กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ3 ลักษณะ20หมวด3 ลักษณะ21หมวด1,2,

Last updated: 14 พ.ค. 2566  |  311 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ3 ลักษณะ20หมวด3 ลักษณะ21หมวด1,2,

              กฎหมายแพ่งและพานิชย์

               ลักษณะ20

               หมวด 3
               ประกันชีวิต
 
               มาตรา 889 ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของ
บุคคลคนหนึ่ง
               มาตรา 890 จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียวหรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแล้ว
แต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา
               มาตรา 891 แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่
จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย
ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้ว
ว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
               ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยได้ทำเป็นรูปให้ใช้เงินตามเขาสั่งแล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติ
มาตรา 309 มาใช้บังคับ
               มาตรา 892 ในกรณีบอกล้างสัญญาตามความใน มาตรา 865  ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอน
กรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือทายาทของผู้นั้น
               มาตรา 893 การใช้เงินอาศัยเหตุความทรงชีพ  หรือมรณะของบุคคลผู้ใด แม้ได้แถลงอายุของบุคคล
ผู้นั้นได้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ได้กำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยไว้ต่ำไซร้ ท่านให้ลด
จำนวนเงินอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้นั้นลงตามส่วน
               แต่ถ้าผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่า ในขณะที่ทำสัญญานั้นอายุที่ถูกต้องแท้จริงอยู่นอกจำกัด
อัตราตามทางค้าปกติของเขาแล้ว ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
               มาตรา 894 ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยเสียในเวลาใดๆ  ก็ได้ด้วยการงดไม่ส่ง
เบี้ยประกันภัยต่อไป  ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปีไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัย
ชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย
               มาตรา 895 เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัย
จำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
               (1)  บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ
               (2)  บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
               ในกรณีที่ 2 นี้   ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอา
ประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น
               มาตรา 896 ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะเรียกเอา
ค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่า
สินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจำนวนเงินอันพึงจะใช้ตามสัญญา
ประกันชีวิตนั้น  จะหวนกลับมาได้แก่ตนด้วย
               มาตรา 897 ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าเมื่อตนถึงซึ่งความมรณะ  ให้ใช้เงิน
แก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้  จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น
ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้
               ถ้าได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่าให้ใช้เงินแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
ท่านว่าเฉพาะแต่จำนวนเงินเบี้ยประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยได้ส่งไปแล้วเท่านั้น จักเป็นสินทรัพย์
ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัยอันเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้

              ลักษณะ 21
               ตั๋วเงิน
               หมวด 1
               บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
 
               มาตรา 898 อันตั๋วเงินตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้มีสามประเภทๆ หนึ่งคือ ตั๋วแลกเงิน
ประเภทหนึ่งคือตั๋วสัญญาใช้เงิน ประเภทหนึ่งคือเช็ค
               มาตรา 899 ข้อความอันใดซึ่งมิได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะนี้ ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน
ท่านว่าข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่
               มาตรา 900 บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น
               ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น แกงได หรือลายพิมพ์นิ้วมือ  อ้างเอา
เป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินไซร้  แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือ
ชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่
               มาตรา 901 ถ้าบุคคลคนใดลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงิน  และมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทน
บุคคลอีกคนหนึ่งไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นย่อมเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น
               มาตรา 902 ถ้าตั๋วเงินลงลายมือชื่อของบุคคลหลายคน  มีทั้งบุคคลซึ่งไม่อาจจะเป็นคู่สัญญาแห่ง
ตั๋วเงินนั้นได้เลย  หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผลไซร้ ท่านว่าการนี้ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของ
บุคคลอื่นๆ  นอกนั้น ซึ่งคงต้องรับผิดตามตั๋วเงิน
               มาตรา 903 ในการใช้เงินตามตั๋วเงิน  ท่านมิให้ให้วันผ่อน
               มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น  หมายความว่า  บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงิน หรือ
เป็นผู้รับสลักหลัง  ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน
               มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครอง ถ้าแสดงให้
ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักหลังลอยก็ตาม
ท่านให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตาม
หลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้ที่ลงลายมือชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ซึ่งตั๋วเงินด้วย
การสลักหลังลอย อนึ่ง คำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียแล้ว  ท่านให้ถือว่าเสมือนว่ามิได้มีเลย
               ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏ
สิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดั่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มา
โดยทุจริต หรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
               อนึ่ง ข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย
               มาตรา 906 คำว่าคู่สัญญาคนก่อนๆ นั้น  รวมทั้งผู้สั่งจ่ายหรือผู้ออกตั๋วเงิน และผู้สลักหลังคนก่อนๆด้วย
               มาตรา 907 เมื่อใดไม่มีที่ในตั๋วเงินซึ่งจะสลักหลังได้ต่อไปไซร้ ท่านอนุญาตให้เอากระดาษแผ่นหนึ่ง
ผนึกต่อเข้ากับตั๋วเงินเรียกว่าใบประจำต่อ  นับเป็นส่วนหนึ่งแห่งตั๋วเงินนั้น
               การสลักหลังในใบประจำต่อครั้งแรก ต้องเขียนคาบบนตั๋วเงินเดิมบ้าง บนใบประจำต่อบ้าง
 
