การเรียกร้องกรณีถูกกระทำละเมิดให้ได้รับความเสียหาย

Last updated: 21 พ.ค. 2566  |  1939 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การเรียกร้องกรณีถูกกระทำละเมิดให้ได้รับความเสียหาย

การกระทำละเมิด คือ การกระทำใด ๆ ของบุคคลหรือการกระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของบุคคล อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น อาจเป็นการกระทำของตนเอง การกระทำของบุคคลอื่น หรือความเสียหายที่เกิดจากทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองดูแล ผู้ได้รับความเสียหายนั้นชอบที่จะได้รับการเยียวยา โดยการเรียกร้อง ค่าสินไหมทดแทน


ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น


หลักเกณฑ์ของการกระทำอันเป็นละเมิด
1. บุคคลกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
2. ทำต่อผู้อื่นโดยผิดกฎหมาย
3. บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย
4. ผลที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับการกระทำ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4189/2563
การที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องขอคืนเงินที่ผู้บริโภคเสียไปจากการถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวงนั้น ถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง เพราะ ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคสอง บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนนั้น ได้แก่การคืนทรัพย์สินของผู้เสียหายที่ต้องเสียไปเพราะละเมิดหรือราคาทรัพย์นั้น ... ซึ่งพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อจนได้เงินไปจากผู้บริโภค นอกจากเป็นการผิดสัญญาแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการทำละเมิดต่อผู้บริโภคด้วย ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ โดยถือว่าจำนวนเงินที่ผู้บริโภคแต่ละคนเสียไปจากการที่ถูกจำเลยทั้งสองหลอกลวง คือจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ผู้บริโภคแต่ละคนได้รับ เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ในคดีแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้แก่ผู้บริโภคอีกเท่าหนึ่งของจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนด โดยไม่กำหนดดอกเบี้ยในส่วนค่าเสียหายเพื่อการลงโทษให้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5009/2562
แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังว่าจำเลยที่ 2 วินิจฉัยอาการผิดพลาดเนื่องจากโจทก์มิได้ตั้งครรภ์นอกมดลูก แต่เป็นการตั้งครรภ์ภายในมดลูกและเป็นภาวะที่แท้งบุตรไม่ครบ ซึ่งอาจจะใช้วิธีการรักษาด้วยการขูดมดลูกหรือวิธีการอื่นโดยไม่จำต้องผ่าตัดตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่กรณีจะถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยทางด้านสูตินรีเวชแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งคดีและเหตุผลประการอื่นประกอบด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นอาจมีความแตกต่างกันได้ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ และเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายด้วยแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปตามข้อวินิจฉัยของแพทย์ที่ให้ไว้ก็ตาม กรณีย่อมไม่อาจถือว่าแพทย์ผู้นั้นกระทำประมาทเลินเล่อ เมื่อจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจรักษาอาการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ของโจทก์ตามความรู้ความสามารถโดยปฏิบัติถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมและเหมาะสมกับสภาวการณ์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการละเมิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2562
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กหญิง ยินยอมให้จำเลยพยายามกระทำชำเราและกระทำอนาจาร การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 แม้จะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้แล้ว และยังคงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายที่ 2 ได้อีก

การที่ผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ร้านของจำเลยเอง แล้วจำเลยล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เสียหายที่ 2 ที่ร้านโดยจำเลยมิได้พาผู้เสียหายที่ 2 ไปแต่อย่างใด จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเพื่อการอนาจาร แต่การที่จำเลยพยายามกระทำชำเรา และกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ย่อมเป็นการกระทบต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีต่อผู้เสียหายที่ 2 มิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 2 ยินยอมก็ตาม แต่ผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่พ้นจากความปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นมารดา ถือว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2561
โจทก์ฟ้องให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงคันที่ ด. เป็นผู้ขับ รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีที่ ช. เสียชีวิตทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ด. ขับรถบรรทุกและรถพ่วงด้วยความประมาทชนรถจักรยานยนต์คันที่ ช. ขับเป็นเหตุให้ ช. ถึงแก่ความตาย โดย ช. ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย แต่ ด. มีส่วนประมาทมากกว่า เมื่อตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 3.1.3 ระบุว่า ในกรณีเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 200,000 บาท ต่อหนึ่งคน ดังนั้น เมื่อ ช. เป็นผู้ประสบภัยที่ ด. จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายเพราะเหตุที่ ด. เป็นฝ่ายประมาทมากกว่า ช. จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงที่ ด. เป็นผู้ขับไว้จากนายจ้างของ ด. จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฉบับละ 200,000 บาท รวมเป็น 400,000 บาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2561
การที่จำเลยซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมต้องการให้มีผู้มาซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมากซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อรายได้ของจำเลย การจัดให้มีลานจอดรถเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยแก่ลูกค้า ดังนั้น การที่จำเลยยอมให้บุคคลทั่วไปนำรถยนต์มาจอดที่ลานจอดรถไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องดูแลรถที่ลูกค้าของจำเลยนำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยและรับฟังได้อีกว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรเข้าออกสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้ามาจอดแต่ขณะเกิดเหตุได้ยกเลิกการแจกบัตรเข้าออกและนำกล้องวงจรปิดมาติดตั้งไว้บริเวณทางเข้าออกลานจอดรถแทนซึ่งการติดตั้งกล้องวงจรปิดก็เป็นเพียงอุปกรณ์บันทึกภาพรถยนต์เข้าออกเท่านั้น ดังนั้น จึงเท่ากับจำเลยงดเว้นหน้าที่ที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าโดยให้ลูกค้าต้องเสี่ยงภัยเอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4261/2560
โจทก์ในฐานะภริยามีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง แม้ขณะฟ้องจะได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีมิใช่การกระทำละเมิด

