กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ3 ลักษณะ22 หมวด1,2,3

Last updated: 14 พ.ค. 2566  |  276 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ3 ลักษณะ22 หมวด1,2,3

              กฎหมายแพ่งและพานิชย์

               ลักษณะ 22
               หุ้นส่วนและบริษัท
               หมวด 1
               บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
 
               มาตรา 1012 อันว่าสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป
ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น
               มาตรา 1013 อันห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น ท่านกำหนดเป็นสามประเภท  คือ
               (1)  ห้างหุ้นส่วนสามัญ
               (2)  ห้างหุ้นส่วนจำกัด
               (3)  บริษัทจำกัด
               มาตรา 1014 บรรดาสำนักงานสำหรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัททั้งหลายนั้น ให้เสนาบดีเจ้า
กระทรวงซึ่งบัญชาการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทเป็นผู้ออกกฎข้อบังคับจัดตั้งขึ้น
               มาตรา 1015 ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบัญญัติแห่งลักษณะนี้แล้ว ท่านจัดว่าเป็น
นิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น
               มาตรา 1016 การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท การแก้ไขข้อความที่ได้จดทะเบียนไว้
ในภายหลัง และการจดทะเบียนอย่างอื่นตามที่ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัท กำหนดให้จดทะเบียน
ให้จดทะเบียนต่อนายทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทตามที่รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง
ประกาศกำหนด
               *มาตรา 1016 แก้ไขโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560
               มาตรา 1017 ถ้าข้อความที่จะจดทะเบียน  หรือประกาศโฆษณาเกิดขึ้นในต่างประเทศไซร้ ท่านให้นับ
กำหนดเวลาสำหรับการจดทะเบียนหรือประกาศโฆษณาข้อความนั้นตั้งแต่เวลา เมื่อคำบอกกล่าว
การนั้นมาถึงตำบลที่จะจดทะเบียน หรือตำบลที่จะประกาศโฆษณานั้นเป็นต้นไป
               มาตรา 1018 ในการจดทะเบียน ท่านให้เสียค่าธรรมเนียมตามกฎข้อบังคับซึ่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงตั้งไว้
               มาตรา 1019 ถ้าคำขอจดทะเบียนหรือเอกสารซึ่งต้องจดทะเบียนไม่มีรายการบริบูรณ์ตามที่บังคับไว้
ในลักษณะนี้ว่าให้จดแจ้งก็ดี  หรือถ้ารายการอันใดซึ่งจดแจ้งในคำขอ หรือในเอกสารนั้นขัดกับ
กฎหมายก็ดี  หรือถ้าเอกสารใดซึ่งกำหนดไว้ว่าให้ส่งด้วยกันกับคำขอจดทะเบียนยังขาดอยู่มิได้ส่ง
ให้ครบก็ดี หรือถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้ออื่นซึ่งกฎหมายบังคับไว้ก็ดี นายทะเบียนจะไม่ยอมรับ
จดทะเบียนก็ได้  จนกว่าคำขอจดทะเบียนหรือเอกสารนั้นจะได้ทำให้บริบูรณ์  หรือแก้ไขให้ถูกต้อง
หรือได้ส่งเอกสารซึ่งกำหนดไว้นั้นครบทุกสิ่งอัน  หรือได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนั้นแล้ว
               มาตรา 1020 บุคคลทุกคนเมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว
ชอบที่จะตรวจเอกสารซึ่งนายทะเบียนเก็บรักษาไว้ได้ หรือจะขอให้คัดสำเนาหรือเนื้อความในเอกสาร
ฉบับใด ๆ พร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้องมอบให้ก็ได้
               ผู้มีส่วนได้เสียของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใด ๆ เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดใน
กฎกระทรวงแล้ว ชอบที่จะขอให้นายทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท
นั้นให้ก็ได้”
               *มาตรา 1020 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18)
พ.ศ. 2551
               มาตรา 1020/1 ให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมีอำนาจออกกฎกระทรวงลดหรือยกเว้น
ค่าธรรมเนียมที่ออกตามมาตรา ๑๐๑๘ และมาตรา ๑๐๒
               *มาตรา 1020/1 เพิ่มความโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560    
               มาตรา 1021 นายทะเบียนทุกคนจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาใน
หนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นคราวๆ  ตามแบบซึ่งเสนาบดีเจ้ากระทรวงจะได้กำหนดให้
               มาตรา 1022 เมื่อได้พิมพ์โฆษณาดั่งนั้นแล้ว ท่านให้ถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความซึ่งลงทะเบียนอัน
ได้กล่าวถึงในย่อรายการนั้นเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงไม่เลือกว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วยห้างหุ้นส่วน หรือ
ด้วยบริษัทนั้น  หรือที่ไม่เกี่ยวข้อง
               มาตรา 1023 ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดื จะถือเอาประโยชน์แก่
บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้
ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้จดทะเบียนแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้
               แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชำระหนี้ก่อน
จดทะเบียนนั้นย่อมไม่จำต้องคืน
               “มาตรา 1023/1 ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะยกมาตรา 1023 ขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอก
ผู้สุจริตเพื่อไม่ให้ต้องรับผิดโดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือกรรมการไม่มีอำนาจ
กระทำการมิได้”
*มาตรา 1023, มาตรา 1023/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551
               มาตรา 1024 ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันก็ดี หรือในระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกันก็ดี  ในระหว่างผู้เป็น
หุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนก็ดี  ในระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัทก็ดี ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดา
สมุดบัญชีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือของผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทใดๆ นั้น
ย่อมเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องตามข้อความที่ได้บันทึกไว้ในนั้นทุกประการ
 
