กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ5 ลักษณะ1 หมวด1,2,3,4

Last updated: 16 พ.ค. 2566  |  1224 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ5 ลักษณะ1 หมวด1,2,3,4

               กฎหมายแพ่งและพานิชย์

               บรรพ 5
               ครอบครัว
               ลักษณะ 1
               การสมรส
               หมวด 1
               การหมั้น
 
               มาตรา 1435 การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว
               การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ
               มาตรา 1436 ผู้เยาว์จะทำการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้
               (1)  บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา
               (2)  บิดาหรือมารดา ในกรณีที่มารดาหรือบิดาตาย หรือถูกถอนอำนาจปกครอง หรือไม่อยู่
ในสภาพหรือฐานะที่อาจให้ความยินยอม หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมจาก
มารดาหรือบิดาได้
               (3)  ผู้รับบุตรบุญธรรม  ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
               (4)  ผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลซึ่งอาจให้ความยินยอมตาม (1) (2) และ (3)หรือมี
แต่บุคคลดังกล่าวถูกถอนอำนาจปกครอง
               การหมั้นที่ผู้เยาว์ทำโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ
               **แก้ไขโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               มาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้น
ให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
               เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
               สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม  หรือผู้ปกครอง
ฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี  เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส  ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญ
อันเกิดแก่หญิงหรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจ
สมรสกับหญิงนั้น  ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
               ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้  ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 412 ถึง
มาตรา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               **แก้ไขโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               มาตรา 1438 การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้
ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
               มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้
ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น  ให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
               **แก้ไขโดย มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
               (1)  ทดแทนความเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
               (2)  ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา  หรือบุคคลผู้กระทำการ
ในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริต
และตามสมควร
               (3)  ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สิน หรือการอื่นอันเกี่ยว
แก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควร ด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
               ในกรณีที่หญิงเป็นผู้มีสิทธิได้ค่าทดแทน  ศาลอาจชี้ขาดว่าของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่
หญิงนั้นเป็นค่าทดแทนทั้งหมดหรือเป็นส่วนหนึ่งของค่าทดแทนที่หญิงพึงได้รับ  หรือศาลอาจให้
ค่าทดแทนโดยไม่คำนึงถึงของหมั้นที่ตกเป็นสิทธิแก่หญิงนั้นก็ได้
               มาตรา 1441 ถ้าคู่หมั้นฝ่ายหนึ่งตายก่อนสมรส อีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกร้องค่าทดแทนมิได้ ส่วน
ของหมั้นหรือสินสอดนั้นไม่ว่าชายหรือหญิงตาย  หญิงหรือฝ่ายหญิงไม่ต้องคืนให้แก่ฝ่ายชาย
               **แก้ไขโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               มาตรา 1442 ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิงคู่หมั้นทำให้ชายไม่สมควรสมรสกับหญิงนั้น
ชายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้ และให้หญิงคืนของหมั้นแก่ชาย
               มาตรา 1443 ในกรณีมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่ชายคู่หมั้นทำให้หญิงไม่สมควรสมรสกับชายนั้น
หญิงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้โดยมิต้องคืนของหมั้นแก่ชาย
               มาตรา 1444 ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของ
คู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น คู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้น ต้องรับผิดใช้
ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น
