กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ1 ลักษณะ 2 หมวด 2 ส่วนที่ 3

Last updated: 13 พ.ค. 2566  |  228 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ1 ลักษณะ 2 หมวด 2 ส่วนที่ 3

           กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ1 ลักษณะ2 หมวด 2

               ส่วนที่ 3
               มูลนิธิ
 
               มาตรา 110 มูลนิธิได้แก่ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ
การศาสนา ศิลป วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษาหรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้
มุ่งหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน และได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
               การจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใดนอกจาก
เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง
               **หมายเหตุ มาตรา 110 “ให้บรรดามูลนิธิที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เป็นมูลนิธิตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้และให้ถือว่าตราสารก่อตั้งมูลนิธิดังกล่าว
เป็นข้อบังคับมูลนิธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัติ
นี้” (มาตรา 11แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 42 หน้า 1 วันที่ 8 เมษายน 2535)            
               มาตรา 111 มูลนิธิต้องมีข้อบังคับและต้องมีคณะกรรมการของมูลนิธิประกอบด้วยบุคคลอย่างน้อย
สามคนเป็นผู้ดำเนินกิจการของมูลนิธิตามกฎหมายและข้อบังคับของมูลนิธิ
               **หมายเหตุ มาตรา 111 “มูลนิธิตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง มูลนิธิใดมีข้อบังคับที่
กำหนดให้มีผู้จัดการของมูลนิธิไม่ถึงสามคนในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้สมูลนิธินั้นไม่
ดำเนินการยื่นคำขอแก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิเพื่อให้มีคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยบุคคลไม่น้อย
กว่าสามคนเป็นผู้ดำเนินกิจการของมูลนิธิภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้
ใช้บังคับ ให้นายทะเบียนดำเนินการตามมาตรา 128 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้
ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ เพื่อสั่งการให้แก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิให้ถูกต้องตาม
กฎหมายต่อไป ถ้าปรากฎว่ามูลนิธิใดไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้ ก็ให้นายทะเบียนร้อง
ขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิตามมาตรา 131 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจ
ชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้” (มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอน
ที่ 42 หน้า 1 วันที่ 8 เมษายน 2535)
               มาตรา 112 ข้อบังคับของมูลนิธิ อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
               (1)  ชื่อมูลนิธิ
               (2)  วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
               (3)  ที่ตั้งสำนักงานใหญ่และที่ตั้งสำนักงานสาขาทั้งปวง
               (4)  ทรัพย์สินของมูลนิธิขณะจัดตั้ง
               (5)  ข้อกำหนดเกี่ยวกับคณะกรรมการของมูลนิธิ ได้แก่ จำนวนกรรมการ การตั้งกรรมการ
วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ  การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ  และการประชุมของ
คณะกรรมการ
               (6)  ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการมูลนิธิ การจัดการทรัพย์สินและบัญชีของมูลนิธิ
               มาตรา 113 มูลนิธิต้องใช้ชื่อซึ่งมีคำว่า "มูลนิธิ"  ประกอบกับชื่อของมูลนิธิ
               **หมายเหตุ มาตรา 113 “มูลนิธิใดที่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ก่อนวันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ มิได้ใช้ชื่อว่ามีคำว่า “มูลนิธิ” ประกอบกับชื่อของมูลนิธิ ให้ยื่น
คำขอแก้ไขข้อบังคับของมูลนิธิให้ถูกต้องตามมาตรา 113 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่
ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”
(มาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอน 42 หน้า 1 วันที่ 8 เมษายน 2535)
               มาตรา 114 การขอจดทะเบียนมูลนิธินั้น  ให้ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อนายทะเบียน
แห่งท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของมูลนิธิจะตั้งขึ้น  ในคำขออย่างน้อยต้องระบุเจ้าของทรัพย์สินและ
รายการทรัพย์สินที่จะจัดสรรสำหรับมูลนิธิ  รายชื่อ  ที่อยู่  และอาชีพของผู้จะเป็นกรรมการของ
มูลนิธิทุกคนพร้อมกับแนบข้อบังคับของมูลนิธิมากับคำขอด้วย
               **หมายเหตุ มาตรา 114 “บรรดามูลนิธิอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและมิได้
เป็นนิติบุคคล ถ้าประสงค์จะจัดตั้งเป็นนิติบุคคลและใช้คำว่า “มูลนิธิ” ประกอบชื่อของตนต่อไป
ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนตามมาตรา 114 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระ
ใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ”
(มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่
ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 42 หน้า 1 วันที่ 8 เมษายน 2535)
               มาตรา 115 เมื่อนายทะเบียนได้รับคำขอแล้วเห็นว่า  คำขอนั้นถูกต้องตาม มาตรา 114 และข้อบังคับ
ถูกต้องตาม มาตรา 112  และวัตถุประสงค์เป็นไปตาม มาตรา 110  และไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือ
ศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่เป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคง
ของรัฐ และรายการซึ่งจดแจ้งในคำขอหรือข้อบังคับสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิและผู้จะ
เป็นกรรมการของมูลนิธินั้นมีฐานะและความประพฤติเหมาะสมในการดำเนินการตาม
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียน และออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน
ให้แก่มูลนิธินั้นและประกาศการจัดตั้งมูลนิธิในราชกิจจานุเบกษา
               ถ้านายทะเบียนเห็นว่าคำขอหรือข้อบังคับไม่ถูกต้องตาม มาตรา 114 หรือ มาตรา 112
หรือรายการซึ่งจดแจ้งในคำขอหรือข้อบังคับไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ หรือผู้จะ
เป็นกรรมการของมูลนิธิมีฐานะหรือความประพฤติไม่เหมาะสมในการดำเนินการตาม
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ  ให้มีคำสั่งให้ผู้ขอจดทะเบียนแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง เมื่อแก้ไข
หรือเปลี่ยนแปลงถูกต้องแล้ว  ให้รับจดทะเบียนและออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่
มูลนิธินั้น
               ถ้านายทะเบียนเห็นว่าไม่อาจรับจดทะเบียนได้เนื่องจากวัตถุประสงค์ของมูลนิธิไม่เป็น
ไปตาม มาตรา 110 หรือขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรืออาจเป็นภยันตรายต่อ
ความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ หรือผู้ขอจดทะเบียนไม่แก้ไขหรือ
เปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่งของนายทะเบียน  ให้นายทะเบียน
มีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนและแจ้งคำสั่งพร้อมด้วยเหตุผลที่ไม่รับจดทะเบียนให้ผู้ขอจดทะเบียน
ทราบโดยมิชักช้า
               ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนนั้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
มหาดไทยโดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งไม่
รับจดทะเบียน
               ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งคำวินิจฉัยให้ผู้อุทธรณ์
ทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้รับหนังสืออุทธรณ์   คำวินิจฉัยของ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นที่สุด
               มาตรา 116 ก่อนที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนมูลนิธิ  ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิมีสิทธิขอถอนการจัดตั้งมูลนิธิ
ได้โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อนายทะเบียน  สิทธิที่จะขอถอนการจัดตั้งมูลนิธินี้ไม่ตกทอดไปยังทายาท
