Last updated: 17 พ.ค. 2566 | 392 จำนวนผู้เข้าชม |
กฎหมายแพ่งและพานิชย์
บรรพ 6
มรดก
ลักษณะ 1
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
หมวด 1
การตกทอดแห่งทรัพย์มรดก
มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น
มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สิน
ทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิ หน้าที่ ละความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ตามกฎหมาย หรือว่าโดย
สภาพแล้วเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้
มาตรา 1601 ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน
มาตรา 1602 เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความใน มาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายนี้
มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท
ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ หรือตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดั่งระบุไว้ใน
คำสั่งที่สั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ใช้บทบัญญัติ มาตรา 63 แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับแก่ทายาท
ของบุคคลนั้น
**แก้ไขโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจ
ชำระใหม่ พ.ศ. 2535 (รจ. เล่ม 109 ตอนที่ 42 วันที่ 8 เมษายน 2535)
มาตรา 1603 กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม
ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย เรียกว่า "ทายาทโดยธรรม"
ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า "ผู้รับพินัยกรรม"
หมวด 2
การเป็นทายาท
มาตรา 1604 บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถมีสิทธิได้ตาม
มาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอยู่ภายในสามร้อยสิบวันนับแต่เวลา
ที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้น เป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย
มาตรา 1605 ทายาทคนใดยักย้าย หรือปิดบังทรัพย์มรดกเท่าส่วนที่ตนจะได้หรือมากกว่านั้นโดยฉ้อฉล
หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย
แต่ถ้าได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทคนนั้นต้องถูกกำจัดมิให้ได้
มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้นั้น
มาตรานี้มิให้ใช้บังคับแก่ผู้รับพินัยกรรม ซึ่งผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้เฉพาะ
สิ่งเฉพาะอย่าง ในอันที่จะได้รับทรัพย์สินนั้น
มาตรา 1606 บุคคลดั่งต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ
(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำ ให้เจ้ามรดก
หรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำ
พิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จ หรือทำพยานเท็จ
(3) ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทาง
ที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับ ถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์
หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยาหรือผู้บุพการี หรือ
ผู้สืบสันดานของตนโดยตรง
(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่
บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดั่งกล่าวนั้น
(5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด
เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้ โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
มาตรา 1607
การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบ
มรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว แต่ในส่วนทรัพย์สินซึ่งผู้สืบสันดานได้รับมรดกมา
เช่นนี้ ทายาทที่ว่านั้นไม่มีสิทธิที่จะจัดการและใช้ดั่งที่ระบุไว้ใน บรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 3 แห่ง
ประมวลกฎหมายนี้ ในกรณีเช่นนั้นให้ใช้ มาตรา 1548 บังคับโดยอนุโลม
หมวด 3
การตัดมิให้รับมรดก
