กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ3 ลักษณะ20-21 หมวด2-3-4-5-6

Last updated: 14 พ.ค. 2566  |  271 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ3 ลักษณะ20-21 หมวด2-3-4-5-6

               กฎหมายแพ่งและพานิชย์

               หมวด3

               ส่วนที่ 6
               สิทธิไล่เบี้ยเพราะเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้เงิน
 
               มาตรา 959 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บรรดาผู้สลักหลังผู้สั่งจ่าย และบุคคลอื่นๆ ซึ่ง
ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นก็ได้  คือ
               (ก)  ไล่เบี้ยได้เมื่อตั๋วเงินถึงกำหนด  ในกรณีไม่ใช้เงิน
               (ข)  ไล่เบี้ยได้แม้ทั้งตั๋วเงินยังไม่ถึงกำหนด  ในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ
               (1) ถ้าเขาบอกปัดไม่รับรองตั๋วเงิน
               (2) ถ้าผู้จ่ายหากจะได้รับรองหรือไม่ก็ตาม ตกเป็นคนล้มละลาย หรือได้งดเว้น
การใช้หนี้ แม้การงดเว้นใช้หนี้นั้นจะมิได้มีคำพิพากษาเป็นหลักฐานก็ตาม หรือถ้าผู้จ่ายถูกยึดทรัพย์
และการยึดทรัพย์นั้นไร้ผล
               (3) ถ้าผู้สั่งจ่ายตั๋วเงินชนิดไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใดรับรองนั้น  ตกเป็นคนล้มละลาย
               มาตรา 960 การที่ตั๋วแลกเงินขาดรับรองหรือขาดใช้เงินนั้น  ต้องทำให้เป็นหลักฐานตามแบบระเบียบ
ด้วยเอกสารฉบับหนึ่ง เรียกว่าคำคัดค้าน
               คำคัดค้านการไม่ใช้เงินต้องทำในวัน ซึ่งจะพึงใช้เงินตามตั๋วนั้น  หรือวันใดวันหนึ่งภายใน
สามวันต่อแต่นั้นไป
               คำคัดค้านการไม่รับรองต้องทำภายในจำกัดเวลาซึ่งกำหนดไว้เพื่อการยื่นตั๋วเงินให้เขา
รับรอง  หรือภายในสามวันต่อแต่นั้นไป
               เมื่อมีคำคัดค้านการไม่รับรองขึ้นแล้ว  ก็เป็นอันไม่ต้องยื่นเพื่อให้ใช้เงิน และไม่ต้องทำ
คำคัดค้านการไม่ใช้เงิน
               ในกรณีทั้งหลายซึ่งกล่าวไว้ใน มาตรา 959 (ข) (2) นั้น  ท่านว่าผู้ทรงยังหาอาจจะใช้
สิทธิไล่เบี้ยได้ไม่  จนกว่าจะได้ยื่นตั๋วเงินให้ผู้จ่ายใช้เงินและได้ทำคำคัดค้านขึ้นแล้ว
               ในกรณีทั้งหลายดั่งกล่าวไว้ใน มาตรา 959 ข) (3) นั้น  ท่านว่าถ้าเอาคำพิพากษาซึ่งสั่ง
ให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลายออกแสดง ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำให้ผู้ทรงสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยได้
               มาตรา 961 คำคัดค้านนั้นให้นายอำเภอ  หรือผู้ทำการแทนนายอำเภอหรือทนายความผู้ได้รับ
อนุญาตเพื่อการนี้เป็นผู้ทำ
               เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจออกกฎข้อบังคับเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบท
บัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการออกใบอนุญาต  และการทำคำคัดค้าน รวมทั้ง
กำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมอันเกี่ยวกับการนั้น
               มาตรา 962 ในคำคัดค้านนั้นนอกจากชื่อ ตำแหน่ง  และลายมือชื่อของผู้ทำ ต้องมีสำเนาตั๋วเงินกับ
รายการสลักหลังทั้งหมดตรงถ้อยตรงคำกับระบุความดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (1)  ชื่อ หรือยี่ห้อของบุคคลผู้คัดค้านและผู้ถูกคัดค้าน
               (2)  มูล หรือเหตุที่ต้องทำคำคัดค้านตั๋วเงิน การทวงถามและคำตอบถ้ามี หรือข้อที่ว่า
หาตัวผู้จ่ายหรือผู้รับรองไม่พบ
               (3)  ถ้ามีการรับรอง หรือใช้เงินเพื่อแก้หน้า ให้แถลงลักษณะแห่งการเข้าแก้หน้าทั้งชื่อ
หรือยี่ห้อของผู้รับรองหรือผู้ใช้เงินเพื่อแก้หน้า และชื่อบุคคลซึ่งเขาเข้าแก้หน้านั้นด้วย
               (4) สถานที่และวันทำคำคัดค้าน
               ให้ผู้ทำคำคัดค้านส่งมอบคำคัดค้านแก่ผู้ร้องขอให้ทำ  และให้ผู้ทำคำคัดค้านรีบส่งคำ
บอกกล่าวการคัดค้านนั้นไปยังผู้ถูกคัดค้าน ถ้าทราบภูมิลำเนาก็ให้ส่งโดยจดหมายลงทะเบียน
ไปรษณีย์ หรือส่งมอบไว้ ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้นก็ได้  ถ้าไม่ทราบภูมิลำเนาก็ให้ปิดสำเนาคำคัดค้าน
ไว้ยังที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่ว่าการอำเภอประจำท้องที่อันผู้ถูกคัดค้านมีถิ่นที่อยู่ครั้งหลังที่สุด
               มาตรา 963 ผู้ทรงต้องให้คำบอกกล่าวการที่เขาไม่รับรองตั๋วแลกเงินหรือไม่ใช้เงินนั้นไปยังผู้สลักหลัง
ถัดตนขึ้นไป  กับทั้งผู้สั่งจ่ายด้วยภายในเวลาสี่วันต่อจากวันคัดค้าน หรือต่อจากวันยื่นตั๋ว ในกรณี
ที่มีข้อกำหนดว่า "ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน"
               ผู้สลักหลังทุกๆ คนต้องให้คำบอกกล่าวไปยังผู้สลักหลังถัดตนขึ้นไปภายในสองวัน ให้
ทราบคำบอกกล่าวอันตนได้รับจดแจ้งให้ทราบชื่อและสำนักของผู้ที่ได้ให้คำบอกกล่าวมาก่อนๆ
นั้นด้วย  ทำเช่นนี้ติดต่อกันไปโดยลำดับจนกระทั่งถึงผู้สั่งจ่าย อนึ่ง จำกัดเวลาซึ่งกล่าวมานั้น