               หมวด 2
               ตั๋วแลกเงิน
               ส่วนที่ 1
               การออกและการสลักหลังตั๋วเงิน
 
               มาตรา 908 อันว่าตั๋วแลกเงินนั้น  คือหนังสือตราสาร ซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้สั่งจ่าย สั่งบุคคลอีก
คนหนึ่งเรียกว่าผู้จ่าย ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลคน
หนึ่งซึ่งเรียกว่าผู้รับเงิน
               มาตรา 909 อันตั๋วแลกเงินนั้น  ต้องมีรายการดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (1)  คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน
               (2)  คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนแน่นอน
               (3)  ชื่อ หรือยี่ห้อผู้จ่าย
               (4)  วันถึงกำหนดใช้เงิน
               (5)  สถานที่ใช้เงิน
               (6)  ชื่อ หรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ
               (7)  วันและสถานที่ออกตั๋วเงิน
               (8)  ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย
               มาตรา 910 ตราสารอันมีรายการขาดตกบกพร่องไปจากที่ท่านระบุบังคับไว้ในมาตราก่อนนี้ ย่อมไม่
สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน  เว้นแต่กรณีดั่งจะกล่าวดังต่อไปนี้ คือ
               ตั๋วแลกเงินซึ่งไม่ระบุเวลาใช้เงิน ท่านให้ถือว่าพึงใช้เงินเมื่อได้เห็น
               ถ้าสถานที่ใช้เงินมิได้แถลงไว้ในตั๋วแลกเงิน  ท่านให้ถือเอาภูมิลำเนาของผู้จ่ายเป็น
สถานที่ใช้เงิน
               ถ้าตั๋วแลกเงินไม่แสดงให้ปรากฏสถานที่ออกตั๋ว  ท่านให้ถือว่าตั๋วเงินนั้นได้ออก ณ
ภูมิลำเนาของผู้สั่งจ่าย
               ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว  ท่านว่าผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริต
จะจดวันตามที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้
               มาตรา 911 ผู้สั่งจ่ายจะเขียนข้อความกำหนดลงไว้ว่าจำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นให้คิดดอกเบี้ยด้วยก็ได้
และในกรณีเช่นนั้น ถ้ามิได้กล่าวลงไว้เป็นอย่างอื่น  ท่านว่าดอกเบี้ยย่อมคิดแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน
               มาตรา 912 อันตั๋วแลกเงินนั้น  จะออกสั่งให้ใช้เงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายก็ได้
               อนึ่ง จะสั่งจ่ายเอาจากตัวผู้สั่งจ่ายเอง หรือสั่งจ่ายเพื่อบุคคลภายนอกก็ได้
               มาตรา 913 อันวันถึงกำหนดของตั๋วแลกเงินนั้น ท่านว่าย่อมเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งดั่งกล่าวต่อไปนี้ คือ
               (1)  ในวันใดวันหนึ่งที่กำหนดไว้ หรือ
               (2)  เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่วันที่ลงในตั๋วนั้น หรือ
               (3)  เมื่อทวงถาม หรือเมื่อได้เห็น หรือ
               (4)  เมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้นับแต่ได้เห็น
