กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ3 ลักษณะ2,3,4,5,6,7,8

Last updated: 14 พ.ค. 2566  |  413 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ3 ลักษณะ2,3,4,5,6,7,8

               ลักษณะ 2
               แลกเปลี่ยน
               มาตรา 518 อันว่าแลกเปลี่ยนนั้นคือสัญญาซึ่งคู่กรณีต่างโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้กันและกัน
               มาตรา 519 บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น  ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือ
ว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบ และเป็นผู้ซื้อในส่วน
ทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น
               มาตรา 520 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งในสัญญาแลกเปลี่ยนตกลงจะโอนเงินเพิ่มเข้ากับทรัพย์สินสิ่งอื่นให้
แก่อีกฝ่ายหนึ่งไซร้ บททั้งหลายอันว่าด้วยราคาในลักษณะซื้อขายนั้น ให้ใช้ถึงเงินเช่นว่านั้นด้วย
 
               ลักษณะ 3
               ให้
 
               มาตรา 521 อันว่าให้นั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้โอน ทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หา
แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น
               มาตรา 522 การให้นั้นจะทำด้วยปลดหนี้ให้แก่ผู้รับ หรือด้วยชำระหนี้ซึ่งผู้รับค้างชำระอยู่ก็ได้
               มาตรา 523 การให้นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้
               มาตรา 524 การให้สิทธิอันมีหนังสือตราสารเป็นสำคัญนั้น ถ้ามิได้ส่งมอบตราสารให้แก่ผู้รับ และมิได้
มีหนังสือบอกกล่าวแก่ลูกหนี้แห่งสิทธินั้น ท่านว่าการให้ย่อมไม่สมบูรณ์
               มาตรา 525 การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงาน
เจ้าหน้าที่นั้น  ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ในกรณีเช่นนี้การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ
               มาตรา 526 ถ้าการให้ทรัพย์สินหรือให้คำมั่นว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน
ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว และผู้ให้ไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นแก่ผู้รับไซร้ ท่านว่าผู้รับชอบที่จะเรียก
ให้ส่งมอบตัวทรัพย์สินหรือราคาแทนทรัพย์สินนั้นได้ แต่ไม่ชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนอย่าง
หนึ่งอย่างใดด้วยอีกได้
               มาตรา 527 ถ้าผู้ให้ผูกตนไว้ว่าจะชำระหนี้เป็นคราวๆ ท่านว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปเมื่อผู้ให้หรือ
ผู้รับตาย เว้นแต่จะขัดกับเจตนาอันปรากฏแต่มูลหนี้
               มาตรา 528 ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้นั้นมีค่าภารติดพันและผู้รับละเลยเสียไม่ชำระค่าภารติดพันนั้นไซร้
ท่านว่าโดยเงื่อนไขอันระบุไว้ในกรณีสิทธิเลิกสัญญาต่างตอบแทนกันนั้น ผู้ให้จะเรียกให้ส่งทรัพย์
สินที่ให้นั้นคืนตามบทบัญญัติว่าด้วยคืนลาภมิควรได้นั้นก็ได้ เพียงเท่าที่ควรจะเอาทรัพย์นั้นไปใช้
ชำระค่าภารติดพันนั้น
               แต่สิทธิเรียกคืนอันนี้ย่อมเป็นอันขาดไป  ถ้าบุคคลภายนอกเป็นผู้มีสิทธิจะเรียกให้ชำระ
ค่าภารติดพันนั้น
               มาตรา 529 ถ้าทรัพย์สินที่ให้มีราคาไม่พอกับการที่จะชำระค่าภารติดพันไซร้  ท่านว่าผู้รับจะต้องชำระ
แต่เพียงเท่าราคาทรัพย์สินเท่านั้น
               มาตรา 530 ถ้าการให้นั้นมีค่าภารติดพัน  ท่านว่าผู้ให้จะต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อ
การรอนสิทธิเช่นเดียวกันกับผู้ขาย แต่ท่านจำกัดไว้ว่าไม่เกินจำนวนค่าภารติดพัน
               มาตรา 531 อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น  ท่านว่าอาจจะเรียกได้
แต่เพียงในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
               (1)  ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวล
กฎหมายลักษณะอาญา หรือ
               (2)  ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
               (3)  ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และ
ผู้รับยังสามารถจะให้ได้
               มาตรา 532 ทายาทของผู้ให้อาจเรียกให้ถอนคืนการให้ได้แต่เฉพาะในเหตุที่ผู้รับได้ฆ่าผู้ให้ตายโดย
เจตนาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือได้กีดกันผู้ให้ไว้มิให้ถอนคืนการให้
               แต่ว่าผู้ให้ได้ฟ้องคดีไว้แล้วอย่างใดโดยชอบ ทายาทของผู้ให้จะว่าคดีอันนั้นต่อไปก็ได้
               มาตรา 533 เมื่อผู้ให้ได้ให้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาได้ล่วงไปแล้ว
หกเดือนนับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจ
จะถอนคืนการให้ได้ไม่
               อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น
               มาตรา 534 เมื่อถอนคืนการให้ ท่านให้ส่งคืนทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วย
ลาภมิควรได้
               มาตรา 535 การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ
               (1)  ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
               (2)  ให้สิ่งที่มีค่าภารติดพัน
               (3)  ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
               (4)  ให้ในการสมรส
               มาตรา 536 การให้อันจะให้เป็นผลต่อเมื่อผู้ให้ตายนั้น ท่านให้บังคับด้วยบทกฎหมายว่าด้วยมรดก
และพินัยกรรม
 
