กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ2 ลักษณะ3,4,5

Last updated: 13 พ.ค. 2566  |  286 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ2 ลักษณะ3,4,5

       กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ2

       ลักษณะ 3
       จัดการงานนอกสั่ง
 
       มาตรา 395 บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่
จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นจะต้องจัดการงานไปในทางที่จะ
ให้สมประโยชน์ของตัวการ ตามความประสงค์อันแท้จริงของตัวการ หรือตามที่จะพึงสันนิษฐาน
ได้ว่าเป็นความประสงค์ของตัวการ
       มาตรา 396 ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการขัดกับความประสงค์อันแท้จริงของตัวการก็ดี หรือขัด
กับความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้ก็ดี และผู้จัดการก็ควรจะได้รู้สึกเช่นนั้นแล้วด้วยไซร้
ท่านว่าผู้จัดการจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตัวการเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่ที่
ได้เข้าจัดการนั้น  แม้ทั้งผู้จัดการจะมิได้มีความผิดประการอื่น
       มาตรา 397 ถ้าผู้จัดการทำกิจอันใดซึ่งเป็นหน้าที่บังคับให้ตัวการทำเพื่อสาธารณประโยชน์ก็ดี หรือ
เป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่จะบำรุงรักษาผู้อื่นก็ดี และหากผู้จัดการมิได้เข้าทำแล้ว กิจอันนั้นจะไม่
สำเร็จภายในเวลาอันควรไซร้ การที่ได้ทำขัดกับความประสงค์ของตัวการเช่นนั้น  ท่านมิให้ยกขึ้น
เป็นข้อวินิจฉัย
       มาตรา 398 ถ้าผู้จัดการทำกิจอันใดเพื่อประสงค์จะปัดป้องอันตรายอันมีมาใกล้ตัวการ จะเป็นภัยแก่
ตัวก็ดี แก่ชื่อเสียงก็ดี หรือแก่ทรัพย์สินก็ดี ท่านว่าผู้จัดการต้องรับผิดชอบแต่เพียงที่จงใจทำผิด
หรือที่เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น
       มาตรา 399 ผู้จัดการต้องบอกกล่าวแก่ตัวการโดยเร็วที่สุดที่จะทำได้ว่าตนได้เข้าจัดการงานแทน
และต้องรอฟังคำวินิจฉัยของตัวการ เว้นแต่ภัยจะมีขึ้นเพราะการที่หน่วงเนิ่นไว้  นอกจากนี้ท่านให้
นำบทบัญญัติแห่ง มาตรา 809 ถึง 811 อันบังคับแก่ตัวแทนนั้นมาใช้บังคับแก่หน้าที่ของผู้จัดการ
ด้วยโดยอนุโลม
       มาตรา 400 ถ้าผู้จัดการเป็นผู้ไร้ความสามารถ ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงตามบทบัญญัติว่า
ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด และว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้เท่านั้น
       มาตรา 401 ถ้าการที่เข้าจัดการงานนั้นเป็นการสมประโยชน์ของตัวการ และต้องตามความประสงค์
อันแท้จริงของตัวการหรือความประสงค์ตามที่จะพึงสันนิษฐานได้นั้นไซร้ ท่านว่าผู้จัดการจะเรียก
ให้ชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่ตนเช่นอย่างตัวแทนก็ได้ และบทบัญญัติ มาตรา 816 วรรค 2
นั้น ท่านก็ให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
       อนึ่ง ในกรณีที่กล่าวมาใน มาตรา 397 นั้น  แม้ถึงว่าที่เข้าจัดการงานนั้นจะเป็นการขัดกับ
ความประสงค์ของตัวการก็ดี  ผู้จัดการก็ยังคงมีสิทธิเรียกร้องเช่นนั้นอยู่
       มาตรา 402 ถ้าเงื่อนไขดั่งว่ามาในมาตราก่อนนั้นมิได้มี ท่านว่าตัวการจำต้องคืนสิ่งทั้งหลาย บรรดา
ที่ได้มาเพราะเขาเข้าจัดการงานนั้นให้แก่ผู้จัดการ ตามบทบัญญัติว่าด้วยการคืนลาภมิควรได้
       ถ้าตัวการให้สัตยาบันแก่การที่จัดทำนั้น ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวล
กฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทนมาใช้บังคับแล้วแต่กรณี
       มาตรา 403 ถ้าผู้จัดการมิได้มีบุรพเจตนาจะเรียกให้ตัวการชดใช้คืน ผู้จัดการก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียก
ร้องเช่นนั้น
       การที่บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย บำรุงรักษาผู้สืบสันดานเป็นทางอุปการะก็ดี  หรือกลับ
กันเป็นทางปฏิการะก็ดี  เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่มีเจตนาจะเรียกให้
ผู้รับประโยชน์ชดใช้คืน
       มาตรา 404 ถ้าผู้จัดการทำแทนผู้หนึ่งโดยสำคัญว่าทำแทนผู้อื่นอีกคนหนึ่งไซร้  ท่านว่าผู้เป็นตัวการ
คนก่อนผู้เดียวมีสิทธิและหน้าที่อันเกิดแต่การที่ได้จัดทำไปนั้น
       มาตรา 405 บทบัญญัติทั้งหลายที่กล่าวมาในสิบมาตราก่อนนั้น  ท่านมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคล
หนึ่งเข้าทำการงานของผู้อื่นโดยสำคัญว่าเป็นการงานของตนเอง
       ถ้าบุคคลใดถือเอากิจการของผู้อื่นว่าเป็นของตนเองทั้งที่รู้แล้วว่าตนไม่มีสิทธิจะทำเช่น
นั้นไซร้ ท่านว่าตัวการจะใช้สิทธิเรียกร้องบังคับโดยมูลดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 395 , 396 , 399
และ 400 นั้น ก็ได้  แต่เมื่อได้ใช้สิทธิดั่งว่ามานี้แล้ว ตัวการจะต้องรับผิดต่อผู้จัดการดั่งบัญญัติไว้ใน
มาตรา 402 วรรค 1
 
