การหมิ่นประมาท หรือการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม

Last updated: 21 พ.ค. 2566  |  3502 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การหมิ่นประมาท หรือการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม

 
การหมิ่นประมาท หมายถึง การกล่าววาจาประทุษร้ายทำลายชื่อเสียงบุคคลอื่นให้ได้รับความเสียหาย ถูกคนทั้งหลายดูหมิ่นดูถูกเกลียดชัง ขาดความนับถือ

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
แยกองค์ประกอบ
1. องค์ประกอบภายนอก
     (1.1) ผู้กระทำ  
     (1.2) มีการใส่ความ
     (1.3) ผู้อื่น
     (1.4) ต่อบุคคลที่สาม 
     (1.5) โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นได้รับความเสียหาย
2. องค์ประกอบภายใน
     (2.1) มีการกระทำโดยเจตนา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3073/2565
ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 จะต้องเป็นการใส่ความคือ การพูดหาเหตุร้าย หรือกล่าวหาเรื่องร้ายให้ผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวว่า “ไอ้สันดานหมา” คำว่า “สันดาน” หมายความถึงอุปนิสัยที่มีมาแต่กำเนิด ซึ่งอาจมีสันดานดีหรือสันดานเลวก็ได้ แม้มักใช้ไปในทางไม่สู้จะดี แต่ก็มิใช่เป็นการใส่ความให้ร้ายผู้ร้อง ทั้งตามความรู้สึกนึกคิดของบุคคลธรรมดาไม่เชื่อว่าผู้ร้องจะเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ไม่น่าจะทำให้ผู้ร้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่จำเลยกล่าวถ้อยคำนั้น น่าจะเป็นเพราะจำเลยไม่พอใจผู้ร้องที่ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่ ส. ซึ่งเป็นหลานของจำเลยมาก่อนหน้านี้แล้ว ครั้นพนักงานสอบสวนเรียกคู่กรณีและผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นญาติไปไกล่เกลี่ย ผู้ร้องก็ยังคงยืนกรานให้ดำเนินคดี ส. ต่อไป โดยไม่เห็นแก่ความเป็นญาติ ย่อมทำให้จำเลยไม่พอใจผู้ร้องเพิ่มขึ้นไปอีก จึงเป็นการด่าผู้ร้องอันเนื่องมาจากความรู้สึกไม่พอใจผู้ร้อง ไม่ได้มีความมุ่งหมายถึงความประพฤติของผู้ร้องว่าเป็นคนมีอุปนิสัยที่ไม่ดีมาแต่กำเนิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็เป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่เป็นความผิด ย่อมลงโทษจำเลยไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3870/2562
โจทก์ทราบว่า จำเลยทั้งห้าร้องเรียนโจทก์ว่าทุจริตต่อหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 ประกอบกับได้ความจากคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่า เคยเรียกโจทก์และจำเลยทั้งห้ามาพูดคุยไกล่เกลี่ยในปี 2557 เนื่องจากเห็นว่าโจทก์และจำเลยทั้งห้าเป็นเพื่อนร่วมงานกัน จึงเชื่อว่าโจทก์ทราบมูลความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าเป็นจำเลยทั้งห้าตั้งแต่วันที่มีการร้องเรียนในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2557 เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ แต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด โดยโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากมีการร้องเรียนแล้วกว่า 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1861/2561
ป.อ. มาตรา 329 เป็นบทบัญญัติยกเว้นการกระทำที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพื่อมิให้ผู้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตต้องตกเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเป็นสิ่งที่กระทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อรักษาประโยชน์ของบุคคลหรือสาธารณะ ขอบเขตการวิพากษ์วิจารณ์จะกระทำได้มากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากองค์ประกอบความผิดแล้ว ยังต้องพิเคราะห์ความเกี่ยวข้องของผู้กระทำ ผู้เสียหาย สถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนมูลเหตุ และพฤติการณ์แวดล้อมอันเป็นที่มาแห่งการกระทำด้วยแม้ถ้อยคำและข้อความที่จำเลยที่ 2 กล่าวโจมตีโจทก์ แต่สถานะของโจทก์ที่เป็นนักการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้นำประเทศ ย่อมเป็นที่คาดหวังของสังคมทุกระดับชั้นทั้งในและต่างประเทศว่าต้องเป็นผู้ทรงคุณธรรม มีพฤติกรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ในทุกด้านของการกระทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะในมิติของกฎหมายหรือศีลธรรม ตลอดจนการดำรงตนในสังคมในทุกกรณีบุคคลสาธารณะในฐานะนักการเมืองเช่นโจทก์ ผู้มีส่วนได้เสียย่อมใช้สิทธิติชมได้โดยสุจริต และต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวาง ตามพฤติการณ์ก่อนเกิดเหตุดังวินิจฉัยเชื่อมโยงถึงขณะเกิดเหตุที่จำเลยที่ 2 กล่าวถ้อยคำในการแถลงข่าว ทั้งเป็นการแถลงต่อสื่อมวลชนโดยเปิดเผยอันแสดงถึงเจตจำนงที่ต้องการให้สาธารณชนรับรู้ จึงเข้าเกณฑ์ข้อยกเว้นว่าเป็นการกระทำไปโดยสุจริต เพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านเช่นจำเลยที่ 2 ในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้งของจำเลยที่ 1 ชอบที่จะกระทำได้ในนามของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 329 (3) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ส่วนถ้อยคำเปรียบเปรยหรือเสียดสีโจทก์เป็นผีปอบนั้น แม้เป็นการไม่สมควรกล่าวถึงโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเสียดสีในสิ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้ในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป ถ้อยคำส่วนนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6593/2559
ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ไม่ใช่ความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ เมื่อจำเลยพูดให้สัมภาษณ์นักข่าว การกระทำของจำเลยที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นความผิดย่อมสำเร็จ เมื่อนักข่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามทราบข้อความแล้ว โดยคนที่ถูกหมิ่นประมาทไม่ต้องรู้ว่าตนเองถูกหมิ่นประมาท สำหรับข้อที่ว่าโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ไม่ใช่ผลของการกระทำ จึงไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคแรก เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนอกราชอาณาจักรและไม่ใช่กรณีกระทำความผิดที่ประมวลกฎหมายอาญาถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ผู้กระทำความผิดจึงไม่ต้องรับโทษในราชอาณาจักร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8752/2558
การที่จำเลยใช้คำ "อีเฒ่าหัวหงอก" และ "มึง" เป็นสรรพนามในการเรียกโจทก์ผู้เป็นมารดา ซึ่งไม่ปรากฏว่าโดยปกติบุคคลทั่วไปรวมถึงจำเลยใช้สรรพนามดังกล่าวแทนมารดา คำดังกล่าวไม่ได้มีความหมายว่ามารดา แต่มีความหมายเปรียบเปรยไปในทางไม่ให้ความเคารพและทำให้โจทก์ได้รับความอับอายอันเป็นการแสดงออกถึงการดูถูกเหยียดหยามโจทก์ สำหรับเนื้อหาแม้จะถือว่าเป็นการกระทบกระเทียบ แต่ก็ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายเป็นไปในทางดูถูกเหยียดหยามโจทก์เช่นกัน การที่จำเลยด่าโจทก์ผู้เป็นมารดาด้วยถ้อยคำดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการดูถูกเหยียดหยามและหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง เป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์อันเป็นเหตุให้โจทก์ถอนคืนการให้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18162/2557
วิทยาลัย ฉ. ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ส่วนวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชเป็นหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. อันเป็นการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของวิทยาลัย ฉ. ตามมาตรา 20 เท่านั้น ตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. มีผลเป็นการหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.นั่นเอง วิทยาลัย ฉ. จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ เมื่อ ส. อธิการบดีวิทยาลัย ฉ. ได้มอบอำนาจให้ บ. แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และโจทก์จึงมีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2557
โจทก์และจำเลยทะเลาะโต้เถียงกันด้วยความโกรธ ต่างคนต่างว่าซึ่งกันและกัน ที่จำเลยพูดว่า "มึงโกงกู" เป็นคำโต้ตอบโจทก์เนื่องจากจำเลยไม่เชื่อว่าโจทก์ได้ชำระหนี้ให้จำเลยแล้วโดยการโอนเงินผ่านธนาคาร จะถือว่าจำเลยเจตนาใส่ความโจทก์อันจะเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21627/2556