มาตรา 1608 เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้แต่ด้วยแสดง
เจตนาชัดแจ้ง
(1) โดยพินัยกรรม
(2) โดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
ตัวทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกนั้นต้องระบุไว้ให้ชัดเจน
แต่เมื่อบุคคลใดได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้ว ให้ถือว่าบรรดา
ทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรม เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก
มาตรา 1609 การแสดงเจตนาตัดมิให้รับมรดกนั้นจะถอนเสียก็ได้
ถ้าการตัดมิให้รับมรดกนั้นได้ทำโดยพินัยกรรมจะถอนเสียได้ก็แต่โดยพินัยกรรมเท่านั้น
แต่ถ้าการตัดมิให้รับมรดกได้ทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ การถอนจะทำตามแบบใด
แบบหนึ่งดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 1608 (1) หรือ (2) ก็ได้
หมวด 4
การสละมรดกและอื่นๆ
มาตรา 1610 ถ้ามรดกตกทอดแก่ผู้เยาว์ หรือบุคคลวิกลจริต หรือบุคคล ผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงาน
ของตนเองได้ตามความหมายแห่ง มาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายนี้ และบุคคลนั้นยังไม่มีผู้แทน
โดยชอบธรรม หรือผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ เมื่อผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ก็ให้ศาล
ตั้งผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี
มาตรา 1611 ทายาทซึ่งเป็นผู้เยาว์ บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเอง
ได้ตามความหมายแห่ง มาตรา 32 แห่งประมวลกฎหมายนี้ จะทำการดั่งต่อไปนี้ไม่ได้ เว้นแต่จะได้
รับความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง ผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี และได้รับอนุมัติ
จากศาลแล้ว คือ
(1) สละมรดก
(2) รับมรดกอันมีค่าภาระติดพันหรือเงื่อนไข
**มาตรา 1610,1611 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่ง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535 (รจ. เล่ม 109 ตอนที่ 42
วันที่ 8 เมษายน 2535)
มาตรา 1612 การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่
หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
มาตรา 1613 การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้
การสละมรดกนั้น จะถอนเสียมิได้
มาตรา 1614 ถ้าทายาทสละมรดกด้วยวิธีใดโดยที่รู้อยู่ว่าการที่ทำเช่นนั้นจะทำให้เจ้าหนี้ของตนเสีย
เปรียบ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการสละมรดกนั้นเสียได้ แต่ความข้อนี้มิให้ใช้บังคับ
ถ้าปรากฏว่าในขณะที่สละมรดกนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริง
อันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการสละมรดกโดยเสน่หา เพียงแต่
ทายาทผู้สละมรดกเป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้
เมื่อได้เพิกถอนการสละมรดกแล้ว เจ้าหนี้จะร้องขอให้ศาลสั่งเพื่อให้ตนรับมรดกแทนที่
ทายาทและในสิทธิของทายาทนั้นก็ได้
ในกรณีเช่นนี้ เมื่อได้ชำระหนี้ของทายาทนั้นให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ถ้าส่วนของทายาทนั้นยัง
มีเหลืออยู่อีก ก็ให้ได้แก่ผู้สืบสันดานของทายาทนั้นหรือทายาทอื่นของเจ้ามรดกแล้วแต่กรณี
มาตรา 1615 การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย
เมื่อทายาทโดยธรรมคนใดสละมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทคนนั้นสืบมรดกได้ตามสิทธิ
ของตน และชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากับส่วนแบ่งที่ผู้สละมรดกนั้นจะได้รับ แต่ผู้สืบสันดานนั้น
ต้องไม่ใช่ผู้ที่บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี ได้บอกสละมรดกโดยสมบูรณ์
ในนามของผู้สืบสันดานนั้น
มาตรา 1616 ถ้าผู้สืบสันดานของผู้สละมรดกได้มรดกมาดั่งกล่าวไว้ใน มาตรา 1615 แล้ว ผู้ที่ได้สละ
มรดกนั้นไม่มีสิทธิในส่วนทรัพย์สินอันผู้สืบสันดานของตนได้รับมรดกมาในอันที่จะจัดการและใช้