       ลักษณะ 4
       ลาภมิควรได้
 
       มาตรา 406 บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือ
ได้มาด้วยประการอื่นก็ดีโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้บุคคลอีกคนหนึ่ง
นั้นเสียเปรียบไซร้  ท่านว่าบุคคลนั้นจำต้องคืนทรัพย์ให้แก่เขา  อนึ่ง การรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่
หรือหาไม่นั้น  ท่านก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ด้วย
       บทบัญญัติอันนี้ท่านให้ใช้บังคับตลอดถึงกรณีที่ได้ทรัพย์มาเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งมิได้มีได้เป็นขึ้น หรือเป็นเหตุที่ได้สิ้นสุดไปเสียก่อนแล้วนั้นด้วย
       มาตรา 407 บุคคลใดได้กระทำการอันใดตามอำเภอใจเหมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มี
ความผูกพันที่จะต้องชำระ ท่านว่าบุคคลผู้นั้นหามีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์ไม่
       มาตรา 408 บุคคลดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์  คือ
       (1)  บุคคลผู้ชำระหนี้อันมีเงื่อนเวลาบังคับ เมื่อก่อนถึงกำหนดเวลานั้น
       (2)  บุคคลผู้ชำระหนี้ซึ่งขาดอายุความแล้ว
       (3)  บุคคลผู้ชำระหนี้ตามหน้าที่ศีลธรรม หรือตามควรแก่อัธยาศัยในสมาคม
       มาตรา 409 เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ได้ชำระหนี้ไปโดยสำคัญผิด เป็นเหตุให้เจ้าหนี้
ผู้ทำการโดยสุจริตได้ทำลายหรือลบล้างเสียซึ่งเอกสารอันเป็นพยานหลักฐานแห่งหนี้ก็ดี ยกเลิก
หลักประกันเสียก็ดี สิ้นสิทธิไปเพราะขาดอายุความก็ดี ท่านว่าเจ้าหนี้ไม่จำต้องคืนทรัพย์
       บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ไม่ขัดขวางต่อการที่บุคคลผู้ได้ชำระหนี้นั้นจะใช้สิทธิ
ไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้และผู้ค้ำประกัน ถ้าจะพึงมี
       มาตรา 410 บุคคลผู้ใดได้ทำการชำระหนี้โดยมุ่งต่อผลอย่างหนึ่ง  แต่มิได้เกิดผลขึ้นเช่นนั้น  ถ้าและ
บุคคลนั้นได้รู้มาแต่แรกว่าการที่จะเกิดผลนั้นเป็นพ้นวิสัยก็ดี หรือได้เข้าป้องปัดขัดขวางเสียมิให้เกิด
ผลเช่นนั้นโดยอาการอันฝ่าฝืนความสุจริตก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นไม่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์
       มาตรา 411 บุคคลใดได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรม
อันดี  ท่านว่าบุคคลนั้นหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่
       มาตรา 412 ถ้าทรัพย์สินซึ่งได้รับไว้เป็นลาภมิควรได้นั้นเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ท่านว่าต้องคืนจำนวนนั้น
เว้นแต่เมื่อบุคคลได้รับไว้โดยสุจริต จึงต้องคืนลาภมิควรได้เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน
       มาตรา 413 เมื่อทรัพย์สินอันจะต้องคืนนั้นเป็นอย่างอื่นนอกจากจำนวนเงิน และบุคคลได้รับไว้โดย
สุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนทรัพย์สินเพียงตามสภาพที่เป็นอยู่ และมิต้องรับผิดชอบใน
การที่ทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลาย แต่ถ้าได้อะไรมาเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือ
บุบสลายเช่นนั้นก็ต้องให้ไปด้วย
       ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยทุจริต ท่านว่าจะต้องรับผิดชอบในการสูญหายหรือบุบ