ส่วนปัญหาจำเลยต้องใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เนื่องจากคู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว


คำพิพากษาฎีกาที่ 8467/2559
ปัญหาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจำนวน 758,467 บาท เพราะเหตุที่โจทก์ใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ในการรักษาพยาบาล โดยไม่ได้จ่ายจริง หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ได้ให้การไว้ ก็ย่อมยกขึ้นอุทธรณ์ฎีกาได้ ในปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบแจ้งค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล อันเนื่องจากการใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาท ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อันเป็นสิทธิของโจทก์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ ไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลได้



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8293/2559
การใช้ถนนสาธารณะเป็นที่จอดรถ หากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายเป็นอย่างอื่น เจ้าของที่ดินที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะ ก็อาจใช้ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถของตนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักก่อน โดยต้องเว้นทางสำหรับรถยนต์ให้เข้าออกได้เป็นลำดับแรก แล้วเจ้าของอาคารทั้งสองฝั่งถนนรวมถึงบุคคลทั่วไปจึงจะมีสิทธิใช้ทางส่วนที่เหลือเป็นที่จอดรถบนหลักของความเสมอภาค โดยไม่จำต้องคำนึงว่าใครจะเป็นผู้มาใช้สิทธิจอดรถก่อนหลังกัน ประกอบกับกฎกระทรวงที่กำหนดให้ร่นแนวอาคารห่างจากเขตถนนสาธารณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกแก่การจราจรด้วย การที่จำเลยทั้งสี่ใช้พื้นที่ถนนสาธารณะซึ่งมีความกว้างเพียง 4 เมตร จอดรถของตนทั้งคันในลักษณะหวงกันการใช้ประโยชน์ของผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะใช้แนวร่นอาคาร 1 เมตร ที่อยู่ติดกับถนนสาธารณะดังกล่าวของตนประกอบการจอดรถด้วย แต่กลับใช้เป็นที่วางกระถางต้นไม้ ซึ่งมิใช่เหตุจำเป็นที่จะใช้แนวร่นอาคารเพื่อการนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เกินสิทธิของตนและคำนึงถึงประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยไม่คำนึงถึงสิทธิในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ของผู้อื่นที่มีอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อนเกินควร ไม่สามารถใช้พื้นที่ถนนส่วนที่เหลือในการจอดรถของตนได้ จึงรับฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกระทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 421 และถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่จอดรถในแนวร่นอาคารอันเป็นแดนกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสี่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12849/2558
จำเลยที่ 2 เจ้าของอาคารศูนย์การค้า ซ. จัดลานจอดรถเพื่อให้บริการแก่ร้านค้าที่มาเช่าพื้นที่และลูกค้าของร้านค้าเพื่อจอดรถยนต์ขณะเข้าไปใช้บริการยังร้านค้าที่เช่าพื้นที่ในอาคารศูนย์การค้าและมอบให้บริษัท น. เป็นผู้จัดการให้บริการด้านสาธารณูปโภคทั้งหมดรวมทั้งการรักษาความปลอดภัยภายในอาคารและนอกอาคารโดยมีการแบ่งผลประโยชน์จากการจัดเก็บรายได้จากร้านค้าที่เช่าพื้นที่และรับบริการ จำเลยที่ 2 กับบริษัท น. เป็นบริษัทในเครือเดียวกันและมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้อาคารศูนย์การค้า ซ. ร่วมกัน โดยจำเลยที่ 2 จัดเก็บค่าเช่าพื้นที่อาคาร ส่วนบริษัท น. จัดเก็บค่าบริการด้านสาธารณูปโภค การที่บริษัท น. เข้าทำสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยกับจำเลยที่ 1 เพื่อให้จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยมาดูแลรักษาความปลอดภัยที่อาคารศูนย์การค้าจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่อาคารศูนย์การค้า จำเลยที่ 2 เจ้าของอาคารศูนย์การค้าจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยอาคารศูนย์การค้าย่อมแสดงให้ผู้มาใช้บริการที่อาคารศูนย์การค้าเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า พฤติการณ์ของบริษัท น. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบการค้าร่วมกัน ย่อมถือได้ว่าบริษัท น. กับจำเลยที่ 2 เป็นตัวการด้วยกันในการทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 รักษาความปลอดภัยอาคารศูนย์การค้า เมื่อรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายเพราะความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ผู้รับประกันภัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9489/2558