               ลักษณะ 4
               เช่าทรัพย์
               หมวด 1
               บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
 
               มาตรา 537 อันว่าเช่าทรัพย์สินนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้เช่า ตกลงให้บุคคลอีกคน
หนึ่งเรียกว่าผู้เช่า ได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาอันมีจำกัด
และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่าเพื่อการนั้น
               มาตรา 538 เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อ
ฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ ถ้าเช่ามีกำหนดกว่าสามปีขึ้น
ไปหรือกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าไซร้  หากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ
พนักงานเจ้าหน้าที่  ท่านว่าการเช่านั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้แต่เพียงสามปี
               มาตรา 539 ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาเช่านั้น คู่สัญญาพึงออกใช้เสมอกันทั้งสองฝ่าย
               มาตรา 540 อันอสังหาริมทรัพย์ ท่านห้ามมิให้เช่ากันเป็นกำหนดเวลาเกินกว่าสามสิบปี  ถ้าได้ทำ
สัญญากันไว้เป็นกำหนดเวลานานกว่านั้น ท่านก็ให้ลดลงมาเป็นสามสิบปี
               อนึ่ง กำหนดเวลาเช่าดั่งกล่าวมานี้เมื่อสิ้นลงแล้วจะต่อสัญญาอีกก็ได้ แต่ต้องอย่าให้เกิน
สามสิบปีนับแต่วันต่อสัญญา
               มาตรา 541 สัญญาเช่านั้นจะทำกันเป็นกำหนดว่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือของผู้เช่าก็ให้ทำได้
               มาตรา 542 บุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์อันเดียวกันอาศัยมูลสัญญาเช่าต่างราย ท่านว่า
ทรัพย์ตกไปอยู่ในครอบครองผู้เช่าคนใดก่อนด้วยสัญญาเช่าทรัพย์นั้น คนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่นๆ
               มาตรา 543 บุคคลหลายคนเรียกร้องเอาอสังหาริมทรัพย์อันเดียวกันอาศัยมูลสัญญาเช่าต่างราย
ท่านให้วินิจฉัยดั่งต่อไปนี้
               (1)  ถ้าการเช่านั้นเป็นประเภทซึ่งมิได้บังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องจดทะเบียน ท่านให้
ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้ทรัพย์สินไปไว้ในครอบครองก่อนด้วยสัญญาเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่นๆ
               (2)  ถ้าการเช่าทุกๆ รายเป็นประเภทซึ่งบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องจดทะเบียน ท่านให้
ถือว่าผู้เช่าซึ่งได้จดทะเบียนการเช่าของตนก่อนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าคนอื่นๆ
               (3)  ถ้าการเช่ามีทั้งประเภทซึ่งต้องจดทะเบียนและประเภทซึ่งไม่ต้องจดทะเบียนตาม
กฎหมายยันกันอยู่ไซร้ ท่านว่าผู้เช่าคนที่ได้จดทะเบียนการเช่าของตนนั้นมีสิทธิยิ่งกว่า เว้นแต่ผู้เช่า
คนอื่นจะได้ทรัพย์สินนั้นไปไว้ในครอบครองด้วยการเช่าของตนเสียก่อนวันจดทะเบียนนั้นแล้ว
               มาตรา 544 ทรัพย์สินซึ่งเช่านั้น  ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนอันมีในทรัพย์สินนั้นไม่ว่าทั้ง
หมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลภายนอก  ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็น
อย่างอื่นในสัญญาเช่า
               ถ้าผู้เช่าประพฤติฝ่าฝืนบทบัญญัติอันนี้ ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
               มาตรา 545 ถ้าผู้เช่าเอาทรัพย์สินซึ่งตนเช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงอีกทอดหนึ่งโดยชอบ ท่านว่าผู้เช่าช่วง
ย่อมต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง ในกรณีเช่นว่านี้หากผู้เช่าช่วงจะได้ใช้ค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไป
ก่อน ท่านว่าผู้เช่าช่วงหาอาจจะยกขึ้นเป็นข้อการต่อสู้ผู้ให้เช่าได้ไม่
               อนึ่ง บทบัญญัติอันนี้ไม่ห้ามการที่ผู้ให้เช่าจะใช้สิทธิของตนต่อผู้เช่า
 
               หมวด 2
               หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า
 
               มาตรา 546 ผู้ให้เช่าจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว
               มาตรา 547 ผู้เช่าต้องเสียค่าใช้จ่ายไปโดยความจำเป็นและสมควรเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นเท่าใด
ผู้ให้เช่าจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้เช่า เว้นแต่ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเพียง
เล็กน้อย
               มาตรา 548 ถ้าผู้ให้เช่าส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นโดยสภาพไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่า
มา  ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
               มาตรา 549 การส่งมอบทรัพย์สินซึ่งเช่าก็ดี ความรับผิดของผู้ให้เช่าในกรณีชำรุดบกพร่องและรอนสิทธิ
ก็ดี ผลแห่งข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดก็ดี เหล่านี้ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติทั้งหลายแห่ง
ประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการซื้อขายอนุโลมความตามควร
               มาตรา 550 ผู้ให้เช่าย่อมต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องอันเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเช่า และผู้ให้เช่า
ต้องจัดการซ่อมแซมทุกอย่างบรรดาซึ่งเป็นการจำเป็นขึ้น เว้นแต่การซ่อมแซมชนิดซึ่งมีกฎหมาย
หรือจารีตประเพณีว่าผู้เช่าจะพึงต้องทำเอง
               มาตรา 551 ถ้าความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินที่เช่านั้นไม่เป็นเหตุถึงแก่ผู้เช่าจะต้องปราศจากการ
ใช้และประโยชน์และผู้ให้เช่ายังแก้ไขได้ไซร้  ผู้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้ให้เช่าให้จัดการแก้ไขความ
ชำรุดบกพร่องนั้นก่อน  ถ้าและผู้ให้เช่าไม่จัดทำให้คืนดีภายในเวลาอันสมควร ผู้เช่าจะบอกเลิก
สัญญาเสียก็ได้ หากว่าความชำรุดบกพร่องนั้นร้ายแรงถึงสมควรจะทำเช่นนั้น
 