ท่านนับแต่เมื่อคนหนึ่งๆ ได้รับคำบอกกล่าวแต่คนก่อน
               ถ้าผู้สลักหลังคนหนึ่งคนใดมิได้ระบุสำนักของตนไว้ก็ดี หรือได้ระบุแต่อ่านไม่ได้ความก็ดี
ท่านว่าสุดแต่คำบอกกล่าวได้ส่งไปยังผู้สลักหลังคนก่อนก็เป็นอันพอแล้ว
               บุคคลผู้จะต้องให้คำบอกกล่าว  จะทำคำบอกกล่าวเป็นรูปอย่างใดก็ได้ทั้งสิ้น แม้เพียง
แต่ด้วยส่งตั๋วแลกเงินคืนก็ใช้ได้ อนึ่ง ต้องพิสูจน์ได้ว่าได้ส่งคำบอกกล่าวภายในเวลากำหนด
               ถ้าส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือจดทะเบียนไปรษณีย์  หากว่าหนังสือนั้นได้ส่งไปรษณีย์
ภายในเวลากำหนดดั่งกล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวเป็นอันได้ส่งภายในจำกัดเวลา
บังคับแล้ว
               บุคคลซึ่งมิได้ให้คำบอกกล่าวภายในจำกัดเวลาดั่งได้ว่ามานั้นหาเสียสิทธิไล่เบี้ยไม่  แต่
จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่ความประมาทเลินเล่อของตน  แต่ท่านมิให้
คิดค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนในตั๋วแลกเงิน
               มาตรา 964 ด้วยข้อกำหนดเขียนลงไว้ว่า "ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน" ก็ดี  "ไม่มีคัดค้าน" ก็ดี หรือสำนวน
อื่นใดทำนองนั้นก็ดี   ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังจะยอมปลดเปลื้องผู้ทรงจากการทำคำคัดค้านการ
ไม่รับรอง หรือการไม่ใช้เงินก็ได้ เพื่อตนจะได้ใช้สิทธิไล่เบี้ย
               ข้อกำหนดอันนี้  ย่อมไม่ปลดผู้ทรงให้พ้นจากหน้าที่นำตั๋วเงินยื่นภายในเวลากำหนด
หรือจากหน้าที่ให้คำบอกกล่าวตั๋วเงินขาดความเชื่อถือแก่ผู้สลักหลังคนก่อนหรือผู้สั่งจ่าย อนึ่ง
หน้าที่นำสืบว่าไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกำหนดเวลาจำกัดนั้น  ย่อมตกอยู่แก่บุคคลผู้แสวงจะใช้
ความข้อนั้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ทรงตั๋วแลกเงิน
               ข้อกำหนดอันนี้ ถ้าผู้สั่งจ่ายเป็นผู้เขียนลงไปแล้ว  ย่อมเป็นผลตลอดถึงคู่สัญญาทั้งปวง
บรรดาที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้น  ถ้าและทั้งมีข้อกำหนดดั่งนี้แล้ว  ผู้ทรงยังขืนทำคำคัดค้านไซร้
ท่านว่าผู้ทรงต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเพื่อการนั้น  หากว่าข้อกำหนดนั้น ผู้สลักหลังเป็นผู้เขียนลง
และถ้ามีคำคัดค้านทำขึ้นไซร้  ท่านว่าค่าใช้จ่ายในการคัดค้านนั้นอาจจะเรียกเอาใช้ได้จากคู่สัญญา
อื่นๆ บรรดาที่ได้ลงลายมือชื่อในตั๋วแลกเงินนั้น
               มาตรา 965 ในกรณีตั๋วเงินภายในประเทศ  ถ้าผู้จ่ายบันทึกลงไว้ในตั๋วแลกเงินเป็นข้อความบอกปัด
ไม่รับรองหรือไม่ยอมใช้เงิน  ทั้งลงวันที่บอกปัดลงลายมือชื่อไว้ด้วยแล้ว ท่านว่าคำคัดค้านนั้นก็
เป็นอันไม่จำเป็นต้องทำ และผู้ทรงต้องส่งคำบอกกล่าวขาดความเชื่อถือไปยังบุคคลซึ่งตนจำนง
จะไล่เบี้ยภายในสี่วันต่อจากวันเขาบอกปัดไม่รับรองนั้น
               มาตรา 966 คำบอกกล่าวขาดความเชื่อถือในกรณีไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินนั้น ต้องมีรายการ คือวันที่
ลงในตั๋วแลกเงิน ชื่อหรือยี่ห้อของผู้สั่งจ่ายและของผู้จ่าย จำนวนเงินในตั๋วเงิน วันถึงกำหนดใช้เงิน
ชื่อหรือยี่ห้อและสำนักของผู้ทรงตั๋วเงิน  วันที่คัดค้านหรือวันที่บอกปัดไม่รับรองหรือไม่ใช้เงิน  กับ
ข้อความว่าเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้เงินตามตั๋วเงินนั้น
               มาตรา 967 เรื่องตั๋วแลกเงินนั้น บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดี รับรองก็ดีสลักหลังก็ดี หรือรับประกันด้วย
อาวัลก็ดี  ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง
               ผู้ทรงย่อมมีสิทธิว่ากล่าวเอาความแก่บรรดาบุคคลเหล่านี้เรียงตัว หรือรวมกันก็ได้ โดยมิ
พักต้องดำเนินตามลำดับที่คนเหล่านั้นมาต้องผูกพัน
               สิทธิเช่นเดียวกันนี้  ย่อมมีแก่บุคคลทุกคนซึ่งได้ลงลายมือชื่อในตั๋วเงินและเข้าถือเอา
ตั๋วเงินนั้น  ในการที่จะใช้บังคับเอาแก่ผู้ที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนตน  การว่ากล่าวเอาความแก่
คู่สัญญาคนหนึ่ง  ซึ่งต้องรับผิดย่อมไม่ตัดหนทางที่จะว่ากล่าวเอาความแก่คู่สัญญาคนอื่นๆ
แม้ทั้งจะเป็นฝ่ายอยู่ในลำดับภายหลังบุคคลที่ได้ว่ากล่าวเอาความมาก่อน
               มาตรา 968 ผู้ทรงจะเรียกร้องเอาเงินใช้จากบุคคลซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยนั้นก็ได้ คือ
               (1)  จำนวนเงินในตั๋วแลกเงินซึ่งเขาไม่รับรองหรือไม่ใช้กับทั้งดอกเบี้ยด้วย หากว่ามีข้อ
กำหนดไว้ว่าให้คิดดอกเบี้ย
               (2)  ดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันถึงกำหนด
               (3)  ค่าใช้จ่ายในการคัดค้าน และในการส่งคำบอกกล่าวของผู้ทรงไปยังผู้สลักหลังถัด
จากตนขึ้นไปและผู้สั่งจ่าย กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ
               (4) ค่าชักส่วนลดซึ่งถ้าไม่มีข้อตกลงกันไว้ ท่านให้คิดร้อยละ 1/6  ในต้นเงินอันจะพึงใช้