               มาตรา 914 บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า เมื่อตั๋วนั้นได้นำยื่นโดย
ชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่
ยอมรับรองก็ดี หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง หรือแก่ผู้สลักหลัง
คนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือ
ไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว
               มาตรา 915 ผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินและผู้สลักหลังคนใดๆ ก็ดี  จะจดข้อกำหนดซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ ลงไว้
ชัดแจ้งในตั๋วนั้นก็ได้ คือ
               (1) ข้อกำหนดลบล้างหรือจำกัดความรับผิดของตนเองต่อผู้ทรงตั๋วเงิน
               (2) ข้อกำหนดยอมลดละให้แก่ผู้ทรงตั๋วเงินซึ่งหน้าที่ทั้งหลายอันผู้ทรงจะพึงต้องมีแก่ตน
บางอย่างหรือทั้งหมด
               มาตรา 916 บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัย
ความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือกับผู้ทรงคนก่อนๆ นั้นได้ไม่  เว้นแต่
การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล
               มาตรา 917 อันตั๋วแลกเงินทุกฉบับ  ถึงแม้ว่าจะมิใช่สั่งจ่ายให้แก่บุคคลเพื่อเขาสั่งก็ตาม ท่านว่าย่อม
โอนให้กันได้ด้วยสลักหลังและส่งมอบ
               เมื่อผู้สั่งจ่ายเขียนลงในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินว่า "เปลี่ยนมือไม่ได้" ดั่งนี้ก็ดี  หรือเขียน
คำอื่นอันได้ความเป็นทำนองเช่นเดียวกันนั้นก็ดี ท่านว่าตั๋วเงินนั้นย่อมจะโอนให้กันได้แต่โดยรูปการ
และด้วยผลอย่างการโอนสามัญ
               อนึ่ง ตั๋วเงินจะสลักหลังให้แก่ผู้จ่ายก็ได้ ไม่ว่าผู้จ่ายจะได้รับรองตั๋วนั้นหรือไม่ หรือจะ
สลักหลังให้แก่ผู้สั่งจ่าย หรือให้แก่คู่สัญญาฝ่ายอื่นใดแห่งตั๋วเงินนั้นก็ได้ ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่านี้
ก็ย่อมจะสลักหลังตั๋วเงินนั้นต่อไปอีกได้
               มาตรา 918 ตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น  ท่านว่าย่อมโอนไปเพียงด้วยส่งมอบให้กัน
               มาตรา 919 คำสลักหลังนั้นต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินหรือใบประจำต่อ และต้องลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง
               การสลักหลังย่อมสมบูรณ์แม้ทั้งมิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ด้วย หรือแม้ผู้สลักหลังจะมิ
ได้กระทำอะไรยิ่งไปกว่าลงลายมือชื่อของตนที่ด้านหลังตั๋วแลกเงินหรือที่ใบประจำต่อ  ก็ย่อมฟังเป็น
สมบูรณ์ดุจกัน  การสลักหลังเช่นนี้ ท่านเรียกว่า "สลักหลังลอย"
               มาตรา 920 อันการสลักหลังย่อมโอนไปซึ่งบรรดาสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วแลกเงิน
               ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดั่งกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้  คือ
