 ผู้จัดการมรดกต้องรับผิดต่อทายาทตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 809 ถึง 812 , 819 , 823
แห่งประมวลกฎหมายนี้โดยอนุโลม และเมื่อเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้ใช้มาตรา 831 บังคับโดยอนุโลม
               มาตรา 1721 ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จจากกองมรดกเว้นแต่พินัยกรรม หรือทายาท
โดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดให้ไว้
               มาตรา 1722 ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่
เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือได้รับอนุญาตจากศาล
               มาตรา 1723 ผู้จัดการมรดกต้องจัดการโดยตนเอง เว้นแต่จะทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้
ชัดแจ้ง หรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก
               มาตรา 1724 ทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำ
ไปภายในขอบอำนาจในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดก
               ถ้าผู้จัดการมรดกเข้าทำนิติกรรมกับบุคคลภายนอกโดยเห็นแก่ทรัพย์สินอย่างใดๆ หรือ
ประโยชน์อย่างอื่นใดอันบุคคลภายนอกได้ให้ หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัว ทายาทหา
ต้องผูกพันไม่ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย
               มาตรา 1725 ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อ
กำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้มีส่วนได้เสียนั้นภายในเวลาอันสมควร
               มาตรา 1726 ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน  การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอา
เสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น  ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย
ร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด
               มาตรา 1727 ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการ
มรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่
การปันมรดกเสร็จสิ้นลง
               แม้ถึงว่าจะได้เข้ารับตำแหน่งแล้วก็ดี  ผู้จัดการมรดกจะลาออกจากตำแหน่งโดยมีเหตุ
อันสมควรก็ได้แต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล
               มาตรา 1728 ผู้จัดการมรดกต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในสิบห้าวัน
               (1)  นับแต่เจ้ามรดกตาย ถ้าในขณะนั้นผู้จัดการมรดกได้รู้ถึงการตั้งแต่งตามพินัยกรรม
ที่มอบหมายไว้แก่ตน หรือ
               (2)  นับแต่วันที่เริ่มหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1716  ในกรณีที่ศาลตั้งเป็นผู้จัด
การมรดก หรือ
               (3)  นับแต่วันที่ผู้จัดการมรดกรับเป็นผู้จัดการมรดกในกรณีอื่น
               มาตรา 1729 ผู้จัดการมรดกต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนนับแต่เวลาที่ระบุ
ไว้ในมาตรา 1728 แต่กำหนดเวลานี้ เมื่อผู้จัดการมรดกร้องขอก่อนสิ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือน
ศาลจะอนุญาตให้ขยายต่อไปอีกก็ได้
               บัญชีนั้นต้องทำต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดก
นั้นด้วย
               บุคคลซึ่งจะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้ตามมาตรา 1670 จะเป็นพยานในการ
ทำบัญชีใดๆ ที่ต้องทำขึ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ไม่ได้
               มาตรา 1730 ให้นำมาตรา 1563 , 1564 วรรค 1 และ 2 และ 1565 แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ
โดยอนุโลมในระหว่างทายาทกับผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม และในระหว่างศาลกับผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง
               มาตรา 1731 ถ้าผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้  หรือถ้าบัญชี
นั้นไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการทุจริต หรือความไม่
สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้
               มาตรา 1732 ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่ และทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการ และแบ่งปัน
มรดกให้เสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม ทายาทโดย
จำนวนข้างมาก หรือศาลจะได้กำหนดเวลาให้ไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา 1733 การให้อนุมัติ การปลดเปลื้องความรับผิด หรือข้อตกลงอื่นๆ อันเกี่ยวกับรายงานแสดง
บัญชีการจัดการมรดกดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1732 นั้น  จะสมบูรณ์ต่อเมื่อรายงานแสดงบัญชี
นั้นได้ส่งมอบล่วงหน้าแก่ทายาทพร้อมด้วยเอกสารอันเกี่ยวกับการนั้นไม่น้อยกว่าสิบวันก่อนแล้ว
               คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น  มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดก
สิ้นสุดลง

               หมวด 2