สลายนั้นเต็มภูมิ แม้กระทั่งการสูญหายหรือบุบสลายจะเกิดเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้
ว่าถึงอย่างไร ทรัพย์สินนั้นก็คงต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
       มาตรา 414 ถ้าการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะสภาพแห่งทรัพย์สินที่ได้รับไว้นั้นเองก็ดี หรือเพราะ
เหตุอย่างอื่นก็ดี และบุคคลได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นจำต้องคืนลาภมิควรได้
เพียงส่วนที่ยังมีอยู่ในขณะเมื่อเรียกคืน
       ถ้าบุคคลได้รับทรัพย์สินนั้นไว้โดยทุจริต ท่านว่าต้องใช้ราคาทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน
       มาตรา 415 บุคคลผู้ได้รับทรัพย์สินไว้โดยสุจริต ย่อมจะได้ดอกผลอันเกิดแต่ทรัพย์สินนั้นตลอดเวลา
ที่ยังคงสุจริตอยู่
       ถ้าผู้ที่ได้รับไว้จะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใด  ให้ถือว่าผู้นั้นตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิม
แต่เวลาที่เรียกคืนนั้น
       มาตรา 416 ค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การเพื่อรักษาบำรุงหรือซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ท่านว่าต้อง
ชดใช้แก่บุคคลผู้คืนทรัพย์สินนั้นเต็มจำนวน
       แต่บุคคลเช่นว่านี้จะเรียกร้องให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายตาม ธรรมดา เพื่อบำรุง ซ่อมแซมทรัพย์สิน
นั้น หรือค่าภาระติดพันที่ต้องเสียไปในระหว่างที่ตนคงเก็บดอกผลอยู่นั้นหาได้ไม่
       มาตรา 417 ในส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวมาในวรรคต้นแห่งมาตราก่อนนั้น บุคคลผู้คืน
ทรัพย์สินจะเรียกให้ชดใช้ได้แต่เฉพาะที่เสียไปในระหว่างที่ตนทำการโดยสุจริต และเมื่อทรัพย์สินนั้น
ได้มีราคาเพิ่มสูงขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายนั้นในเวลาที่คืนและจะเรียกได้ก็แต่เพียงเท่าราคาที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น
       อนึ่ง บทบัญญัติแห่ง มาตรา 415 วรรค 2 นั้น ท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยแล้วแต่กรณี
       มาตรา 418 ถ้าบุคคลรับทรัพย์สินอันมิควรได้ไว้โดยทุจริต และได้ทำการดัดแปลงหรือต่อเติมขึ้นใน
ทรัพย์สินนั้น ท่านว่าบุคคลเช่นนั้นต้องจัดทำทรัพย์สินนั้นให้คืนคงสภาพเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของตน
เองแล้วจึงส่งคืน  เว้นแต่เจ้าของทรัพย์สินจะเลือกให้ส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ ในกรณีเช่นนี้เจ้าของ
จะใช้ราคาค่าทำดัดแปลงหรือต่อเติมหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นราคาทรัพย์สินเท่าที่เพิ่มขึ้นนั้นก็ได้
แล้วแต่จะเลือก
       ถ้าในเวลาที่จะต้องคืนทรัพย์นั้นเป็นพ้นวิสัยจะทำให้ทรัพย์สินคืนคงสภาพเดิมได้  หรือ
ถ้าทำไปทรัพย์สินนั้นจะบุบสลายไซร้  ท่านว่าบุคคลผู้ได้รับไว้จะต้องส่งคืนทรัพย์สินตามสภาพที่
เป็นอยู่  และไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อราคาทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นเพราะการดัดแปลงหรือ
ต่อเติมนั้นได้
       มาตรา 419 ในเรื่องลาภมิควรได้นั้น  ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดี เมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่าย
ผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น
 