               หมวด 2
               ห้างหุ้นส่วนสามัญ
               ส่วนที่ 1
               บทวิเคราะห์
 
               มาตรา 1025 อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น  คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิด
ร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด
 
               ส่วนที่ 2
               ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเอง
 
               มาตรา 1026 ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน
               สิ่งที่นำมาลงหุ้นด้วยนั้น  จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้
               มาตรา 1027 ในเมื่อมีกรณีเป็นข้อสงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิ่งซึ่งนำมาลงหุ้นด้วยกันนั้นมีค่า
เท่ากัน
               มาตรา 1028 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดได้ลงแต่แรงงานของตนเข้าเป็นหุ้นและในสัญญาเข้าหุ้นส่วนมิได้
ตีราคาค่าแรงไว้ ท่านให้คำนวณส่วนกำไรของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนด้วยลงแรงงานเช่นนั้นเสมอด้วยส่วน
ถัวเฉลี่ยของผู้เป็นหุ้นส่วน ซึ่งได้ลงเงินหรือลงทรัพย์สินเข้าหุ้นในการนั้น
               มาตรา 1029 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งเอาทรัพย์สินมาให้ใช้เป็นการลงหุ้นด้วยไซร้  ความเกี่ยวพัน
ระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี ความรับผิดเพื่อชำรุด
บกพร่องก็ดี ความรับผิดเพื่อการรอนสิทธิก็ดี ข้อยกเว้นความรับผิดก็ดี ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติ
แห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยเช่าทรัพย์
               มาตรา 1030 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันใดอันหนึ่งเป็นการลงหุ้นด้วยไซร้
ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นกับห้างหุ้นส่วนในเรื่องส่งมอบและซ่อมแซมก็ดี
ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องก็ดี ความรับผิดเพื่อความรอนสิทธิก็ดี ข้อยกเว้นความรับผิดก็ดี
ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยซื้อขาย
               มาตรา 1031 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดละเลยไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนเสียเลย ท่านว่าต้องส่งคำบอก
กล่าวเป็นจดหมายจดทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นให้ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนมา
ภายในเวลาอันสมควร  มิฉะนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ จะลงเนื้อเห็นพร้อมกัน หรือโดยเสียงข้างมาก
ด้วยกันสุดแต่ข้อสัญญา ให้เอาผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นออกเสียได้
               มาตรา 1032 ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วน หรือประเภทแห่งกิจการ นอกจาก
ด้วยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน  เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา 1033 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วน
ย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดจะเข้าทำสัญญาอันใดซึ่งผู้เป็น
หุ้นส่วนอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้
               ในกรณีเช่นนี้  ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน
               มาตรา 1034 ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าการงานของห้างหุ้นส่วนนั้นจักให้เป็นไปตามเสียงข้างมากแห่งผู้เป็น
หุ้นส่วนไซร้ ท่านให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งมีเสียงเป็นคะแนนหนึ่ง  โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนที่ลง
หุ้นด้วยมากหรือน้อย
               มาตรา 1035 ถ้าได้ตกลงกันไว้ว่าจะให้ผู้เป็นหุ้นส่วนหลายคนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ หุ้นส่วนผู้จัดการ
