พรากผู้เยาว์ไปจากบิดามารดาไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่

Last updated: 21 พ.ค. 2566  |  791 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พรากผู้เยาว์ไปจากบิดามารดาไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่

การพรากผู้เยาว์ หมายถึง การพาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา
 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสามแสนบาท
 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 บัญญัติว่า “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล และหมายความรวมถึงผู้ดูแลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท”
 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 บัญญัติว่า “ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท”
 
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2425/2564
จำเลยที่ 1 ชักชวนและแนะนำผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กและผู้เยาว์ไปขายบริการทางเพศโดยผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจและเดินทางไปขายบริการทางเพศด้วยตนเองให้แก่บุคคลที่จำเลยที่ 1 แนะนำ จากนั้นก็แบ่งเงินให้จำเลยที่ 1 บ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อการใช้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ไม่ว่าผู้เสียหายที่ 1 จะอยู่ที่ใดและจะยินยอมหรือไม่ เมื่อเป็นการเสื่อมเสียต่อสวัสดิภาพหรือประโยชน์สุขของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมมีความผิดฐานพรากเด็กและพรากผู้เยาว์ไปเพื่อหากำไรและเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม และมาตรา 319 วรรคหนึ่ง
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2561
การกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหว เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก "พราก" ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไป หรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยนัดแนะ หรือแยกผู้เสียหายที่ 2 ไปยังที่ต่างๆในโรงเรียน จำเลยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น แม้หลังถูกกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 มิได้ถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง มีอิสระในการเคลื่อนไหว และสามารถกลับไปเรียนตามปกติได้ ก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารแล้ว
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11520 - 11521/2557
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร การที่จะพิจารณาว่าผู้เยาว์เต็มใจหรือไม่เต็มใจนั้น ต้องพิจารณาเจตนาภายในใจของผู้เยาว์ คดีนี้ผู้เสียหายที่ 1 มีเจตนาไปเที่ยวที่ประเทศมาเลเซียตามคำชักชวนของจำเลยที่ 1 โดยผู้เสียหายที่ 1 เดินทางไปเองตามลำพัง จำเลยที่ 1 มิได้บังคับผู้เสียหายที่ 1 ดังนี้จะถือว่าผู้เสียหายที่ 1 ไม่เต็มใจไปหาได้ไม่
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19979/2555
จำเลยเพียงแต่โทรศัพท์นัดให้โจทก์ร่วมที่ 3 ไปพบบริเวณที่เกิดเหตุ โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ขับรถจักรยานยนต์ไปพบ แล้วจำเลยข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 3 บริเวณจุดที่นัดพบทุกครั้ง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 3 ไปที่อื่นอีก แสดงว่าจำเลยมิได้หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโจทก์ร่วมที่ 3 การที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร จะต้องเป็นการพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากความปกครองดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบิดามารดาหรือผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน ซึ่งคำว่า "พราก" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หมายความว่า จากไป พา เอาไปจาก แยกออกจากกัน หรือเอาออกจากกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่เข้าลักษณะพา และแยกเด็กไปจากความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กอันทำให้ความปกครองดูแลของผู้ปกครองเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนสิทธิ จึงไม่เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2554
จำเลยมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจาก น. มารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งโจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง แต่การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ว่าผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 318 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 319 วรรคแรก ซึ่งมีโทษเบากว่า มิใช่เรื่องเป็นข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษ ศาลฎีกาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ไม่เกินสิบแปดปีไปจากมารดาเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2492/2552
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 317 ถึงมาตรา 319 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใดๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยปริยาย ไม่ว่าผู้เยาว์จะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลา นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดว่าพรากโดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายออกจากบ้านไปเองโดยมีผู้ชักนำ หรือไม่มีผู้ชักนำก็ตาม ก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น การที่ผู้เยาว์ไปหาจำเลยที่บ้าน ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายนัดหมายชักชวนกันก่อนแล้วจำเลยร่วมประเวณีกับผู้เยาว์ โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากบิดามารดาของผู้เยาว์ย่อมทำให้อำนาจปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ถูกพรากจากไปโดยปริยาย และการที่ผู้เยาว์โทรศัพท์หาจำเลยว่าจะหนีออกจากบ้านไปพัทยาและนัดพบจำเลย เมื่อพบกันจำเลยไม่ยอมให้ผู้เยาว์ไปตามลำพัง แต่จำเลยขอไปด้วย โดยเปิดห้องพักอยู่ด้วยกัน 2 คืน ผู้เยาว์เป็นคนชำระค่าห้องพักและค่าใช้จ่าย ทั้งผู้เยาว์ยังให้เงินจำเลยเป็นค่าใช้จ่ายในการหลบหนีด้วยก็ตาม แต่จำเลยได้ร่วมประเวณีกับผู้เสียหายทุกคืน พฤติการณ์จำเลยมิใช่การไปเป็นเพื่อนแต่เป็นการพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารทั้งสองกรณี
 