               การรวบรวมจำหน่ายทรัพย์มรดกเป็นตัวเงินและการชำระหนี้กับแบ่งปันทรัพย์มรดก
 
               มาตรา 1734 เจ้าหนี้กองมรดกชอบแต่จะได้รับการชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น
               มาตรา 1735 ทายาทจำต้องบอกทรัพย์มรดกและหนี้สินของผู้ตายตามที่ตนรู้ทั้งหมดแก่ผู้จัดการมรดก
               มาตรา 1736 ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดก  หรือผู้รับพินัยกรรมที่ปรากฏตัว ยังไม่ได้รับชำระหนี้ หรือ
ส่วนได้ตามพินัยกรรมแล้วทุกคนให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ
               ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้น  ผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใดๆ ในทางจัดการตามที่จำ
เป็นได้ เช่น ฟ้องคดีหรือแก้ฟ้องในศาลและอื่นๆ  อนึ่ง ผู้จัดการมรดกต้องทำการทุกอย่างตามที่
จำเป็นเพื่อเรียกเก็บหนี้สินซึ่งค้างชำระอยู่แก่กองมรดกภายในเวลาอันเร็วที่สุดที่จะทำได้  และ
เมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก
               มาตรา 1737 เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดก ให้
เจ้าหนี้เรียกเข้ามาในคดีด้วย
               มาตรา 1738 ก่อนแบ่งมรดก  เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับชำระหนี้เต็มจำนวนจากกองมรดกก็ได้ ใน
กรณีเช่นนี้  ทายาทคนหนึ่งๆ อาจเรียกให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก หรือให้เอาเป็น
ประกันก็ได้จนถึงเวลาแบ่งมรดก
               เมื่อแบ่งมรดกแล้ว  เจ้าหนี้อาจเรียกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งชำระหนี้ได้เพียงไม่เกิน
ทรัพย์มรดกที่ทายาทคนนั้นได้รับไป ในกรณีเช่นนี้ทายาทคนใดซึ่งได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้กองมรดก
เกินกว่าส่วนที่ตนจะต้องเฉลี่ยใช้หนี้ ทายาทคนนั้นมีสิทธิไล่เบี้ยจากทายาทคนอื่นได้
               มาตรา 1739 ให้ชำระหนี้ที่กองมรดกค้างชำระตามลำดับต่อไปนี้และตามบทบัญญัติแห่งประมวล
กฎหมายนี้ว่าด้วยบุริมสิทธิ  โดยต้องไม่เป็นที่เสื่อมเสียแก่บรรดาเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิพิเศษตาม
ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น  และบรรดาเจ้าหนี้ที่มีประกันโดยการจำนำหรือการจำนอง
               (1)  ค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์อันร่วมกันของกองมรดก
               (2)  ค่าใช้จ่ายในการทำศพเจ้ามรดก
               (3)  ค่าภาษีอากรซึ่งกองมรดกค้างชำระอยู่
               (4)  ค่าจ้างซึ่งเจ้ามรดกค้างชำระแก่เสมียน คนใช้ และคนงาน
               (5)  ค่าเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นประจำวันซึ่งส่งให้แก่เจ้ามรดก
               (6)  หนี้สินสามัญของเจ้ามรดก
               (7)  บำเหน็จของผู้จัดการมรดก
               มาตรา 1740 เว้นแต่เจ้ามรดกหรือกฎหมายจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้จัดสรรทรัพย์สินของ
เจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ตามลำดับต่อไปนี้
               (1)  ทรัพย์สินนอกจากอสังหาริมทรัพย์
               (2)  อสังหาริมทรัพย์ซึ่งจัดสรรไว้ชัดแจ้งในพินัยกรรมว่าสำหรับชำระหนี้  ถ้าหากว่ามี
ทรัพย์สินเช่นนั้น
               (3)  อสังหาริมทรัพย์ซึ่งทายาทโดยธรรมชอบที่จะได้รับในฐานะเช่นนั้น
               (4)  อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้นั้นต้อง
ชำระหนี้ของเจ้ามรดก
               (5)  อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้โดยลักษณะทั่วไปดั่งบัญญัติไว้ใน
มาตรา 1651
               (6)  ทรัพย์สินเฉพาะอย่างซึ่งเจ้ามรดกทำพินัยกรรมให้โดยลักษณะเฉพาะดั่งบัญญัติไว้ใน
มาตรา 1651
               ทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งได้จัดสรรไว้ตามความที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ให้เอา
ออกขายทอดตลาด  แต่ทายาทคนใดคนหนึ่งอาจมิให้มีการขายเช่นว่านั้นได้โดยชำระราคาทรัพย์
สินนั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วนตามที่ผู้ตีราคาซึ่งศาลตั้งขึ้นได้กำหนดให้จนพอแก่จำนวนที่จะ
ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้
               มาตรา 1741 เจ้าหนี้กองมรดกคนใดคนหนึ่ง จะคัดค้านการขายทอดตลาดหรือการตี
ราคาทรัพย์สินดั่งระบุไว้ในมาตราก่อนโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเองก็ได้ ถ้าเจ้าหนี้ได้ร้องคัดค้านแล้ว
ยังได้กระทำการขายทอดตลาดหรือตีราคาไป จะยกการขายทอดตลาดหรือตีราคานั้นขึ้นยันต่อเจ้าหนี้
ผู้ร้องคัดค้านแล้วนั้นหาได้ไม่
               มาตรา 1742 ถ้าในการชำระหนี้ซึ่งค้างชำระอยู่แก่ตน  เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งได้รับตั้งใน
ระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตอยู่ให้เป็นผู้รับประโยชน์ในการประกันชีวิต  เจ้าหนี้คนนั้นชอบที่จะได้รับเงิน
ทั้งหมดซึ่งได้ตกลงไว้กับผู้รับประกัน  อนึ่ง เจ้าหนี้เช่นว่านั้นจำต้องส่งเบี้ยประกันภัยคืนเข้ากองมรดก
ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้คนอื่นๆ พิสูจน์ได้ว่า
               (1)  การที่ผู้ตายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยวิธีดั่งกล่าวมานั้น เป็นการขัดต่อบทบัญญัติ
มาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายนี้ และ
               (2)  เบี้ยประกันภัยเช่นว่านั้นเป็นจำนวนสูงเกินส่วน เมื่อเทียบกับรายได้หรือฐานะของ
ผู้ตาย
               ถึงอย่างไรก็ดี  เบี้ยประกันภัยซึ่งจะพึงส่งคืนเข้ากองมรดกนั้นต้องไม่เกินกว่าจำนวนเงิน
ที่ผู้รับประกันชำระให้
               มาตรา 1743 ทายามโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมโดยลักษณะทั่วไป ไม่จำต้องปฏิบัติตาม
ข้อกำหนดในพินัยกรรมลักษณะเฉพาะเกินกว่าจำนวนทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ
               มาตรา 1744 ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดก หรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์
มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกและผู้รับ
พินัยกรรมที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้  และส่วนได้ตามพินัยกรรมแล้วทุกคน

               หมวด 3
               การแบ่งมรดก
 
               มาตรา 1745 ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกัน
จนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้ว และให้ใช้ มาตรา 1356 ถึง มาตรา 1366 แห่งประมวลกฎหมายนี้
บังคับเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติแห่งบรรพนี้
               มาตรา 1746 ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย หรือข้อความในพินัยกรรมถ้าหากมี  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
ผู้เป็นทายาทด้วยกันมีส่วนเท่ากันในกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
               มาตรา 1747 การที่ทายาทคนใดได้รับทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใด หรือประโยชน์อย่างอื่นใดจาก
เจ้ามรดกโดยการให้ หรือโดยการอย่างอื่นใดซึ่งทำให้โดยเสน่หาในระหว่างเวลาที่เจ้ามรดกยังมีชีวิต
อยู่นั้น  หาทำให้สิทธิในการแบ่งปันทรัพย์มรดกของทายาทคนนั้นต้องเสื่อมเสียไปแต่โดยประการใดไม่
               มาตรา 1748 ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้อง
ให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754 แล้วก็ดี
               สิทธิจะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้
               มาตรา 1749 ถ้ามีคดีฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ผู้ซึ่งอ้างว่าตนเป็นทายาทมีสิทธิในทรัพย์มรดกนั้น จะร้อง
สอดเข้ามาในคดีก็ได้
               แต่ศาลจะเรียกทายาทอื่น นอกจากคู่ความ หรือผู้ร้องสอด ให้เข้ามารับส่วนแบ่งหรือกัน
ส่วนแห่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นนั้นไม่ได้
               มาตรา 1750 การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น  อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด
หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท
               ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญา จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหา
ได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทน
ของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำ มาตรา 850 , 852  แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย
ประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม
               มาตรา 1751 ภายหลังที่ได้แบ่งมรดกกันแล้ว  ถ้าทรัพย์สินทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทายาทคนใดคน
หนึ่งได้รับตามส่วนแบ่งปันนั้นหลุดมือไปจากทายาทคนนั้นเนื่องจากการรอนสิทธิ ทายาทคนอื่นๆ
จำต้องใช้ค่าทดแทน
               หนี้เช่นว่านั้นเป็นอันระงับเมื่อมีการตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น หรือการรอนสิทธิเป็นผลเนื่อง
มาจากความผิดของทายาทผู้ถูกรอนสิทธิ หรือเนื่องมาจากเหตุซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการแบ่งปัน
               ทายาทคนอื่นๆ ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่ทายาทผู้ถูกรอนสิทธิตามส่วนแห่งส่วนแบ่งของตน
แต่ให้หักจำนวนที่เป็นส่วนเฉลี่ยซึ่งทายาทผู้ถูกรอนสิทธิจะต้องออกกับเขาด้วยนั้นออกเสีย แต่ถ้า
ทายาทคนใดคนหนึ่งเป็นคนหนี้สินล้นพ้นตัว ทายาทคนอื่นๆ ต้องรับผิดในส่วนของทายาทคนนั้น
ตามส่วนเฉลี่ยเช่นเดียวกัน แต่ให้หักจำนวนที่เป็นส่วนเฉลี่ยซึ่งทายาทผู้ที่จะได้รับค่าทดแทน จะต้อง
ออกแทนทายาทผู้ที่มีหนี้สินพ้นตัวนั้นออกเสีย
               บทบัญญัติในวรรคก่อนๆ มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ
               มาตรา 1752 คดีฟ้องให้รับผิดเนื่องจากการรอนสิทธิตาม มาตรา 1751 นั้น  มิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด
สามเดือนนับแต่เมื่อถูกรอนสิทธิ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้