               ในกรณีที่มีผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิหลายคน ถ้าผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิคนหนึ่งคนใดใช้สิทธิถอนการ
จัดตั้งมูลนิธิ  ให้คำขอจัดตั้งมูลนิธินั้นเป็นอันระงับไป
               มาตรา 117 ในกรณีที่ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิถึงแก่ความตายก่อนนายทะเบียนรับจดทะเบียนมูลนิธิ ถ้าผู้ตาย
มิได้ทำพินัยกรรมยกเลิกการจัดตั้งมูลนิธิที่ขอจัดตั้งไว้  ให้คำขอจัดตั้งมูลนิธิที่ผู้ตายได้ยื่นไว้ต่อ
นายทะเบียนยังคงใช้ได้ต่อไป  และให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ซึ่งผู้ตายมอบหมาย ดำเนิน
การในฐานะเป็นผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิต่อไป ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ดำเนินการภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน
นับแต่วันที่ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิถึงแก่ความตาย  บุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือ  พนักงานอัยการจะดำเนิน
การในฐานะเป็นผู้ขอจัดตั้งมูลนิธินั้นต่อไปก็ได้
               ในกรณีที่ไม่สามารถจัดตั้งมูลนิธิขึ้นได้ตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ตายกำหนดไว้  ถ้าหากไม่มี
พินัยกรรมของผู้ตายสั่งการในเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น ให้นำความใน มาตรา 1679 วรรคสอง มาใช้
บังคับโดยอนุโลม  ถ้าไม่สามารถดำเนินการตาม มาตรา 1679 วรรคสอง หรือมูลนิธิจัดตั้งขึ้นไม่
ได้ตาม มาตรา 115 ให้ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้ตกเป็นมรดกของผู้ตาย
               มาตรา 118 ในกรณีที่มีข้อกำหนดพินัยกรรมให้ก่อตั้งมูลนิธิตาม มาตรา 1676  ให้บุคคลซึ่งมีหน้าที่
ที่จะต้องจัดตั้งมูลนิธิตาม มาตรา 1677 วรรคหนึ่งดำเนินการตาม มาตรา 114 และตามบทบัญญัติ
แห่งมาตรานี้
               ถ้าบุคคลซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องจัดตั้งมูลนิธิตามวรรคหนึ่งมิได้ขอจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิ
ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวได้รู้หรือควรรู้ข้อกำหนดพินัยกรรมให้ก่อตั้ง
มูลนิธิบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดหรือพนักงานอัยการจะเป็นผู้ขอจดทะเบียนมูลนิธิก็ได้
               ถ้าผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนมูลนิธิไม่ดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามคำสั่ง
ของนายทะเบียนตาม มาตรา 115   จนเป็นเหตุให้นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนมูลนิธิเพราะเหตุ
ดังกล่าว  บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดหรือพนักงานอัยการจะเป็นผู้ขอจดทะเบียนมูลนิธินั้น
อีกก็ได้
               ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิตามมาตรานี้  จะขอถอนการก่อตั้งมูลนิธิตาม
มาตรา 116 ไม่ได้
               ในกรณีที่มีผู้คัดค้านต่อนายทะเบียนว่าพินัยกรรมนั้นมิได้กำหนดให้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิ
ให้นายทะเบียนแจ้งให้ผู้คัดค้านไปร้องต่อศาลภายในหกสิบนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน
และให้นายทะเบียนรอการพิจารณาการจดทะเบียนไว้ก่อนเพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาหรือ
คำสั่งของศาล  ถ้าผู้คัดค้านไม่ยื่นคำร้องต่อศาลภายในเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนพิจารณา
การจดทะเบียนมูลนิธินั้นต่อไป
               มาตรา 119 กรณีที่มีข้อกำหนดพินัยกรรมให้จัดตั้งมูลนิธิ  ถ้าพินัยกรรมที่ทำไว้มิได้มี
ข้อกำหนดเกี่ยวกับรายการตาม มาตรา 112 (1) (3) (5) หรือ (6) ให้ผู้ยื่นคำขอตาม มาตรา 118 กำหนด
รายการดังกล่าวได้  ถ้าผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดคัดค้านให้นายทะเบียนมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรแล้ว
แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอและผู้คัดค้านทราบพร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า หากผู้ยื่นคำขอหรือผู้คัดค้านไม่พอใจใน
