กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ2 ลักษณะ 2 หมวด1,2,3,4

Last updated: 13 พ.ค. 2566  |  255 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ2 ลักษณะ 2 หมวด1,2,3,4

     กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ2

       ลักษณะ 2
       สัญญา
       หมวด 1
       ก่อให้เกิดสัญญา
 
       มาตรา 354 คำเสนอจะทำสัญญาอันบ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น ท่านว่าไม่อาจจะถอนได้ภายใน
ระยะเวลาที่บ่งไว้
       มาตรา 355 บุคคลทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง  และมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำ
สนอง จะถอนคำเสนอของตนเสียภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น
ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่
       มาตรา 356 คำเสนอทำแก่บุคคลผู้อยู่เฉพาะหน้าโดยมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนองนั้น เสนอ ณ ที่ใด
เวลาใดก็ย่อมจะสนองรับได้แต่ ณ ที่นั้นเวลานั้น  ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการที่บุคคลคนหนึ่ง
ทำคำเสนอไปยังบุคคลอีกคนหนึ่งทางโทรศัพท์ด้วย
       มาตรา 357 คำเสนอใดเขาบอกปัดไปยังผู้เสนอแล้วก็ดี หรือมิได้สนองรับภายในเวลากำหนดดังกล่าว
มาใน มาตรา ทั้งสามก่อนนี้ก็ดี คำเสนอนั้นท่านว่าเป็นอันสิ้นความผูกพันแต่นั้นไป
       มาตรา 358 ถ้าคำบอกกล่าวสนองมาถึงล่วงเวลา  แต่เป็นที่เห็นประจักษ์ว่าคำบอกกล่าวนั้นได้ส่งโดย
ทางการซึ่งตามปกติควรจะมาถึงภายในกำหนดไซร้ ผู้เสนอต้องบอกกล่าวแก่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งโดย
พลันว่าคำสนองนั้นมาถึงเนิ่นช้า เว้นแต่จะได้บอกกล่าวเช่นนั้นก่อนแล้ว
       ถ้าผู้เสนอละเลยไม่บอกกล่าวดั่งว่ามาในวรรคต้น ท่านให้ถือว่าคำบอกกล่าวสนองนั้นมิได้
ล่วงเวลา
       มาตรา 359 ถ้าคำสนองมาถึงล่วงเวลา ท่านให้ถือว่าคำสนองนั้นกลายเป็นคำเสนอขึ้นใหม่
       คำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไขอย่างอื่นประกอบด้วยนั้น ท่านให้
ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับ ทั้งเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ด้วยในตัว
       มาตรา 360 บทบัญญัติแห่ง มาตรา 169 วรรคสองนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอัน
ผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือ
ตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
       *แก้ไขโดย มาตรา 15 (9) แห่งพระราชให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ว พ.ศ. 2535 (รจ. เล่ม 109 ตอนที่ 42 วันที่ 8 เมษายน 2535)
       มาตรา 361 อันสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้นย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้นแต่เวลา
เมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ
       ถ้าตามเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือตามปกติประเพณีไม่จำเป็นจะต้องมีคำบอกกล่าว
สนองไซร้   ท่านว่าสัญญานั้นเกิดเป็นสัญญาขึ้นในเวลาเมื่อมีการอันใดอันหนึ่งขึ้นอันจะพึง
สันนิษฐานได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสนองรับ
       มาตรา 362 บุคคลออกโฆษณาให้คำมั่นว่าจะให้รางวัลแก่ผู้ซึ่งกระทำการอันใด  ท่านว่าจำต้องให้