 
คำพิพากษาฎีกาที่ 7820/2549
ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปและกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอมนั้น จำเลยมิได้รับอนุญาตจากบิดามารดาและผู้ปกครองดูแลผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 318 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 473/2547
จำเลยรับ ศ. ผู้เยาว์มาจากในตัวเมืองเพชรบุรีแล้วพาไปที่ห้องพักของจำเลย จากนั้นจำเลยไดร่วมประเวณีกับ ศ. แม้ว่า ศ. ออกจากบ้านเองโดยจำเลยไม่ได้เป็นผู้ชักนำ แต่เมื่อจำเลยพบ ศ. ในบริเวณตลาดอำเภอเมืองเพชรบุรีแล้วพาไปค้างคืนที่ห้องพักของจำเลยโดย ศ. ยินยอมแต่ผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครอง ศ. ไม่ได้ยินยอมอนุญาต ย่อมเป็นการพราก ศ. ไปจากอำนาจปกครองของผู้เสียหาย จำเลยร่วมประเวณีกับ ศ. โดยไม่ได้ประสงค์รับเป็นภริยา พฤติกรรมของจำเลยเป็นพฤติกรรมที่ไม่สมควรในทางเพศตามครรลองครองธรรม ถือเป็นการกระทำเพื่อการอนาจาร การกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรก เป็นความผิดอาญาฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6634/2546
ผู้เยาว์กับจำเลยรักใคร่กันโดยที่จำเลยยังไม่มีภริยามาก่อน จำเลยพาผู้เยาว์ไปอยู่กับจำเลยได้เสียกันเพื่อประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา แต่มารดาจำเลยไม่ยอมรับผู้เยาว์เป็นสะใภ้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2543
การที่จำเลยพรากผู้เยาว์ไปครั้งแรกแล้ววันรุ่งขึ้นมารดาผู้เยาว์พาผู้เยาว์กลับมา จำเลยหาได้ดำเนินการขอขมาหรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามประเพณีเพื่อจะอยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เยาว์ หลังจากนั้นอีกประมาณ 5 วันจำเลยยังขืนพรากผู้เยาว์เร่ร่อนไปพักอาศัยบ้านผู้อื่นหลายแห่งหลายจังหวัดเป็นเวลานานประมาณ 1 เดือน โดยไม่ส่งข่าวให้บิดามารดาผู้เยาว์ทราบเลย ทั้ง ๆ ที่บิดามารดาผู้เยาว์ได้กำชับมิให้จำเลยยุ่งเกี่ยวกับผู้เยาว์อีก หลังจากนั้นจำเลยจึงพาผู้เยาว์กลับมาที่บ้านจำเลย แต่จำเลยก็หาได้แจ้งบิดามารดาผู้เยาว์ทราบว่าจำเลยกับผู้เยาว์กลับมาอยู่ที่บ้านจำเลย และมีความประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยา อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้พาผู้เยาว์ไปพบหรือแจ้งให้บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ของจำเลยทราบเลยว่าผู้เยาว์เป็นภริยาของตน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวประกอบกับผู้เยาว์มีอายุเพียง 16 ปีเศษ กำลังศึกษาเล่าเรียน จำเลยยังขืนพรากผู้เยาว์ไปในที่ต่าง ๆ เพื่อมิให้บิดามารดาผู้เยาว์ขัดขวางการกระทำของจำเลย ย่อมเห็นได้ชัดว่าจำเลยไม่มีเจตนาจะพาผู้เยาว์ไปอยู่กินฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข แต่เป็นเรื่องที่จำเลยพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8077/2542
นางสาว ส. ผู้เสียหายอายุ 15 ปีเศษ เป็นบุตรและอยู่ในความปกครองของ ล. มารดา แม้ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายได้หนีออกจากบ้านเพราะทะเลาะกับ ล. ผู้เป็นมารดาก็ตาม ก็ไม่ทำให้อำนาจปกครองของ ล. ที่มีอยู่หมดไปการที่จำเลยได้กอดจูบและกระทำชำเราผู้เสียหายขณะที่จำเลยพาผู้เสียหายไปพักที่โรงแรมและที่บ้านญาติจำเลย อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศต่อผู้เสียหาย เป็นการล่วงล้ำและกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของมารดาผู้เสียหาย จึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากมารดาผู้เสียหายเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้