ดั่งที่ระบุไว้ใน บรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 3 แห่งประมวลกฎหมายนี้ และให้ใช้ มาตรา 1548
บังคับโดยอนุโลม
มาตรา 1617 ผู้รับพินัยกรรมคนใดสละมรดก ผู้นั้นรวมตลอดทั้งผู้สืบสันดานไม่มีสิทธิจะรับมรดกที่ได้
สละแล้วนั้น
มาตรา 1618 ถ้าทายาทโดยธรรมผู้ที่ได้สละมรดกไม่มีผู้สืบสันดานที่จะรับมรดกได้ หรือผู้รับพินัยกรรม
ได้สละมรดก ให้ปันส่วนแบ่งของผู้ที่ได้สละมรดกนั้นๆ แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกต่อไป
มาตรา 1619 ผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนโดยประการใดซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการ
สืบมรดกผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้
ลักษณะ 2
สิทธิโดยธรรมในการรับมรดก
หมวด 1
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
มาตรา 1620 ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ หรือทำพินัยกรรมไว้ แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์
มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย
ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่
เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มี
ผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย
มาตรา 1621 เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้แสดงเจตนากำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น แม้ทายาท
โดยธรรมคนใดจะได้รับทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดตามพินัยกรรม ทายาทคนนั้นก็ยังมีสิทธิที่จะ
เรียกเอาส่วนโดยธรรมของตนจากทรัพย์มรดกส่วนที่ยังไม่ได้จำหน่ายโดยพินัยกรรมจนเต็มอีกก็ได้
มาตรา 1622 พระภิกษุนั้น จะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่
จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตาม มาตรา 1754
แต่พระภิกษุนั้น อาจเป็นผู้รับพินัยกรรมได้
มาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึง
แก่มรณภาพ ให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะ
ได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม
มาตรา 1624 ทรัพย์สินใดเป็นของบุคคลก่อนอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทรัพย์สินนั้นหาตกเป็นสมบัติ
ของวัดไม่ และให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของบุคคลนั้น หรือบุคคลนั้นจะจำหน่าย
โดยประการใดตามกฎหมายก็ได้
มาตรา 1625 ถ้าผู้ตายเป็นผู้สมรสแล้ว การคิดส่วนแบ่ง และการปันทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่
ยังมรชีวิตอยู่ให้เป็นไปดั่งนี้
(1) ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่ง
ประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการหย่าโดยยินยอมทั้งสองฝ่าย อันมีบทบัญญัติเพิ่มเติมให้บริบูรณ์ใน
มาตรา 1637 และ 1638 และโดยเฉพาะต้องอยู่ในบังคับแห่ง มาตรา 1513 ถึง 1517 แห่งประมวล
กฎหมายนี้ แต่การคิดส่วนแบ่งนั้นมีผลตั้งแต่วันที่การสมรสได้สิ้นไปด้วยเหตุความตายนั้น
(2) ในเรื่องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ให้อยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่งบรรพนี้
นอกจาก มาตรา 1637 และ 1638
มาตรา 1626 เมื่อได้ปฏิบัติตาม มาตรา 1625 (1) แล้ว ให้คิดส่วนแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดย
ธรรมดั่งต่อไปนี้
(1) ทรัพย์มรดกนั้นให้แบ่งแก่ทายาทตามลำดับและชั้นต่างๆ ดั่งที่บัญญัติไว้ใน หมวด 2
แห่งลักษณะนี้
(2) ส่วนแบ่งอันจะได้แก่ทายาทในลำดับและชั้นต่างๆนั้น ให้แบ่งในระหว่างบรรดาทายาท
ในลำดับและชั้นนั้นๆ ดั่งที่บัญญัติไว้ใน หมวด 3 แห่งลักษณะนี้
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน
เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1628 สามีภริยาที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย มิได้สิ้นไป
ซึ่งสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกซึ่งกันและกัน