รางวัลแก่บุคคลใดๆ ผู้ได้กระทำการอันนั้น  ถึงแม้มิใช่ว่าผู้นั้นจะได้กระทำเพราะเห็นแก่รางวัล
       มาตรา 363 ในกรณีที่กล่าวมาใน มาตรา ก่อนนี้  เมื่อยังไม่มีใครทำการสำเร็จดั่งบ่งไว้นั้นอยู่ตราบใด
ผู้ให้คำมั่นจะถอนคำมั่นของตนเสียโดยวิธีเดียวกับที่โฆษณานั้นก็ได้ เว้นแต่จะได้แสดงไว้ในโฆษณา
นั้นว่าจะไม่ถอน
       ถ้าคำมั่นนั้นไม่อาจจะถอนโดยวิธีดั่งกล่าวมาก่อน จะถอนโดยวิธีอื่นก็ได้  แต่ถ้าเช่นนั้น
การถอนจะเป็นอันสมบูรณ์ใช้ได้เพียงเฉพาะต่อบุคคลที่รู้
       ถ้าผู้ให้คำมั่นได้กำหนดระยะเวลาให้ด้วยเพื่อทำการอันบ่งนั้นไซร้ ท่านให้สันนิษฐานไว้
ก่อนว่าผู้ให้คำมั่นได้สละสิทธิที่จะถอนคำมั่นนั้นเสียแล้ว
       มาตรา 364 ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันบ่งไว้ในโฆษณา  ท่านว่าเฉพาะแต่คนที่ทำได้ก่อนใคร
หมดเท่านั้นมีสิทธิจะได้รับรางวัล
       ถ้าบุคคลหลายคนกระทำการอันนั้นได้พร้อมกัน  ท่านว่าแต่ละคนมีสิทธิจะได้รับรางวัล
เป็นส่วนแบ่งเท่าๆ กัน  แต่ถ้ารางวัลนั้นมีสภาพแบ่งไม่ได้ก็ดี หรือถ้าตามข้อความแห่งคำมั่นนั้น
บุคคลแต่คนเดียวจะพึงรับรางวัลก็ดี ท่านให้วินิจฉัยด้วยวิธีจับสลาก
       บทบัญญัติดั่งกล่าวมาในวรรคทั้งสองข้างต้นนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าในโฆษณานั้น
แสดงเจตนาไว้เป็นอย่างอื่น
       มาตรา 365 คำมั่นจะให้รางวัลอันมีความประสงค์เป็นการประกวดชิงรางวัลนั้น จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ
ได้กำหนดระยะเวลาไว้ในคำโฆษณาด้วย
       การที่จะตัดสินว่าผู้ประกวดคนไหนได้กระทำสำเร็จตามเงื่อนไขในคำมั่นภายในเวลา
กำหนดหรือไม่ก็ดี หรือตัดสินในระหว่างผู้ประกวดหลายคนนั้นว่าคนไหนดีกว่ากันอย่างไรก็ดี  ให้
ผู้ชี้ขาดซึ่งได้ระบุชื่อไว้ในโฆษณานั้นเป็นผู้ตัดสิน หรือถ้ามิได้ระบุชื่อผู้ชี้ขาดไว้  ก็ให้ผู้ให้คำมั่นเป็น
ผู้ตัดสิน  คำตัดสินอันนี้ย่อมผูกพันผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยทุกฝ่าย
       ถ้าได้คะแนนทำดีเสมอกัน ท่านให้นำบทบัญญัติแห่ง มาตรา 364 วรรค 2 มาใช้บังคับ
แล้วแต่กรณี
       การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ทำขึ้นประกวดนั้น  ผู้ให้คำมั่นจะเรียกให้โอนแก่ตนได้ต่อ
เมื่อได้ระบุไว้ในโฆษณาว่าจะพึงโอนเช่นนั้น
       มาตรา 366 ข้อความใดๆ แห่งสัญญาอันคู่สัญญาแม้เพียงฝ่ายเดียวได้แสดงไว้ว่าเป็นสาระสำคัญ
อันจะต้องตกลงกันหมดทุกข้อนั้น หากคู่สัญญายังไม่ตกลงกันได้หมดทุกข้ออยู่ตราบใด  เมื่อกรณี
เป็นที่สงสัย  ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกัน การที่ได้ทำความเข้าใจกันไว้เฉพาะบางสิ่งบางอย่าง
ถึงแม้ว่าจะได้จดลงไว้ก็หาเป็นการผูกพันไม่
       ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้ เมื่อกรณีเป็นที่สงสัย
ท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ
       มาตรา 367 สัญญาใดคู่สัญญาได้ถือว่าเป็นอันได้ทำกันขึ้นแล้ว แต่แท้จริงยังมิได้ตกลงกันในข้อหนึ่ง
ข้อใดอันจะต้องทำความตกลงให้สำเร็จ ถ้าจะพึงอนุมานได้ว่าถึงหากจะไม่ทำความตกลงกันในข้อนี้
ได้  สัญญานั้นก็จะได้ทำขึ้นไซร้ ท่านว่าข้อความส่วนที่ได้ตกลงกันแล้วก็ย่อมเป็นอันสมบูรณ์
       มาตรา 368 สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย
 
