กม.วิธีสบัญญัติ 1 ขั้นตอนดำเนินคดีแพ่ง 1-5 (41341) มสธ.

Last updated: 12 ก.พ. 2567  |  355 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กม.วิธีสบัญญัติ 1 ขั้นตอนดำเนินคดีแพ่ง 1-5 (41341) มสธ.

ขั้นตอนการดำเนินคดีแพ่ง
 
การที่บุคคลบุคคลหนึ่งจะเสนอคดีต่อศาลได้นั้นเป็นไปตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 55 บัญญัติว่า “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิ์หรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิ์ทางศาลบุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้” การเสนอคดีต่อศาลนั้นจึงแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่


1. คดีมีข้อพิพาท คือ เป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ ตัวอย่าง เช่น นายศักดิ์ ทำร้าย นายมิ่งบาดเจ็บการกระทำของนายศักดิ์กระทำละเมิดต่อนายมิ่ง เป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ต่อเนื้อตัวร่างกายของนายมิ่งซึ่งกฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ เป็นต้น 
การเสนอคดีมีข้อพิพาท ผู้กระทำจะต้องเป็นบุคคล เช่น บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ดังนั้นหากไม่ใช่สิ่งที่ได้กล่าวมาไม่อาจจะมีสภาพเป็นบุคคลตามกฎหมายได้ จึงมิอาจเสนอคดีต่อศาล เช่น กองมรดก หรือหน่วยงานบางหน่วยงานซึ่งไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลก็ไม่อาจจะเสนอคดีต่อศาลในฐานะโจทก์หรือถูกฟ้องเป็นจำเลยได้ 

ในกรณีที่จะเสนอคดีที่มีข้อพิพาทต่อศาลจะต้องมีข้อโต้แย้งสิทธิ์หรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่งและต้องเป็นสิทธิที่กฎหมายรองรับและคุ้มครองให้เท่านั้น ในกรณีที่มีการกระทบกระเทือนทางอารมณ์หรือ จิตใจ น้อยใจ กรณีเช่นว่านี้มิอาจเสนอคดีต่อศาลได้ เช่น ถูกคนรักทิ้งไป เป็นต้น

ข้อสังเกต ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55  ไม่ได้หมายถึง แค่เพียงแต่สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามประมวลรัษฎากร หรือการโต้แย้งสิทธิ์หรือหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินด้วย เป็นต้น
รูปแบบการเริ่มคดีนั้นเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้โจทก์เสนอข้อหาของตนโดยทำคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น”...
 
2. คดีไม่มีข้อพิพาท ตัวอย่าง เช่น เจ้ามรดกตายนางสาว บี ทายาทของเจ้ามรดกประสงค์จะเป็นผู้จัดการมรดกจึงไปร้องขอศาลให้มีคำสั่งให้ตนเป็นผู้จัดการมรดก เป็นต้น
ในกรณีการเสนอคดีที่จำต้องใช้สิทธิทางศาลหรือคดีไม่มีข้อพิพาท หากจะเสนอคดีของตนต่อศาลจะต้องมีกฎหมายรองรับถ้าไม่มีกฎหมายรองรับก็ไม่อาจเสนอคดีของตนต่อศาลได้ เช่น นายเอกไม่อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ศาลแสดงว่าตนเป็นเพศหญิงได้ เป็นต้น เนื่องจากไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิทางศาลได้ 
รูปแบบการเริ่มคดีนั้นเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (1) บัญญัติว่า “ให้ เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาล”... 


ข้อสังเกต แม้ว่าการเริ่มต้นการเสนอคดีที่มีข้อพิพาทและการเสนอคดีไม่มีข้อพิพาทนั้นจะมีความแตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ดีทั้งคำฟ้องและคำร้องขอก็อยู่ในความหมายของคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1(3) บัญญัติว่า “คำฟ้องหมายความว่ากระบวนพิจารณาใดๆที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาลไม่ว่าจะได้เสนอด้วยวาจาหรือทำเป็นหนังสือไม่ว่าจะได้เสนอในขณะที่เริ่มคดีโดยคำฟ้องหรือคำร้องขอ”
ทั้งนี้ กรณีคดีมีข้อพิพาทผู้ที่เสนอข้อหา (ผู้ที่ต้องการจะยื่นฟ้องคดี) จะเรียกว่าโจทก์ ผู้ที่ถูกฟ้องคดีจะเรียกว่าจำเลย แต่สำหรับคดีที่ไม่มีข้อพิพาทนั้นบุคคลผู้เสนอคดีต่อศาลจะถูกเรียกว่าผู้ร้องแทนการเรียกว่าโจทก์