หมวด 2
การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่างๆ
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละ
ลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่ง
มาตรา 1635
มาตรา 1630 ตราบใดที่มีทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณี ใน
ลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดก
ของผู้ตายเลย
แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมี
ผู้รับมรดกแทนที่กัน แล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดา
ได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร
มาตรา 1631 ในระหว่างผู้สืบสันดานต่างชั้นกันนั้น บุตรของเจ้ามรดกอันอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมี
สิทธิรับมรดก ผู้สืบสันดานที่อยู่ในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่
หมวด 3
การแบ่งส่วนมรดกของทายาทโดยธรรมในลำดับและชั้นต่างๆ
ส่วนที่ 1
ญาติ
มาตรา 1632 ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 1629 วรรคสุดท้าย การแบ่งส่วนมรดกของทายาทโดยธรรม
ในลำดับญาติให้เป็นไปตามบทบัญญัติใน ส่วนที่ 1 แห่งหมวดนี้
มาตรา 1633 ทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันในลำดับหนึ่งๆ ที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะ
ได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลำดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้
รับส่วนแบ่งทั้งหมด
มาตรา 1634 ระหว่างผู้สืบสันดานที่รับมรดกแทนที่กันในส่วนแบ่งของสายหนึ่งๆ ตามบทบัญญัติใน
ลักษณะ 2 หมวด 4 นั้น ให้ได้รับส่วนแบ่งมรดกดั่งนี้
(1) ถ้ามีผู้สืบสันดานต่างชั้นกัน บุตรของผู้ตายซึ่งอยู่ในชั้นสนิทที่สุดเท่านั้นมีสิทธิรับ
มรดก ผู้สืบสันดานในชั้นถัดลงไปจะรับมรดกได้ก็แต่โดยอาศัยสิทธิในการรับมรดกแทนที่
(2) ผู้สืบสันดานในชั้นเดียวกันได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน
(3) ถ้าในชั้นหนึ่งมีผู้สืบสันดานคนเดียว ผู้สืบสันดานคนนั้นมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทั้งหมด
ส่วนที่ 2
คู่สมรส
มาตรา 1635 ลำดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดั่ง
ต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น มีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร
(2) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (3) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่
หรือถ้าไม่มีทายาทตาม มาตรา 1629 (1) แต่มีทายาทตาม มาตรา 1629 (2) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่
ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดกกึ่งหนึ่ง
(3) ถ้ามีทายาทตาม มาตรา 1629 (4) หรือ (6) และทายาทนั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับ
มรดกแทนที่ หรือมีทายาทตาม มาตรา 1629 (5) แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่มีสิทธิได้มรดก
สองส่วนในสาม
(4) ถ้าไม่มีทายาทดั่งที่ระบุไว้ใน มาตรา 1629 คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้รับมรดก
ทั้งหมด
มาตรา 1636 ถ้าเจ้ามรดกมีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ 5 หลายคนยังมีชีวิตอยู่ ภริยาเหล่านั้นทั้งหมดรวมกันมีสิทธิได้รับมรดกตามลำดับชั้นและ
ส่วนแบ่งดั่งระบุไว้ใน มาตรา 1635 แต่ในระหว่างกันเอง ให้ภริยาน้อยแต่ละคนมีสิทธิได้รับมรดก
กึ่งส่วนที่ภริยาหลวงจะพึงได้รับ
มาตรา 1637 ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิต คู่สมรสฝ่ายนั้น
มีสิทธิรับจำนวนเงินทั้งหมดที่ได้ตกลงไว้กับผู้รับประกันภัย แต่จำต้องเอาจำนวนเบี้ยประกันภัยเพียง
เท่าที่พิสูจน์ได้ว่าสูงกว่าจำนวนเงินที่ผู้ตายจะพึงส่งใช้เป็นเบี้ยประกันภัยได้ตามรายได้ หรือฐานะ
ของตนโดยปกติไปชดใช้สินเดิมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งหรือสินสมรส แล้วแต่กรณี
ถึงอย่างไรก็ดี จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งจะพึงส่งคืนตามบทบัญญัติข้างต้นนั้น รวมทั้ง