               หมวด 3
               หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เช่า
 
               มาตรา 552 อันผู้เช่าจะใช้ทรัพย์สินที่เช่าเพื่อการอย่างอื่น  นอกจากที่ใช้กันตามประเพณีนิยมปกติ
หรือการดั่งกำหนดไว้ในสัญญานั้น ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่
               มาตรา 553 ผู้เช่าจำต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่านั้นเสมอกับที่วิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง
และต้องบำรุงรักษาทั้งทำการซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย
               มาตรา 554 ถ้าผู้เช่ากระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติใน มาตรา 552  มาตรา 553 หรือฝ่าฝืนข้อสัญญา
ผู้ให้เช่าจะบอกกล่าวให้ผู้เช่าปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทกฎหมายหรือข้อสัญญานั้นๆ ก็ได้  ถ้าและ
ผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตาม ท่านว่าผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
               มาตรา 555 ผู้เช่าจำต้องยอมให้ผู้ให้เช่าหรือตัวแทนของผู้ให้เช่าเข้าตรวจดูทรัพย์สินที่เช่าเป็นครั้งคราว
ในเวลาและระยะอันสมควร
               มาตรา 556 ถ้าในระหว่างเวลาเช่ามีเหตุจะต้องซ่อมแซมทรัพย์สินซึ่งเช่านั้นเป็นการเร่งร้อน และผู้ให้
เช่าประสงค์จะทำการอันจำเป็นเพื่อที่จะซ่อมแซมเช่นว่านั้นไซร้  ท่านว่าผู้เช่าจะไม่ยอมให้ทำนั้น
ไม่ได้ แม้ถึงว่าการนั้นจะเป็นความไม่สะดวกแก่ตน ถ้าการซ่อมแซมเป็นสภาพซึ่งต้องกินเวลานาน
เกินสมควรจนเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นไม่เหมาะแก่การที่จะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าจะบอก
เลิกสัญญาเสียก็ได้
               มาตรา 557 ในกรณีอย่างใดๆ ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ
               (1) ถ้าทรัพย์สินที่เช่านั้นชำรุดควรที่ผู้ให้เช่าจะต้องซ่อมแซมก็ดี
               (2) ถ้าจะต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อปัดป้องภยันตรายแก่ทรัพย์สินนั้นก็ดี
               (3) ถ้าบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาในทรัพย์สินที่เช่าหรือเรียกอ้างสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง
เหนือทรัพย์สินนั้นก็ดี
               ในเหตุดั่งกล่าวนั้นให้ผู้เช่าแจ้งเหตุแก่ผู้ให้เช่าโดยพลัน เว้นแต่ผู้ให้เช่าจะได้ทราบเหตุ
นั้นอยู่ก่อนแล้ว
               ถ้าผู้เช่าละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัตินี้ไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่า
ในเมื่อผู้ให้เช่าต้องเสียหายอย่างใดๆ เพราะความละเลยชักช้าของผู้เช่านั้น
               มาตรา 558 อันทรัพย์สินที่เช่านั้น  ถ้ามิได้รับอนุญาตของผู้ให้เช่าก่อน ผู้เช่าจะทำการดัดแปลง หรือ
ต่อเติมอย่างหนึ่งอย่างใดหาได้ไม่ ถ้าและผู้เช่าทำไปโดยมิได้รับอนุญาตของผู้ให้เช่าเช่นนั้นไซร้
เมื่อผู้ให้เช่าเรียกร้อง ผู้เช่าจะต้องทำให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนคงสภาพเดิมทั้งจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่า
ในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การดัดแปลงต่อเติมนั้นด้วย
               มาตรา 559 ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือโดยจารีตประเพณีว่าจะพึงชำระค่าเช่า ณ เวลาใด ท่านให้
ชำระเมื่อสิ้นระยะเวลาอันได้ตกลงกำหนดกันไว้ทุกคราวไป กล่าวคือว่าถ้าเช่ากันเป็นรายปีก็พึง
ชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นปี ถ้าเช่ากันเป็นรายเดือนก็พึงชำระค่าเช่าเมื่อสิ้นเดือน
               มาตรา 560 ถ้าผู้เช่าไม่ชำระค่าเช่า ผู้ให้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
               แต่ถ้าค่าเช่านั้นจะพึงส่งเป็นรายเดือน หรือส่งเป็นระยะเวลายาวกว่ารายเดือนขึ้นไป ผู้
ให้เช่าต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าก่อนว่าให้ชำระค่าเช่าภายในเวลาใด ซึ่งพึงกำหนดอย่าให้น้อยกว่าสิบห้าวัน
               มาตรา 561 ถ้ามิได้ทำหนังสือลงลายมือชื่อของคู่สัญญาแสดงไว้ต่อกันว่าทรัพย์สินที่ให้เช่ามีสภาพ
เป็นอย่างไร ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เช่าได้รับทรัพย์สินที่เช่านั้นไปโดยสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว
และเมื่อสัญญาได้เลิกหรือระงับลง ผู้เช่าก็ต้องส่งคืนทรัพย์สินในสภาพเช่นนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า
ทรัพย์สินนั้นมิได้ซ่อมแซมไว้ดีในขณะที่ส่งมอบ
               มาตรา 562 ผู้เช่าจะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เช่า
เพราะความผิดของผู้เช่าเอง หรือของบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่า หรือของผู้เช่าช่วง
               แต่ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์สินนั้นโดยชอบ
               มาตรา 563 คดีอันผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวแก่สัญญาเช่านั้น  ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดหก
เดือนนับแต่วันส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า
 
