ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ3 ลักษณะ1 หมวด1,2,3,4

Last updated: 14 พ.ค. 2566  |  1553 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ3 ลักษณะ1 หมวด1,2,3,4

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
              บรรพ 3
               เอกเทศสัญญา
               ลักษณะ 1
               ซื้อขาย
               หมวด 1
               สภาพและหลักสำคัญของสัญญาซื้อขาย
               ส่วนที่ 1
               บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
 
               มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สิน
ให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
               มาตรา 454 การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะซื้อหรือขายนั้นจะมีผลเป็นการซื้อขายต่อเมื่อ
อีกฝ่ายหนึ่งได้บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายนั้นให้สำเร็จตลอดไปและคำบอกกล่าว
เช่นนั้นได้ไปถึงบุคคลผู้ให้คำมั่นแล้ว
               ถ้าในคำมั่นมิได้กำหนดเวลาไว้เพื่อการบอกกล่าวเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ให้คำมั่น
จะกำหนดเวลาพอสมควร และบอกกล่าวไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้ตอบมาเป็นแน่นอนภายใน
เวลากำหนดนั้นก็ได้ว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่  ถ้าและไม่ตอบเป็นแน่นอนภาย
ในกำหนดเวลานั้นไซร้  คำมั่นซึ่งได้ให้ไว้ก่อนนั้นก็เป็นอันไร้ผล
               มาตรา 455 เมื่อกล่าวต่อไปเบื้องหน้าถึงเวลาซื้อขาย ท่านหมายความว่าเวลาซึ่งทำสัญญาซื้อขาย
สำเร็จบริบูรณ์
               มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ
วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
               สัญญาจะซื้อจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง
ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วาง
ประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
               บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกัน
เป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย
               “แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
               มาตรา 457 ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้น ผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย
 
               ส่วนที่ 2
               การโอนกรรมสิทธิ์
 
               มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น  ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน
               มาตรา 459 สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาบังคับไว้  ท่านว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไป
จนกว่าการจะได้เป็นไปตามเงื่อนไข หรือถึงกำหนดเงื่อนเวลานั้น
               มาตรา 460 ในการซื้อขายทรัพย์สินซึ่งมิได้กำหนดลงไว้แน่นอนนั้น ท่านว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปจน
กว่าจะได้หมาย หรือนับ ชั่ง ตวง วัด หรือคัดเลือก หรือทำโดยวิธีอื่นเพื่อให้บ่งตัวทรัพย์สินนั้นออกเป็นแน่นอนแล้ว
               ในการซื้อขายทรัพย์สินเฉพาะสิ่ง  ถ้าผู้ขายยังจะต้องนับ ชั่ง ตวง วัด หรือทำการอย่างอื่น
หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินเพื่อให้รู้กำหนดราคาทรัพย์สินนั้นแน่นอน ท่านว่ากรรมสิทธิ์
ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าการหรือสิ่งนั้นได้ทำแล้ว
 
               หมวด 2
               หน้าที่และความรับผิดของผู้ขาย
               ส่วนที่ 1
               การส่งมอบ
 