สิ้นต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชำระให้
มาตรา 1638 เมื่อคู่สมรสทั้งสองฝ่ายได้ลงทุนออกเงินในการทำสัญญาและตามสัญญานั้นทั้งสองฝ่าย
จะต้องได้รับเงินปีในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ร่วมกัน และเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ยังจะ
ต้องได้รับเงินปีต่อไปตลอดอายุ ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่จำต้องชดใช้สินเดิมของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือสินสมรส
แล้วแต่กรณี สุดแต่ว่าได้เอาเงินสินเดิม หรือสินสมรสไปใช้ในการลงทุนนั้น เงินที่จะต้องชดใช้สินเดิม
หรือสินสมรสดั่งว่านี้ ให้ชดใช้เท่าจำนวนเงินซึ่งผู้จ่ายเงินรายปีจะเรียกให้ใช้เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อผู้
จ่ายจะได้จ่ายเงินรายปีให้แก่คู่สมรสฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นต่อไป
หมวด 4
การรับมรดกแทนที่กัน
มาตรา 1639 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตาม มาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย
หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดก
แทนที่ ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน
ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่ง
ของบุคคลเป็นรายๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย
มาตรา 1640 เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความใน มาตรา 65 แห่งประมวลกฎหมายนี้
ให้มีการรับมรดกแทนที่กันได้
มาตรา 1641 ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตาม มาตรา 1629 (2)หรือ (5) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกำจัด
มิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้ามีทายาทในลำดับเดียวกันยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้ส่วนแบ่งทั้งหมดตก
ได้แก่ทายาทนั้นเท่านั้น ห้ามมิให้มีการรับมรดกแทนที่กันต่อไป
มาตรา 1642 การรับมรดกแทนที่กันนั้น ให้ใช้บังคับแต่ในระหว่างทายาทโดยธรรม
มาตรา 1643 สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดั่ง
นั้นไม่
มาตรา 1644 ผู้สืบสันดานจะรับมรดกแทนที่ได้ต่อเมื่อมีสิทธิบริบูรณ์ในการรับมรดก
มาตรา 1645 การที่บุคคลใดสละมรดกของบุคคลอีกคนหนึ่งนั้น ไม่ตัดสิทธิของผู้สละที่จะรับมรดก
แทนที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นในการสืบมรดกบุคคลอื่น
ลักษณะ 3
พินัยกรรม
หมวด 1
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
มาตรา 1646 บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง
หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้
มาตรา 1647 การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้น ย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ใน
พินัยกรรม
มาตรา 1648 พินัยกรรมนั้นต้องทำตามแบบซึ่งระบุไว้ใน หมวด 2 แห่งลักษณะนี้
มาตรา 1649 ผู้จัดการมรดกซึ่งผู้ตายตั้งไว้ย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในอันที่จะจัดการทำศพของผู้ตาย
เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการดั่งว่านั้น
ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพ หรือทายาทมิได้
มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิ
โดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด เป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะ
เห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น
มาตรา 1650 ค่าใช้จ่ายเกิดมีหนี้เป็นคุณแก่บุคคลใดในการจัดทำศพนั้นให้เรียกเอาได้ตามบุริมสิทธิที่
ระบุไว้ใน มาตรา 253 (2) แห่งประมวลกฎหมายนี้
ถ้าการจัดการทำศพ ต้องชักช้าไปด้วยประการใดๆ ให้บุคคลผู้มีอำนาจตามความใน
มาตราก่อนกันเงินเป็นจำนวนอันสมควรจากสินทรัพย์แห่งกองมรดกเพื่อใช้ในการนี้ โดยให้บุคคลผู้
มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องต่อศาลได้ ในกรณีที่ไม่ตกลงหรือคัดค้านการกันเงินจำนวนนั้น
กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม เงินค่าใช้จ่ายหรือเงินที่กันไว้อันเกี่ยวกับการจัดการทำศพนั้น
ให้กันไว้ได้แต่เพียงจำนวนตามสมควรแก่ฐานะในสมาคมของผู้ตาย แต่จะต้องไม่เป็นการเสื่อม
เสียต่อสิทธิของเจ้าหนี้ของผู้ตาย
มาตรา 1651 ภายใต้บังคับบทบัญญัติ ลักษณะ 4
(1) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกทั้งหมดของ
เจ้ามรดก หรือตามเศษส่วน หรือตามส่วนที่เหลือแห่งทรัพย์มรดกซึ่งมิได้แยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษ
จากกองมรดก บุคคลนั้นเรียกว่าผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไป และมีสิทธิและความรับผิดเช่นเดียว
กับทายาทโดยธรรม
(2) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะ
อย่าง ซึ่งเจาะจงไว้โดยเฉพาะ หรือแยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมรดก บุคคลนั้นเรียกว่าผู้รับ
พินัยกรรมลักษณะเฉพาะและมีสิทธิและความรับผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น
ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ
มาตรา 1652 บุคคลผู้อยู่ในความปกครองนั้น จะทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกของตนให้แก่ผู้ปกครอง
หรือคู่สมรส บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือพี่น้องของผู้ปกครองไม่ได้ จนกว่าผู้ปกครองจะได้ทำ
คำแถลงการณ์ปกครองตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1577 และ มาตราต่อๆ ไปแห่งประมวลกฎหมาย
นี้เสร็จสิ้นแล้ว
มาตรา 1653 ผู้เขียน หรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้
ให้ใช้บทบัญญัติในวรรคก่อนบังคับแก่คู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมด้วย
พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้จดข้อความแห่งพินัยกรรมที่พยานนำมาแจ้งตาม มาตรา 1663
ให้ถือว่าเป็นผู้เขียนพินัยกรรมตามความหมายแห่งมาตรานี้
มาตรา 1654 ความสามารถของผู้ทำพินัยกรรมนั้น ให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ทำพินัยกรรมเท่านั้น
ความสามารถของผู้รับพินัยกรรมนั้น ให้พิจารณาแต่ในเวลาที่ผู้ทำพินัยกรรมตายเท่านั้น
หมวด 2
แบบพินัยกรรม
มาตรา 1655 พินัยกรรมนั้นจะทำได้ก็แต่ตามแบบใดแบบหนึ่งดั่งที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้
มาตรา 1656 พินัยกรรมนั้นจะทำตามแบบดั่งนี้ก็ได้ กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะ
ที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยาน
สองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์
เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามแบบอย่างเดียวกับการทำพินัยกรรมตามมาตรานี้
มาตรา 1657 พินัยกรรมนั้นจะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียน
ด้วยมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน
การขูดลบ ตก เติมหรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์
เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ทำด้วยมือตนเอง และลงลายมือชื่อกำกับไว้
บทบัญญัติ มาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พินัยกรรมที่ทำขึ้นตามมาตรานี้
มาตรา 1658 พินัยกรรมนั้นจะทำเป็นเอกสารฝ่ายเมืองก็ได้ กล่าวคือ
(1) ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตนแก่
กรมการอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน
(2) กรมการอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้ และอ่านข้อ
ความนั้นให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานฟัง
(3) เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่าข้อความที่กรมการอำเภอจดนั้นเป็นการ
ถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้ว ให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็น
สำคัญ
(4) ข้อความที่กรมการอำเภอจดไว้นั้น ให้กรมการอำเภอลงลายมือชื่อและลงวัน เดือน