ตามตั๋วเงิน และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร ท่านมิให้คิดสูงกว่าอัตรานี้
               ถ้าใช้สิทธิไล่เบี้ยก่อนถึงกำหนด  ท่านให้หักลดจำนวนเงินในตั๋วเงินลงให้ร้อยละห้า
               มาตรา 969 คู่สัญญาฝ่ายซึ่งเข้าถือเอาและใช้เงินตามตั๋วแลกเงินอาจจะเรียกเอาเงินใช้จากคู่สัญญา
ทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดต่อตนได้ คือ
               (1)  เงินเต็มจำนวนซึ่งตนได้ใช้ไป
               (2)  ดอกเบี้ยในจำนวนเงินนั้น คิดอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ได้ใช้เงินไป
               (3)  ค่าใช้จ่ายต่างๆ อันตนต้องออกไป
               (4)  ค่าชักส่วนลดจากต้นเงินจำนวนในตั๋วแลกเงินตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 968
อนุมาตรา (4)
               มาตรา 970 คู่สัญญาทุกฝ่ายซึ่งต้องรับผิดและถูกไล่เบี้ย หรืออยู่ในฐานะจะถูกไล่เบี้ยได้นั้น อาจจะ
ใช้เงินแล้วเรียกให้เขาสละตั๋วเงินให้แก่ตนได้  รวมทั้งคำคัดค้านและบัญชีรับเงินด้วย
               ผู้สลักหลังทุกคนซึ่งเข้าถือและใช้เงินตามตั๋วแลกเงินแล้วจะขีดฆ่าคำสลักหลังของตนเอง
และของเหล่าผู้สลักหลังภายหลังตนนั้นเสียก็ได้
               มาตรา 971 ผู้สั่งจ่ายก็ดี ผู้รับรองก็ดี ผู้สลักหลังคนก่อนก็ดี  ซึ่งเขาสลักหลังหรือโอนตั๋วแลกเงินให้อีก
ทอดหนึ่งนั้น  หามีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตนย่อมต้องรับผิดต่อเขาอยู่ก่อนแล้วตามตั๋วเงินนั้นได้ไม่
               มาตรา 972 ในกรณีใช้สิทธิไล่เบี้ยภายหลังการรับรองแต่บางส่วน  ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายซึ่งใช้เงินอัน
เป็นจำนวนเขาไม่รับรองนั้น อาจจะเรียกให้จดระบุความที่ใช้เงินนี้ลงไว้ในตั๋วเงิน  และเรียกให้ทำ
ใบรับให้แก่ตนได้  อนึ่ง ผู้ทรงตั๋วเงินต้องให้สำเนาตั๋วเงินอันรับรองว่าถูกต้องแก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น
พร้อมทั้งคำคัดค้านด้วย เพื่อให้เขาสามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยในภายหลังได้สืบไป
               มาตรา 973 เมื่อกำหนดเวลาจำกัดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ได้ล่วงพ้นไปแล้ว คือ
               (1)  กำหนดเวลาสำหรับยื่นตั๋วแลกเงินชนิดให้ใช้เงินเมื่อได้เห็น หรือในระยะเวลาอย่างใด
อย่างหนึ่งภายหลังได้เห็น
               (2)  กำหนดเวลาสำหรับทำคำคัดค้านการไม่รับรอง หรือการไม่ใช้เงิน
               (3)  กำหนดเวลาสำหรับยื่นตั๋วเพื่อให้ใช้เงิน ในกรณีที่มีข้อกำหนดว่า "ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน"
               ท่านว่าผู้ทรงย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่เหล่าผู้สลักหลัง  ผู้สั่งจ่าย  และคู่สัญญาอื่นๆ
ผู้ต้องรับผิด  เว้นแต่ผู้รับรอง
               อนึ่ง ถ้าไม่ยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้เขารับรองภายในเวลาจำกัดดั่งผู้สั่งจ่ายได้กำหนดไว้
ท่านว่าผู้ทรงย่อมเสียสิทธิที่จะไล่เบี้ยทั้งเพื่อการที่เขาไม่ใช้เงิน และเพื่อการที่เขาไม่รับรอง เว้นแต่
จะปรากฏจากข้อกำหนดว่า  ผู้สั่งจ่ายหมายเพียงแต่จะปลดตนเองให้พ้นจากประกันการรับรอง
               ถ้าข้อกำหนดจำกัดเวลายื่นตั๋วแลกเงินนั้นมีอยู่ที่คำสลักหลัง ท่านว่าเฉพาะแต่ผู้สลักหลัง
เท่านั้นจะอาจเอาประโยชน์ในข้อกำหนดนั้นได้
               มาตรา 974 การยื่นตั๋วแลกเงินก็ดี การทำคำคัดค้านก็ดี  ถ้ามีเหตุนำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้มา
ขัดขวางมิให้ทำได้ภายในกำหนดเวลาจำกัดสำหรับการนั้นไซร้  ท่านให้ยืดกำหนดเวลาออกไปอีกได้
               เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ดั่งว่ามานั้น ผู้ทรงต้องบอกกล่าวแก่ผู้สลักหลังคนถัด
ตนขึ้นไปโดยไม่ชักช้า และคำบอกกล่าวนั้นต้องเขียนระบุลงในตั๋วเงิน หรือใบประจำต่อ  ต้องลงวัน
และลงลายมือชื่อของผู้ทรง  การอื่นๆ นอกจากที่กล่าวนี้ ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติ มาตรา 963
               เมื่อเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้นสุดสิ้นลงแล้ว  ผู้ทรงต้องยื่นตั๋วเงินให้เขารับรอง
หรือใช้เงินโดยไม่ชักช้า  และถ้าจำเป็นก็ทำคำคัดค้านขึ้น
               ถ้าเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้น  ยังคงมีอยู่ต่อไปจนเป็นเวลากว่าสามสิบวัน
ภายหลังตั๋วเงินถึงกำหนดไซร้  ท่านว่าจะใช้สิทธิไล่เบี้ยก็ได้ และถ้าเช่นนั้นการยื่นตั๋วเงินก็ดี การทำ
คำคัดค้านก็ดี  เป็นอันไม่จำเป็นต้องทำ
               ในส่วนตั๋วเงินชนิดที่ให้ใช้เงินเมื่อได้เห็น  หรือให้ใช้เงินในระยะเวลาอย่างหนึ่งอย่างใด
ภายหลังได้เห็นนั้น  กำหนดสามสิบวันเช่นว่ามานี้ ท่านให้นับแต่วันที่ผู้ทรงได้ให้คำบอกกล่าว
เหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้นั้นแก่ผู้สลักหลังถัดตนขึ้นไป และถึงแม้ว่าจะเป็นการก่อนล่วง
กำหนดเวลายื่นตั๋วเงิน  ก็ให้นับเช่นนั้น
 