แต่ละคนจะจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นก็ได้ แต่หุ้นส่วนผู้จัดการคนหนึ่งคนใดจะทำการอันใดซึ่งหุ้นส่วน
ผู้จัดการอีกคนหนึ่งทักท้วงนั้นไม่ได้
               มาตรา 1036 อันหุ้นส่วนผู้จัดการนั้น  จะเอาออกจากตำแหน่งได้ต่อเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่น
ยินยอมพร้อมกัน  เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา 1037 ถึงแม้ว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้ตกลงให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้จัดการ
ห้างหุ้นส่วนก็ดี  ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนนอกจากผู้จัดการย่อมมีสิทธิที่จะไต่ถามถึงการงานของ
ห้างหุ้นส่วนที่จัดอยู่นั้นได้ทุกเมื่อ และมีสิทธิที่จะตรวจและคัดสำเนา สมุด บัญชี และเอกสารใดๆ
ของห้างหุ้นส่วนได้ด้วย
               มาตรา 1038 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และ
เป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้
รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ
               ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ ชอบ
ที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้
รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน
               มาตรา 1039 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำต้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนด้วยความระมัดระวังให้มากเสมือนกับ
จัดการงานของตนเองฉะนั้น
               มาตรา 1040 ห้ามมิให้ชักนำเอาบุคคลผู้อื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนโดยมิได้รับความยินยอม
ของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
                มาตรา 1041
               ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งโอนส่วนกำไรของตนในห้างหุ้นส่วนทั้งหมดก็ดี หรือแต่
บางส่วนก็ดี ให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นไซร้ ท่านว่า
บุคคลภายนอกนั้นจะกลายเป็นเข้าหุ้นส่วนด้วยก็หามิได้
               มาตรา 1042 ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นส่วนผู้จัดการกับผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายอื่นนั้น ท่านให้บังคับ
ด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน
               มาตรา 1043 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนอันมิได้เป็นผู้จัดการเอื้อมเข้ามาจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือ
ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นผู้จัดการกระทำล่วงขอบอำนาจของตนก็ดี ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติ
แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยจัดการงานนอกสั่ง
               มาตรา 1044 อันส่วนกำไรก็ดี ส่วนขาดทุนก็ดี ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกๆคนนั้น ยอมเป็นไปตามส่วนที่ลงหุ้น
               มาตรา 1045 ถ้าหุ้นส่วนของผู้ใดได้กำหนดแต่เพียงข้างฝ่ายกำไรว่าจะแบ่งเอาเท่าไร  หรือกำหนดแต่
เพียงข้างขาดทุนว่าจะยอมขาดเท่าไรฉะนี้ไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหุ้นส่วนของผู้นั้นมีส่วน
กำไร และส่วนขาดทุนเป็นอย่างเดียวกัน
               มาตรา 1046 ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ว่าคนหนึ่งคนใดหามีสิทธิจะได้รับบำเหน็จเพื่อที่ได้จัดการงานของห้าง
หุ้นส่วนนั้นไม่ เว้นแต่จะได้มีความตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา 1047 ถ้าชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงใช้เรียกขานติดเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน
อยู่  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้งดใช้ชื่อของตนเสียได้
               มาตรา 1048 ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะเรียกเอาส่วนของตนจากหุ้นส่วนอื่นๆ แม้ในกิจการค้าขายอันใดซึ่ง
ไม่ปรากฏชื่อของตนก็ได้