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อขับรถบรรทุกชนท้ายรถโดยสาร ทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น และเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ข้อ ก. เป็นค่าเสียหายที่โจทก์ต้องนำรถโดยสารไปซ่อมเป็นจำนวนเงินตามบัญชีใบประเมินราคาการซ่อม ค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ฟ้องมาตามฟ้องข้อ ก. โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นค่าซ่อมรถโดยตรง เพียงแต่โจทก์เรียกค่าเสียหายส่วนนี้โดยอิงกับใบประเมินราคา ซึ่งหากมีการซ่อมรถก็มีรายการและราคาตามใบประเมินราคานี้ ดังนั้น แม้รถโดยสารจะถูกผู้ให้เช่าซื้อขายไปในลักษณะขายซากรถโดยไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ หรือโจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่า ผู้ให้เช่าซื้อขายซากรถไปโดยที่ยังไม่ได้รับการซ่อมหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ เพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถโดยตรง แต่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยกระทำละเมิดทำให้รถโดยสารที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ได้รับความเสียหาย โจทก์ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายตามฟ้องข้อ ก. ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1006/2558
บริเวณทางเชื่อมต่อระหว่างถนนวงแหวนรอบนอกกับถนนบางนา - ตราดมีสัญญาณจราจรเส้นขาวทึบบนผิวทางห้ามมิให้รถที่แล่นมาจากถนนวงแหวนรอบนอกเบี่ยงขวาเข้าสู่ถนนบางนา - ตราดทันที ผู้ขับรถจะต้องขับรถเลยเส้นขาวทึบบนผิวทางไปก่อนจึงเบี่ยงขวาเข้าถนนบางนา - ตราดได้ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุเป็นถนนบรรจบกัน ผู้ขับรถจะต้องใช้ความระมัดระวังและผู้ขับรถที่จะเบี่ยงเข้าถนนหลักต้องหยุดรถให้ทางแก่รถที่กำลังแล่นในถนนหลักผ่านไปก่อน แต่จำเลยที่ 1 หาได้ปฏิบัติตาม การที่จำเลยที่ 1 ขับรถทับเส้นขาวทึบบนผิวทางไปชนรถโดยสารประจำทางของโจทก์ที่ ว. ขับผ่านมาโดยไม่หยุดรถให้ทางแก่รถของโจทก์ที่แล่นผ่านมาในทางเดินรถหลักก่อน จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14931/2557
จำเลยที่ 1 ให้โจทก์เช่าตู้นิรภัยเพื่อเก็บรักษาทรัพย์สินโดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นพนักงานมีหน้าที่ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคง การที่จำเลยที่ 2 เก็บสำเนารหัสและวิธีการเปิดห้องมั่นคงไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน จำเลยที่ 4 เก็บกุญแจห้องมั่นคงไว้ในตู้นิรภัยเล็ก และจำเลยที่ 5 เก็บกุญแจห้องมั่นคงอีกดอกหนึ่งไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานอันเป็นการผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้คนร้ายรื้อค้นพบและนำไปใช้เปิดห้องมั่นคงแล้วลักทรัพย์ของโจทก์ที่เก็บไว้ในตู้นิรภัยไปจึงต้องถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในการเก็บรักษารหัสและกุญแจห้องมั่นคงอันเป็นผลโดยตรงต่อเกิดเหตุลักทรัพย์ของโจทก์ มิใช่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ประมาทเลินเล่อในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 อีกโสตหนึ่งด้วย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 โดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไข ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

ขณะเกิดเหตุฝนตกปรอยๆ ว. ขับรถโดยสารประจำทางโดยใช้เกียร์ 5 และขับรถด้วยความเร็ว 60 ถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เห็นจำเลยที่ 1 ขับรถลงจากถนนวงแหวนรอบนอก จุดที่เกิดเหตุเป็นถนนวงแหวนรอบนอกบรรจบกับถนนบางนา - ตราดจึงเป็นบริเวณทางร่วมทางแยกซึ่งผู้ขับขี่ที่ขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยกต้องลดความเร็วรถ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 แต่ไม่ปรากฏว่า ว. ชะลอความเร็วของรถลงเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุรถชนกัน ว. จึงมีส่วนขับรถโดยประมาทเลินเล่อด้วย แต่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายก่อให้เกิดเหตุก่อนโดยขับรถทับเส้นขาวทึบบนผิวทางล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของ ว. และไม่หยุดรถให้ทางแก่รถที่ ว. ขับมาในทางเดินรถหลักผ่านไปก่อน จำเลยที่ 1 จึงประมาทเลินเล่อมากกว่า

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้