ลูกหนี้ขายทรัพย์ให้บุคคลภายนอก เพื่อโอนย้าย ซ่อนเร้น ไม่ยอมชำระหนี้เจ้าหนี้ มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6104/2564
คำฟ้องของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แม้พอจับใจความได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์เนื่องจากผิดสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่การโอนทรัพย์ไปให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น จะต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และผู้กระทำก็ต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุเช่นนั้น คงบรรยายเพียงว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปโดยคาดหมายว่าโจทก์อาจฟ้องร้องบังคับคดีเท่านั้น คำฟ้องโจทก์ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2563
หนี้ของโจทก์เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์จึงต้องยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ต่อไป ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 350 ที่บัญญัติว่า เจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้นั้น หมายถึงเจ้าหนี้ที่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยได้อีกต่อไป เพราะผลของการประนอมหนี้หลังล้มละลายย่อมผูกพันโจทก์ และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายไปแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย ทั้งคำว่า “เจ้าหนี้ของตน” ย่อมหมายถึงเฉพาะโจทก์ที่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่มิได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินตามฟ้องจึงมิใช่การกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในคดีแพ่งได้รับชำระหนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2558
ทรัพย์ที่ลูกหนี้โอนไปให้ผู้อื่น อันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น หมายถึงทรัพย์ใด ๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการโอนไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากับองค์การคลังสินค้า 2 ฉบับ ฉบับแรกว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 แปรสภาพหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรที่นำมาจำนำแก่องค์การคลังสินค้าเป็นแป้งมันสำปะหลัง ฉบับที่สองเป็นสัญญาเก็บแป้งมันสำปะหลังที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยองค์การคลังสินค้าเป็นผู้ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นสัญญาฝากทรัพย์ ดังนั้นแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 แปรสภาพแล้วเก็บไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การคลังสินค้า หาใช่เป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์ไม่ ทั้งองค์การคลังสินค้าได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้อหายักยอก แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันนำเอาแป้งมันสำปะหลังที่เก็บไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปขาย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของตนได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ทั้งแป้งมันสำปะหลังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำไปขายก็มิใช่ทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ใช่การทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือสูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัด เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 187
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12250/2557
โจทก์ร่วมกับจำเลยจดทะเบียนสมรสที่ประเทศออสเตรเลีย และลงทุนทำไร่องุ่น ต่อมาจำเลยย้ายกลับมาอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้หย่าขาดกับโจทก์ร่วม เงินค่าชดเชยที่รัฐบาลออสเตรเลียจ่ายให้แก่โจทก์ร่วมและจำเลยกรณีเลิกทำไร่องุ่น เป็นเงินที่ได้มาในระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส การที่โจทก์ร่วมส่งเงินชดเชยมาให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินดังกล่าวไปซื้อทรัพย์พิพาท แม้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว ทรัพย์พิพาทยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยขอแบ่งสินสมรสและขอใช้อำนาจปกครองบุตรที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น ขณะคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น จำเลยจดทะเบียนขายฝากทรัพย์พิพาทไว้แก่พันตำรวจเอก ม. จึงมิใช่การทำสัญญาในลักษณะปกติ แม้คดียังมีข้อโต้เถียงกรรมสิทธิ์และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดขอนแก่นก็ตาม ถือว่าโจทก์ (โจทก์ร่วมในคดีนี้) อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอำนาจจะฟ้องจำเลยแล้ว จึงเข้าองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลย โจทก์ร่วมกับจำเลยจึงเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์พิพาท การที่จำเลยนำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่พันตำรวจเอก ม. โดยโจทก์ร่วมไม่ทราบและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมก่อน และไม่ไถ่ถอนคืนภายในกำหนดเช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์พิพาทไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก อีกบทหนึ่งด้วย การกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10179/2557
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ป.อ. มาตรา 350 บัญญัติว่า "ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษ..."
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้โดยมีจำเลยที่ 2 เบิกความเป็นพยานให้แก่จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมทราบว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้เมื่อโจทก์ติดตามยึดทรัพย์และยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8237 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่จำนองไว้แก่เจ้าหนี้อื่น จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปไถ่ถอนทรัพย์จำนองดังกล่าวและขายให้แก่จำเลยที่ 3 โดยจงใจกำหนดราคาขายพอดีกับราคาไถ่ถอนจำนอง เพื่อไม่ให้มีเงินส่วนเกินจากราคาขายตกแก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นการร่วมกันเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้บางส่วน มีความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9202/2553
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2538 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 บังอาจจดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีเจตนาซ่อนเร้นทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ เพื่อให้พ้นไปเสียจากการที่โจทก์จะบังคับคดีเอากับทรัพย์ดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีก ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีความหมายให้เข้าใจได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว ซึ่งครบองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)
คำพิพากษาฎีกาที่ 2745/2523
แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นผู้ครอบครองที่ดินซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยทั้งสองก็ไม่มีสิทธิครอบครองอันจะนำไปโอนให้แก่จำเลยที่ 3 หรือบุคคลอื่นได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350
คำพิพากษาฎีกาที่ 1110/2507
การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันในศาลยินยอมรับผิดจำกัดการชำระหนี้ตามคำพิพากษาเฉพาะทรัพย์ที่เอามาแสดงวางประกันต่อศาล ในเมื่อจำเลยในคดีแพ่งนั้นไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หาได้ยินยอมให้ผูกพันถึงทรัพย์อื่นของตนด้วยไม่ เช่นนี้ เมื่อจำเลยได้โอนที่ดินแปลงอื่น ๆ ของตนไปให้แก่ผู้ใด จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350