               มาตรา 1445 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้น
ของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443
แล้วแต่กรณี
               มาตรา 1446 ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ข่มขืนกระทำชำเราหรือพยายาม
ข่มขืนกระทำชำเราคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้นได้ โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น
*มาตรา 1445 และมาตรา 1446 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2550
               มาตรา 1447 ค่าทดแทนอันจะพึงชดใช้แก่กันตามหมวดนี้  ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์
               สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามหมวดนี้ นอกจากค่าทดแทนตาม มาตรา 1440 (2) ไม่อาจ
โอนกันได้และไม่ตกทอดไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้เป็นหนังสือ หรือผู้เสียหาย
ได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
               **แก้ไขโดย มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               "มาตรา 1447/1 สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตาม มาตรา 1439 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิด
สัญญาหมั้น
               สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตาม มาตรา 1444 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันรู้หรือควรรู้
ถึงการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุให้บอกเลิกสัญญาหมั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วัน
กระทำการดังกล่าว
               สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา ๑๔๔๕ และมาตรา ๑๔๔๖ ให้มีอายุความหกเดือน
นับแต่วันที่ชายหรือหญิงคู่หมั้นรู้หรือควรรู้ถึงการกระทำของผู้อื่นอันจะเป็นเหตุให้เรียกค่าทดแทน
และรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าทดแทนนั้น แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ผู้อื่นนั้นได้กระทำการดังกล่าว
               **วรรคสามแก้ไขโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2550
               "มาตรา 1447/2 สิทธิเรียกคืนของหมั้นตาม มาตรา 1439  ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วั
นที่ผิดสัญญาหมั้น
               สิทธิเรียกคืนของหมั้นตาม มาตรา 1442 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ได้บอกเลิก
สัญญาหมั้น
               **แก้ไขโดย มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
 
               หมวด 2
               เงื่อนไขแห่งการสมรส
 
               มาตรา 1448 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว  แต่ในกรณีที่มีเหตุ
อันสมควร  ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้
               มาตรา 1449 การสมรสจะกระทำมิได้ถ้าชายหรือหญิงเป็นบุคคลวิกลจริตหรือเป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้
เป็นคนไร้ความสามารถ
               มาตรา 1450 ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสาโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา
หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี จะทำการสมรสกันไม่ได้  ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตาม
สายโลหิตโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
               มาตรา 1451 ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้
               มาตรา 1452 ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้
               มาตรา 1453 หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่นจะทำการสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อ
การสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่
               (1)  คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
               (2)  สมรสกับคู่สมรสเดิม
               (3)  มีใบรับรองแพทย์ประกาศนียบัตรหรือปริญญาซึ่งเป็นผู้ประกอบการรักษาโรคใน
สาขาเวชกรรมได้ตามกฎหมายว่ามิได้มีครรภ์  หรือ
               (4)  มีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
               มาตรา 1454 ผู้เยาว์จะทำการสมรสให้นำความใน มาตรา 1436 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               มาตรา 1455 การให้ความยินยอมให้ทำการสมรสจะกระทำได้แต่โดย
               (1)  ลงลายมือชื่อในทะเบียนขณะจดทะเบียนสมรส
               (2)  ทำเป็นหนังสือแสดงความยินยอมโดยระบุชื่อผู้จะสมรสทั้งสองฝ่ายและลงลายมือ
ชื่อของผู้ให้ความยินยอม
               (3)  ถ้ามีเหตุจำเป็น จะให้ความยินยอมด้วยวาจาต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนก็ได้
               ความยินยอมนั้น  เมื่อให้แล้วถอนไม่ได้
               มาตรา 1456 ถ้าไม่มีผู้ที่มีอำนาจให้ความยินยอมตาม มาตรา 1454 หรือมีแต่ไม่ให้ความยินยอม
หรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอม  หรือโดยพฤติการณ์ผู้เยาว์ไม่อาจขอความยินยอมได้
ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลเพื่ออนุญาตให้ทำการสมรส
               มาตรา 1457 การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น
               มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากัน และต้องแสดงการยินยอม
นั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย
               มาตรา 1459 การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมี
สัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้
               ในกรณีที่คู่สมรสประสงค์จะจดทะเบียนตามกฎหมายไทยให้พนักงานทูต หรือกงสุล
ไทยเป็นผู้รับจดทะเบียน
               มาตรา 1460 เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจทำการจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้
เพราะชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรืออยู่ในภาวะการรบ
หรือสงคราม ถ้าชายและหญิงนั้นได้แสดงเจตนาจะสมรสกันต่อหน้าบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่อยู่
ณ ที่นั้นแล้ว   ให้บุคคลดังกล่าวจดแจ้งการแสดงเจตนาขอทำการสมรสของชายและหญิงนั้นไว้
เป็นหลักฐาน และต่อมาชายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่อาจทำการ
จดทะเบียนต่อนายทะเบียนได้ โดยแสดงหลักฐานต่อนายทะเบียน และให้นายทะเบียนจดแจ้งวัน
เดือน ปี สถานที่ที่แสดงเจตนาขอทำการสมรส  และพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ในทะเบียนสมรส ให้
ถือว่าวันแสดงเจตนาขอทำการสมรสต่อบุคคลดังกล่าวเป็นวันจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนแล้ว
               ความในมาตรานี้มิให้ใช้บังคับถ้าหากจะมีการสมรสในวันแสดงเจตนาขอทำการสมรส
การสมรสนั้นจะตกเป็นโมฆะ
 
               หมวด 3
               ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา
 
               มาตรา 1461 สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
               สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถ และฐานะของตน
               มาตรา 1462 ในกรณีที่สามีภริยาไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้
หรือถ้าการอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือทำลายความผาสุกอย่างมาก สามีหรือภริยา
ฝ่ายที่ไม่สามารถที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้หรือฝ่ายที่จะต้องรับอันตรายหรือถูกทำลาย
ความผาสุก อาจร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้ตนอยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้น ๆ ยังมีอยู่ก็ได้
ในกรณีเช่นนี้ศาลจะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่
พฤติการณ์ก็ได้
*แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551
               มาตรา 1463 ในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
ภริยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามี
เหตุสำคัญ  ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ก็ได้
               มาตรา 1464 ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนวิกลจริตไม่ว่าศาลจะได้สั่งให้เป็นคนไร้ความ
สามารถหรือไม่ ถ้าคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งไม่อุปการะเลี้ยงดูฝ่ายที่วิกลจริตตาม มาตรา 1461 วรรคสอง
หรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดอันเป็นเหตุให้ฝ่ายที่วิกลจริตตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิด
อันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดความเสียหายทางทรัพย์สินถึงขนาด
บุคคลตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 28 หรือผู้อนุบาลอาจฟ้องคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู
ให้แก่ฝ่ายที่วิกลจริตหรือขอให้ศาลมีคำสั่งใดๆ เพื่อคุ้มครองฝ่ายที่วิกลจริตนั้นได้
               ในกรณีฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามวรรคหนึ่ง ถ้ายังมิได้มีคำสั่งของศาลว่าคู่สมรส
ซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถก็ให้ขอต่อศาลในคดีเดียวกันให้ศาลมีคำสั่งว่าคู่สมรสซึ่งวิกล
จริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ  โดยขอให้ตั้งตนเองหรือผู้อื่นที่ศาลเห็นสมควรเป็นผู้อนุบาล หรือ
ถ้าได้มีคำสั่งของศาลแสดงว่าคู่สมรสซึ่งวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถอยู่แล้ว จะขอให้ถอดถอน
ผู้อนุบาลคนเดิมและแต่งตั้งผู้อนุบาลคนใหม่ก็ได้
               ในการขอให้ศาลมีคำสั่งใดๆ เพื่อคุ้มครองคู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตโดยมิได้เรียกค่าอุปการะ
เลี้ยงดูด้วยนั้น จะไม่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้คู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ หรือจะ
ไม่ขอเปลี่ยนผู้อนุบาลก็ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าวิธีการคุ้มครองที่ขอนั้นจำต้องมีผู้อนุบาลหรือเปลี่ยน
ผู้อนุบาล ให้ศาลมีคำสั่งให้จัดการทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในวรรคสอง  แล้วจึงมีคำสั่งคุ้มครอง
ตามที่เห็นสมควร