               มาตรา 461 ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อ
               มาตรา 462 การส่งมอบนั้นจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ สุดแต่ว่าเป็นผลให้ทรัพย์สินนั้นไปอยู่ใน
เงื้อมมือของผู้ซื้อ
               มาตรา 463 ถ้าในสัญญากำหนดว่าให้ส่งทรัพย์สินซึ่งขายนั้นจากที่แห่งหนึ่งไปถึงอีกแห่งหนึ่งไซร้
ท่านว่าการส่งมอบย่อมสำเร็จ  เมื่อได้ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขนส่ง
               มาตรา 464 ค่าขนส่งทรัพย์สินซึ่งได้ซื้อขายกันไปยังที่แห่งอื่นนอกจากสถานที่อันพึงชำระหนี้นั้น
ผู้ซื้อพึงออกใช้
               มาตรา 465 ในการซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้น
               (1)  หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสียไม่รับ
เอาเลยก็ได้ แต่ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้  ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน
               (2)  หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินมากกว่าที่ได้สัญญาไว้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สิน
นั้นไว้แต่เพียงตามสัญญาและนอกกว่านั้นปัดเสียก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดไม่รับเอาไว้เลยก็ได้
ถ้าผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินอันเขาส่งมอบเช่นนั้นไว้ทั้งหมด  ผู้ซื้อก็ต้องใช้ราคาตามส่วน
               (3)  หากว่าผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินตามที่ได้สัญญาไว้ระคนกับทรัพย์สินอย่างอื่นอันมิได้
รวมอยู่ในข้อสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะรับเอาทรัพย์สินไว้แต่ตามสัญญา และนอกกว่านั้นปัดเสีย
ก็ได้ หรือจะปัดเสียทั้งหมดก็ได้
               มาตรา 466 ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น  หากว่าได้ระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้  และผู้ขายส่ง
มอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่ได้สัญญาไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือจะรับเอาไว้และใช้
ราคาตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก
               อนึ่ง ถ้าขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนไม่เกินกว่าร้อยละห้าแห่งเนื้อที่ทั้งหมดอันได้ระบุไว้
นั้นไซร้  ท่านว่าผู้ซื้อจำต้องรับเอาและใช้ราคาตามส่วน แต่ว่าผู้ซื้ออาจจะเลิกสัญญาเสียได้ในเมื่อ
ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนถึงขนาดซึ่งหากผู้ซื้อได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญานั้น
               มาตรา 467 ในข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนนั้น  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดี
เมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ
               มาตรา 468 ถ้าในสัญญาไม่มีกำหนดเงื่อนเวลาให้ใช้ราคาไซร้ ผู้ขายชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินขาย
ไว้ได้จนกว่าจะใช้ราคา
               มาตรา 469 ถ้าผู้ซื้อล้มละลายก่อนส่งมอบทรัพย์สินก็ดี หรือผู้ซื้อเป็นคนล้มละลายแล้วในเวลาซื้อขาย
โดยผู้ขายไม่รู้ก็ดี  หรือผู้ซื้อกระทำให้หลักทรัพย์ที่ให้ไว้เพื่อประกันการใช้เงินนั้นเสื่อมเสียหรือลด
น้อยลงก็ดี ถึงแม้ในสัญญาจะมีกำหนดเงื่อนเวลาให้ใช้ราคา ผู้ขายก็ชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินซึ่ง
ขายไว้ได้  เว้นแต่ผู้ซื้อจะหาประกันที่สมควรให้ได้
               มาตรา 470 ถ้าผู้ซื้อผิดนัด  ผู้ขายซึ่งได้ยึดหน่วงทรัพย์สินไว้ตามมาตราทั้งหลายที่กล่าวมา อาจจะใช้
ทางแก้ต่อไปนี้แทนทางแก้สามัญในการไม่ชำระหนี้ได้  คือมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้ซื้อให้ใช้
ราคา กับทั้งค่าจับจ่ายเกี่ยวกับการภายในเวลาอันควรซึ่งต้องกำหนดลงไว้ในคำบอกกล่าวนั้นด้วย
               ถ้าผู้ซื้อละเลยเสียไม่ทำตามคำบอกกล่าว ผู้ขายอาจนำทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดได้
               มาตรา 471 เมื่อขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ให้ผู้ขายหักเอาจำนวนที่ค้างชำระแก่ตน
เพื่อราคาและค่าจับจ่ายเกี่ยวการนั้นไว้ ถ้าและยังมีเงินเหลือ ก็ให้ส่งมอบแก่ผู้ซื้อโดยพลัน
 
               ส่วนที่ 2
               ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง
              
               มาตรา 472 ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคา
หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี
ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
               ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่
               มาตรา 473 ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ
               (1)  ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้น
หากได้ใช้ความระมัดระวังอันพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน
               (2)  ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอา
ทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน
               (3)  ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด          
               มาตรา 474 ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่
ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง
 