จำเลยเป็นผู้พิมพ์หนังสือร้องเรียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เรื่องอุทธรณ์คำสั่งบรรจุแต่งตั้งผู้ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าทำงาน แม้ข้อความโดยรวมเป็นการกล่าวหาผู้เสียหายซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านโตนดและเป็นผู้บริหารสูงสุดของเทศบาลตำบลบ้านโตนดว่ารับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นพนักงานเทศบาลไม่โปร่งใส เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบแสวงหาผลประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นซึ่งไม่เป็นความจริง อันเป็นการใส่ความผู้เสียหายก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำต่อบุคคลที่สาม กลับได้ความเพียงว่า ก. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลบ้านโตนดไปพบหนังสือร้องเรียนดังกล่าวที่หน้าคอมพิวเตอร์ห้องงานคลังด้วยตนเอง โดยจำเลยมิได้นำออกมาแสดงต่อ ก. เพื่อให้ทราบข้อความในเอกสารนั้น ส่วน ศ. พนักงานขับรถของผู้เสียหายก็เพียงแต่สงสัยว่าจำเลยจะเป็นผู้พิมพ์หนังสือร้องเรียนดังกล่าวเท่านั้น ทั้งจำเลยยังไม่ได้ส่งเอกสารดังกล่าวไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยทราบ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20106/2556
จำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด โจทก์เคยเป็นประธานทอดกฐิน โจทก์ จำเลย บุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัดและกรรมการของวัดขัดแย้งกันเกี่ยวกับเรื่องการเงินของวัดแยกออกเป็นหลายฝ่าย และกล่าวหาอีกฝ่ายยักยอกเงินของวัดจนมีการฟ้องคดีต่อศาล โจทก์เขียนข้อความกล่าวหาจำเลยว่าเคยบวชพระและมีประวัติเป็นอลัชชียักยอกเงินของวัด ไม่มีความละอายต่อบาป และเขียนป้ายประกาศติดไว้ที่หน้าวัดห้ามจำเลยเข้าบริเวณวัดและจำเลยยักยอกเงินของวัด ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยเป็นคนโกง เป็นคนไม่ดี การที่จำเลยเขียนหนังสือ และแจกจ่ายหนังสือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัดเป็นทำนองตอบโต้โจทก์ เนื่องจากจำเลยเคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด และได้รับผลกระทบทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง การแสดงข้อความของจำเลยเป็นการกระทำโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรมที่จะป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1052/2555
จำเลยพูดทวงเงินที่ ถ. ค้างชำระแล้วจำเลยกับ ถ. มีปากเสียงด่าว่ากัน และจำเลยได้ด่าว่า โคตรของมึงยืมเงินกูไปเป็นประจำ ไอ้หรัด อีต้อย ก็ไปยืมเงินกู เหตุเกิดขณะ ถ. กับจำเลยต่างทะเลาะโต้เถียงกันต่างอยู่ในอารมณ์โกรธ ข้อความที่ว่าไอ้หรัดซึ่งหมายถึงผู้เสียหายเป็นเพียงคำเรียกหาที่ไม่สุภาพ ส่วนที่ว่าผู้เสียหายเคยยืมเงินจำเลยก็กล่าวตามข้อเท็จจริงซึ่งผู้เสียหายรับว่าเคยกู้ยืมเงินจากจำเลยจริง ทั้งการกู้ยืมเงินกันก็ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่มีข้อความกล่าวถึงกับว่าผู้เสียหายคดโกง ดังนี้ ตามความรู้สึกของวิญญูชนทั่วๆ ไปจึงไม่เป็นถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจถึงขนาดความเชื่อถือไว้วางใจ หรือความคดโกงชั่วร้าย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังแต่ประการใด การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2551
ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 นั้น จะต้องเป็นการใส่ความบุคคลอื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 326 แห่ง ป.อ. ด้วย แต่ข่าวในหนังสือพิมพ์ระบุชื่อบุคคลที่ถูกใส่ความว่า ม. และโจทก์มีผู้เสียหายเพียงปากเดียวมาเบิกความว่าเป็นนามปากกาของผู้เสียหาย โดยโจทก์ไม่ได้นำบุคคลที่สามมาเป็นพยานยืนยันได้ว่าขณะผู้เสียหายทำงานเป็นนักข่าวอยู่ที่หนังสือพิมพ์ ร. มีนามปากกาว่า ม. ส่วนคำให้การในชั้นสอบสวนของ พ. และ อ. ก็เป็นเพียงพยานบอกเล่าที่จำเลยไม่มีโอกาสซักค้าน จึงฟังไม่ได้ว่ามีบุคคลอื่นทราบว่าผู้เสียหายมีนามปากกาว่า ม. แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายกับจำเลยเคยทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ ร. อันเป็นการยืนยันว่าจำเลยทราบดีว่าผู้เสียหายมีนามปากกาว่า ม. แต่เมื่อโจทก์ไม่มีพยานอื่นมาเบิกความยืนยันได้ว่ามีบุคคลที่สามทราบว่านามปากกา ม. ตามข้อความในหนังสือพิมพ์ ร. หมายถึงผู้เสียหาย ดังนั้น แม้จะฟังว่าจำเลยเป็นคนเขียนข้อความดังกล่าว การกระทำของจำเลยก็ยังไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเนื่องจากไม่มีบุคคลที่สามทราบว่า ม. เป็นผู้ใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4425/2545
ขณะโจทก์เดินอยู่ที่หน้าหอประชุม จำเลยชี้มือมาที่โจทก์แล้วพูดกับชาวบ้านที่เดินผ่านมาว่า "ระวังทนายสกปรกจะเอาเรื่อง" ซึ่งคำพูดดังกล่าวไม่มีข้อความประกอบให้เห็นว่า โจทก์มีอาชีพทนายความสกปรกในเรื่องอะไรแม้จะเป็นคำเสียดสีโจทก์ว่าเป็นคนน่ารังเกียจ แต่ไม่ถึงขนาดทำให้ผู้ที่รับฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นคนคดโกงขาดความน่าเชื่อถือหรือน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงไม่เป็นหมิ่นประมาทโจทก์