ทั้งนี้คู่ความจะต้องมีความสามารถตามกฎหมายเนื่องจากกฎหมายให้การคุ้มครองแก่ผู้ไร้ความสามารถในการดำเนินคดี เพราะหากให้ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ที่บกพร่องดำเนินคดีไปโดยลำพังนั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ ซึ่งเป็นไป ป.วิ.พ. ตามมาตรา 56 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้กระทำการแทนจะเสนอข้อหาต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถและตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้การให้อนุญาตหรือยินยอมตามบทบัญญัติเช่นว่านั้นให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนความ” มาตรา 56 วรรค 2 ยังบัญญัติต่อไปว่าไม่ว่าเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษาเมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้ศาลมีอำนาจทำการสอบสวนในเรื่องความสามารถของผู้ขอหรือของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง และถ้าเป็นที่พอใจว่ามีการบกพร่องในเรื่องความสามารถศาลอาจมีคำสั่งกำหนดให้แก้ไขข้อบกพร่องนั้นเสียให้บริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาอันสมควรที่ศาลจะสั่ง 


บุคคลใดเป็นผู้ไร้ความสามารถตาม ป.วิ.พ.ต้องพิจารณาจากกฎหมายแพ่งและพานิชย์ ได้แก่ ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ


ข้อสังเกต หากปรากฏว่าคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นผู้บกพร่องไม่อาจทำให้กระบวนพิจารณาที่ดำเนินไปแล้วนั้นเสียไป

เช่น โจทก์เป็นผู้เยาว์ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมให้ความยินยอมในการดำเนินคดี หรือผู้แทนโดยชอบธรรมจะเข้ามาดำเนินคดีแทน หรือกรณีโจทก์เป็นคนไร้ความสามารถจะต้องให้ผู้อนุบาลเข้ามาดำเนินคดีแทน เป็นต้น

วิธีดำเนินคดีกรณีคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ คู่ความอาจจะดำเนินคดีโดยทางใดทางหนึ่งดังต่อไปนี้
·      ดำเนินคดีด้วยตัวเอง
·      ตั้งทนายความ (ตั้งทนายความคนเดียว หรือหลายคนว่าความในคดีก็ได้)
·    ทำหนังสือมอบอำนาจบุคคลให้เป็นผู้แทนในคดีได้ โดยผู้รับมอบอำนาจ ไม่ สามารถว่าความได้ แต่สามารถแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้

เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 บัญญัติว่า “คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือผู้แทนโดยชอบธรรมในกรณีที่คู่ความเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือผู้แทนในกรณีที่คู่ความเป็นนิติบุคคลจะว่าความด้วยตนเองและดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งปวงตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ของตน หรือจะตั้งแต่งทนายความคนเดียวหรือหลายคนให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนก็ได้
 
ถ้าคู่ความหรือผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนดั่งที่ ได้กล่าวมาแล้วทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นผู้แทนตนในคดี ผู้รับมอบอำนาจเช่นว่านั้นจะว่าความอย่างทนายความไม่ได้ แต่ย่อมตั้งทนายความเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาได้”


ตัวอย่าง เช่น นายสมชายซึ่งเป็นตัวความจะต้องเดินทางไปต่างประเทศ จึงมอบอำนาจให้นายชัย ซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความอยู่แล้วเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนตน เพื่อฟ้องร้องเอากับลูกหนี้ นายชัยแม้จะเป็นทนายความอยู่แล้ว ก็ไม่อาจว่าความคดีดังกล่าวได้ เพียงแต่สามารถแต่งตั้งทนายความให้เข้ามาดำเนินคดีได้เท่านั้น


โดยวิธีตั้งทนายความต้องเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา  61 คือต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อตัวความและทนายความในใบแต่งทนาย ส่วนกรณีมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนตนนั้น เพียงแต่ผู้มอบอำนาจลงลายมือชื่อฝ่ายเดียวในใบมอบอำนาจก็ถือว่าเป็นการมอบอำนาจโดยชอบแล้ว
 
ศาลที่จะเสนอคดี
ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำฟ้อง หรือยื่นคำร้องขอ จะต้องยื่นต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจ หากยื่นต่อศาลที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจ ศาลจะไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณา


การยื่นคำฟ้องคดีมีข้อพิพาท (เกี่ยวกับหนี้/บุคคล)
ให้ยื่นต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา หรือยื่นต่อศาลที่มูลคดีเกิด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4(1) บัญญัติว่า “คำฟ้องให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”