               ส่วนที่ 3
               ความรับผิดในการรอนสิทธิ
 
               มาตรา 475 หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สินโดยปกติสุข
เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของ
ผู้ขายก็ดี  ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น
               มาตรา 476 ถ้าสิทธิของผู้ก่อการรบกวนนั้น  ผู้ซื้อรู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขาย ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด
               มาตรา 477 เมื่อใดการรบกวนขัดสิทธินั้นเกิดเป็นคดีขึ้นระหว่างผู้ซื้อกับบุคคลภายนอก ผู้ซื้อชอบที่จะ
ขอให้ศาลเรียกผู้ขายเข้าเป็นจำเลยร่วมหรือเป็นโจทก์ร่วมกับผู้ซื้อในคดีนั้นได้  เพื่อศาลจะได้วินิจฉัย
ชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน
               มาตรา 478 ถ้าผู้ขายเห็นเป็นการสมควร จะสอดเข้าไปในคดีเพื่อปฏิเสธการเรียกร้องของบุคคลภาย
นอกก็ชอบที่จะทำได้ด้วย
               มาตรา 479 ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการรอนสิทธิ
ก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือ
เสื่อมความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์
อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
               มาตรา 480 ถ้าอสังหาริมทรัพย์ต้องศาลแสดงว่าตกอยู่ในบังคับแห่งภารจำยอมโดยกฎหมายไซร้
ท่านว่าผู้ขายไม่ต้องรับผิด เว้นไว้แต่ผู้ขายจะได้รับรองไว้ในสัญญาว่าทรัพย์สินนั้นปลอดจากภาร
จำยอมอย่างใดๆ ทั้งสิ้น หรือปลอดจากภารจำยอมอันนั้น
               มาตรา 481 ถ้าผู้ขายไม่ได้เป็นคู่ความในคดีเดิม หรือถ้าผู้ซื้อได้ประนีประนอมยอมความกับบุคคล
ภายนอก หรือยอมตามที่บุคคลภายนอกเรียกร้องไซร้ ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีในข้อรับผิดเพื่อการ
รอนสิทธิเมื่อพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันคำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด หรือนับแต่วัน
ประนีประนอมยอมความ หรือวันที่ยอมตามบุคคลภายนอกเรียกร้องนั้น
               มาตรา 482 ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในการรอนสิทธิเมื่อกรณีเป็นดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (1)  ถ้าไม่มีการฟ้องคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่าสิทธิของผู้ซื้อได้สูญไปโดยความผิดของ
ผู้ซื้อเอง หรือ
               (2)  ถ้าผู้ซื้อไม่ได้เรียกผู้ขายเข้ามาในคดี และผู้ขายพิสูจน์ได้ว่า ถ้าได้เรียกเข้ามา คดี
ฝ่ายผู้ซื้อจะชนะ หรือ
               (3)  ถ้าผู้ขายได้เข้ามาในคดี แต่ศาลได้ยกคำเรียกร้องของผู้ซื้อเสียเพราะความผิดของผู้
ซื้อเอง
               แต่ถึงกรณีจะเป็นอย่างไรก็ดี  ถ้าผู้ขายถูกศาลหมายเรียกให้เข้ามาในคดีและไม่ยอมเข้าว่า
คดีร่วมเป็นจำเลยหรือร่วมเป็นโจทก์กับผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ขายคงต้องรับผิด
 
               ส่วนที่ 4
               ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิด
 
               มาตรา 483 คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อ
การรอนสิทธิก็ได้
               มาตรา 484 ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้นย่อมไม่คุ้มผู้ขายให้พ้นจากการต้องส่งเงินคืนตามราคา
เว้นแต่จะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา 485 ข้อสัญญาว่าจะไม่ต้องรับผิดนั้นไม่อาจคุ้มความรับผิดของผู้ขายในผลของการอันผู้ขาย
ได้กระทำไปเอง หรือผลแห่งข้อความจริงอันผู้ขายได้รู้อยู่และปกปิดเสีย
 