               หมวด 4
               ความระงับแห่งสัญญาเช่า
 
               มาตรา 564 อันสัญญาเช่านั้น ท่านว่าย่อมระงับไปเมื่อสิ้นกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้  มิพักต้อง
บอกกล่าวก่อน
               มาตรา 565 การเช่าถือสวนนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเช่ากันปีหนึ่ง
               การเช่านาก็ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเช่ากันตลอดฤดูทำนาปีหนึ่ง
               มาตรา 566 ถ้ากำหนดเวลาเช่าไม่ปรากฏในความที่ตกลงกัน หรือไม่พึงสันนิษฐานได้ไซร้ ท่านว่า
คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้
ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็น
อย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน
               มาตรา 567 ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปทั้งหมดไซร้ ท่านว่าสัญญาเช่าก็ย่อมระงับไปด้วย
               มาตรา 568 ถ้าทรัพย์สินซึ่งให้เช่าสูญหายไปแต่เพียงบางส่วน และมิได้เป็นเพราะความผิดของผู้เช่า
ท่านว่าผู้เช่าจะเรียกให้ลดค่าเช่าลงตามส่วนที่สูญหายก็ได้
               ในกรณีเช่นนี้  ถ้าผู้เช่าไม่สามารถใช้สอยทรัพย์สินส่วนที่ยังคงเหลืออยู่นั้นสำเร็จ
ประโยชน์ได้ดั่งที่ได้มุ่งหมายเข้าทำสัญญาเช่าไซร้ ท่านว่าผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
               มาตรา 569 อันสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่ง
ให้เช่า
               ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย
               มาตรา 570 ในเมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าซึ่งได้ตกลงกันไว้นั้น ถ้าผู้เช่ายังคงครองทรัพย์สินอยู่ และ
ผู้ให้เช่ารู้ความนั้นแล้วไม่ทักท้วงไซร้  ท่านให้ถือว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาใหม่ต่อไปไม่มี
กำหนดเวลา
               มาตรา 571 ถ้าสัญญาเช่าที่นาได้เลิกหรือระงับลงเมื่อผู้เช่าได้เพาะปลูกข้าวลงแล้วไซร้ ท่านว่าผู้เช่า
ย่อมมีสิทธิที่จะครองนานั้นต่อไปจนกว่าจะเสร็จการเกี่ยวเก็บ แต่ต้องเสียค่าเช่า

               ลักษณะ 5
               เช่าซื้อ
 
               มาตรา 572 อันว่าเช่าซื้อนั้น  คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขาย
ทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวน
เท่านั้นเท่านี้คราว
               สัญญาเช่าซื้อนั้นถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ  ท่านว่าเป็นโมฆะ
               มาตรา 573 ผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ด้วยส่งมอบทรัพย์สินกลับคืนให้แก่
เจ้าของโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง
               มาตรา 574 ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติดๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ
เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็น
ของเจ้าของทรัพย์สิน และเจ้าของทรัพย์สินชอบที่จะกลับเข้าครองทรัพย์สินนั้นได้ด้วย
               อนึ่ง ในกรณีกระทำผิดสัญญาเพราะผิดนัดไม่ใช้เงินซึ่งเป็นคราวที่สุดนั้น ท่านว่าเจ้าของ
ทรัพย์สินชอบที่จะริบบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน และกลับเข้าครองทรัพย์สินได้ต่อเมื่อระยะ
เวลาใช้เงินได้พ้นกำหนดไปอีกงวดหนึ่ง
 