               "มาตรา 1464/1 ในระหว่างการพิจารณาคดีตาม มาตรา 1464 ถ้ามีคำขอ ศาลอาจกำหนด
วิธีการชั่วคราวเกี่ยวกับการอุปการะเลี้ยงดู หรือการคุ้มครองคู่สมรสฝ่ายที่วิกลจริตได้ตามที่เห็นสมควร
และหากเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา
ความแพ่งมาใช้บังคับ
               **แก้ไขโดย มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)

               หมวด 4
               ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
 
               มาตรา 1465 ถ้าสามีภริยามิได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส 
ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในเรื่องทรัพย์สินนั้นให้บังคับตามบทบัญญัติในหมวดนี้
               ถ้าข้อความใดในสัญญาก่อนสมรสขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของ
ประชาชน หรือระบุให้ใช้กฎหมายประเทศอื่นบังคับเรื่องทรัพย์สินนั้น ข้อความนั้นๆ เป็นโมฆะ
               มาตรา 1466 สัญญาก่อนสมรสเป็นโมฆะ  ถ้ามิได้จดแจ้งข้อตกลงกันเป็นสัญญาก่อน
สมรสนั้นไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือมิได้ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ
คู่สมรสและพยานอย่างน้อยสองคนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรส  และได้จดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับ
การจดทะเบียนสมรสว่าได้มีสัญญานั้นแนบไว้
               มาตรา 1467 เมื่อสมรสแล้วจะเปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสนั้นไม่ได้ นอกจาก
จะได้รับอนุญาตจากศาล
               เมื่อได้มีคำสั่งของศาลถึงที่สุดให้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนสัญญาก่อนสมรสแล้ว ให้ศาล
แจ้งไปยังนายทะเบียนสมรสเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส
               มาตรา 1468 ข้อความในสัญญาก่อนสมรสไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก
ผู้ทำการโดยสุจริตไม่ว่าจะได้เปลี่ยนแปลงเพิกถอนโดยคำสั่งของศาลหรือไม่ก็ตาม
               มาตรา 1469 สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินใดที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากันนั้น
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่
วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้  แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอกผู้ทำการ
โดยสุจริต
               มาตรา 1470 ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินสมรส
               มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
               (1)  ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส
               (2)  ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ
หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
               (3)  ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา
               (4)  ที่เป็นของหมั้น
               มาตรา 1472 สินส่วนตัวนั้น ถ้าได้แลกเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินอื่นก็ดี ซื้อทรัพย์สินอื่นมาก็ดี หรือขายได้
เป็นเงินมาก็ดี ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
               สินส่วนตัวที่ถูกทำลายไปทั้งหมดหรือแต่บางส่วน แต่ได้ทรัพย์สินอื่นหรือเงินมาทดแทน
ทรัพย์สินอื่นหรือเงินที่ได้มานั้นเป็นสินส่วนตัว
               มาตรา 1473 สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใด  ให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ
               มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
               (1)  ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
               (2)  ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อ
พินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
               (3)  ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
               ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
เป็นสินสมรส
               มาตรา 1475 ถ้าสินสมรสใดเป็นจำพวกที่ระบุไว้ใน มาตรา 456 แห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือที่มี
เอกสารเป็นสำคัญ  สามีหรือภริยาจะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมกันในเอกสารนั้นก็ได้
               มาตรา 1476 สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ในกรณีดังต่อไปนี้
               (1)  ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง  ซึ่ง
อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
               (2)  ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิ
เหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
               (3)  ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
               (4)  ให้กู้ยืมเงิน
               (5)  ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อ
การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