               (1)  กรอกความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเองหรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
               (2)  สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
               (3)  โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลัง
อย่างหนึ่งอย่างใด
               มาตรา 921 การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมเป็นเพียงประกัน (อาวัล) สำหรับ
ผู้สั่งจ่าย
               มาตรา 922 การสลักหลังนั้นต้องให้เป็นข้อความอันปราศจากเงื่อนไข ถ้าและวางเงื่อนไขบังคับลงไว้
อย่างใด ท่านให้ถือเสมือนว่าข้อเงื่อนไขนั้นมิได้เขียนลงไว้เลย
               อนึ่ง การสลักหลังโอนแต่บางส่วน ท่านว่าเป็นโมฆะ
               มาตรา 923 ผู้สลักหลังคนใดระบุข้อความห้ามสลักหลังสืบไปลงไว้แล้ว  ผู้สลักหลังคนนั้นย่อมไม่ต้อง
รับผิดต่อบุคคลอันเขาสลักหลังตั๋วแลกเงินนั้นให้ไปในภายหลัง
               มาตรา 924 ถ้าตั๋วแลกเงินสลักหลังต่อเมื่อสิ้นเวลาเพื่อคัดค้านการไม่รับรอง หรือการไม่ใช้เงินนั้น
แล้วไซร้  ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปซึ่งสิทธิแห่งการรับรองตามแต่มีต่อผู้จ่าย  กับสิทธิไล่เบี้ย
เอาแก่บรรดาผู้ซึ่งสลักหลังตั๋วเงินนั้นภายหลังที่สิ้นเวลาเช่นนั้น
               แต่ถ้าตั๋วเงินนั้นได้มีคัดค้านการไม่รับรองหรือการไม่ใช้เงินมาแต่ก่อนสลักหลังแล้วไซร้
ท่านว่าผู้รับสลักหลังย่อมได้ไปแต่เพียงสิทธิของผู้ซึ่งสลักหลังให้แก่ตนอันมีต่อผู้รับรอง ต่อผู้สั่งจ่าย
และต่อบรรดาผู้ที่สลักหลังตั๋วเงินนั้นมาก่อนย้อนขึ้นไปจนถึงเวลาคัดค้านเท่านั้น
               มาตรา 925 เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า "ราคาอยู่ที่เรียกเก็บ" ก็ดี  "เพื่อเรียกเก็บ" ก็ดี " ใน
ฐานจัดการแทน" ก็ดี  หรือความสำนวนอื่นใดอันเป็นปริยายว่าตัวแทนไซร้ ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงิน
จะใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วเงินนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ว่าจะสลักหลังได้เพียงในฐานะเป็นตัวแทน
               ในกรณีเช่นนี้ คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดอาจจะต่อสู้ผู้ทรงได้แต่เพียงด้วยข้อต่อสู้อัน
จะพึงใช้ได้ต่อผู้สลักหลังเท่านั้น
               มาตรา 926 เมื่อใดความที่สลักหลังมีข้อกำหนดว่า "ราคาเป็นประกัน" ก็ดี  "ราคาเป็นจำนำ" ก็ดี
หรือข้อกำหนดอย่างอื่นใดอันเป็นปริยายว่าจำนำไซร้  ท่านว่าผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะใช้สิทธิทั้งปวง
อันเกิดแต่ตั๋วนั้นก็ย่อมได้ทั้งสิ้น แต่ถ้าผู้ทรงสลักหลังตั๋วนั้น ท่านว่าการสลักหลังย่อมใช้ได้เพียงใน
ฐานเป็นคำสลักหลังของตัวแทน
               คู่สัญญาทั้งหลายซึ่งต้องรับผิด หาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพัน
เฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สลักหลังนั้นได้ไม่ เว้นแต่การสลักหลังจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล
 