       ลักษณะ 5
       ละเมิด
       หมวด 1
       ความรับผิดเพื่อละเมิด
 
       มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี
แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี   ท่านว่าผู้นั้นทำ
ละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
       มาตรา 421 การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วย
กฎหมาย
       มาตรา 422 ถ้าความเสียหายเกิดแต่การฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายใดอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้อง
บุคคลอื่นๆ ผู้ใดทำการฝ่าฝืนเช่นนั้น  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นผู้ผิด
       มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อ
เสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขา
โดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ
อันเกิดแต่การนั้น   แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
       ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเอง หรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมี
ทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้
ค่าสินไหมทดแทนไม่
       มาตรา 424 ในการพิพากษาคดีข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่า
ศาลไม่จำต้องดำเนินตามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับ
โทษและไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่
       มาตรา 425 นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่
จ้างนั้น
       มาตรา 426 นายจ้างซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อละเมิดอันลูกจ้างได้ทำนั้น
ชอบที่จะได้ชดใช้จากลูกจ้างนั้น
       มาตรา 427 บทบัญญัติในมาตราทั้งสองก่อนนั้น ท่านให้ใช้บังคับแก่ตัวการและตัวแทนด้วยโดย
อนุโลม
       มาตรา 428 ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภาย
นอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ  หรือใน
คำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง
       มาตรา 429 บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ หรือวิกลจริตก็ยังต้องรับผิดในผลที่
ตนทำละเมิด  บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่
จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น
       มาตรา 430 ครูบาอาจารย์ นายจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งรับดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่เป็นนิตย์ก็ดี
ชั่วคราวก็ดี  จำต้องรับผิดร่วมกับผู้ไร้ความสามารถในการละเมิดซึ่งเขาได้กระทำลงในระหว่างที่
อยู่ในความดูแลของตน ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร
       มาตรา 431 ในกรณีที่กล่าวมาในสองมาตราก่อนนั้น ท่านให้นำบทบัญญัติแห่ง มาตรา 426 มาใช้
บังคับด้วยโดยอนุโลม
       มาตรา 432 ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคล
เหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้
ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้นคนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิด
เสียหายนั้นด้วย
       อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำ
ละเมิดร่วมกันด้วย
       ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้อง
รับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ศาลจะวินิจฉัย เป็นประการอื่น
       มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์  ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้
แทนเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อัน
เกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตาม
ชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้อง
เกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น
       อนึ่ง บุคคลผู้ต้องรับผิดชอบดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น  จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลผู้ที่
เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิด หรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเร้าหรือยั่วสัตว์นั้นๆ ก็ได้
       มาตรา 434 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะเหตุที่โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นก่อสร้างไว้ชำรุด
บกพร่องก็ดี หรือบำรุงรักษาไม่เพียงพอก็ดี  ท่านว่าผู้ครองโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ จำต้องใช้
ค่าสินไหมทดแทน  แต่ถ้าผู้ครองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรเพื่อปัดป้องมิให้เกิดเสียหาย
ฉะนั้นแล้ว  ท่านว่าผู้เป็นเจ้าของจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
       บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนั้นให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงความบกพร่องในการปลูก
หรือค้ำจุนต้นไม้หรือกอไผ่ด้วย
       ในกรณีที่กล่าวมาในสองวรรคข้างต้นนั้น ถ้ายังมีผู้อื่นอีกที่ต้องรับผิดชอบในการก่อให้เกิด
เสียหายนั้นด้วยไซร้ ท่านว่าผู้ครองหรือเจ้าของจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่ผู้นั้นก็ได้
       มาตรา 435 บุคคลใดจะประสบความเสียหายอันพึงเกิดจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นของ
ผู้อื่น บุคคลผู้นั้นชอบที่จะเรียกให้จัดการตามที่จำเป็นเพื่อบำบัดปัดป้องภยันตรายนั้นเสียได้
       มาตรา 436 บุคคลผู้อยู่ในโรงเรือนต้องรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดเพราะของตกหล่นจากโรง
เรือนนั้น หรือเพราะทิ้งขว้างของไปตกในที่อันมิควร
       มาตรา 437 บุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะอย่างใดๆ อันเดินด้วยกำลังเครื่อง
จักรกล  บุคคลนั้นจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น  เว้นแต่จะพิสูจน์
ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง
       ความข้อนี้ให้ใช้บังคับได้ตลอดถึงผู้มีไว้ในครอบครองของตนซึ่งทรัพย์อันเป็นของเกิด
อันตรายได้โดยสภาพ หรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ หรือโดยอาการกลไกของทรัพย์นั้นด้วย
 