       หมวด 2
       ผลแห่งสัญญา
 
       มาตรา 369 ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น  คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งจะไม่ยอมชำระหนี้จนกว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะ
ชำระหนี้ หรือขอปฏิบัติการชำระหนี้ก็ได้ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหนี้ของคู่สัญญาอีก
ฝ่ายหนึ่งยังไม่ถึงกำหนด
       มาตรา 370 ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิด หรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์
เฉพาะสิ่ง และทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้
ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้
       ถ้าไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านให้ใช้บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้บังคับแต่เวลาที่
ทรัพย์นั้นกลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งตามบทบัญญัติแห่ง มาตรา 195 วรรค 2 นั้นไป
       มาตรา 371 บทบัญญัติที่กล่าวมาในมาตราก่อนนั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าเป็นสัญญาต่างตอบแทน
มีเงื่อนไขบังคับก่อนและทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นสูญหรือทำลายลงในระหว่างที่เงื่อนไข
ยังไม่สำเร็จ
       ถ้าทรัพย์นั้นเสียหายเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้มิได้  และเมื่อเงื่อนไข
นั้นสำเร็จแล้ว  เจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้โดยลดส่วนอันตนจะต้องชำระหนี้ตอบแทนนั้นลงหรือ
เลิกสัญญานั้นเสียก็ได้ แล้วแต่จะเลือก แต่ในกรณีที่ต้นเหตุเสียหายเกิดเพราะฝ่ายลูกหนี้นั้น
ท่านว่าหากระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนไม่
       มาตรา 372 นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในสองมาตราก่อน  ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่าง
ใดอย่างหนึ่งอันจะโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าลูกหนี้หามีสิทธิจะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่
       ถ้าการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษเจ้าหนี้ได้  ลูกหนี้
ก็หาเสียสิทธิที่จะรับชำระหนี้ตอบแทนไม่ แต่ว่าลูกหนี้ได้อะไรไว้เพราะการปลดหนี้ก็ดี หรือใช้คุณ
วุฒิความสามารถของตนเป็นประการอื่นเป็นเหตุให้ได้อะไรมา หรือแกล้งละเลยเสียไม่ขวนขวาย
เอาอะไรที่สามารถจะทำได้ก็ดี มากน้อยเท่าไร จะต้องเอามาหักกับจำนวนอันตนจะได้รับชำระหนี้
ตอบแทน  วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่การชำระหนี้อันฝ่ายหนึ่งยังค้างชำระอยู่นั้นตก
เป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นมิต้องรับผิดชอบในเวลาเมื่ออีกฝ่ายหนึ่ง
ผิดนัดไม่รับชำระหนี้
       มาตรา 373 ความตกลงทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้ลูกหนี้ต้องรับผิดเพื่อกลฉ้อฉล หรือ
ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนนั้น  ท่านว่าเป็นโมฆะ
       มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคล
ภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้
       ในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้น สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่
แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น
       มาตรา 375 เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว คู่สัญญาหา
อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่
       มาตรา 376 ข้อต่อสู้อันเกิดแต่มูลสัญญาดั่งกล่าวมาใน มาตรา 374 นั้น ลูกหนี้อาจจะยกขึ้นต่อสู้
บุคคลภายนอกผู้จะได้รับประโยชน์จากสัญญานั้นได้
 
       หมวด 3
       มัดจำและกำหนดเบี้ยปรับ
 
       มาตรา 377 เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ  ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็น
พยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว  อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย
       มาตรา 378 มัดจำนั้นถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น  ท่านให้เป็นไปดั่งจะกล่าวต่อไปนี้  คือ
       (1)  ให้ส่งคืน หรือจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนในเมื่อชำระหนี้
       (2)  ให้ริบ  ถ้าฝ่ายที่วางมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะ
พฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดชอบ หรือถ้ามีการเลิกสัญญาเพราะความผิดของฝ่ายนั้น
       (3)  ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจำละเลยไม่ชำระหนี้ หรือการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัย เพราะ
พฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ
       มาตรา 379 ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี
หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ  ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำ
นั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใด ก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น
       มาตรา 380 ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะ
พึงริบนั้นแทนการชำระหนี้ก็ได้ แต่ถ้าเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับฉะนั้นแล้ว ก็เป็น
อันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
       ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ จะเรียกเอาเบี้ยปรับอัน
จะพึงริบนั้น ในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้  การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้น
ท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้
       มาตรา 381 ถ้าลูกหนี้ได้สัญญาไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร  เช่นว่าไม่ชำระ
หนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ เป็นต้น  นอกจากเรียกให้ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึง
ริบนั้นอีกด้วยก็ได้
       ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในมูลชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ท่านให้บังคับ
ตามบทบัญญัติแห่ง มาตรา 380 วรรค 2
       ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว  จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้น
ในเวลารับชำระหนี้
       มาตรา 382 ถ้าสัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นให้เป็นเบี้ยปรับ ไม่ใช่ใช้เป็นจำนวนเงินไซร้
ท่านให้นำบทบัญญัติแห่ง มาตรา 379 ถึง 381 มาใช้บังคับ  แต่ถ้าเจ้าหนี้เรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว
สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็เป็นอันขาดไป
       มาตรา 383 ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน  ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้  ในการที่จะ
วินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น  ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วย
กฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้วสิทธิเรียกร้องขอลด
ก็เป็นอันขาดไป
       นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ใน มาตรา 379 และ 382  ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อ
บุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย
       มาตรา 384 การชำระหนี้ตามที่สัญญาไว้นั้นไม่สมบูรณ์  การที่ตกลงกันด้วยข้อเบี้ยปรับในการไม่ติด
ตามสัญญานั้นก็ย่อมไม่สมบูรณ์ดุจกัน แม้ถึงคู่กรณีจะได้รู้ว่าข้อสัญญานั้นไม่สมบูรณ์
       มาตรา 385 ถ้าลูกหนี้โต้แย้งการริบเบี้ยปรับโดยอ้างเหตุว่าตนได้ชำระหนี้แล้วไซร้ ท่านว่าลูกหนี้จะ
ต้องพิสูจน์การชำระหนี้ เว้นแต่การชำระหนี้อันตนจะต้องทำนั้นเป็นการให้งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง
 