               ส่วนที่ 3
               ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอก
 
               มาตรา 1049 ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใดๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏชื่อของ
ตนนั้นหาได้ไม่
               มาตรา 1050 การใดๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของ
ห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆ ด้วย  และจะต้อง
รับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น
               มาตรา 1051 ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้
เกิดขึ้นที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป
               มาตรา 1052 บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใดๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้
เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย
               มาตรา 1053 ห้างหุ้นส่วนซึ่งมิได้จดทะเบียนนั้น ถึงแม้จะมีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนคนหนึ่งในการ
ที่จะผูกพันผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ   ท่านว่าข้อจำกัดเช่นนั้นก็หามีผลถึงบุคคลภายนอกไม่
               มาตรา 1054 บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี
ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตน
เป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วน
เสมือนเป็นหุ้นส่วน
               ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว  และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิม
ของห้าง ท่านว่าเหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้นก็ดี  หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วยก็ดี หาทำ
ให้ความรับผิดมีแก่กองทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อหนี้ใดๆ อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลัง
มรณะนั้นไม่
 
               ส่วนที่ 4
               การเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญ
 
               มาตรา 1055 ห้างหุ้นส่วนสามัญย่อมเลิกกันด้วยเหตุดั่งกล่าวต่อไปนี้
               (1)  ถ้าในสัญญาทำไว้มีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น
               (2)  ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
               (3)  ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น
               (4)  เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งให้คำบอกกล่าวแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ ตามกำหนด
ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 1056
               (5)  เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย หรือล้มละลายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
               มาตรา 1056 ถ้าห้างหุ้นส่วนได้ตั้งขึ้นไม่มีกำหนดกาลอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นยุติ ท่านว่าจะเลิกได้ต่อ
เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งบอกเลิกเมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้น และ
ผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นต้องบอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกเดือน 
               มาตรา 1057 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจ
สั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้ คือ
               (1)  เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใดๆ อัน
เป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตนโดยจงใจ หรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง
               (2)  เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียว และไม่มีหวังจะ
กลับฟื้นตัวได้อีก
               (3)  เมื่อมีเหตุอื่นใดๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้
               มาตรา 1058 เมื่อเหตุอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งซึ่งตามความใน มาตรา 1057
หรือ มาตรา 1067 เป็นเหตุให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นมีสิทธิจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ไซร้
ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นยื่นคำร้อง ท่านว่าศาลจะสั่งให้กำจัดหุ้นส่วนผู้ต้นเหตุนั้นออกเสียจาก
ห้างหุ้นส่วนแทนสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนก็ได้
               ในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างห้างหุ้นส่วนกับผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถูกกำจัดนั้น ท่านให้ตีราคา
ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนตามราคาที่เป็นอยู่ในเวลาแรกยื่นคำร้องขอให้กำจัด
               มาตรา 1059 ถ้าเมื่อสิ้นกำหนดกาลซึ่งได้ตกลงกันไว้ และผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายหรือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่ง
เคยได้จัดการอยู่ในระหว่างกำหนดนั้นยังคงดำเนินการค้าของห้างหุ้นส่วนอยู่ต่อไปโดยมิได้ชำระ
บัญชี หรือชำระเงินกันให้เสร็จไปไซร้ ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งปวงได้ตกลงคงทำการเป็นหุ้น
ส่วนกันสืบไปโดยไม่มีกำหนดกาล
               มาตรา 1060 ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ใน มาตรา 1055 อนุมาตรา (4) หรือ อนุมาตรา (5)
นั้น  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่รับซื้อหุ้นของผู้ที่ออกจากหุ้นส่วนไปไซร้  ท่านว่าสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็
ยังคงใช้ได้ต่อไปในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่ด้วยกัน
               มาตรา 1061 เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์
สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย
               ถ้าการเลิกห้างหุ้นส่วนนั้นได้เป็นไปโดยที่เจ้าหนี้เฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่ง
ได้ให้คำบอกกล่าวก็ดี  หรือโดยที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล้มละลายก็ดี  ท่านว่าจะงดการชำระ
บัญชีเสียได้ต่อเมื่อเจ้าหนี้คนนั้น หรือเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ยินยอมด้วย
               การชำระบัญชีนั้น  ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วน
ได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ
               การตั้งแต่งผู้ชำระบัญชี  ให้วินิจฉัยชี้ขาดโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วน
               มาตรา 1062 การชำระบัญชี ให้ทำโดยลำดับดั่งนี้  คือ
               (1)  ให้ชำระหนี้ทั้งหลายซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอก
               (2)  ให้ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไปเพื่อจัดการค้า
ของห้าง
               (3)  ให้คืนทุนทรัพย์ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนได้ลงเป็นหุ้น
               ถ้ายังมีทรัพย์เหลืออยู่อีกเท่าไร  ก็ให้เฉลี่ยแจกเป็นกำไรในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน
               มาตรา 1063 ถ้าเมื่อได้ชำระหนี้ซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอก และชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายแล้ว
สินทรัพย์ที่ยังอยู่ไม่พอจะคืนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนให้ครบจำนวนที่ลงหุ้นไซร้  ส่วนที่ขาดนี้คือขาดทุน
ซึ่งต้องคิดเฉลี่ยช่วยกันขาด
 
