Last updated: 14 พ.ค. 2566 | 245 จำนวนผู้เข้าชม |
กฎหมายแพ่งและพานิชย์
ลักษณะ 22
หมวด 4
บริษัทจำกัด
ส่วนที่ 1
สภาพและการตั้งบริษัทจำกัด
มาตรา 1096 อันว่าบริษัทจำกัดนั้น คือ บริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน
โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ
**แก้ไขโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 (รจ. เล่ม 109 ตอนที่ 43 วันที่ 8 เมษายน 2535)
"มาตรา 1096 ทวิ (ยกเลิกโดย มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวล
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 (รจ. เล่ม 109 ตอนที่ 43 วันที่ 8 เมษายน 2535)
มาตรา 1097 บุคคลใด ๆ ตั้งแต่สามคนขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ โดยเข้าชื่อกัน
ทำหนังสือบริคณห์สนธิ และกระทำการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
*แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18)
พ.ศ. 2551
มาตรา 1098 หนังสือบริคณห์สนธินั้นต้องมีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ
(1) ชื่อบริษัทอันคิดจะตั้งขึ้น ซึ่งต้องมีคำว่า "จำกัด" ไว้ปลายชื่อนั้นด้วยเสมอไป
(2) ที่สำนักงานของบริษัทซึ่งบอกทะเบียนนั้นจะตั้งอยู่ ณ ที่ใดในพระ ราชอาณาเขต
(3) วัตถุที่ประสงค์ทั้งหลายของบริษัท
(4) ถ้อยคำสำแดงว่า ความรับผิดของผู้ถือหุ้นจะมีจำกัด
(5) จำนวนทุนเรือนหุ้นซึ่งบริษัทคิดกำหนดจะจดทะเบียนแบ่งออกเป็นหุ้นมีมูลค่า
กำหนดหุ้นละเท่าไร
(6) ชื่อ สำนัก อาชีวะ และลายมือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการ ทั้งจำนวนหุ้นซึ่งต่างคน
ต่างเข้าชื่อซื้อไว้คนละเท่าใด
มาตรา 1099 หนังสือบริคณห์สนธินั้น ท่านให้ทำเป็นต้นฉบับไว้ไม่น้อยกว่าสองฉบับ และให้ลงลาย
มือชื่อของบรรดาผู้เริ่มก่อการ และลายมือชื่อทั้งปวงนั้นให้มีพยานลงชื่อรับรองด้วยสองคน
หนังสือบริคณห์สนธิซึ่งได้ทำนั้น ท่านบังคับให้นำฉบับหนึ่งไปจดทะเบียนและมอบไว้ ณ
หอทะเบียนในส่วนพระราชอาณาเขตซึ่งบ่งไว้ว่าจะบอกทะเบียนตั้งสำนักงานของบริษัทนั้น
มาตรา 1100 ผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องลงชื่อซื้อหุ้นๆ หนึ่งเป็นอย่างน้อย
มาตรา 1101 บุคคลซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทจำกัดจะรับผิดโดยไม่จำกัดก็ได้ ถ้ากรณีเป็นเช่นนั้นไซร้
ท่านว่าต้องจดแถลงความรับผิดเช่นนั้นลงไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิด้วย
อันความรับผิดโดยไม่จำกัดของผู้เป็นกรรมการนั้น ย่อมถึงที่สุดเมื่อล่วงเวลาสองปีนับแต่
วันที่ตัวเขาออกจากตำแหน่งกรรมการ
มาตรา 1102 ห้ามมิให้ชี้ชวนประชาชนให้ซื้อหุ้น
**แก้ไขโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2521 (รจ. เล่ม 95 ตอนที่ 149 วันที่ 25 ธันวาคม 2521)
มาตรา 1103 (ยกเลิก)
**ยกเลิกโดย มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2521 (รจ. เล่ม 95 ตอนที่ 149 วันที่ 25 ธันวาคม 2521)
มาตรา 1104 จำนวนหุ้นทั้งหมดซึ่งบริษัทคิดจะจดทะเบียนนั้น ต้องมีผู้เข้าชื่อซื้อหรือออกให้กันเสร็จ
ก่อนการจดทะเบียนของบริษัท