               ลักษณะ 6
               จ้างแรงงาน
 
               มาตรา 575 อันว่าจ้างแรงงานนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่
บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
               มาตรา 576 ถ้าตามพฤติการณ์ไม่อาจจะคาดหมายได้ว่างานนั้นจะพึงทำให้เปล่าไซร้ ท่านย่อมถือ
เอาโดยปริยายมีคำมั่นจะให้สินจ้าง
               มาตรา 577 นายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกก็ได้  เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย
               ลูกจ้างจะให้บุคคลภายนอกทำงานแทนตนก็ได้  เมื่อนายจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย
               ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดทำการฝ่าฝืนบทบัญญัตินี้  คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
               มาตรา 578 ถ้าลูกจ้างรับรองโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายว่าตนเป็นผู้มีฝีมือพิเศษ หากมาปรากฏ
ว่าไร้ฝีมือเช่นนั้นไซร้ ท่านว่านายจ้างชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียได้
               มาตรา 579 การที่ลูกจ้างขาดงานไปโดยเหตุอันสมควรและชั่วระยะเวลาน้อยพอสมควรนั้น ท่านว่า
ไม่ทำให้นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
               มาตรา 580 ถ้าไม่มีกำหนดโดยสัญญาหรือจารีตประเพณีว่าจะพึงจ่ายสินจ้างเมื่อไร ท่านว่าพึงจ่าย
เมื่องานได้ทำแล้วเสร็จ  ถ้าการจ่ายสินจ้างนั้นได้กำหนดกันไว้เป็นระยะเวลา ก็ให้พึงจ่ายเมื่อสุด
ระยะเวลาเช่นนั้นทุกคราวไป
               มาตรา 581 ถ้าระยะเวลาที่ได้ตกลงว่าจ้างกันนั้นสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างยังคงทำงานอยู่ต่อไปอีก และ
นายจ้างรู้ดั่งนั้นก็ไม่ทักท้วงไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าคู่สัญญาเป็นอันได้ทำสัญญาจ้างกัน
ใหม่โดยความอย่างเดียวกันกับสัญญาเดิม แต่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะเลิกสัญญาเสียได้
ด้วยการบอกกล่าวตามความในมาตราต่อไปนี้
               มาตรา 582 ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
จะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใด
คราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้
แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน
               อนึ่ง ในเมื่อบอกกล่าวดั่งว่านี้ นายจ้างจะจ่ายสินจ้างแต่ลูกจ้างเสียให้ครบจำนวนที่จะ
ต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวนั้นทีเดียว  แล้วปล่อยลูกจ้างจากงานเสีย
ในทันทีก็อาจทำได้
               มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี  หรือละเลยไม่นำพาต่อ
คำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจินก็ดี  ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี  กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี  หรือทำ
ประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้าง
จะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้
               มาตรา 584 ถ้าจ้างแรงงานรายใดมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นนายจ้าง  ท่านว่าสัญญาจ้างเช่น
นั้นย่อมระงับไปด้วยมรณะแห่งนายจ้าง
               มาตรา 585 เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลงแล้ว ลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้
ทำงานมานานเท่าไร และงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไร
               มาตรา 586 ถ้าลูกจ้างเป็นผู้ซึ่งนายจ้างได้จ้างเอามาแต่ต่างถิ่นโดยนายจ้างออกเงินค่าเดินทางให้ไซร้
เมื่อการจ้างแรงงานสุดสิ้นลง และถ้ามิได้กำหนดกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้ว ท่านว่านายจ้าง
จำต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ แต่จะต้องเป็นดั่งต่อไปนี้ คือ
               (1) สัญญามิได้เลิกหรือระงับเพราะการกระทำหรือความผิดของลูกจ้าง และ
               (2) ลูกจ้างกลับไปยังถิ่นที่ได้จ้างเอามาภายในเวลาอันสมควร
 