       หมวด 2
       ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด
 
       มาตรา 438 ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์
และความร้ายแรงแห่งละเมิด
       อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด
หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อัน
ได้ก่อขึ้นนั้นด้วย
       มาตรา 439 บุคคลผู้จำต้องคืนทรัพย์อันผู้อื่นต้องเสียไปเพราะละเมิดแห่งตนนั้น  ยังต้องรับผิดชอบ
ตลอดถึงการที่ทรัพย์นั้นทำลายลงโดยอุบัติเหตุหรือการคืนทรัพย์ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างอื่น
โดยอุบัติเหตุ หรือทรัพย์นั้นเสื่อมเสียลงโดยอุบัติเหตุนั้นด้วย เว้นแต่เมื่อการที่ทรัพย์สินทำลาย
หรือตกเป็นพ้นวิสัยจะคืน หรือเสื่อมเสียนั้น ถึงแม้ว่าจะมิได้มีการทำละเมิด ก็คงจะต้องตกไปเป็น
อย่างนั้นอยู่เอง
       มาตรา 440 ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อันได้เอาของเขาไปก็ดี ในกรณีที่ต้องใช้ราคาทรัพย์อันลดน้อย
ลงเพราะบุบสลายก็ดี ฝ่ายผู้ต้องเสียหายจะเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องใช้คิดตั้งแต่เวลา
อันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการประมาณราคานั้นก็ได้
       มาตรา 441 ถ้าบุคคลจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆเพราะเอาสังหาริมทรัพย์
ของเขาไปก็ดี หรือเพราะทำของเขาให้บุบสลายก็ดี  เมื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลซึ่งเป็น
ผู้ครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะที่เอาไป หรือขณะที่ทำให้บุบสลายนั้นแล้ว  ท่านว่าเป็นอันหลุดพ้นไป
เพราะการที่ได้ใช้ให้เช่นนั้น แม้กระทั่งบุคคลภายนอกจะเป็นเจ้าของทรัพย์หรือมีสิทธิอย่างอื่นเหนือ
ทรัพย์นั้น  เว้นแต่สิทธิของบุคคลภายนอกเช่นนั้นจะเป็นที่รู้อยู่แก่ตนหรือมิได้รู้เพราะความประมาท
เลินเล่ออย่างร้ายแรงของตน
       มาตรา 442 ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบ
ด้วยไซร้ ท่านให้นำบทบัญญัติแห่ง มาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
       มาตรา 443 ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น  ค่าสินไหมทดแทน  ได้แก่  ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอัน
จำเป็นอย่างอื่นๆ อีกด้วย
       ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทน ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้อง
ขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
       ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้
ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
       มาตรา 444 ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยนั้น  ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้ชดใช้ค่าใช้
จ่ายอันตนต้องเสียไป และค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้นเชิงหรือแต่
บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันนั้นและในเวลาอนาคตด้วย
       ถ้าในเวลาที่พิพากษาคดีเป็นพ้นวิสัยจะหยั่งรู้ได้แน่ว่าความเสียหายนั้นได้มีแท้จริงเพียง
ใด  ศาลจะกล่าวในคำพิพากษาว่ายังสงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษานั้นอีกภายในระยะเวลา
ไม่เกินสองปีก็ได้
       มาตรา 445 ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสีย
เสรีภาพก็ดี  ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคล
ภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้  ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่า
สินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงาน
อันนั้นไปด้วย
       มาตรา 446 ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี  ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี
ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีก
ก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้
โดยสัญญา หรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
       อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียก
ร้องทำนองเดียวกันนี้
       มาตรา 447 บุคคลใดทำให้เขาต้องเสียหายแก่ชื่อเสียงเมื่อผู้ต้องเสียหายร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคล
นั้นจัดการตามควรเพื่อทำให้ชื่อเสียงของผู้นั้นกลับคืนดีแทนให้ใช้ค่าเสียหายหรือทั้งให้ใช้ค่าเสีย
หายด้วยก็ได้
       มาตรา 448 สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับ
แต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปี
นับแต่วันทำละเมิด
       แต่ถ้าเรียกร้องค่าเสียหายในมูลอันเป็นความผิดมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา
และมีกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าที่กล่าวมานั้นไซร้ ท่านให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้น
มาบังคับ
 