ปี ทั้งจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่าพินัยกรรมนั้นได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติ อนุมาตรา (1)
ถึง (3) ข้างต้น แล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
การขูดลบ ตก เติมหรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้นย่อมไม่สมบูรณ์
เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรม พยานและกรมการอำเภอจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้
มาตรา 1659 การทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองนั้นจะทำนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ เมื่อมีการร้อง
ขอเช่นนั้น
มาตรา 1660 พินัยกรรมนั้นจะทำเป็นเอกสารลับก็ได้ กล่าวคือ
(1) ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
(2) ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมนั้น แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
(3) ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อกรมการอำเภอและพยานอีก
อย่างน้อยสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรม
นั้นผู้ทำพินัยกรรมมิได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนา
ของผู้เขียนให้ทราบด้วย
(4) เมื่อกรมการอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวัน เดือน ปี ที่นำพินัยกรรม
มาแสดงไว้บนซองนั้นและประทับตราตำแหน่งแล้วให้กรมการอำเภอ ผู้ทำพินัยกรรม และพยาน
ลงลายมือชื่อบนซองนั้น
การขูดลบ ตก เติม หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นซึ่งพินัยกรรมนั้น
ย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ผู้ทำพินัยกรรมจะได้ลงลายมือชื่อกำกับไว้
มาตรา 1661 ถ้าบุคคลผู้เป็นทั้งใบ้และหูหนวกหรือผู้ที่พูดไม่ได้มีความประสงค์จะทำพินัยกรรมเป็น
แบบเอกสารลับ ให้ผู้นั้นเขียนด้วยตนเองบนซองพินัยกรรมต่อหน้ากรมการอำเภอและพยานซึ่ง
ข้อความว่าพินัยกรรมที่ผนึกนั้นเป็นของตนแทนการให้ถ้อยคำดั่งที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1660 (3)
และถ้าหากมีผู้เขียน ก็ให้เขียนชื่อกับภูมิลำเนาของผู้เขียนพินัยกรรมนั้นไว้ด้วย
ให้กรมการอำเภอจดลงไว้บนซองเป็นสำคัญว่าผู้ทำพินัยกรรมได้ปฏิบัติตามข้อความใน
วรรคก่อนแล้ว แทนการจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม
มาตรา 1662 พินัยกรรมซึ่งได้ทำเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมืองหรือเอกสารลับนั้น กรมการอำเภอจะเปิดเผย
แก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมจะเรียกให้กรมการ
อำเภอส่งมอบพินัยกรรมนั้นแก่ตนในเวลาใดๆ กรมการอำเภอจำต้องส่งมอบให้
ถ้าพินัยกรรมนั้นทำเป็นแบบเอกสารฝ่ายเมือง ก่อนส่งมอบพินัยกรรม ให้กรมการอำเภอ
คัดสำเนาพินัยกรรมไว้แล้วลงลายมือชื่อประทับตราตำแหน่งเป็นสำคัญ สำเนาพินัยกรรมนั้นจะ
เปิดเผยแก่บุคคลอื่นใดไม่ได้ ในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่
มาตรา 1663 เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้
เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม บุคคลนั้นจะทำพินัยกรรม
ด้วยวาจาก็ได้
เพื่อการนี้ ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อย
สองคนซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
พยานสองคนนั้นต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้าและแจ้งข้อความที่ผู้ทำ
พินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรม และพฤติการณ์
พิเศษนั้นไว้ด้วย
ให้กรมการอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งนั้นไว้ และพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อ
ไว้ หรือมิฉะนั้นจะให้เสมอกับการลงลายมือชื่อได้ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงลาย
มือชื่อรับรองสองคน
มาตรา 1664 ความสมบูรณ์แห่งพินัยกรรมซึ่งทำขึ้นตามมาตราก่อนนั้นย่อมสิ้นไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่ง