               ลักษณะ 7
               จ้างทำของ
 
               มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงาน
สิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อ
ผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
               มาตรา 588 เครื่องมือต่างๆ สำหรับใช้ทำการงานให้สำเร็จนั้น ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา
               มาตรา 589 ถ้าสัมภาระสำหรับทำการงานที่กล่าวนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหา ท่านว่าต้องจัดหาชนิดที่ดี
               มาตรา 590 ถ้าสัมภาระนั้นผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหามาส่ง ท่านให้ผู้รับจ้างใช้สัมภาระด้วยความระมัดระวัง
และประหยัดอย่าให้เปลืองเสียเปล่าเมื่อทำการงานสำเร็จแล้ว  มีสัมภาระเหลืออยู่  ก็ให้คืนแก่ผู้ว่าจ้าง
               มาตรา 591 ถ้าความชำรุดบกพร่องหรือความชักช้าในการที่ทำนั้นเกิดขึ้นเพราะสภาพแห่งสัมภาระ
ซึ่งผู้ว่าจ้างส่งให้ก็ดี เพราะคำสั่งของผู้ว่าจ้างก็ดี ท่านว่าผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะได้รู้อยู่แล้ว
ว่าสัมภาระนั้นไม่เหมาะ หรือว่าคำสั่งนั้นไม่ถูกต้อง และมิได้บอกกล่าวตักเตือน
               มาตรา 592 ผู้รับจ้างจำต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลา
ที่ทำอยู่นั้น
               มาตรา 593 ถ้าผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือทำการชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญาก็
ดี  หรือทำการชักช้าโดยปราศจากความผิดของผู้ว่าจ้าง จนอาจคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าการนั้น
จะไม่สำเร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะเลิกสัญญาเสียได้  มิพักต้อง
รอคอยให้ถึงกำหนดส่งมอบของนั้นเลย
               มาตรา 594 ถ้าในระหว่างเวลาที่ทำการอยู่นั้นเป็นวิสัยจะคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำ
นั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่อง หรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญา เพราะความผิดของผู้รับจ้าง
ไซร้ ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญา
ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ท่านว่าผู้
ว่าจ้างชอบที่จะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสี่ยง
ความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
               มาตรา 595 ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระไซร้ ความรับผิดของผู้รับจ้างในการบกพร่องนั้น ท่านให้
บังคับด้วยบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ลักษณะซื้อขาย
               มาตรา 596 ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนด
เวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้า
สาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้
               มาตรา 597 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่
ส่งมอบเนิ่นช้า
               มาตรา 598 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วทั้งชำรุดบกพร่องมิได้อิดเอื้อนโดยแสดงออกชัด
หรือโดยปริยาย  ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิด เว้นแต่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นเช่นจะไม่พึงพบได้ใน
ขณะเมื่อรับมอบ หรือผู้รับจ้างได้ปิดบังความนั้นเสีย
               มาตรา 599 ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดี  ท่านว่าผู้ว่าจ้าง
ชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร
               มาตรา 600 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ชำรุด
บกพร่องเพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายในห้าปีถ้าการที่ทำ
นั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้
               แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับเมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น
               มาตรา 601 ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น
               มาตรา 602 อันสินจ้างนั้น พึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ
               ถ้าการที่ทำนั้นมีกำหนดว่าจะส่งรับกันเป็นส่วนๆ และได้ระบุจำนวนสินจ้างไว้เป็นส่วนๆ
ไซร้ ท่านว่าพึงใช้สินจ้างเพื่อการแต่ละส่วนในเวลารับเอาส่วนนั้น
               มาตรา 603 ถ้าผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ และการที่จ้างทำนั้นพังทลายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่ง
มอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความวินาศอันนั้นตกเป็นพับแก่ผู้รับจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็น
เพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง
               ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้
               มาตรา 604 ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระ  และการที่จ้างทำนั้นพังทลายหรือบุบสลายลงก่อนได้
ส่งมอบกันถูกต้องไซร้ ท่านว่าความวินาศนั้นตกเป็นพับแก่ผู้ว่าจ้าง หากความวินาศนั้นมิได้เป็น
เพราะการกระทำของผู้รับจ้าง
               ในกรณีเช่นว่านี้ สินจ้างก็เป็นอันไม่ต้องใช้ เว้นแต่ความวินาศนั้นเป็นเพราะการกระทำ
ของผู้ว่าจ้าง
               มาตรา 605 ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้เมื่อเสียค่า
สินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น
               มาตรา 606 ถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้างและผู้รับจ้างตายก็
ดี หรือตกเป็นผู้ไม่สามารถทำการที่รับจ้างนั้นต่อไปได้ด้วยมิใช่เพราะความผิดของตนก็ดี ท่านว่า
สัญญานั้นย่อมเป็นอันสิ้นลง
               ถ้าและการส่วนที่ได้ทำขึ้นแล้วนั้นเป็นประโยชน์แก่ผู้ว่าจ้างไซร้ ท่านว่าผู้ว่าจ้างจำต้อง
รับเอาไว้และใช้สินจ้างตามสมควรแก่ส่วนนั้นๆ
               มาตรา 607 ผู้รับจ้างจะเอาการที่รับจ้างทั้งหมดหรือแบ่งการแต่บางส่วนไปให้ผู้รับจ้างช่วงทำอีกทอด
หนึ่งก็ได้ เว้นแต่สาระสำคัญแห่งสัญญานั้นจะอยู่ที่ความรู้ความสามารถของตัวผู้รับจ้าง แต่ผู้รับจ้าง
คงต้องรับผิดเพื่อความประพฤติหรือความผิดอย่างใดๆ ของผู้รับจ้างช่วง
 
               ลักษณะ 8
               รับขน
 
               มาตรา 608 อันว่าผู้ขนส่งภายในความหมายแห่งกฎหมายลักษณะนี้ คือบุคคลผู้รับขนส่งของหรือ
คนโดยสารเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของตน
               มาตรา 609 การรับขนของหรือคนโดยสารในหน้าที่ของกรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม และการขน
ไปรษณีย์ภัณฑ์ในหน้าที่กรมไปรษณีย์โทรเลขนั้น ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับ
สำหรับทบวงการนั้นๆ
               รับขนของทางทะเล ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้น
 