มาตรา 1105 อันหุ้นนั้น ท่านห้ามมิให้ออกโดยราคาต่ำไปกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้
การออกหุ้นโดยราคาสูงกว่ามูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้นั้น หากว่าหนังสือบริคณห์สนธิให้
อำนาจไว้ ก็ให้ออกได้ และในกรณีเช่นนั้น ต้องส่งใช้จำนวนที่ล้ำมูลค่าพร้อมกันไปกับการส่งใช้
เงินคราวแรก
อนึ่ง เงินส่งใช้ค่าหุ้นคราวแรกนั้น ต้องมิให้น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าแห่งมูลค่าของหุ้นที่
ตั้งไว้
มาตรา 1106 การที่เข้าชื่อซื้อหุ้นนั้น ย่อมผูกพันผู้เข้าชื่อโดยเงื่อนไขว่าถ้าบริษัทตั้งขึ้นแล้ว จะใช้
จำนวนเงินค่าหุ้นนั้นๆ ให้แก่บริษัทตามหนังสือชี้ชวนและข้อบังคับของบริษัท
มาตรา 1107 เมื่อหุ้นชนิดซึ่งจะต้องลงเงินนั้นได้มีผู้เข้าชื่อซื้อหมดแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องนัดบรรดา
ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นมาประชุมกันเป็นการประชุมใหญ่โดยไม่ชักช้า ประชุมอันนี้ให้เรียกว่าประชุมตั้ง
บริษัท
อนึ่ง ให้ผู้เริ่มก่อการส่งรายงานการตั้งบริษัทมีคำรับรองของตนว่าถูกต้อง และมีข้อความที่
เกี่ยวแก่กิจการอันจะพึงกระทำในที่ประชุมตั้งบริษัททุกๆ ข้อตามความในมาตราต่อไปนี้ไปยังผู้เข้า
ชื่อซื้อหุ้นทุกคนอย่างน้อยเจ็ดวันก่อนวันนัดประชุม
เมื่อได้ส่งรายงานตั้งบริษัทแก่ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นแล้ว ผู้เริ่มก่อการต้องจัดส่งสำเนารายงาน
อันมีคำรับรองว่าถูกต้องตามที่บังคับไว้ในมาตรานี้ไปยังนายทะเบียนบริษัทโดยพลัน
อนึ่ง ให้ผู้เริ่มก่อการจัดให้มีบัญชีแถลงรายชื่อ ฐานะ และสำนักของผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นกับ
จำนวนหุ้นซึ่งต่างคนได้ลงชื่อซื้อไว้เพื่อเสนอต่อที่ประชุมนั้นด้วย
บทบัญญัติทั้งหลายแห่ง มาตรา 1176 ,1187,1188, 1189,1191,1192 และ 1195 นั้น
ท่านให้นำมาใช้บังคับแก่การประชุมตั้งบริษัทด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 1108 กิจการอันจะพึงทำในที่ประชุมตั้งบริษัทนั้น คือ
(1) ทำความตกลงตั้งข้อบังคับต่าง ๆ ของบริษัท ทั้งนี้ อาจกำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาหรือ
ข้อขัดแย้งที่ไม่สามารถหาข้อยุติระหว่างกรรมการหรือผู้ถือหุ้นไว้ด้วยก็ได้
(2) ให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาซึ่งผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้ และค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งอย่างใด
ซึ่งเขาต้องออกไปในการเริ่มก่อบริษัท
(3) วางกำหนดจำนวนเงินซึ่งจะให้แก่ผู้เริ่มก่อการ ถ้าหากมีเจตนาว่าจะให้
(4) วางกำหนดจำนวนหุ้นบุริมสิทธิ ทั้งกำหนดสภาพและบุริมสิทธิแห่งหุ้นนั้นๆ ว่าเป็น
สถานใดเพียงใดถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท
(5) วางกำหนดจำนวนหุ้นสามัญ หรือหุ้นบุริมสิทธิซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่า
แล้ว หรือได้ใช้แต่บางส่วนแล้วเพราะใช้ให้ด้วยอย่างอื่นนอกจากตัวเงินและกำหนดว่าเพียงใดซึ่ง
จะถือว่าเอาเป็นว่าได้ใช้เงินแล้ว ถ้าหากจะมีหุ้นเช่นนั้นในบริษัท