               ส่วนที่ 5
               การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ
 
               มาตรา 1064 อันห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นจะจดทะเบียนก็ได้
               การจดทะเบียนนั้นท่านบังคับให้มีรายการดั่งนี้  คือ
               (1)  ชื่อห้างหุ้นส่วน
               (2)  วัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วน
               (3)  ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ และสาขาทั้งปวง
               (4)  ชื่อและที่สำนัก กับทั้งอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกๆ คน ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดมีชื่อ
ยี่ห้อ ก็ให้ลงทะเบียนทั้งชื่อและยี่ห้อด้วย
               (5)  ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ ในเมื่อได้ตั้งแต่งให้เป็นผู้จัดการแต่เพียงบางคน
               (6)  ถ้ามีข้อจำกัดอำนาจของหุ้นส่วนผู้จัดการประการใดให้ลงไว้ด้วย
               (7)  ตราซึ่งใช้เป็นสำคัญของห้างหุ้นส่วน
               ข้อความซึ่งลงทะเบียนนั้นจะลงรายการอื่นๆอีกอันคู่สัญญาเห็นสมควรจะให้ประชาชน
ทราบด้วยก็ได้
               การลงทะเบียนนั้น ต้องลงลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน และต้องประทับตราของ
ห้างหุ้นส่วนนั้นด้วย
               ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่ห้างหุ้นส่วนนั้น
ฉบับหนึ่ง
               " มาตรา 1064/1 หุ้นส่วนผู้จัดการคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนจะลาออกจากตำแหน่งให้ยื่น
ใบลาออกต่อหุ้นส่วนผู้จัดการอื่นคนหนึ่งคนใด การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้จัด
การอื่นนั้น
               ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนมีหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดียว ให้หุ้นส่วนผู้จัดการที่จะลาออก
จากตำแหน่งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดทราบเพื่อนัดประชุมและพิจารณาตั้งผู้จัด
การคนใหม่ พร้อมกับแนบใบลาออกไปด้วย การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนคนนั้น
               หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะแจ้งการลาออกของตนให้นาย
ทะเบียนทราบด้วยก็ได้
               "มาตรา 1064/2 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนำความไป
จดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง"
               "มาตรา 1064/1-2 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2549
               มาตรา 1065 ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกในบรรดาสิทธิอันห้างหุ้นส่วนจด
ทะเบียนนั้นได้มา  แม้ในกิจการซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตน
               มาตรา 1066 ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่ง
อย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น  ไม่ว่าทำ
เพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น  หรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วน
อื่น ซึ่งประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน  และแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน
จดทะเบียนนั้น เว้นไว้แต่จะได้รับคำยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมด
               แต่ข้อห้ามเช่นว่ามานี้  ท่านว่าจะไม่พึงใช้ได้ ถ้าหากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้รู้อยู่แล้ว
ในเวลาเมื่อลงทะเบียนห้างหุ้นส่วนนั้นว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งได้ทำกิจการ  หรือเข้าเป็นหุ้นส่วน
อยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นอันมีวัตถุที่ประสงค์อย่างเดียวกัน และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนที่ทำไว้ต่อกันนั้น
ก็ไม่ได้บังคับให้ถอนตัวออก