               หมวด 1
               รับขนของ
 
               มาตรา 610 อันบุคคลผู้ทำความตกลงกับผู้ขนส่งเพื่อให้ขนของส่งไปนั้น เรียกว่า ผู้ส่งหรือผู้ตราส่ง
               บุคคลผู้ซึ่งเขาส่งของไปถึงนั้น เรียกว่า ผู้รับตราส่ง
               บำเหน็จอันจะต้องจ่ายให้เพื่อการขนส่งของนั้น เรียกว่า ค่าระวางพาหนะ
               มาตรา 611 อันว่าอุปกรณ์แห่งค่าระวางพาหนะนั้น ได้แก่ค่าใช้จ่ายอย่างใดๆ ตามจารีตประเพณี
อันผู้ขนส่งได้เสียไปโดยควรในระหว่างขนส่ง
               มาตรา 612 ถ้าผู้ขนส่งเรียกเอาใบกำกับของ ผู้ส่งต้องทำให้
               ใบกำกับของนั้นต้องแสดงรายการต่อไปนี้  คือ
               (1) สภาพและน้ำหนัก หรือขนาดแห่งของที่ส่ง กับสภาพจำนวน และเครื่องหมายแห่งหีบห่อ
               (2) ตำบลที่กำหนดให้ส่ง
               (3) ชื่อหรือยี่ห้อ และสำนักของผู้รับตราส่ง
               (4) ตำบลและวันที่ออกใบกำกับของนั้น
               อนึ่ง ใบกำกับของนั้นต้องลงลายมือชื่อผู้ส่งเป็นสำคัญ
               มาตรา 613 ถ้าผู้ส่งเรียกเอาใบตราส่ง  ผู้ขนส่งก็ต้องทำให้
               ใบตราส่งนั้นต้องแสดงรายการต่อไปนี้ คือ
               (1) รายการดั่งกล่าวไว้ใน มาตรา 612 อนุมาตรา 1 , 2 และ 3
               (2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ส่ง
               (3) จำนวนค่าระวางพาหนะ
               (4) ตำบลและวันที่ออกใบตราส่ง
               อนึ่ง  ใบตราส่งนั้นต้องลงลายมือชื่อผู้ขนส่งเป็นสำคัญ
               มาตรา 614 แม้ว่าใบตราส่งจะได้ออกให้แก่บุคคลผู้ใดโดยนามก็ตาม ท่านว่าย่อมสลักหลังโอนให้กัน
ได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามการสลักหลังไว้
               มาตรา 615 ถ้าได้ทำใบตราส่งให้แก่กัน  ท่านว่าของนั้นจะรับมอบเอาไปได้ต่อเมื่อเวนคืนใบตราส่ง
หรือเมื่อผู้รับตราส่งให้ประกันตามควร
               มาตรา 616 ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลาย
หรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหายหรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย
หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง
               มาตรา 617 ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้า อันเกิดแต่ความผิด
ของผู้ขนส่งคนอื่นหรือบุคคลอื่นซึ่งตนหากได้มอบหมายของนั้นไปอีกทอดหนึ่ง
               มาตรา 618 ถ้าของนั้นได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ท่านว่าผู้ขนส่งทั้งนั้นจะต้องรับผิด
ร่วมกันในการสูญหาย บุบสลาย หรือส่งชักช้า
               มาตรา 619 ถ้าของเป็นสภาพอันจะก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือเป็นสภาพเกลือกจะก่อให้เกิดเสียหาย
แก่บุคคลหรือทรัพย์สินไซร้  ผู้ส่งต้องแสดงสภาพแห่งของนั้นไว้ก่อนทำสัญญา ถ้ามิได้ทำเช่นนั้น
ผู้ส่งจะต้องรับผิดในการเสียหายไม่ว่าอย่างใดๆ อันเกิดแต่ของนั้น
               มาตรา 620 ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในเงินทองตรา ธนบัตร ธนาคารบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้น
กู้  ประทวนสินค้า อัญมณี  และของมีค่าอย่างอื่นๆ หากมิได้รับบอกราคาหรือสภาพแห่งของไว้
ในขณะที่ส่งมอบแก่ตน
               แต่ถ้าของนั้นได้บอกราคา ท่านว่าความรับผิดของผู้ขนส่งก็ย่อมจำกัดเพียงไม่เกินราคาที่บอก
               มาตรา 621 ค่าสินไหมทดแทนในการส่งมอบของชักช้านั้น ท่านห้ามมิให้คิดเกินกว่าจำนวนเช่นจะ
พึงกำหนดให้ในเหตุของสูญหายสิ้นเชิง
               มาตรา 622 ของถึงเมื่อใด  ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับตราส่ง
               มาตรา 623 ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลงในเมื่อผู้รับตราส่งได้รับเอาของไว้แล้วโดยไม่อิด
เอื้อน และได้ใช้ค่าระวางพาหนะกับทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว
               แต่ความที่กล่าวนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ของสูญหาย หรือบุบสลายเห็นไม่ได้แต่
สภาพภายนอกแห่งของนั้น หากว่าได้บอกกล่าวความสูญหายหรือบุบสลายแก่ผู้ขนส่งภายใน
แปดวันนับแต่วันส่งมอบ
               อนึ่ง บทบัญญัติทั้งหลายนี้ท่านมิให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการทุจริตหรือประมาทเลินเล่อ
อย่างร้ายแรงอันจะปรับเอาเป็นความผิดของผู้ขนส่งได้
               มาตรา 624 ในข้อความรับผิดของผู้ขนส่งในการที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้านั้น ท่าน
ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่ส่งมอบ หรือปีหนึ่งนับแต่วันที่ควรจะได้ส่งมอบ  เว้นแต่
ในกรณีที่มีการทุจริต
               มาตรา 625 ใบรับ ใบตราส่ง หรือเอกสารอื่นๆทำนองนั้นก็ดี ซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้น ถ้ามีข้อความ
ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่ผู้ส่งจะได้
แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น
               มาตรา 626 ตราบใดของยังอยู่ในมือผู้ส่ง ตราบนั้นผู้ส่ง หรือถ้าได้ทำใบตราส่ง ผู้ทรงใบตราส่งนั้น
อาจจะให้ผู้ขนส่งงดการส่งของนั้นไป หรือให้ส่งกลับคืน หรือให้จัดการแก่ของนั้นเป็นอย่างอื่น
ประการใดก็ได้
               ในเหตุเช่นนี้ผู้ขนส่งชอบที่จะได้รับเงินค่าระวางพาหนะตามส่วนแห่งระยะทางที่ได้จัดการ
ขนส่งไปแล้ว กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องเสียไปเพราะเหตุที่บอกงด หรือเพราะส่งของกลับคืน
หรือเพราะจัดการเป็นประการอื่นนั้น
               มาตรา 627 เมื่อของถึงตำบลที่กำหนดให้ส่งและผู้รับตราส่งได้เรียกให้ส่งมอบแล้ว ท่านว่าแต่นั้นไป
สิทธิทั้งหลายของผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนนั้นย่อมตกไปได้แก่ผู้รับตราส่ง
               มาตรา 628 ถ้าว่าของสูญหายไปเพราะเหตุสุดวิสัย ท่านว่าผู้ขนส่งไม่มีสิทธิจะได้เงินค่าระวางพาหนะ
ถ้าและได้รับไปไว้ก่อนแล้วเท่าใด ต้องส่งคืนจงสิ้น
               มาตรา 629 ถ้าผู้ขนส่งคนใดส่งมอบของเสียแต่ก่อนได้รับค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ไซร้ ท่านว่า
ผู้ขนส่งคนนั้นยังคงต้องรับผิดต่อผู้ขนส่งก่อนๆ ตนเพื่อค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ซึ่งยังค้างชำระ
แก่เขา
               มาตรา 630 ผู้ขนส่งชอบที่จะยึดหน่วงเอาของไว้ก่อนได้ตามที่จำเป็นเพื่อประกันการใช้เงินค่าระวาง
พาหนะและอุปกรณ์
               มาตรา 631 ถ้าหาตัวผู้รับตราส่งไม่พบก็ดี  หรือถ้าผู้รับตราส่งบอกปัดไม่ยอมรับมอบของก็ดี ผู้ขนส่ง
ต้องบอกกล่าวไปยังผู้ส่งทันที และถามเอาคำสั่งของผู้ส่ง
               ถ้าหากว่าพฤติการณ์ขัดขวางไม่สามารถจะทำได้ดั่งนี้ก็ดีหรือถ้าผู้ส่งละเลยเสียไม่ส่งคำ
สั่งมาในเวลาอันควรก็ดี หรือส่งมาเป็นคำสั่งอันไม่อาจปฏิบัติให้เป็นไปได้ก็ดี  ท่านว่าผู้ขนส่งมี
อำนาจที่จะเอาของไปฝากไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ได้
               ถ้าของนั้นเป็นลหุภัณฑ์ของสดเสียได้ และการหน่วงช้าไว้ย่อมเป็นการเสี่ยงความเสียหาย
ก็ดี  หรือถ้าราคาของนั้นดูไม่น่าจะคุ้มค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ก็ดี ผู้ขนส่งจะเอาของนั้นออก
ขายทอดตลาดเสียก็ได้
               อนึ่ง การเอาของไปฝากหรือเอาออกขายทอดตลาดเช่นว่านั้น ผู้ขนส่งต้องบอกกล่าวแก่
ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งมิให้ชักช้า เว้นแต่ไม่สามารถจะทำได้  ถ้าและผู้ขนส่งละเลยเสียไม่บอกกล่าว
ไซร้ ท่านว่าจะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหาย
               มาตรา 632 เมื่อเอาของออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ผู้ขนส่งหักเอาไว้เป็นเงิน
ค่าระวางพาหนะและค่าอุปกรณ์ ถ้าและยังมีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใดต้องส่งมอบให้แก่บุคคลผู้ควรที่
จะได้เงินนั้นโดยพลัน
               มาตรา 633 ถ้าของนั้นได้ขนส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ท่านว่าผู้ขนส่งทอดหลังที่สุด
อาจใช้สิทธิดั่งกล่าวไว้ใน มาตรา 630 , 631 , 632 นั้น  ในการเรียกค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์
อันค้างชำระแก่ผู้ขนส่งทั่วทุกคนได้
 