ให้แถลงในที่ประชุมโดยเฉพาะว่าซึ่งจะออกหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิให้เหมือนหนึ่งว่า
ได้ใช้เงินแล้วเช่นนั้น เพื่อแทนคุณแรงงาน หรือตอบแทนทรัพย์สินอย่างใด ให้พรรณนาจงชัดเจน
ทุกประการ
(6) เลือกตั้งกรรมการและพนักงานสอบบัญชีอันเป็นชุดแรกของบริษัท และวางกำหนด
อำนาจของคนเหล่านี้ด้วย
*มาตรา 1108 (1) แก้ไขโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560
มาตรา 1109 ผู้เริ่มก่อการหรือผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นจะออกเสียงลงคะแนนไม่ได้ ถ้าตนมีส่วนได้เสียโดยพิเศษ
ในปัญหาที่ยกขึ้นวินิจฉัยนั้น
อนึ่ง มติของที่ประชุมตั้งบริษัทย่อมไม่สมบูรณ์ เว้นแต่ที่ประชุมจะได้ลงมติโดยเสียงข้าง
มากอันมีคะแนนของผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทั้งหมดซึ่งมีสิทธิ
ลงคะแนนได้ และคิดตามจำนวนหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นนั้นๆ ทั้งหมด
ด้วยกัน
มาตรา 1110 เมื่อได้ประชุมตั้งบริษัทแล้ว ให้ผู้เริ่มก่อการบริษัทมอบการทั้งปวงให้แก่กรรมการของ
บริษัท
เมื่อกรรมการได้รับการแล้ว ก็ให้ลงมือจัดการเรียกให้ผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทั้ง
หลายใช้เงินในหุ้นซึ่งจะต้องใช้เป็นตัวเงิน เรียกหุ้นหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าตามที่ได้กำหนด
ไว้ในหนังสือชี้ชวนบอกกล่าวป่าวร้อง หรือหนังสือชวนให้ซื้อหุ้น
มาตรา 1111 เมื่อจำนวนเงินซึ่งว่าไว้ใน มาตรา 1110 ได้ใช้เสร็จแล้ว กรรมการต้องไปขอจดทะเบียน
บริษัทนั้น
คำขอและข้อความที่ลงในทะเบียนนั้น ให้ระบุรายการตามที่ได้ตกลงกันในที่ประชุมตั้ง
บริษัท ดั่งต่อไปนี้คือ
(1) จำนวนหุ้นทั้งสิ้นซึ่งได้มีผู้เข้าชื่อซื้อ หรือได้จัดออกให้แล้ว แยกให้ปรากฏว่าเป็น
ชนิดหุ้นสามัญเท่าใดหุ้นบุริมสิทธิเท่าใด
(2) จำนวนหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิ ซึ่งออกให้เหมือนหนึ่งว่าได้ใช้เต็มค่าแล้ว หรือได้
ใช้แต่บางส่วนแล้ว นอกจากที่ใช้เป็นตัวเงิน และหุ้นที่ได้ใช้แต่บางส่วนนั้น ให้บอกว่าได้ใช้แล้ว
เพียงใด
(3) จำนวนเงินที่ได้ใช้แล้วหุ้นละเท่าใด
(4) จำนวนเงินที่ได้รับไว้เป็นค่าหุ้นรวมทั้งสิ้นเท่าใด
(5) ชื่อ อาชีวะ และที่สำนักของกรรมการทุกคน
(6) ถ้าให้กรรมการต่างมีอำนาจจัดการของบริษัทได้โดยลำพังตัว ให้แสดงอำนาจของ
กรรมการนั้นๆ ว่าคนใดมีเพียงใด และบอกจำนวนหรือชื่อกรรมการซึ่งจะลงชื่อเป็นสำคัญผูกพัน
บริษัทได้นั้นด้วย
(7) ถ้าตั้งบริษัทขึ้นชั่วกาลกำหนดอันหนึ่ง ให้บอกกาลกำหนดอันนั้นด้วย
(8) ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสาขาทั้งปวง
การลงทะเบียนจะมีรายการอย่างอื่นซึ่งกรรมการเห็นสมควรจะให้ทราบแก่ประชาชนก็
ลงได้
ในการขอจดทะเบียนนั้น ถ้าได้ทำข้อบังคับของบริษัทไว้ประการใดบ้าง ต้องส่งสำเนา
ข้อบังคับนั้นๆ ไปด้วย กับทั้งสำเนารายงานการประชุมตั้งบริษัท หนังสือทั้งสองนี้กรรมการต้อง
ลงลายมือชื่อรับรองคนหนึ่งเป็นอย่างน้อย
*ยกเลิกวรรคห้าของมาตรา 1111 โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง
และพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551