เดือนนับแต่เวลาผู้ทำพินัยกรรมกลับมาสู่ฐานะที่จะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้
มาตรา 1665 เมื่อผู้ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อตาม มาตรา 1656 , 1658, 1660 จะให้เสมอกับ
ลงลายมือชื่อได้ ก็แต่ด้วยลงลายพิมพ์นิ้วมือโดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนใน
ขณะนั้น
มาตรา 1666 บทบัญญัติ มาตรา 9 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายนี้ มิให้ใช้บังคับแก่พยานผู้ที่จะต้อง
ลงลายมือชื่อตาม มาตรา 1656 , 1658, 1660
**แก้ไขโดยพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2535 (รจ. เล่ม 109 ตอนที่ 42 วันที่ 8 เมษายน 2535)
มาตรา 1667 เมื่อคนในบังคับไทยจะทำพินัยกรรมในต่างประเทศ พินัยกรรมนั้นอาจทำตามแบบซึ่ง
กฎหมายของประเทศที่ทำพินัยกรรมบัญญัติไว้ หรือตามแบบที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ก็ได้
เมื่อทำพินัยกรรมตามแบบที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้ อำนาจและหน้าที่ของกรมการอำเภอ
ตาม มาตรา 1658 , 1660 , 1661 , 1662 , 1663 ให้ตกแก่บุคคลดั่งต่อไปนี้ คือ
(1) พนักงานทูต หรือกงสุลฝ่ายไทย กระทำการตามขอบอำนาจของตน หรือ
(2) พนักงานใดๆ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายของต่างประเทศนั้นๆ ที่จะรับบันทึกข้อแจ้ง
ความไว้เป็นหลักฐานได้
มาตรา 1668 ผู้ทำพินัยกรรมไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อความในพินัยกรรมนั้นให้พยานทราบ เว้นแต่
กฎหมายจะได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1669 ในระหว่างเวลาที่ประเทศตกอยู่ในภาวะการรบหรือการสงคราม บุคคลที่รับราชการทหาร
หรือทำการเกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหารจะทำพินัยกรรมตามแบบที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 1658
มาตรา 1660 หรือ มาตรา 1663 ก็ได้ ในกรณีเช่นว่านั้นให้นายทหารหรือข้าราชการฝ่ายทหารชั้น
สัญญาบัตรมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอ
บทบัญญัติวรรคก่อนให้นำมาใช้บังคับแก่กรณีที่บุคคลที่รับราชการทหารหรือทำการ
เกี่ยวข้องอยู่กับราชการทหารทำพินัยกรรมในต่างประเทศในระหว่างที่ปฏิบัติการเพื่อประเทศใน
ภาวะการรบหรือการสงครามในต่างประเทศโดยอนุโลม และในกรณีเช่นว่านี้ ให้นายทหารหรือ
ข้าราชการฝ่ายทหารชั้นสัญญาบัตรมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานทูตหรือกงสุลฝ่ายไทย
ถ้าผู้ทำพินัยกรรมตามความในสองวรรคก่อนนั้นป่วยเจ็บหรือต้องบาดเจ็บ และอยู่ใน
โรงพยาบาล ให้แพทย์แห่งโรงพยาบาลนั้นมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับกรมการอำเภอ หรือ
พนักงานทูต หรือกงสุลฝ่ายไทย แล้วแต่กรณีด้วย
**แก้ไขโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ (ฉบับที่ 6 ) พ.ศ. 2495 (รจ. เล่ม 69 ตอนที่ 12 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2495)
มาตรา 1670 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นพยานในการทำพินัยกรรมไม่ได้
(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
(2) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
(3) บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือจักษุบอดทั้งสองข้าง
มาตรา 1671 เมื่อบุคคลใดนอกจากผู้ทำพินัยกรรมเป็นผู้เขียนข้อความแห่งพินัยกรรม บุคคลนั้นต้อง
ลงลายมือชื่อของตนทั้งระบุว่าเป็นผู้เขียน
ถ้าบุคคลนั้นเป็นพยานด้วย ให้เขียนข้อความระบุว่าตนเป็นพยานไว้ต่อท้ายลายมือชื่อ
ของตนเช่นเดียวกับพยานอื่นๆ
มาตรา 1672 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลาโหม และต่างประเทศมีอำนาจและหน้าที่เท่าที่
เกี่ยวกับกระทรวงนั้นๆ ที่จะออกกฎกระทรวงเพื่อให้การเป็นไปตามประมวลกฎหมายบรรพนี้ รวมทั้ง
กำหนดอัตราค่าฤชาธรรมเนียมอันเกี่ยวกับการนั้น
**แก้ไขโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
พ.ศ. 2479 (รจ. เล่ม 53 ตอนที่ 45 วันที่ 22 พฤศจิกายน 2479)
17 พ.ค. 2566
16 พ.ค. 2566
17 พ.ค. 2566
12 พ.ค. 2566