               หมวด 3
               หน้าที่ของผู้ซื้อ
 
               มาตรา 486 ผู้ซื้อจำต้องรับมอบทรัพย์สินที่ตนได้รับซื้อและใช้ราคาตามข้อสัญญาซื้อขาย
               มาตรา 487 อันราคาทรัพย์สินที่ขายนั้นจะกำหนดลงไว้ในสัญญาก็ได้ หรือจะปล่อยไปให้กำหนดกัน
ด้วยวิธีอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งได้ตกลงกันไว้ในสัญญานั้นก็ได้ หรือจะถือเอาตามทางการที่คู่สัญญา
ประพฤติต่อกันอยู่นั้นก็ได้
               ถ้าราคามิได้มีกำหนดเด็ดขาดอย่างใดดั่งว่ามานั้นไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ราคาตามสมควร
               มาตรา 488 ถ้าผู้ซื้อพบเห็นความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งตนได้รับซื้อ ผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วง
ราคาที่ยังไม่ได้ชำระไว้ได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เว้นแต่ผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้
               มาตรา 489 ถ้าผู้ซื้อถูกผู้รับจำนองหรือบุคคลผู้เรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ขายนั้นขู่ว่าจะฟ้องเป็นคดีขึ้น
ก็ดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะถูกขู่เช่นนั้นก็ดี  ผู้ซื้อก็ชอบที่จะยึดหน่วงราคาไว้ทั้งหมดหรือบางส่วน
ได้ดุจกันจนกว่าผู้ขายจะได้บำบัดภัยอันนั้นให้สิ้นไปหรือจนกว่าผู้ขายจะหาประกันที่สมควรให้ได้
               มาตรา 490 ถ้าได้กำหนดกันไว้ว่าให้ส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นเวลาใด ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
เวลาอันเดียวกันนั้นเองเป็นเวลากำหนดใช้ราคา
 
               หมวด 4
               การซื้อขายเฉพาะบางอย่าง
               ส่วนที่ 1
               ขายฝาก
 