               ส่วนที่ 7
               ตั๋วแลกเงินเป็นสำรับ
 
               มาตรา 975 อันตั๋วแลกเงินนั้น นอกจากชนิดที่สั่งจ่ายแก่ผู้ถือแล้วจะออกไปเป็นคู่ฉีกความต้องกัน
สองฉบับหรือกว่านั้นก็อาจจะออกได้
               คู่ฉีกเหล่านี้ต้องมีหมายลำดับลงไว้ในตัวตราสารนั้นเอง มิฉะนั้นคู่ฉีกแต่ละฉบับย่อมใช้ได้
เป็นตั๋วแลกเงินฉบับหนึ่งๆ แยกเป็นตั๋วเงินต่างฉบับกัน
               บุคคลทุกคนซึ่งเป็นผู้ทรงตั๋วเงินอันมิได้ระบุว่าได้ออกเป็นตั๋วเดี่ยวนั้นจะเรียกให้ส่งมอบ
คู่ฉีกสองฉบับหรือกว่านั้นแก่ตนก็ได้ โดยยอมให้คิดค่าใช้จ่ายเอาแก่ตน  ในการนี้ผู้ทรงต้องว่ากล่าว
ไปยังผู้สลักหลังคนถัดตนขึ้นไป และผู้สลักหลังคนนั้นก็จำต้องช่วยผู้ทรงว่ากล่าวไปยังผู้ที่สลักหลัง
ให้แก่ตนต่อไปอีกสืบเนื่องกันไปเช่นนี้ตลอดสายจนกระทั่งถึงผู้สั่งจ่าย  อนึ่ง ผู้สลักหลังทั้งหลายจำ
ต้องเขียนคำสลักหลังของตนเป็นความเดียวกันลงในฉบับคู่ฉีกใหม่แห่งตั๋วสำรับนั้นอีกด้วย
               มาตรา 976 ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินสำรับหนึ่งสลักหลังคู่ฉีกสองฉบับหรือกว่านั้นให้แก่บุคคลต่างคนกัน
ท่านว่าผู้ทรงย่อมต้องรับผิดตามคู่ฉีกเช่นว่านั้นทุกๆ ฉบับ และผู้สลักหลังภายหลังผู้ทรงทุกๆ คน
ก็ต้องรับผิดตามคู่ฉีกอันตนเองได้สลักลงไปนั้นเสมือนดั่งว่าคู่ฉีกที่ว่านั้นแยกเป็นตั๋วเงินต่างฉบับกัน
               มาตรา 977 ถ้าคู่ฉีกสองฉบับหรือกว่านั้นในสำรับหนึ่งได้เปลี่ยนมือไปยังผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
ต่างคนกันไซร้  ในระหว่างผู้ทรงเหล่านั้นด้วยกัน คนใดได้ไปเป็นสิทธิก่อน ท่านให้ถือว่าคนนั้นเป็น
เจ้าของอันแท้จริงแห่งตั๋วเงินนั้น  แต่ความใดๆ ในบทมาตรานี้ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของบุคคล
ผู้ทำการโดยชอบด้วยกฎหมายรับรองหรือใช้เงินไปตามคู่ฉีกฉบับซึ่งเขายื่นแก่ตนก่อน
               มาตรา 978 คำรับรองนั้นจะเขียนลงในคู่ฉีกฉบับใดก็ได้  และจะต้องเขียนลงในคู่ฉีกแต่เพียงฉบับเดียว
เท่านั้น
               ถ้าผู้จ่ายรับรองลงไปกว่าฉบับหนึ่ง และคู่ฉีกซึ่งรับรองเช่นนั้นตกไปถึงมือผู้ทรงโดยชอบ
ด้วยกฎหมายต่างคนกันไซร้ ท่านว่าผู้จ่ายจะต้องรับผิดตามคู่ฉีกนั้นๆ ทุกฉบับ  เสมือนดั่งว่าแยก
เป็นตั๋วเงินต่างฉบับกัน
               มาตรา 979 ถ้าผู้รับรองตั๋วเงินซึ่งออกเป็นสำรับใช้เงินไปโดยมิได้เรียกให้ส่งมอบคู่ฉีกฉบับซึ่งมีคำรับ
รองของตนนั้นให้แก่ตน และในเวลาตั๋วเงินถึงกำหนด คู่ฉีกฉบับนั้นไปตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบ
ด้วยกฎหมายคนใดคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าผู้รับรองจะต้องรับผิดต่อผู้ทรงคู่ฉีกฉบับนั้น
               มาตรา 980 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายซึ่งกล่าวมาก่อนนั้น ถ้าคู่ฉีกฉบับใดแห่งตั๋วเงินออก
เป็นสำรับได้หลุดพ้นไปด้วยการใช้เงิน หรือประการอื่นฉบับหนึ่งแล้ว ท่านว่าตั๋วเงินทั้งสำรับก็ย่อม
หลุดพ้นไปตามกัน
               มาตรา 981 คู่สัญญาซึ่งส่งคู่ฉีกฉบับหนึ่งไปให้เขารับรองต้องเขียนแถลงลงในคู่ฉีกฉบับอื่นว่าคู่ฉีก
ฉบับโน้นอยู่ในมือบุคคลชื่อไร ส่วนบุคคลคนนั้นก็จำต้องสละตั๋วให้แก่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
แห่งคู่ฉีกฉบับอื่นนั้น
               ถ้าบุคคลคนนั้นบอกปัดไม่ยอมให้ ท่านว่าผู้ทรงยังจะใช้สิทธิไล่เบี้ยไม่ได้จนกว่าจะได้ทำ
คัดค้านระบุความดั่งต่อไปนี้ คือ
               (1)  ว่าคู่ฉีกฉบับซึ่งได้ส่งไปเพื่อรับรองนั้น เขาไม่สละให้แก่ตนเมื่อทวงถาม
               (2) ว่าไม่สามารถจะให้เขารับรอง หรือใช้เงินด้วยคู่ฉีกฉบับอื่นได้
 