       หมวด 4
       เลิกสัญญา
 
       มาตรา 386 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง มีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
       แสดงเจตนาดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่
       มาตรา 387 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอก
กล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าและฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่
กำหนดให้ไซร้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้
       มาตรา 388 ถ้าวัตถุที่ประสงค์แห่งสัญญานั้น ว่าโดยสภาพหรือโดยเจตนาที่คู่สัญญาได้แสดงไว้  จะ
เป็นผลสำเร็จได้ก็แต่ด้วยการชำระหนี้ ณ เวลามีกำหนดก็ดี  หรือภายในระยะเวลาอันใดอันหนึ่ง
ซึ่งกำหนดไว้ก็ดี และกำหนดเวลา หรือระยะเวลานั้นได้ล่วงพ้นไปโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ชำระหนี้
ไซร้ ท่านว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้  มิพักต้องบอกกล่าวดั่งว่าไว้ในมาตราก่อนนั้นเลย
       มาตรา 389 ถ้าการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
อันจะโทษลูกหนี้ได้ไซร้  เจ้าหนี้จะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้
       มาตรา 390 ถ้าในสัญญาใดคู่สัญญาเป็นบุคคลหลายคนด้วยกันอยู่ข้างหนึ่งหรืออีกข้างหนึ่ง ท่านว่า
จะใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ก็แต่เมื่อบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันใช้  ทั้งใช้ต่อบุคคลเหล่านั้นรวมหมด
ทุกคนด้วย  ถ้าสิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่บุคคลคนหนึ่งในพวกที่มีสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้ว
สิทธิเลิกสัญญาอันมีแก่คนอื่นๆ ก็ย่อมระงับสิ้นไปด้วย
       มาตรา 391 เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว  คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่าย
หนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
       ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย
คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
       ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน
ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ  หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน
ก็ให้ใช้ตามนั้น
       การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่
       มาตรา 392 การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง
มาตรา 369.
       มาตรา 393 ถ้ามิได้กำหนดระยะเวลาไว้ให้ใช้สิทธิเลิกสัญญา  คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะ
เวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายที่มีสิทธิเลิกสัญญานั้นแถลงให้ทราบภายในระยะเวลานั้นก็ได้
ว่าจะเลิกสัญญาหรือหาไม่ ถ้ามิได้รับคำบอกกล่าวเลิกสัญญาภายในระยะเวลานั้น สิทธิเลิกสัญญา
ก็เป็นอันระงับสิ้นไป
       มาตรา 394 ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญานั้นบุบสลายไปในส่วนสำคัญเพราะการกระทำหรือ
เพราะความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญาก็ดี หรือบุคคลนั้นได้ทำให้การคืนทรัพย์กลายเป็น
พ้นวิสัยก็ดี เปลี่ยนแปลงทรัพย์นั้นให้ผิดแผกไปเป็นอย่างอื่นด้วยประกอบขึ้นหรือดัดแปลงก็ดี
ท่านว่าสิทธิเลิกสัญญานั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป
       แต่ถ้าทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งสัญญาได้สูญหายหรือบุบสลายไปโดยปราศจากการกระทำ
หรือความผิดของบุคคลผู้มีสิทธิเลิกสัญญาไซร้  สิทธิเลิกสัญญานั้นก็หาระงับสิ้นไปไม่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้