ให้พนักงานทะเบียนทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่บริษัทฉบับหนึ่ง
“มาตรา 1111/1 ในการจัดตั้งบริษัท ถ้าได้ดำเนินการครบทุกขั้นตอนดังต่อไปนี้ภายใน
วันเดียวกับวันที่ผู้เริ่มก่อการจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กรรมการจะขอจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ
และจดทะเบียนบริษัทไปพร้อมกันภายในวันเดียวกันก็ได้
(1) จัดให้มีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นครบตามจำนวนหุ้นทั้งหมดที่บริษัทจะจดทะเบียน
(2) ประชุมจัดตั้งบริษัทเพื่อพิจารณากิจการต่าง ๆ ตามมาตรา 1108 โดยมีผู้เริ่มก่อการและ
ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนเข้าร่วมประชุม และผู้เริ่มก่อการและผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นทุกคนให้ความเห็นชอบ
ในกิจการที่ได้ประชุมกันนั้น
(3) ผู้เริ่มก่อการได้มอบกิจการทั้งปวงให้แก่กรรมการ
(4) กรรมการได้เรียกให้ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นใช้เงินค่าหุ้นตามมาตรา 1110 วรรคสอง และเงินค่าหุ้น
ดังกล่าวได้ใช้เสร็จแล้ว”
“มาตรา 1111/1 เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2551
มาตรา 1112 ถ้าการจดทะเบียนมิได้ทำภายในสามเดือนนับแต่ประชุมตั้งบริษัทไซร้ ท่านว่าบริษัทนั้น
เป็นอันไม่ได้ตั้งขึ้น และบรรดาเงินที่ได้รับไว้จากผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นนั้นต้องใช้คืนเต็มจำนวนมิให้ลดเลย
ถ้ามีจำนวนเงินเช่นว่านั้นค้างอยู่มิได้คืนในสามเดือนภายหลังการประชุมตั้งบริษัทไซร้
ท่านว่ากรรมการของบริษัทต้องรับผิดร่วมกันที่จะใช้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาสิ้น
กำหนดสามเดือนนั้น
แต่ถ้ากรรมการคนใดพิสูจน์ได้ว่า การที่เงินขาดหรือที่ใช้คืนช้าไปมิได้เป็นเพราะความผิด
ของตนไซร้ กรรมการคนนั้นก็ไม่ต้องรับผิดในการใช้ต้นเงินหรือดอกเบี้ย
มาตรา 1113 ผู้เริ่มก่อการบริษัทต้องรับผิดร่วมกันและโดยไม่จำกัดในบรรดาหนี้และการจ่ายเงินซึ่งที่
ประชุมตั้งบริษัทมิได้อนุมัติ และแม้จะได้มีอนุมัติก็ยังคงต้องรับผิดอยู่เช่นนั้นไปจนกว่าจะได้จด
ทะเบียนบริษัท
มาตรา 1114 เมื่อบริษัทได้จดทะเบียนแล้ว ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นจะร้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการที่ตนได้
เข้าชื่อซื้อโดยยกเหตุว่าสำคัญผิด หรือต้องข่มขู่ หรือถูกลวงล่อฉ้อฉลนั้น ท่านว่าหาอาจทำได้ไม่
มาตรา 1115 ถ้าหากว่าชื่อบริษัทซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิพ้องกับชื่อบริษัทอื่นซึ่งได้จดทะเบียน
แล้วก็ดี หรือพ้องกับชื่อซึ่งตั้งไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิฉบับอื่นอันได้จดทะเบียนแล้วก็ดี หรือ
คล้ายคลึงกับชื่อเช่นกล่าวนั้นจนน่าจะลวงให้มหาชนหลงไปได้ก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้ที่มีส่วนได้เสีย
คนหนึ่งคนใดจะฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เริ่มก่อการบริษัทก็ได้ และจะร้องขอให้ศาลสั่ง
บังคับให้เปลี่ยนชื่อนั้นเสียใหม่ก็ได้
เมื่อศาลมีคำสั่งเช่นนั้นแล้ว ก็ต้องบอกชื่อซึ่งเปลี่ยนใหม่นั้นจดลงทะเบียนแทนชื่อเก่า