       หมวด 3
       นิรโทษกรรม
 
       มาตรา 449 บุคคลใดเมื่อกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายก็ดี กระทำตามคำสั่งอันชอบด้วย
กฎหมายก็ดี  หากก่อให้เกิดเสียหายแก่ผู้อื่นไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
       ผู้ต้องเสียหายอาจเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้เป็นต้นเหตุให้ต้องป้องกันโดยชอบด้วย
กฎหมาย หรือจากบุคคลผู้ให้คำสั่งโดยละเมิดนั้นก็ได้
       มาตรา 450 ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายซึ่ง
มีมาเป็นสาธารณะโดยฉุกเฉิน ท่านว่าไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หากความเสียหายนั้นไม่
เกินสมควรแก่เหตุภยันตราย
       ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายอันมี
แก่เอกชนโดยฉุกเฉิน ผู้นั้นจะต้องใช้คืนทรัพย์นั้น
       ถ้าบุคคลทำบุบสลาย หรือทำลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใดเพื่อจะป้องกันสิทธิของตนหรือของ
บุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ  บุคคลเช่นว่านี้
หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตราย
นั้นเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจำต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้
       มาตรา 451 บุคคลใช้กำลังเพื่อป้องกันสิทธิของตน ถ้าตามพฤติการณ์จะขอให้ศาลหรือเจ้าหน้าที่
ช่วยเหลือให้ทันท่วงทีไม่ได้ และถ้ามิได้ทำในทันใด ภัยมีอยู่ด้วยการที่ตนจะได้สมดั่งสิทธินั้นจะต้อง
ประวิงไปมากหรือถึงแก่สาบสูญได้ไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นหาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
       การใช้กำลังดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  ท่านว่าต้องจำกัดครัดเคร่งแต่เฉพาะที่จำเป็น
เพื่อจะบำบัดปัดป้องภยันตรายเท่านั้น
       ถ้าบุคคลผู้ใดกระทำการดั่งกล่าวมาในวรรคต้นเพราะหลงสันนิษฐานพลาดไปว่ามีเหตุอัน
จำเป็นที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่
บุคคลอื่นแม้ทั้งการที่หลงพลาดไปนั้นจะมิใช่เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของตน
       มาตรา 452 ผู้ครองอสังหาริมทรัพย์ชอบที่จะจับสัตว์ของผู้อื่นอันเข้ามาทำความเสียหายใน
อสังหาริมทรัพย์นั้น และยึดไว้เป็นประกันค่าสินไหมทดแทนอันจะพึงต้องใช้แก่ตนได้และถ้าเป็น
การจำเป็นโดยพฤติการณ์ แม้จะฆ่าสัตว์นั้นเสียก็ชอบที่จะทำได้
       แต่ว่าผู้นั้นต้องบอกกล่าวแก่เจ้าของสัตว์โดยไม่ชักช้า ถ้าและหาตัวเจ้าของสัตว์ไม่พบ
ผู้ที่จับสัตว์ไว้ต้องจัดการตามสมควรเพื่อสืบหาตัวเจ้าของ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้