               มาตรา 1067 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดกระทำฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในมาตราก่อนนี้ไซร้ ท่านว่าห้างหุ้นส่วน
ซึ่งจดทะเบียนนั้น ชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรอันผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน
เพื่อความเสียหายซึ่งห้างหุ้นส่วนได้รับเพราะเหตุนั้น
               แต่ทั้งนี้ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน
               อนึ่ง บทบัญญัติมาตรานี้ไม่ลบล้างสิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้น ในอันจะเรียก
ให้เลิกห้างหุ้นส่วน
               มาตรา 1068 ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้
ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน
               มาตรา 1069 นอกจากในกรณีทั้งหลายที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1055 ท่านว่าห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
ย่อมเลิกกันเมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลาย
               มาตรา 1070 เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้ เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่
จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้
               มาตรา 1071 ในกรณีที่กล่าวไว้ใน มาตรา 1070 นั้น  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนนำพิสูจน์ได้ว่า
               (1) สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนยังมีพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วน และ
               (2) การที่จะบังคับเอาแก่ห้างหุ้นส่วนนั้นไม่เป็นการยากฉะนี้ไซร้
               ศาลจะบังคับให้เอาสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนนั้นชำระหนี้ก่อนก็ได้  สุดแต่ศาลจะเห็นสมควร
               มาตรา 1072 ถ้าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนยังมิได้เลิกกันตราบใด  เจ้าหนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะตัว
ย่อมใช้สิทธิได้แต่เพียงในผลกำไร หรือเงินซึ่งห้างหุ้นส่วนค้างชำระแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นเท่านั้น
ถ้าห้างหุ้นส่วนนั้นเลิกกันแล้ว  เจ้าหนี้ย่อมใช้สิทธิได้ตลอดจนถึงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นอันมี
ในสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน
 
               ส่วนที่ 6
               การควบห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนเข้ากัน
 
               มาตรา 1073 ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหนึ่งจะควบเข้าเป็นอันเดียวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอีก
ห้างหนึ่งก็ได้  โดยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา 1074 เมื่อห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างใดปลงใจจะควบเข้ากันกับห้างอื่น  ห้างหุ้นส่วนนั้นต้อง
โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่นั้นสองครั้งเป็นอย่างน้อย และส่งคำบอกกล่าวความประสงค์ที่จะ
ควบเข้ากันนั้นแก่บรรดาผู้ซึ่งห้างหุ้นส่วนรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่ง
อย่างใดในการที่จะทำนั้นส่งคำคัดค้านไปภายในสามเดือนนับแต่วันบอกกล่าว
               ถ้าไม่มีใครคัดค้านภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้น ก็ให้พึงถือว่าไม่มีคัดค้าน
               ถ้ามีคัดค้านไซร้ ท่านมิให้ห้างหุ้นส่วนจัดการควบเข้ากัน เว้นแต่จะได้ใช้หนี้ที่เรียกร้อง
หรือให้ประกันเพื่อหนี้นั้นแล้ว
               มาตรา 1075 เมื่อห้างได้ควบเข้ากันแล้ว ต่างห้างก็ต่างมีหน้าที่จะต้องนำความนั้นไปจดลงทะเบียน
ว่าได้ควบเข้ากันเป็นห้างหุ้นส่วนขึ้นใหม่
               มาตรา 1076 ห้างหุ้นส่วนใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิ ทั้งต้องอยู่ในความรับผิดของห้างหุ้นส่วนเดิมที่ได้ควบ
เข้ากันนั้นทั้งสิ้น