               หมวด 3
               ตั๋วสัญญาใช้เงิน
 
               มาตรา 982 อันว่าตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น  คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่ง  เรียกว่าผู้ออกตั๋ว ให้คำมั่น
สัญญาว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรือใช้ให้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง
เรียกว่าผู้รับเงิน
               มาตรา 983 ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น  ต้องมีรายการดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (1)  คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน
               (2)  คำมั่นสัญญาอันปราศจากเงื่อนไขว่าจะใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
               (3)  วันถึงกำหนดใช้เงิน
               (4)  สถานที่ใช้เงิน
               (5)  ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน
               (6)  วันและสถานที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน
               (7)  ลายมือชื่อผู้ออกตั๋ว
               มาตรา 984 ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่
สมบูรณ์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน  เว้นแต่ในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน  ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น
               ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน  ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้ออก
ตราสารนั้นเป็นสถานที่ใช้เงิน
               ถ้าตั๋วสัญญาใช้เงินไม่ระบุสถานที่ออกตั๋ว  ท่านให้ถือว่าตั๋วนั้นได้ออก  ณ ภูมิลำเนาของ
ผู้ออกตั๋ว
               ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว  ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริต
จะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้
               มาตรา 985 บทบัญญัติทั้งหลายใน หมวด 2 ว่าด้วยตั๋วแลกเงินดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมาบังคับ
ในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือ บท มาตรา 911 ,913,
916, 917, 919, 920, 922 ถึง 926, 938 ถึง 947, 949, 950, 954 ถึง 959, 967 ถึง 971
               ถ้าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่ออกมาแต่ต่างประเทศ ท่านให้นำบทบัญญัติต่อไปนี้มาใช้บังคับ
ด้วย คือบท มาตรา 960 ถึง 964, 973, 974
               มาตรา 986 ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับผู้รับรองตั๋วแลกเงิน
               ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งให้ใช้เงินในเวลาใดเวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น  ต้องนำยื่นให้ผู้ออกตั๋ว
จดรับรู้ภายในจำกัดเวลาดั่งกำหนดไว้ใน มาตรา 928 กำหนดเวลานี้ให้นับแต่วันจดรับรู้ซึ่งลงลาย
มือชื่อผู้ออกตั๋ว ถ้าผู้ออกตั๋วบอกปัดไม่ยอมจดรับรู้และลงวันไซร้ การที่เขาบอกปัดเช่นนี้  ท่านว่าต้อง
ทำให้เป็นหลักฐานขึ้นด้วยคำคัดค้าน  และวันคัดค้านนั้นให้ถือเป็นวันเริ่มต้นในการนับกำหนดเวลา
แต่ได้เห็น
 