               มาตรา 491 อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตก
ลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้
               มาตรา 492 ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายใน
เวลาที่กฎหมายกำหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสำนักงานวางทรัพย์ภายในกำหนด
เวลาไถ่โดยสละสิทธิถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่
เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี
               ในกรณีที่วางทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานของสำนักงานวางทรัพย์แจ้งให้ผู้รับไถ่
ทราบถึงการวางทรัพย์โดยพลัน โดยผู้ไถ่ไม่ต้องปฏิบัติตาม มาตรา 333 วรรคสาม
               **แก้ไขโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2541
               มาตรา 493 ในการขายฝาก คู่สัญญาจะตกลงกันไม่ให้ผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินซึ่งขายฝากก็ได้ ถ้าและ
ผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้นฝ่าฝืนสัญญาไซร้  ก็ต้องรับผิดต่อผู้ขายในความเสียหายใดๆ อันเกิดแต่การนั้น
               มาตรา 494 ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
               (1)  ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์   กำหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย
               (2)  ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์  กำหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย
               มาตรา 495 ถ้าในสัญญามีกำหนดเวลาไถ่เกินไปกว่านั้น ท่านให้ลดลงมาเป็นสิบปีและสามปีตาม
ประเภททรัพย์
               มาตรา 496 กำหนดเวลาไถ่นั้น อาจทำสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่ได้ แต่กำหนดเวลาไถ่รวมกันทั้ง
หมด  ถ้าไม่เกินกำหนดเวลาตาม มาตรา 494 ให้ลดลงมาเป็นกำหนดเวลาตาม มาตรา 494
               การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ
ผู้รับไถ่  ถ้าเป็นทรัพย์สินซึ่งการซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้า
ที่  ห้ามมิให้ยกการขยายเวลาขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ
โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว เว้นแต่จะได้นำหนังสือหรือหลักฐานเป็นหนังสือดัง
กล่าวไปจดทะเบียนหรือจดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
               **แก้ไขโดย มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2541            
               มาตรา 497 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้แต่บุคคลเหล่านี้ คือ
               (1)  ผู้ขายเดิม หรือทายาทของผู้ขายเดิม หรือ
               (2)  ผู้รับโอนสิทธินั้น หรือ
               (3)  บุคคลซึ่งในสัญญายอมไว้โดยเฉพาะว่าให้เป็นผู้ไถ่ได้
               มาตรา 498 สิทธิในการไถ่ทรัพย์สินนั้น จะพึงใช้ได้เฉพาะต่อบุคคลเหล่านี้ คือ
               (1)  ผู้ซื้อเดิม หรือทายาทของผู้ซื้อเดิม หรือ
               (2)  ผู้รับโอนทรัพย์สิน หรือรับโอนสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น แต่ในข้อนี้ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์
จะใช้สิทธิได้ต่อเมื่อผู้รับโอนได้รู้ในเวลาโอนว่าทรัพย์สินตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิไถ่คืน
               มาตรา 499 สินไถ่นั้น  ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก
               ถ้าปรากฏในเวลาไถ่ว่าสินไถ่หรือราคาขายฝากที่กำหนดไว้สูงกว่าราคาขายฝากที่แท้จริง
เกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ให้ไถ่ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปี
               **วรรคสอง เพิ่มเติมโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2541
               มาตรา 500 ค่าฤชาธรรมเนียมการขายฝากซึ่งผู้ซื้อได้ออกไปนั้น ผู้ไถ่ต้องใช้ให้แก่ผู้ซื้อพร้อมกับสินไถ่
               ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมการไถ่ทรัพย์นั้น  ผู้ไถ่พึงออกใช้
               มาตรา 501 ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น  ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ แต่ถ้าหากว่าทรัพย์สิน
นั้นถูกทำลายหรือทำให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้  ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
               มาตรา 502 ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น  ท่านว่าบุคคลผู้ไถ่ย่อมได้รับคืนไปโดยปลอดจากสิทธิใดๆ ซึ่งผู้ซื้อ
เดิม หรือทายาทหรือผู้รับโอนจากผู้ซื้อเดิมก่อให้เกิดขึ้นก่อนเวลาไถ่
               ถ้าว่าเช่าทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างขายฝากอันได้จดทะเบียนเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
แล้วไซร้  ท่านว่าการเช่านั้นหากมิได้ทำขึ้นเพื่อจะให้เสียหายแก่ผู้ขาย  กำหนดเวลาเช่ายังคงมีเหลือ
อยู่อีกเพียงใด ก็ให้คงเป็นอันสมบูรณ์อยู่เพียงนั้น แต่มิให้เกินกว่าปีหนึ่ง
 
               ส่วนที่ 2
               ขายตามตัวอย่าง ขายตามคำพรรณนา ขายเผื่อชอบ
 
               มาตรา 503 ในการขายตามตัวอย่างนั้น ผู้ขายต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามตัวอย่าง
               ในการขายตามคำพรรณนา ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินให้ตรงตามคำพรรณนา
               มาตรา 504 ในข้อรับผิดเพื่อการส่งของไม่ตรงตามตัวอย่างหรือไม่ตรงตามคำพรรณนานั้น  ท่านห้าม
มิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาส่งมอบ
               มาตรา 505 อันว่าขายเผื่อชอบนั้น คือการซื้อขายกันโดยมีเงื่อนไขว่าให้ผู้ซื้อได้มีโอกาสตรวจดูทรัพย์
สินก่อนรับซื้อ
               มาตรา 506 การตรวจดูทรัพย์สินนั้น  ถ้าไม่ได้กำหนดเวลากันไว้ ผู้ขายอาจกำหนดเวลาอันสมควร
และบอกกล่าวแก่ผู้ซื้อให้ตอบภายในกำหนดนั้นได้ว่าจะรับซื้อหรือไม่
               มาตรา 507 ทรัพย์สินอันผู้ซื้อจะพึงตรวจดูก่อนที่จะส่งมอบแก่กันนั้น ถ้าผู้ซื้อไม่ตรวจรับภายในเวลาที่
กำหนดไว้โดยสัญญา หรือโดยประเพณี หรือโดยคำบอกกล่าวของผู้ขาย  ท่านว่าผู้ขายย่อมไม่มี
ความผูกพันต่อไป
               มาตรา 508 เมื่อทรัพย์สินนั้นได้ส่งมอบแก่ผู้ซื้อเพื่อให้ตรวจดูแล้ว การซื้อขายย่อมเป็นอันบริบูรณ์ใน
กรณีต่อไปนี้ คือ
               (1)  ถ้าผู้ซื้อมิได้บอกกล่าวว่าไม่ยอมรับซื้อภายในเวลาที่กำหนดไว้โดยสัญญา หรือโดย
ประเพณี หรือโดยคำบอกกล่าว หรือ
               (2)  ถ้าผู้ซื้อไม่ส่งทรัพย์สินคืนภายในกำหนดเวลาดั่งกล่าวมานั้น หรือ
               (3)  ถ้าผู้ซื้อใช้ราคาทรัพย์สินนั้นสิ้นเชิง หรือแต่บางส่วน หรือ
               (4)  ถ้าผู้ซื้อจำหน่ายทรัพย์สินนั้น หรือทำประการอื่นอย่างใดอันเป็นปริยายว่ารับซื้อของนั้น
 