คำสั่งดังกล่าวก็ให้ไปร้องคัดค้านต่อศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียน
และให้นายทะเบียนรอการพิจารณาจดทะเบียนไว้ก่อนเพื่อดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
ของศาล  แต่ถ้าไม่มีการร้องคัดค้านต่อศาลภายในเวลาที่กำหนด  ให้นายทะเบียนพิจารณา
จดทะเบียนมูลนิธิตามที่ได้มีคำสั่งไว้นั้นต่อไป
               มาตรา 120 ในกรณีที่มีบุคคลหลายรายยื่นคำขอจดทะเบียนมูลนิธิตามพินัยกรรมของเจ้ามรดก
รายเดียวกัน  ถ้าคำขอนั้นมีข้อขัดแย้งกัน  ให้นายทะเบียนเรียกผู้ยื่นคำขอมาตกลงกัน และถ้า
ผู้ยื่นคำขอไม่มาตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด   ให้
นายทะเบียนมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรและให้นำความใน มาตรา 119 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               มาตรา 121 เมื่อได้จดทะเบียนมูลนิธิแล้ว  ถ้าผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิมีชีวิตอยู่ให้ทรัพย์สินที่จัดสรร
ไว้เพื่อการนั้นตกเป็นของมูลนิธิตั้งแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนมูลนิธิเป็นต้นไป
               ในกรณีที่ผู้ขอจัดตั้งมูลนิธิถึงแก่ความตายก่อนนายทะเบียนรับจดทะเบียนมูลนิธิ เมื่อได้
จดทะเบียนมูลนิธิแล้ว ให้ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้เพื่อการนั้นตกเป็นของมูลนิธิตั้งแต่เวลาที่ผู้ขอจัดตั้ง
มูลนิธินั้นถึงแก่ความตาย
               มาตรา 122 มูลนิธิที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล
               มาตรา 123 คณะกรรมการของมูลนิธิเป็นผู้แทนของมูลนิธิในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก
               มาตรา 124 บรรดากิจการที่คณะกรรมการของมูลนิธิได้กระทำไปแม้จะปรากฏในภายหลังว่ามี
ข้อบกพร่องเกี่ยวกับการแต่งตั้งหรือคุณสมบัติของกรรมการของมูลนิธิ กิจการนั้นย่อมมีผลสมบูรณ์
               มาตรา 125 การแต่งตั้งกรรมการของมูลนิธิขึ้นใหม่ทั้งชุด หรือการเปลี่ยนแปลงกรรมการของ
มูลนิธิให้กระทำตามข้อบังคับของมูลนิธิ และมูลนิธิต้องนำไปจดทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มี
การแต่งตั้งหรือเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
               ถ้านายทะเบียนเห็นว่ากรรมการของมูลนิธิตามวรรคหนึ่งผู้ใดมีฐานะหรือความประพฤติ
ไม่เหมาะสมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ  นายทะเบียนจะไม่รับจดทะเบียน
กรรมการของมูลนิธิผู้นั้นก็ได้ ในกรณีที่นายทะเบียนไม่รับจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิ
นายทะเบียนต้องแจ้งเหตุผลที่ไม่รับจดทะเบียนให้มูลนิธิทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ยื่น
คำขอจดทะเบียน และให้นำความใน มาตรา 115 วรรคสี่และวรรคห้ามาใช้บังคับโดยอนุโลม
               ในกรณีที่กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งและไม่มีกรรมการของมูลนิธิเหลืออยู่ หรือ
กรรมการของมูลนิธิที่เหลืออยู่ไม่สามารถดำเนินการตามหน้าที่ได้ ถ้าข้อบังคับของมูลนิธิมิได้
กำหนดการปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นอย่างอื่น ให้กรรมการของมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่
กรรมการของมูลนิธิต่อไปจนกว่านายทะเบียนจะได้แจ้งการรับจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิที่
ตั้งใหม่
               กรรมการของมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งเพราะถูกถอดถอนโดยคำสั่งศาลตาม มาตรา 129
จะปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคสามไม่ได้
               มาตรา 126 ภายใต้บังคับ มาตรา 127  ให้คณะกรรมการของมูลนิธิเป็นผู้มีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติม
ข้อบังคับของมูลนิธิ  แต่ถ้าข้อบังคับของมูลนิธิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมไว้
การแก้ไขเพิ่มเติมต้องเป็นไปตามที่ข้อบังคับกำหนด และให้มูลนิธินำข้อบังคับที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น
ไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการของมูลนิธิได้แก้ไข