               หมวด 4
               เช็ค
 
               มาตรา 987 อันว่าเช็คนั้น  คือหนังสือตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้สั่งจ่าย  สั่งธนาคารให้ใช้เงิน
จำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง  หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่ง
อันเรียกว่า ผู้รับเงิน
               มาตรา 988 อันเช็คนั้น ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (1)  คำบอกชื่อว่าเป็นเช็ค
               (2)  คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้ใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอน
               (3)  ชื่อ หรือยี่ห้อและสำนักของธนาคาร
               (4)  ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้รับเงิน  หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
               (5)  สถานที่ใช้เงิน
               (6)  วันและสถานที่ออกเช็ค
               (7)   ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย
               มาตรา 989 บทบัญญัติทั้งหลายใน หมวด 2 อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านให้ยกมา
บังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้ คือบท มาตรา 910 , 914 ถึง 923,
925, 926, 938 ถึง 940, 945, 946, 959, 967, 971
               ถ้าเป็นเช็คที่ออกมาแต่ต่างประเทศ ท่านให้นำบทบัญญัติดั่งต่อไปนี้มาใช้บังคับด้วย
คือบท มาตรา 924, 960 ถึง 964, 973 ถึง 977, 980
               มาตรา 990 ผู้ทรงเช็คต้องยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงิน  คือว่าถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินในเมืองเดียวกัน
กับที่ออกเช็ค ต้องยื่นภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันออกเช็คนั้น ถ้าเป็นเช็คให้ใช้เงินที่อื่น ต้องยื่นภายใน
สามเดือน  ถ้ามิฉะนั้นท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังทั้งปวง  ทั้งเสียสิทธิอันมีต่อ
ผู้สั่งจ่ายด้วยเพียงเท่าที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้สั่งจ่ายเพราะการที่ละเลยเสียไม่
ยื่นเช็คนั้น
               อนึ่ง ผู้ทรงเช็คซึ่งผู้สั่งจ่ายหลุดพ้นจากความรับผิดไปแล้วนั้น  ท่านให้รับช่วงสิทธิของ
ผู้สั่งจ่ายคนนั้นอันมีต่อธนาคาร
               มาตรา 991 ธนาคารจำต้องใช้เงินตามเช็คซึ่งผู้เคยค้ากับธนาคารได้ออกเบิกเงินแก่ตน เว้นแต่ในกรณี
ดั่งกล่าวต่อไปนี้  คือ
               (1)  ไม่มีเงินในบัญชีของผู้เคยค้าคนนั้นเป็นเจ้าหนี้พอจะจ่ายตามเช็คนั้น  หรือ
               (2)  เช็คนั้นยื่นเพื่อให้ใช้เงินเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันออกเช็ค  หรือ
               (3)  ได้มีคำบอกกล่าวว่าเช็คนั้นหายหรือถูกลักไป
               มาตรา 992 หน้าที่และอำนาจของธนาคารซึ่งจะใช้เงินตามเช็คอันเบิกแก่ตนนั้น  ท่านว่าเป็นอันสุดสิ้น
ไปเมื่อกรณีเป็นดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (1)  มีคำบอกห้ามการใช้เงิน
               (2)  รู้ว่าผู้สั่งจ่ายตาย
               (3)  รู้ว่าศาลได้มีคำสั่งรักษาทรัพย์ชั่วคราว หรือคำสั่งให้ผู้สั่งจ่ายเป็นคนล้มละลาย หรือ
ได้มีประกาศโฆษณาคำสั่งเช่นนั้น
               มาตรา 993 ถ้าธนาคารเขียนข้อความลงลายมือชื่อบนเช็ค เช่น คำว่า "ใช้ได้" หรือ "ใช้เงินได้" หรือ
คำใดๆ อันแสดงผลอย่างเดียวกัน  ท่านว่าธนาคารต้องผูกพันในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในอันจะ
ต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงตามเช็คนั้น
               ถ้าผู้ทรงเช็คเป็นผู้จัดการให้ธนาคารลงข้อความรับรองดั่งว่านั้น ท่านว่าผู้สั่งจ่ายและ
ผู้สลักหลังทั้งปวงเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามเช็คนั้น
               ถ้าธนาคารลงข้อความรับรองดั่งนั้นโดยคำขอร้องของผู้สั่งจ่าย  ท่านว่าผู้สั่งจ่ายและปวง
ผู้สลักหลังก็หาหลุดพ้นไปไม่
               มาตรา 994 ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคำว่า "และบริษัท" หรือคำย่อ
อย่างใดๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้  เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปและ
จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น
               ถ้าในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นกรอกชื่อธนาคารอันหนึ่งอันใดลงไว้โดยเฉพาะ เช็คเช่นนั้น
ชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะ และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้เฉพาะให้แก่ธนาคารอันนั้น
               มาตรา 995 (1)  เช็คไม่มีขีดคร่อม  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนใดคนหนึ่งจะเรียกขีดคร่อมเสียก็ได้ และจะ
ทำเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ได้
               (2)  เช็คขีดคร่อมทั่วไป  ผู้ทรงจะทำให้เป็นขีดคร่อมเฉพาะเสียก็ได้
               (3)  เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี  ขีดคร่อมเฉพาะก็ดี  ผู้ทรงจะเติมคำลงว่า "ห้ามเปลี่ยนมือ" ก็ได้
               (4)  เช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารใด  ธนาคารนั้นจะซ้ำขีดคร่อมเฉพาะให้ไปแก่
ธนาคารอื่นเพื่อเรียกเก็บเงินก็ได้
               (5) เช็คไม่มีขีดคร่อมก็ดี  เช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี  ส่งไปยังธนาคารใด เพื่อให้เรียกเก็บเงิน
ธนาคารนั้นจะลงขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนเองก็ได้
               มาตรา 996 การขีดคร่อมเช็คตามที่อนุญาตไว้ในมาตราก่อนนั้น  ท่านว่าเป็นส่วนสำคัญอันหนึ่งของ
เช็ค ใครจะลบล้างย่อมไม่เป็นการชอบด้วยกฎหมาย
               มาตรา 997 เช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไปเมื่อนำเบิกเอาแก่ธนาคารใด
ท่านให้ธนาคารนั้นบอกปัดเสียอย่าใช้เงินให้ เว้นแต่ที่ขีดคร่อมให้แก่ธนาคารในฐานเป็นตัวแทน
เรียกเก็บเงิน
               ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คเบิกขืนใช้เงินไปตามเช็คที่ขีดคร่อมอย่างว่ามานั้นก็ดี  ใช้เงิน
ตามเช็คอันเขาขีดคร่อมทั่วไปเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่งก็ดี  ใช้เงิน
ตามเช็คอันเขาขีดคร่อมเฉพาะเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้
โดยเฉพาะ  หรือแก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นก็ดี  ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไป
ดั่งกล่าวนี้จะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นในการที่เขาต้องเสียหายอย่างใดๆ
เพราะการที่ตนใช้เงินไปตามเช็คดั่งนั้น
               แต่หากเช็คใดเขานำยื่นเพื่อให้ใช้เงิน และเมื่อยื่นไม่ปรากฏว่าเป็นเช็คขีดคร่อมก็ดี หรือ
ไม่ปรากฏว่ามีรอยขีดคร่อมอันได้ลบล้าง  หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมเป็นประการอื่นนอกจาก
ที่อนุญาตไว้โดยกฏหมายก็ดี เช็คเช่นนี้ ถ้าธนาคารใดใช้เงินไปโดยสุจริต  และปราศจากประมาท
เลินเล่อ  ท่านว่าธนาคารนั้นไม่ต้องรับผิดหรือต้องมีหน้าที่รับใช้เงินอย่างใดๆ
               มาตรา 998 ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คขีดคร่อมเบิกเงินใช้เงินไปตามเช็คนั้นโดยสุจริตและปราศจาก
ประมาทเลินเล่อ  กล่าวคือว่าถ้าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ใช้เงินให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่ง  ถ้าเป็น
เช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้  โดยเฉพาะหรือใช้ให้แก่ธนาคาร
ตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นไซร้ ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปตามเช็คนั้นฝ่ายหนึ่ง  กับถ้าเช็ค
ตกไปถึงมือผู้รับเงินแล้ว ผู้สั่งจ่ายอีกฝ่ายหนึ่งต่างมีสิทธิเป็นอย่างเดียวกัน และเข้าอยู่ในฐานอัน
เดียวกันเสมือนดั่งว่าเช็คนั้นได้ใช้เงินให้แก่ผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแล้ว
               มาตรา 999 บุคคลใดได้เช็คขีดคร่อมของเขามาซึ่งมีคำว่า "ห้ามเปลี่ยนมือ" ท่านว่าบุคคลนั้นไม่มีสิทธิ
ในเช็คนั้นยิ่งไปกว่า  และไม่สามารถให้สิทธิในเช็คนั้นต่อไปได้ดีกว่าสิทธิของบุคคลอันตนได้เช็คของเขามา
               มาตรา 1000 ธนาคารใดได้รับเงินไว้เพื่อผู้เคยค้าของตนโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อ 
อันเป็นเงินเขาใช้ให้ตามเช็คขีดคร่อมทั่วไปก็ดี  ขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ตนก็ดี  หากปรากฏว่าผู้เคยค้า
นั้นไม่มีสิทธิหรือมีสิทธิเพียงอย่างบกพร่องในเช็คนั้นไซร้ ท่านว่าเพียงแต่เหตุที่ได้รับเงินไว้  หาทำ
ให้ธนาคารนั้นต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นแต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่
 