และต้องแก้ใบสำคัญการจดทะเบียนด้วยตามกันไป
มาตรา 1116 บุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งประสงค์จะได้สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ
บรรดามีในบริษัทหนึ่งบริษัทใด ก็ชอบที่จะเรียกได้จากบริษัทนั้น ในการนี้บริษัทจะเรียกเอาเงิน
ไม่เกินฉบับละสิบบาทก็ได้
“แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
ส่วนที่ 2
หุ้นและผู้ถือหุ้น
มาตรา 1117 มูลค่าของหุ้นๆ หนึ่งนั้น มิให้ต่ำกว่าห้าบาท
**แก้ไขโดย มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2477 (ฉบับที่ 2 ) (รจ. เล่ม 52 ตอนที่ 3 วันที่ 21 เมษายน 2478)
มาตรา 1118 อันหุ้นนั้น ท่านว่าจะแบ่งแยกหาได้ไม่ ถ้าบุคคลมีจำนวนแต่สองคนขึ้นไปถือหุ้นๆเดียวร่วม
กัน ท่านว่าต้องตั้งให้คนใดคนหนึ่งในจำนวนนั้นแต่คนเดียวเป็นผู้ใช้สิทธิในฐานเป็นผู้ถือหุ้น
อนึ่ง บุคคลทั้งหลายซึ่งถือหุ้นๆ เดียวร่วมกัน ต้องร่วมกันรับผิดต่อบริษัทในการส่งใช้
มูลค่าของหุ้น
มาตรา 1119 หุ้นทุกๆ หุ้นจำต้องให้ใช้เป็นเงินจนเต็มค่า เว้นแต่หุ้นซึ่งออกตามบทบัญญัติ มาตรา 1108
อนุมาตรา (5) หรือ มาตรา 1221
ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่
มาตรา 1120 บรรดาเงินค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีกนั้น กรรมการจะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้
เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น
มาตรา 1121 การเรียกเงินค่าหุ้นแต่ละคราวนั้น ท่านบังคับว่าให้ส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า
ยี่สิบเอ็ดวันด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์และผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องใช้เงินตามจำนวนที่
เรียกนั้น สุดแต่กรรมการจะได้กำหนดไปว่าให้ส่งไปยังผู้ใด ณ ที่ใด และเวลาใด
มาตรา 1122 ถ้าและเงินอันจะพึงส่งใช้เป็นค่าหุ้นตามเรียกนั้น ผู้ถือหุ้นคนใดมิได้ส่งใช้ตามวัน
กำหนดไซร้ ผู้นั้นจำต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดให้ส่งใช้จนถึงวันที่ได้ส่งเสร็จ
มาตรา 1123 ถ้าผู้ถือหุ้นคนใดละเลยไม่ส่งใช้เงินที่เรียกค่าหุ้นตามวันกำหนด กรรมการจะส่งคำบอก
กล่าวด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้นั้นให้ส่งใช้เงินที่เรียกกับทั้งดอกเบี้ยด้วยก็ได้
ในคำบอกกล่าวอันนี้ ให้กำหนดเวลาไปพอสมควรเพื่อให้ใช้เงินที่เรียกกับทั้งดอกเบี้ย
และต้องบอกไปด้วยว่าให้ส่งใช้ ณ สถานที่ใด อนึ่ง ในคำบอกกล่าวนั้นจะแจ้งไปด้วยก็ได้ว่าถ้าไม่
ใช้เงินตามเรียก หุ้นนั้นอาจจะถูกริบ
มาตรา 1124 ถ้าในคำบอกกล่าวมีข้อแถลงความถึงการริบหุ้นด้วยแล้ว หากเงินค่าหุ้นที่เรียกกับทั้ง
ดอกเบี้ย ยังคงค้างชำระอยู่ตราบใดกรรมการจะบอกริบหุ้นนั้นๆ เมื่อใดก็ได้
มาตรา 1125 หุ้นซึ่งริบแล้วนั้นให้เอาออกขายทอดตลาดโดยไม่ชักช้า ได้จำนวนเงินเท่าใด ให้เอาหักใช้
ค่าหุ้นที่เรียกกับดอกเบี้ยค้างชำระ ถ้ายังมีเงินเหลือเท่าใดต้องส่งคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้น
มาตรา 1126 แม้ว่าวิธีการริบหุ้นขายหุ้นจะไม่ถูกต้องด้วยระเบียบก็ดี ท่านว่าหาเหตุให้สิทธิของผู้ซื้อหุ้น