               หมวด 3
               ห้างหุ้นส่วนจำกัด
 
               มาตรา 1077 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่ง  ซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองจำพวก
ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (1)  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งมีจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่
ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ
               (2)  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้น
ส่วนไม่มีจำกัดจำนวนอีกจำพวกหนึ่ง
               มาตรา 1078 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ท่านบังคับว่าต้องจดทะเบียน
               การลงทะเบียนนั้นต้องมีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ
               (1)  ชื่อห้างหุ้นส่วน
               (2)  ข้อแถลงความว่าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด และวัตถุที่ประสงค์ของห้างหุ้นส่วนนั้น
               (3)  ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ และสำนักงานสาขาทั้งปวง
               (4)  ชื่อ ยี่ห้อ สำนัก และอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และจำนวน
เงินซึ่งเขาเหล่านั้นได้ลงหุ้นด้วยในห้างหุ้นส่วน
               (5)  ชื่อ ยี่ห้อ สำนัก และอาชีวะของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
               (6)  ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ
               (7)  ถ้ามีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการอันจะผูกพันห้างหุ้นส่วนนั้นประการใด ให้ลง
ไว้ด้วย
               ข้อความซึ่งลงทะเบียนนั้น จะลงรายการอื่นๆ อีกอันคู่สัญญาเห็นสมควรจะให้ประชาชน
ทราบด้วยก็ได้
               การลงทะเบียนนั้น ต้องลงลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน และต้องประทับตราของ
ห้างหุ้นส่วนนั้นด้วย
               ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่ห้างหุ้นส่วนนั้น
ฉบับหนึ่ง
               "มาตรา 1078/1 หุ้นส่วนผู้จัดการคนใดจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อหุ้นส่วนผู้จัด
การคนหนึ่งคนใด การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้จัดการอื่นนั้น
               ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดียว ให้หุ้นส่วนผู้จัดการที่จะลาออกจาก
ตำแหน่งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดทราบเพื่อนัดประชุมและพิจารณาตั้งหุ้นส่วนผู้
จัดการคนใหม่ พร้อมกับแนบใบลาออกไปด้วย การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้นั้น
               หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะแจ้งการลาออกของตนให้นาย
ทะเบียนทราบด้วยก็ได้
               "มาตรา 1078/2 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนำความไป
จดทะเบียนภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง"
               “มาตรา 1078/1-2 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 15) พ.ศ. 2549
               มาตรา 1079 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ถ้ายังมิได้จดทะเบียนอยู่ตราบใด ท่านให้ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วน
สามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดย่อมต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด
จำนวนจนกว่าจะได้จดทะเบียน
               มาตรา 1080 บทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญข้อใดๆ หากมิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงไป
โดยบทบัญญัติแห่ง หมวด 3 นี้  ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย
               ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดนั้นมีอยู่หลายคนด้วยกัน  ท่านให้ใช้บท
บัญญัติสำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นวิธีบังคับในความเกี่ยวพันระหว่างคนเหล่านั้นเอง และ
ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นกับห้างหุ้นส่วน
               มาตรา 1081 ห้ามมิให้เอาชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมาเรียกขานระคนเป็นชื่อห้าง
               มาตรา 1082 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดย
ปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคล
ภายนอกเสมือนดั่งว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น
               แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกันเองนั้น ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนเช่นนี้ ท่านให้คง
บังคับตามสัญญาหุ้นส่วน