เพิ่มเติมข้อบังคับของมูลนิธิและให้นำความใน มาตรา 115 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               มาตรา 127 การแก้ไขเพิ่มเติมรายการในข้อบังคับของมูลนิธิตาม มาตรา 112 (2) จะกระทำ
ได้แต่เฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้
               (1)  เพื่อให้สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ หรือ
               (2)  พฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปเป็นเหตุให้วัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นมีประโยชน์น้อย
หรือไม่อาจดำเนินการให้สมประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นได้และวัตถุประสงค์ของ
มูลนิธิที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นใกล้ชิดกับวัตถุประสงค์เดิมของมูลนิธิ
               มาตรา 128 ให้นายทะเบียนมีอำนาจตรวจตราและควบคุมดูแลการดำเนินกิจการของมูลนิธิให้เป็น
ไปตามกฎหมายและข้อบังคับของมูลนิธิ  เพื่อการนี้ให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่ง
นายทะเบียนมอบหมายเป็นหนังสือมีอำนาจ
               (1)  มีคำสั่งเป็นหนังสือให้กรรมการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือตัวแทนของมูลนิธิชี้แจงแสดง
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของมูลนิธิ หรือเรียกบุคคลดังกล่าวมาสอบถาม หรือให้ส่งหรือแสดง
สมุดบัญชีและเอกสารต่างๆ ของมูลนิธิเพื่อตรวจสอบ
               (2)  เข้าไปในสำนักงานของมูลนิธิในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก
เพื่อตรวจสอบกิจการของมูลนิธิ
               ในการปฏิบัติการตามวรรคหนึ่ง  ถ้าเป็นนายทะเบียนให้แสดงบัตรประจำตัว และถ้า
เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมาย ให้แสดงบัตรประจำตัวและหนังสือมอบหมายของ
นายทะเบียนต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
               มาตรา 129 ในกรณีที่กรรมการของมูลนิธิผู้ใดดำเนินกิจการของมูลนิธิผิดพลาดเสื่อมเสียต่อ
มูลนิธิหรือดำเนินกิจการฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับของมูลนิธิหรือกลายเป็นผู้มีฐานะหรือความ
ประพฤติไม่เหมาะสมในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ นายทะเบียน พนักงานอัยการ
หรือผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดอาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งถอดถอนกรรมการของมูลนิธิผู้นั้นได้
               ในกรณีที่การกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำของคณะกรรมการของมูลนิธิ  หรือ
ปรากฏว่าคณะกรรมการของมูลนิธิไม่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิโดยไม่มีเหตุอัน
สมควรนายทะเบียน พนักงานอัยการ  หรือผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดอาจร้องขอต่อศาลให้มี
คำสั่งถอดถอนกรรมการของมูลนิธิทั้งคณะได้
               ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งถอดถอนกรรมการของมูลนิธิหรือคณะกรรมการของมูลนิธิตาม
วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ศาลจะแต่งตั้งบุคคลอื่นเป็นกรรมการของมูลนิธิหรือคณะกรรมการของ
มูลนิธิแทนกรรมการของมูลนิธิหรือคณะกรรมการของมูลนิธิที่ศาลถอดถอนก็ได้ เมื่อศาลมีคำสั่ง
แต่งตั้งบุคคลใดเป็นกรรมการของมูลนิธิแล้ว ให้นายทะเบียนดำเนินการจดทะเบียนไปตามนั้น
               มาตรา 130 มูลนิธิย่อมเลิกด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังต่อไปนี้
               (1)  เมื่อมีเหตุตามที่กำหนดในข้อบังคับ
               (2)  ถ้ามูลนิธิตั้งขึ้นไว้เฉพาะระยะเวลาใด เมื่อสิ้นระยะเวลานั้น
               (3)  ถ้ามูลนิธิตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใด และได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์สำเร็จ
บริบูรณ์แล้ว หรือวัตถุประสงค์นั้นกลายเป็นการพ้นวิสัย
               (4)  เมื่อมูลนิธินั้นล้มละลาย
               (5)  เมื่อศาลมีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิตาม มาตรา 131
               มาตรา 131 นายทะเบียน พนักงานอัยการ หรือผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดอาจร้องขอต่อศาล
ให้มีคำสั่งให้เลิกมูลนิธิได้ในกรณีหนึ่งกรณีใด  ดังต่อไปนี้