               หมวด 5
               อายุความ
 
               มาตรา 1001 ในคดีฟ้องผู้รับรองตั๋วแลกเงินก็ดี ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินก็ดี  ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น
เวลาสามปีนับแต่วันตั๋วนั้นๆ ถึงกำหนดใช้เงิน
               มาตรา 1002 ในคดีที่ผู้ทรงตั๋วเงินฟ้องผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่าย  ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่ง
นับแต่วันที่ได้ลงในคำคัดค้านซึ่งได้ทำขึ้นภายในเวลาอันถูกต้องตามกำหนด หรือนับแต่วันตั๋วเงิน
ถึงกำหนด  ในกรณีที่มีข้อกำหนดไว้ว่า "ไม่จำต้องมีคำคัดค้าน"
               มาตรา 1003 ในคดีผู้สลักหลังทั้งหลายฟ้องไล่เบี้ยกันเองและไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สั่งจ่ายแห่งตั๋วเงิน ท่านห้าม
มิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ผู้สลักหลังเข้าถือเอาตั๋วเงินและใช้เงิน หรือนับแต่วันที่
ผู้สลักหลังนั้นเองถูกฟ้อง
               มาตรา 1004 เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงเพราะการอันหนึ่งอันใดซึ่งกระทำแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วเงิน
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ท่านว่าย่อมมีผลสะดุดหยุดลงเพียงแต่แก่คู่สัญญาฝ่ายนั้น
               มาตรา 1005 ถ้าตั๋วเงินได้ทำขึ้นหรือได้โอนหรือสลักหลังไปแล้วในมูลหนี้อันหนึ่งอันใด และสิทธิตาม
ตั๋วเงินนั้นมาสูญสิ้นไปเพราะอายุความก็ดี หรือเพราะละเว้นไม่ดำเนินการให้ต้องตามวิธีใดๆ อันจะ
พึงต้องทำก็ดี ท่านว่าหนี้เดิมนั้นก็ยังคงมีอยู่ตามหลักกฎหมายอันแพร่หลายทั่วไปเท่าที่ลูกหนี้มิได้
ต้องเสียหายแต่การนั้น เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
 
               หมวด 6
               ตั๋วเงินปลอม ตั๋วเงินถูกลัก และตั๋วเงินหาย
 
               มาตรา 1006 การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอม  ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความ
สมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่นๆ ในตั๋วเงินนั้น
               มาตรา 1007 ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด หรือในคำรับรองตั๋วเงินรายใด มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ
โดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้ ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็น
อันเสีย เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไข เปลี่ยนแปลงนั้น หรือได้ยินยอมด้วยกับ
การแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง
               แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญแต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่
ประจักษ์  และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอา
ประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้ เสมือนดั่งว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย  และจะบังคับการใช้เงิน
ตามเนื้อความเดิมแห่งตั๋วนั้นก็ได้
               กล่าวโดยเฉพาะ  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านถือว่าเป็นการแก้ไข
เปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใดๆ แก่วันที่ลง จำนวนเงินอันจะพึงใช้
เวลาใช้เงิน สถานที่ใช้เงิน กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน  ไปเติมความ
ระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย
               มาตรา 1008 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงิน
เป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบ
อำนาจให้ลงก็ดี ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้เลย ใครจะ
อ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี หรือ
เพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด
เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้
ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้
               แต่ข้อความใดๆ อันกล่าวมาในมาตรานี้  ท่านมิให้กระทบกระทั่งถึงการให้สัตยาบันแก่
ลายมือชื่อซึ่งลงไว้โดยปราศจากอำนาจ แต่หากไม่ถึงแก่เป็นลายมือปลอม
               มาตรา 1009 ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด และธนาคาร
นั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้ ท่านว่าธนาคารไม่มี
หน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆ ได้ทำไปด้วย
อาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น  และถึงแม้ว่ารายการสลักหลัง
นั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ
               มาตรา 1010 เมื่อผู้ทรงตั๋วเงินซึ่งหายหรือถูกลักทราบเหตุแล้วในทันใดนั้นต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือ
ไปยังผู้ออกตั๋วเงิน ผู้จ่าย  ผู้สมอ้างยามประสงค์  ผู้รับรองเพื่อแก้หน้า  และผู้รับอาวัล  ตามแต่มี
เพื่อให้บอกปัดไม่ใช้เงินตามตั๋วเงินนั้น
               มาตรา 1011 ถ้าตั๋วเงินหายไปแต่ก่อนเวลาล่วงเลยกำหนดใช้เงิน ท่านว่าบุคคลซึ่งได้เป็นผู้ทรงตั๋วเงิน
นั้นจะร้องขอไปยังผู้สั่งจ่ายให้ให้ตั๋วเงินเป็นเนื้อความเดียวกันแก่ตนใหม่อีกฉบับหนึ่งก็ได้ และใน
การนี้ถ้าเขาประสงค์ก็วางประกันให้ไว้แก่ผู้สั่งจ่ายเพื่อไว้ทดแทนที่เขาหากจะต้องเสียหายแก่ผู้หนึ่ง
ผู้ใดในกรณีที่ตั๋วเงินซึ่งว่าหายนั้นจะกลับหาได้
               อนึ่ง ผู้สั่งจ่ายรับคำขอร้องดั่งว่ามานั้นแล้ว หากบอกปัดไม่ยอมให้ตั๋วเงินคู่ฉบับเช่นนั้น
อาจจะถูกบังคับให้ออกให้ก็ได้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้