คำพิพากษาฎีกาที่ 2371/2522
กล่าวว่าหญิงอื่นเป็นคนสำเพ็งคนไม่ดี 5 ผัว 6 ผัว แม้กล่าวด้วยความหึงหวงสามีมิให้คบกับหญิงนั้น ก็เป็นหมิ่นประมาทตามป.อ. มาตรา 326


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1590/2521
จำเลยฟ้องขอหย่าขาดกับสามีโดยอ้างเหตุว่าสามีไปติดพันหญิงอื่นคือโจทก์และสามีได้ไปอยู่กินกับโจทก์อย่างเปิดเผย ดังนี้ เป็นการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งจำเลยมีความจำเป็นจะต้องกล่าวในฟ้องให้สามีจำเลยเข้าใจข้อหาโดยชัดเจน ถือได้ว่าเป็นข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลของคู่ความเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่เป็นความผิดหมิ่นประมาท ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริต จึงถือไม่ได้ด้วยว่าเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาฎีกาที่ 481/2506
ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อบุคคลหลายคนว่า "โจทก์เป็นคนนิสัยไม่ดี มีความรู้ต่ำ โจกท์เป็นคนมีหนี้สินเป็นแสนๆยังใช้หนี้เขาไม่หมดอวดมั่งมีขาดเข็มขัดทอง" ไม่เป็นถ้อยคำที่น่าจะทำให้โจกท์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จำเลยไม่มีความผิดฐานหมื่นประมาท ตาม ป.อ. มาตรา 326

 
คำพิพากษาฎีกาที่ 863/2497
กล่าวคำว่า "ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์เดียรัจฉาน" ไม่เป็นการหมิ่นประมาท

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้