ขโมยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่น ไปใช้เบิกถอนเงินสดเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ด้วยหรือไม่?
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพินัยกรรมหรือเอกสารใดของผู้อื่น ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/7 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) ผู้ใดลักทรัพย์
(๑) ในเวลากลางคืน
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2551
จำเลยลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายแล้วนำไปลักเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ ดังนั้น การลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายกับลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้งจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำแต่ละครั้งดังกล่าวเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด และโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยรวม 14 กระทง ได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188, 269/5, 269/7, 334, 335 (1) วรรคแรก