ซึ่งริบนั้นเสื่อมเสียไปอย่างไรไม่
มาตรา 1127 ให้บริษัททำใบหุ้น คือใบสำคัญสำหรับหุ้นใบหนึ่งหรือหลายใบ มอบให้เป็นคู่มือแก่ผู้ถือหุ้น
จงทุกๆ คน
เมื่อมอบใบหุ้นนั้น จะเรียกค่าธรรมเนียมก็ได้ สุดแต่กรรมการจะกำหนด แต่มิให้เกินสิบบาท
“วรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2548”
มาตรา 1128 ในใบหุ้นทุก ๆ ใบให้กรรมการอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อเป็นสำคัญ
ในใบหุ้นนั้นต้องมีข้อความต่อไปนี้ คือ
(1) ชื่อบริษัท
(2) เลขหมายหุ้นที่กล่าวถึงในใบหุ้นนั้น
(3) มูลค่าหุ้นหนึ่งเป็นเงินเท่าใด
(4) ถ้าและเป็นหุ้นที่ยังไม่ได้ใช้เงินเสร็จ ให้จดลงว่าได้ใช้เงินค่าหุ้น แล้วหุ้นละเท่าใด
(5) ชื่อผู้ถือหุ้น หรือคำแถลงว่าได้ออกใบหุ้นนั้นให้แก่ผู้ถือ
*มาตรา 1128 วรรคหนึ่ง แก้ไขโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560
มาตรา 1129 อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้น
ชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอน
กับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นๆ ด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ
อนึ่ง ตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย
การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอน
ทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น
มาตรา 1130 หุ้นใดเงินที่เรียกค่าหุ้นยังค้างชำระอยู่ หุ้นนั้นบริษัทจะไม่ยอมรับจดทะเบียนให้โอนก็ได้
มาตรา 1131 ในระหว่างสิบสี่วันก่อนการประชุมใหญ่สามัญ บริษัทจะปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น
เสียก็ได้
มาตรา 1132 ในเหตุบางอย่างเช่นผู้ถือหุ้นตายก็ดีหรือล้มละลายก็ดี อันเป็นเหตุให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิ
จะได้หุ้นขึ้นนั้น หากว่าบุคคลนั้นนำใบหุ้นมาเวนคืน เมื่อเป็นวิสัยจะทำได้ ทั้งได้นำหลักฐานอัน
สมควรมาแสดงด้วยแล้ว ก็ให้บริษัทรับบุคคลนั้นลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นสืบไป
มาตรา 1133 หุ้นซึ่งโอนกันนั้น ถ้าเป็นหุ้นอันยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้น ท่านว่าผู้โอนยังคงต้อง
รับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้น แต่ว่า
(1) ผู้โอนไม่ต้องรับผิดในหนี้อันหนึ่งอันใดของบริษัทซึ่งได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังโอน
(2) ผู้โอนไม่ต้องรับผิดออกส่วนใช้หนี้ เว้นแต่ความปรากฏขึ้นแก่ศาลว่าบรรดาผู้ที่ยังถือ
หุ้นของบริษัทอยู่นั้นไม่สามารถออกส่วนใช้หนี้อันเขาจะพึงต้องออกใช้นั้นได้
ในข้อความรับผิดเช่นว่ามานั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้โอน เมื่อพ้นสองปีนับแต่ได้จดแจ้ง
การโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น
มาตรา 1134 ใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้น จะออกได้ก็แต่เมื่อมีข้อบังคับของบริษัทอนุญาตไว้ และจะออก
ให้ได้แต่เฉพาะเพื่อหุ้นซึ่งได้ใช้เต็มค่าแล้ว ในกรณีเช่นว่านี้ผู้ทรงใบหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมมีสิทธิจะได้
รับใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ เมื่อเวนคืนใบหุ้นชนิดระบุชื่อนั้นให้ขีดฆ่าเสีย
มาตรา 1135 หุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้เพียงด้วยส่งมอบใบหุ้นแก่กัน
มาตรา 1136 ผู้ทรงใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือย่อมมีสิทธิจะมาขอเปลี่ยนเอาใบหุ้นชนิดระบุชื่อได้ เมื่อ
เวนคืนใบหุ้นฉบับออกให้แก่ผู้ถือนั้นให้ขีดฆ่าเสีย
มาตรา 1137 ถ้าข้อบังคับของบริษัทมีกำหนดไว้เป็นองค์คุณอันหนึ่งสำหรับผู้จะเป็นกรรมการว่าจำจะ
ต้องเป็นผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนเท่าหนึ่งเท่าใดไซร้ หุ้นเช่นนี้ท่านว่าต้องเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อ
มาตรา 1138 บริษัทจำกัดต้องมีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นมีรายการดั่งต่อไปนี้ คือ
(1) ชื่อและสำนัก กับอาชีวะ ถ้าว่ามีของผู้ถือหุ้น ข้อแถลงเรื่องหุ้นของผู้ถือหุ้นคนหนึ่งๆ
แยกหุ้นออกตามเลขหมายและจำนวนเงินที่ได้ใช้แล้ว หรือที่ได้ตกลงกันให้ถือว่าเป็นอันได้ใช้แล้ว
ในหุ้นของผู้ถือหุ้นคนหนึ่งๆ
(2) วันเดือนปีซึ่งได้ลงทะเบียนบุคคลผู้หนึ่งๆ เป็นผู้ถือหุ้น
(3) วันเดือนปีซึ่งบุคคลคนใดคนหนึ่งขาดจากเป็นผู้ถือหุ้น
(4) เลขหมายใบหุ้นและวันที่ลงในใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ และเลขหมายของหุ้นซึ่ง
ได้ลงไว้ในใบหุ้นนั้นๆ
(5) วันที่ได้ขีดฆ่าใบหุ้นชนิดระบุชื่อ หรือชนิดออกให้แก่ผู้ถือ
มาตรา 1139 สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเริ่มแต่วันจดทะเบียนบริษัทนั้น ให้รักษาไว้ ณ สำนักงานของบริษัท
แห่งที่ได้บอกทะเบียนไว้ สมุดทะเบียนนี้ให้เปิดให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งหลายดูได้ในระหว่างเวลาทำการ
โดยไม่เรียกค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งอย่างใด แต่กรรมการจะจำกัดเวลาลงไว้อย่างไรพอสมควรก็ได้
หากไม่น้อยกว่าวันละสองชั่วโมง
ให้เป็นหน้าที่ของกรรมการที่จะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดใน
เวลาที่ประชุม และรายชื่อผู้ที่ขาดจากเป็นผู้ถือหุ้นจำเดิมแต่วันประชุมสามัญครั้งที่แล้วมานั้นไป
ยังนายทะเบียนอย่างน้อยปีละครั้ง และมิให้ช้ากว่าวันที่สิบสี่นับแต่การประชุมสามัญ บัญชีราย
ชื่อนี้ให้มีรายการบรรดาที่ระบุไว้ในมาตราก่อนนั้นทุกประการ
มาตรา 1140 ผู้ถือหุ้นชอบที่จะเรียกให้ส่งสอบสำเนาทะเบียนเช่นว่านั้นหรือแต่ตอนหนึ่งตอนใดแก่ตนได้
เมื่อเสียค่าสำเนาแต่ไม่เกินหน้าละห้าบาท
“แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
มาตรา 1141 สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องใน
ข้อกระทงความบรรดาที่กฎหมายบังคับ หรือให้อำนาจให้เอาลงในทะเบียนนั้น
มาตรา 1142 ถ้าบริษัทได้ออกหุ้นบุริมสิทธิไปแล้ว ได้กำหนดไว้ว่าบุริมสิทธิจะมีแก่หุ้นนั้นๆ เป็นอย่างไร
ท่านห้ามมิให้แก้ไขอีกเลย
มาตรา 1143 ห้ามมิให้บริษัทจำกัดเป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเอง หรือรับจำนำหุ้นของตนเอง
12 พ.ค. 2566
17 พ.ค. 2566
17 พ.ค. 2566
17 พ.ค. 2566