               มาตรา 1083 การลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้น ท่านว่าต้องให้ลงเป็นเงินหรือ
ทรัพย์สินอย่างอื่นๆ
               มาตรา 1084 ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด นอกจาก
ผลกำไรซึ่งห้างหุ้นส่วนทำมาค้าได้
               ถ้าทุนของห้างหุ้นส่วนลดน้อยลงไปเพราะถ้าขายขาดทุน ท่านห้ามมิให้แบ่งเงินปันผล
หรือดอกเบี้ยให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจนกว่าทุนซึ่งขาดไปนั้นจะได้คืนมาเต็ม
จำนวนเดิม
               แต่ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยไปแล้ว
โดยสุจริต ท่านว่าหาอาจจะบังคับให้เขาคืนเงินนั้นได้ไม่
               มาตรา 1085 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้แสดงด้วยจดหมายหรือใบแจ้งความหรือ
ด้วยวิธีอย่างอื่นให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจำนวนซึ่งได้จดทะเบียนเพียงใด
ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดเท่าถึงจำนวนเพียงนั้น
               มาตรา 1086 ข้อซึ่งตกลงกันในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายเพื่อจะเปลี่ยนแปลงประเภททรัพย์สินที่
ลงหุ้น  หรือเพื่อจะลดจำนวนลงหุ้นแห่งผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนหนึ่งคนใดนั้น
ท่านว่ายังไม่เป็นผลแก่บุคคลภายนอกจนกว่าจะได้จดทะเบียน
               เมื่อได้จดทะเบียนแล้วไซร้ ข้อตกลงนั้นๆ ก็ย่อมมีผลแต่เพียงเฉพาะแก่หนี้อันห้างหุ้นส่วน
ได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังเวลาที่ได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น
               มาตรา 1087 อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับ
ผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ
               มาตรา 1088 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดได้เข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของ
ห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัด
จำนวน
               แต่การออกความเห็นและแนะนำก็ดี  ออกเสียงเป็นคะแนนนับในการตั้งและถอดถอน
ผู้จัดการตามกรณีที่มีบังคับไว้ในสัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ดี  ท่านหานับว่าเป็นสอดเข้าเกี่ยวข้องจัดการ
งานของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่
               มาตรา 1089 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนั้น จะตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนก็ได้
               มาตรา 1090 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะประกอบการค้าขายอย่างใดๆ เพื่อประโยชน์
ตนหรือเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกก็ได้ แม้ว่าการงานเช่นนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับ
การค้าขายของห้างหุ้นส่วนก็ไม่ห้าม
               มาตรา 1091 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะโอนหุ้นของตนปราศจากความยินยอมของผู้
เป็นหุ้นส่วนอื่นๆ  ก็โอนได้
               มาตรา 1092 การที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดตายก็ดี ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความ
สามารถก็ดี  หาเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องเลิกกันไม่  เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็น
อย่างอื่น
               มาตรา 1093 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดตาย ท่านว่าทายาทของผู้นั้นย่อมเข้าเป็น
หุ้นส่วนแทนที่ผู้ตาย เว้นแต่จะได้มีข้อสัญญากันไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา 1094 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดล้มละลาย ท่านว่าต้องเอาหุ้นของผู้นั้นใน
ห้างหุ้นส่วนออกขายเป็นสินทรัพย์ในกองล้มละลาย
               มาตรา 1095 ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้อง
ร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้
               แต่เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นได้เลิกกันแล้ว เจ้าหนี้ของห้างมีสิทธิฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวก
จำกัดความรับผิดได้เพียงจำนวนดังนี้ คือ
               (1)  จำนวนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่าที่ยังค้างส่งแก่ห้างหุ้นส่วน
               (2)  จำนวนลงหุ้นเท่าที่ผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถอนไปจากสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน
               (3)  จำนวนเงินปันผลและดอกเบี้ยซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้รับไปแล้วโดยทุจริตและฝ่าฝืนต่อบท
มาตรา 1084.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้