               (1)  เมื่อปรากฏว่าวัตถุประสงค์ของมูลนิธิขัดต่อกฎหมาย
               (2)  เมื่อปรากฏว่ามูลนิธิกระทำการขัดต่อกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือ
อาจเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ
               (3)  เมื่อปรากฏว่ามูลนิธิไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ไม่ว่าเพราะเหตุใดๆ หรือ
หยุดดำเนินกิจการตั้งแต่สองปีขึ้นไป
               มาตรา 132 เมื่อมูลนิธิมีเหตุต้องเลิกตาม มาตรา 130 (1) (2) หรือ (3) แล้ว  ให้คณะกรรมการ
ของมูลนิธิที่อยู่ในตำแหน่งขณะมีการเลิกมูลนิธิแจ้งการเลิกมูลนิธิต่อนายทะเบียนภายในสิบสี่วันนับ
แต่วันที่มีการเลิกมูลนิธิ
               ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้มูลนิธิล้มละลายตาม มาตรา 130 (4)
หรือมีคำสั่งถึงที่สุดให้เลิกมูลนิธิตาม มาตรา 131  ให้ศาลแจ้งคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวให้
นายทะเบียนทราบด้วย
               ให้นายทะเบียนประกาศการเลิกมูลนิธิในราชกิจจานุเบกษา
               มาตรา 133 ในกรณีที่มีการเลิกมูลนิธิ ให้มีการชำระบัญชีมูลนิธิ และให้นำบทบัญญัติใน
บรรพ 3 ลักษณะ 22 ว่าด้วยการชำระบัญชีห้าง หุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด
มาใช้บังคับแก่การชำระบัญชีมูลนิธิโดยอนุโลม ทั้งนี้ให้ผู้ชำระบัญชีเสนอรายงานการชำระบัญชี
ต่อนายทะเบียน และให้นายทะเบียนเป็นผู้อนุมัติรายงานนั้น
               มาตรา 134 เมื่อได้ชำระบัญชีแล้ว  ให้โอนทรัพย์สินของมูลนิธิให้แก่มูลนิธิหรือนิติบุคคล
ที่มีวัตถุประสงค์ตาม มาตรา 110 ซึ่งได้ระบุชื่อไว้ในข้อบังคับของมูลนิธิ  ถ้าข้อบังคับของมูลนิธิมิได้
ระบุชื่อมูลนิธิหรือนิติบุคคลดังกล่าวไว้  พนักงานอัยการ ผู้ชำระบัญชี หรือผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใด
อาจร้องขอต่อศาลให้จัดสรรทรัพย์สินนั้นแก่มูลนิธิหรือนิติบุคคลอื่นที่ปรากฏว่ามีวัตถุประสงค์
ใกล้ชิดที่สุดกับวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นได้
               ถ้ามูลนิธินั้นถูกศาลสั่งให้เลิกตาม มาตรา 131 (1) หรือ (2) หรือการจัดสรรทรัพย์สิน
ตามวรรคหนึ่งไม่อาจกระทำได้  ให้ทรัพย์สินของมูลนิธิตกเป็นของแผ่นดิน
               มาตรา 135 ผู้ใดประสงค์จะขอตรวจเอกสารเกี่ยวกับมูลนิธิที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้
หรือจะขอให้นายทะเบียนคัดสำเนาเอกสารดังกล่าวพร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้อง ให้ยื่นคำขอต่อ
นายทะเบียนและเมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้ว ให้นายทะเบียนปฏิบัติ
ตามคำขอนั้น
               มาตรา 136 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามบทบัญญัติในส่วนนี้
และให้มีอำนาจแต่งตั้งนายทะเบียนกับออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับ
               (1)  การยื่นคำขอจดทะเบียนและการรับจดทะเบียน
               (2)  ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน  การขอตรวจเอกสาร  การคัดสำเนาเอกสารและ
ค่าธรรมเนียมการขอให้นายทะเบียนดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับมูลนิธิ รวมทั้งการยกเว้น
ค่าธรรมเนียมดังกล่าว
               (3)  แบบบัตรประจำตัวของนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่
               (4)  การดำเนินกิจการของมูลนิธิและการทะเบียนมูลนิธิ
               (5)  การอื่นใดเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนนี้
               กฎกระทรวงนั้น  เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
               **หมายเหตุ มาตรา 136 “บรรดากฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา 97
และมาตรา 1297 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่
พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชะระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 17
แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2535 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 42 หน้า 1 วันที่ 8
เมษายน 2535)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้