               หมวด 2
               รับขนคนโดยสาร
 
               มาตรา 634 ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายอันเกิดแก่ตัวเขา หรือในความเสื่อม
เสียอย่างใดๆ อันเป็นผลโดยตรงแต่การที่ต้องชักช้าในการขนส่ง เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้น
เกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่ความผิดของคนโดยสารนั้นเอง
               มาตรา 635 เครื่องเดินทางหากได้มอบหมายแก่ผู้ขนส่งทันเวลา ท่านว่าต้องส่งมอบในขณะคนโดยสาร
ถึง
               มาตรา 636 ถ้าคนโดยสารไม่รับมอบเครื่องเดินทางของตนภายในเวลาเดือนหนึ่งนับแต่วันเครื่องเดิน
ทางนั้นถึงไซร้ ผู้ขนส่งอาจเอาออกขายทอดตลาดเสียได้
               ถ้าเครื่องเดินทางนั้นมีสภาพเป็นของสดของเสียได้  ผู้ขนส่งอาจเอาออกขายทอดตลาดได้
เมื่อของนั้นถึงแล้วรออยู่ล่วงเวลากว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง
               บทบัญญัติใน มาตรา 632 นั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่คดีดั่งว่านี้ด้วยอนุโลมตามควร
               มาตรา 637 สิทธิและความรับผิดของผู้ขนส่งเพื่อเครื่องเดินทางอันได้มอบหมายแก่ผู้ขนส่งนั้น
แม้ผู้ขนส่งจะมิได้คิดเอาค่าขนส่งต่างหากก็ตาม ท่านให้บังคับตามความใน หมวด 1
               มาตรา 638 ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิดในเครื่องเดินทางซึ่งตนมิได้รับมอบหมาย  เว้นแต่เมื่อเครื่องเดินทาง
นั้นสูญหายหรือบุบสลายไปเพราะความผิดของผู้ขนส่งหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง
               มาตรา 639 ตั๋ว ใบรับ หรือเอกสารอื่นทำนองเช่นว่านี้ อันผู้ขนส่งได้ส่งมอบแก่คนโดยสารนั้น หากมี
ข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งอย่างใดๆ  ท่านว่าข้อความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่
คนโดยสารจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นนั้น

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้