               ส่วนที่ 3
               ขายทอดตลาด
 
               มาตรา 509 การขายทอดตลาดย่อมบริบูรณ์เมื่อผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยเคาะไม้ หรือด้วย
กิริยาอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งตามจารีตประเพณีในการขายทอดตลาด ถ้ายังมิได้แสดงเช่นนั้นอยู่
ตราบใด ท่านว่าผู้สู้ราคาจะถอนคำสู้ราคาของตนเสียก็ยังถอนได้
               มาตรา 510 ผู้ซื้อในการขายทอดตลาดจะต้องทำตามคำโฆษณาบอกขาย และตามความข้ออื่นๆ
ซึ่งผู้ทอดตลาดได้แถลงก่อนเผดิมการสู้ราคาทรัพย์สินเฉพาะรายไป
               มาตรา 511 ท่านห้ามมิให้ผู้ทอดตลาดเข้าสู้ราคา หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคาในการทอดตลาดซึ่ง
ตนเป็นผู้อำนวยการเอง
               มาตรา 512 ท่านห้ามมิให้ผู้ขายเข้าสู้ราคาเอง หรือใช้ให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู้ราคา เว้นแต่จะได้แถลงไว้
โดยเฉพาะในคำโฆษณาบอกการทอดตลาดนั้นว่า ผู้ขายถือสิทธิที่จะเข้าสู้ราคาด้วย
               มาตรา 513 เมื่อใดผู้ทอดตลาดเห็นว่าราคาซึ่งมีผู้สู้สูงสุดนั้นยังไม่เพียงพอ ผู้ทอดตลาดอาจถอน
ทรัพย์สินจากการทอดตลาดได้
               มาตรา 514 ผู้สู้ราคาย่อมพ้นความผูกพันในราคาซึ่งตนสู้แต่ขณะเมื่อมีผู้อื่นสู้ราคาสูงขึ้นไป ไม่ว่าการที่
ผู้อื่นสู้นั้นจะสมบูรณ์หรือมิสมบูรณ์ประการใด อีกประการหนึ่งเมื่อใดถอนทรัพย์สินรายนั้นจากการ
ทอดตลาด  ผู้สู้ราคาก็พ้นความผูกพันแต่ขณะที่ถอนนั้นดุจกัน
               มาตรา 515 ผู้สู้ราคาสูงสุดต้องใช้ราคาเป็นเงินสดเมื่อการซื้อขายบริบูรณ์ หรือตามเวลาที่กำหนดไว้
ในคำโฆษณาบอกขาย
               มาตรา 516 ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขาย
อีกซ้ำหนึ่ง  ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม  ผู้สู้ราคาเดิม
คนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด
               มาตรา 517 ถ้าเงินรายได้ในการทอดตลาดส่วนหนึ่งส่วนใดค้างชำระอยู่ เพราะเหตุผู้ทอดตลาดละ
เลยไม่บังคับตามบทใน มาตรา 515 หรือ มาตรา 516 ไซร้ ท่านว่าผู้ทอดตลาดจะต้องรับผิด
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้