               (6)  ประนีประนอมยอมความ
               (7)  มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
               (8)  นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
               การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดย
มิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
               **แก้ไขโดย มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               "มาตรา 1476/1 สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1476
ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติใน มาตรา 1465 และ มาตรา 1466
ในกรณีดังกล่าวนี้  การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
               ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของ มาตรา 1476
การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตาม มาตรา 1476
               **เพิ่มเติมแก้ไขโดย มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               มาตรา 1477 สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนบำรุง
รักษาสินสมรสหรือเพื่อประโยชน์แก่สินสมรส  หนี้อันเกิดแต่การฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีดังกล่าวให้ถือว่า
เป็นหนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน
               **แก้ไขโดย มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               มาตรา 1478 เมื่อฝ่ายใดต้องให้ความยินยอมหรือลงชื่อกับอีกฝ่ายหนึ่งในเรื่องจัดการทรัพย์สิน
แต่ไม่ให้ความยินยอม หรือไม่ยอมลงชื่อ โดยปราศจากเหตุผล หรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอมได้
อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้
               มาตรา 1479 การใดที่สามีหรือภริยากระทำซึ่งต้องรับความยินยอมร่วมกัน และถ้าการนั้นมี
กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็น
หนังสือ
               มาตรา 1480 การจัดการสินสมรส  ซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีก
ฝ่ายหนึ่งตาม มาตรา 1476  ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจาก
ความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้
เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคล
ภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
               การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่
ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น
               **แก้ไขโดย มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               มาตรา 1481 สามีหรือภริยาไม่มีอำนาจทำพินัยกรรมยกสินสมรสที่เกินกว่าส่วนของตนให้แก่
บุคคลใดได้
               มาตรา 1482 ในกรณีที่สามีหรือภริยามีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
ก็ยังมีอำนาจจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวตามสมควรแก่อัตภาพได้  ค่าใช้จ่าย
ในการนี้ย่อมผูกพันสินสมรสและสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย
               ถ้าสามีหรือภริยาจัดการบ้านเรือนหรือจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวเป็นที่เสียหายถึง
ขนาด  อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจนี้เสียได้
               มาตรา 1483 ในกรณีที่สามีหรือภริยามีอำนาจจัดการสินสมรสแต่ฝ่ายเดียว  ถ้าสามีหรือภริยา
จะกระทำหรือกำลังกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในการจัดการสินสมรสอันพึงเห็นได้ ว่าจะเกิดความเสียหาย
ถึงขนาด  อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งห้ามมิให้กระทำการนั้นได้
               มาตรา 1484 ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายซึ่งมีอำนาจจัดการสินสมรส
               (1)  จัดการสินสมรสเป็นที่เสียหายถึงขนาด
               (2)  ไม่อุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่ง
               (3)  มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือทำหนี้เกินกึ่งหนึ่งของสินสมรส
               (4)  ขัดขวางการจัดการสินสมรสของอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
               (5)  มีพฤติการณ์ปรากฏว่าจะทำความหายนะให้แก่สินสมรส
               อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องขอให้ศาลสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสแต่ผู้เดียว หรือสั่งให้
แยกสินสมรสได้
               ในกรณีตามวรรคหนึ่ง ถ้ามีคำขอ ศาลอาจกำหนดวิธีคุ้มครองชั่วคราวเพื่อจัดการสินสมรส
ได้ตามที่เห็นสมควร  และหากเป็นกรณีฉุกเฉิน  ให้นำบทบัญญัติเรื่องคำขอในเหตุฉุกเฉิน
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ
               **มาตรา 1482,1483,1484 แก้ไขโดย มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               "มาตรา 1484/1 ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งห้ามหรือจำกัดอำนาจในการจัดการสินสมรสของ