ตัวอย่างที่ 1 เช่น Mr. john มีภูมิลำเนาอยู่ประเทศออสเตรเลีย แต่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย ได้ทำนายร่างกาย นายศักดิ์ ที่จังหวัด ภูเก็ต จะเห็นได้ว่าจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย นายศักดิ์ผู้เสียหายจึงสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหาย จาก Mr. john ได้ที่ศาลจังหวัดภูเก็ตเพียงศาลเดียว เพราะเป็นศาลที่มูลคดีเกิด เป็นต้น


ข้อสังเกต โจทก์จะสามารถฟ้องคดีได้ โจทก์จะต้องมีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทย


ในกรณีที่ จำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้นำมาตรา 4 ตรี มาใช้บังคับ เป็นไปตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 ตรี วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอคดีต่อศาลแพ่ง หรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล”


ตัวอย่างที่ 2 หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปว่า นายศักดิ์มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต และได้เดินทางไปเที่ยวที่ประเทศออสเตรีย แต่ถูก Mr. john ทำร้ายที่ประเทศออสเตรีย กรณีเช่นว่านี้ นายศักดิ์มีสัญชาติไทยและยังมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร จึงสามารถนำมาตรา 4 ตรีมาใช้บังคับแทนมาตรา 4(1) ได้ นายศักดิ์จึงสามารถฟ้อง Mr. john ได้ที่ศาลจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นศาลที่นายศักดิ์มีภูมิลำเนา หรือต่อศาลแพ่งได้อีกศาลหนึ่ง เป็นต้น

การยื่นคำฟ้อง (เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์) 

คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้ยื่นต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่เช่นเดียวกับมาตรา 4 (1) หรือยื่นต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ โดยเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ บัญญัติว่า “คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล” เช่นคดีฟ้องเกี่ยวกับภาระจำยอม คดีฟ้องบังคับจำนอง คดีฟ้องเกี่ยวด้วยสิทธิอาศัย หรือสิทธิเก็บกินเป็นต้น

ข้อสังเกต มีคำพิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า ถ้าคดีเรื่องใดต้องพิจารณาถึงความเป็นอยู่ของตัวทรัพย์ และถ้าตัวทรัพย์นั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ ก็ถือว่าคดีนั้นเป็นคดีเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ฎ.719/2515,ฎ1173/2518


การยื่นคำร้องขอในคดีไม่มีข้อพิพาท 

คดีไม่มีข้อพิพาท ผู้ยื่นคำร้องจะเข้ามาแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่มีจำเลย ซึ่งแตกต่างกับคดีที่มีข้อพิพาท เป็นลักษณะจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล เช่น คดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญ คดีร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ คดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เป็นต้น

การยื่นคำร้องขอคดีไม่มีข้อพิพาท เป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4(2)  บัญญัติว่า “คำร้องขอให้เสนอต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลหรือต่อศาลที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล”

ข้อสังเกต ในการยื่นคำร้องขอ ให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกนั้น หากเป็นกรณีที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียไม่ประสงค์จะตั้งผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก การยื่นคำร้องขอเช่นว่านี้ไม่ได้เป็นไปตามหลักทั่วไป แต่จะเป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 4 จัตวา วรรคหนึ่ง กล่าวคือ คำร้องขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องเสนอต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย

ตัวอย่าง เช่น นายสายัญ ขับรถชนถึงแก่ความตายที่จังหวัดสมุทรสาคร มีทรัพย์มรดกอยู่ที่จังหวัดชลบุรี แต่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดสมุทรปราการ คำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องยื่นที่ภูมิลำเนาของผู้ตายคือจังหวัดสมุทรปราการ  ดังนั้น ทายาทของผู้ตายจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการจะยื่นคำร้องต่อศาลที่ทายาทมีภูมิลำเนาหรือที่ทรัพย์มรดกตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมาตรา 4 จัตวา ได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

ส่วนในกรณี ที่เป็นคำร้องขอเลิกนิติบุคคล คำร้องขอตั้งหรือขอถอดถอนผู้ชำระบัญชีของนิติบุคคล เพิกถอนมติของที่ประชุมหรือที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคล หรือคำร้องอื่นใดเกี่ยวกับนิติบุคคล ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 เบญจ กรณีเช่นว่านี้ได้บัญญัติไว้แล้วเป็นการเฉพาะ ให้เสนอต่อศาลที่นิติบุคคลนั้นมีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตศาล
 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้