สามีหรือภริยาตาม มาตรา 1482  มาตรา 1483 หรือ มาตรา 1484  ถ้าต่อมาเหตุแห่งการนั้นหรือพฤติการณ์
ได้เปลี่ยนแปลงไป  สามีหรือภริยาอาจร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งที่ห้าม  หรือ
จำกัดอำนาจจัดการสินสมรสนั้นได้ ในการนี้ศาลจะมีคำสั่งใดๆ ตามที่เห็นสมควรก็ได้
               **เพิ่มเติมโดย มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               มาตรา 1485 สามีหรือภริยาอาจร้องขอต่อศาลให้ตนเป็นผู้จัดการสินสมรสโดยเฉพาะอย่างใด
อย่างหนึ่งหรือเข้าร่วมจัดการในการนั้นได้  ถ้าการที่จะทำเช่นนั้นจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า
               มาตรา 1486 เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดตามความใน มาตรา 1482 วรรคสอง
มาตรา 1483  มาตรา 1484  มาตรา 1484/1  หรือ มาตรา 1485  อันเป็นคุณแก่ผู้ร้องขอ หรือตาม
มาตรา 1491  มาตรา 1492/1  หรือ มาตรา 1598/17  หรือเมื่อสามีหรือภริยาพ้นจากการเป็นบุคคล
ล้มละลาย ให้ศาลแจ้งไปยังนายทะเบียนเพื่อจดแจ้งไว้ในทะเบียนสมรส
               มาตรา 1487 ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน  ฝ่ายใดจะยึดหรืออายัดทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่ง
ไม่ได้ เว้นแต่เป็นการยึดหรืออายัดทรัพย์สินในคดีที่ฟ้องร้องเพื่อการปฏิบัติหน้าที่หรือรักษาสิทธิระหว่าง
สามีภริยาตามที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายนี้ หรือที่ประมวลกฎหมายนี้บัญญัติไว้
โดยเฉพาะให้สามีภริยาฟ้องร้องกันเองได้ หรือเป็นการยึด หรืออายัดทรัพย์สินสำหรับค่าอุปการะ
เลี้ยงดูและค่าฤชาธรรมเนียมที่ยังมิได้ชำระตามคำพิพากษาของศาล
               **มาตรา 1486,1487 แก้ไขโดย มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               มาตรา 1488 ถ้าสามีหรือภริยาต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส
ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน  เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น
               มาตรา 1489 ถ้าสามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวของ
ทั้งสองฝ่าย
               มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้น  ให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นใน
ระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
               (1)  หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะ
เลี้ยงดู  ตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว  และการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
               (2)  หนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินสมรส
               (3)  หนี้ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการงานซึ่งสามีภริยาทำด้วยกัน
               (4)  หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน
               **มาตรา 1490 (1) แก้ไขโดย มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               มาตรา 1491 ถ้าสามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาให้ล้มละลาย สินสมรสย่อมแยกจากกัน
โดยอำนาจกฎหมายนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายนั้น
               มาตรา 1492 เมื่อได้แยกสินสมรสตาม มาตรา 1484 วรรคสอง  มาตรา 1491 หรือ มาตรา
1598/17 วรรคสองแล้ว  ให้ส่วนที่แยกออกตกเป็นสินส่วนตัวของสามีหรือภริยา และบรรดาทรัพย์สินที่
ฝ่ายใดได้มาในภายหลังไม่ให้ถือเป็นสินสมรส แต่ให้เป็นสินส่วนตัวของฝ่ายนั้น และสินสมรสที่คู่สมรสได้
มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือตาม มาตรา 1474 (2) ในภายหลัง ให้ตกเป็นสินส่วนตัว
ของสามีและภริยาฝ่ายละครึ่ง
               ดอกผลของสินส่วนตัวที่ได้มาหลังจากที่ได้แยกสินสมรสแล้ว ให้เป็นสินส่วนตัว
               **แก้ไขโดย มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               "มาตรา 1492/1 ในกรณีที่มีการแยกสินสมรสโดยคำสั่งศาล  การยกเลิกการแยกสินสมรส
ให้กระทำได้เมื่อสามีหรือภริยาร้องขอต่อศาล และศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิก แต่ถ้าภริยาหรือสามีคัดค้าน
ศาลจะสั่งยกเลิกการแยกสินสมรสได้ต่อเมื่อเหตุแห่งการแยกสินสมรสได้สิ้นสุดลงแล้ว
               เมื่อมีการยกเลิกการแยกสินสมรสตามวรรคหนึ่ง หรือการแยกสินสมรสสิ้นสุดลงเพราะ
สามีหรือภริยาพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ให้ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัวอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่ง
หรือในวันที่พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย ยังคงเป็นสินส่วนตัวต่อไปตามเดิม
               **เพิ่มเติมโดย มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2533 (รจ. เล่ม 107 ตอนที่ 187 วันที่ 26 กันยายน 2533)
               มาตรา 1493 ในกรณีที่ไม่มีสินสมรสแล้ว  สามีและภริยาต้องช่วยกันออกค่าใช้สอยสำหรับ
การบ้านเรือนตามส่วนมากและน้อยแห่งสินส่วนตัวของตน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้