               ส่วนที่ 2
               การรับรอง
 
               มาตรา 927 อันตั๋วแลกเงินนั้นจะนำไปยื่นแก่ผู้จ่าย ณ ที่อยู่ของผู้จ่ายเพื่อให้รับรองเมื่อไรๆ ก็ได้จนกว่า
จะถึงเวลากำหนดใช้เงิน และผู้ทรงจะเป็นผู้ยื่นหรือเพียงแต่ผู้ที่ได้ตั๋วนั้นไว้ในครอบครองจะเป็นผู้นำ
ไปยื่นก็ได้
               ในตั๋วแลกเงินนั้น ผู้สั่งจ่ายจะลงข้อกำหนดไว้ว่าให้นำยื่นเพื่อรับรองโดยกำหนดเวลาจำกัด
ไว้ให้ยื่น หรือไม่กำหนดเวลาก็ได้
               ผู้สั่งจ่ายจะห้ามการนำตั๋วแลกเงินยื่นเพื่อรับรองก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นตั๋วเงินอันได้ออก
สั่งให้ใช้เงินเฉพาะ ณ สถานที่อื่นใดอันมิใช่ภูมิลำเนาของผู้จ่าย  หรือได้ออกสั่งให้ใช้เงินในเวลาใด
เวลาหนึ่งนับแต่ได้เห็น
               อนึ่ง ผู้สั่งจ่ายจะลงข้อกำหนดไว้ว่ายังมิให้นำตั๋วยื่นเพื่อให้รับรองก่อนถึงกำหนดวันใด
วันหนึ่งก็ได้
               ผู้สลักหลังทุกคนจะลงข้อกำหนดไว้ว่า ให้นำตั๋วเงินยื่นเพื่อรับรองโดยกำหนดเวลาจำกัด
ไว้ให้ยื่น หรือไม่กำหนดเวลาก็ได้ เว้นแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ห้ามการรับรอง
               มาตรา 928 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินอันสั่งให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลากำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่ได้เห็น
นั้น  ต้องนำตั๋วเงินยื่นเพื่อให้รับรองภายในหกเดือนนับแต่วันที่ลงในตั๋วเงิน  หรือภายในเวลาช้าเร็ว
กว่านั้นตามแต่ผู้สั่งจ่ายจะได้ระบุไว้
               มาตรา 929 ภายในบังคับบทบัญญัติ มาตรา 927 ผู้ทรงตั๋วแลกเงินมีสิทธิที่จะยื่นตั๋วเงินแก่ผู้จ่ายได้
ในทันใดเพื่อให้รับรอง  ถ้าและเขาไม่รับรองภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงไซร้  ผู้ทรงก็มีสิทธิที่จะคัดค้าน
               มาตรา 930 ในการยื่นตั๋วแลกเงินเพื่อให้เขารับรองนั้น ผู้ทรงไม่จำต้องปล่อยตั๋วนั้นให้ไว้ในมือผู้จ่าย
               อนึ่ง ผู้จ่ายจะเรียกให้ยื่นตั๋วแลกเงินอีกเป็นครั้งที่สองในวันรุ่งขึ้นแต่วันที่ยื่นครั้งแรกนั้นก็ได้
ท่านห้ามมิให้คู่กรณีที่มีส่วนได้เสียยกเอาการที่มิได้อนุวรรตน์ตามคำเรียกอันนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้
เว้นแต่การเรียกนั้นได้ระบุไว้ในคำคัดค้าน
               มาตรา 931 การรับรองนั้นพึงกระทำด้วยเขียนลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินเป็นถ้อยคำสำนวนว่า
"รับรองแล้ว" หรือความอย่างอื่นทำนองเช่นเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อของผู้จ่าย อนึ่ง แต่เพียง
ลายมือชื่อของผู้จ่ายลงไว้ในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงิน  ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้ว
               มาตรา 932 ตั๋วแลกเงินฉบับใดเขียนสั่งให้ใช้เงินในกำหนดระยะเวลาอย่างใดอย่างหนึ่งนับแต่วันที่ลง
ในตั๋วเงินนั้น แต่หากมิได้ลงวันไว้ก็ดี หรือตั๋วเงินฉบับใดสั่งให้ใช้เงินในกำหนดระยะเวลาอย่างใด
อย่างหนึ่งนับแต่ได้เห็น แต่หากคำรับรองตั๋วนั้นมิได้ลงวันไว้ก็ดีตั๋วแลกเงินเช่นว่ามานี้  ท่านว่าผู้ทรง
จะจดวันออกตั๋ว หรือวันรับรองลงตามที่แท้จริงก็ได้ แล้วพึงให้ใช้เงินตามนั้น
               อนึ่ง ท่านบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ผู้ทรงทำการโดยสุจริต แต่ลงวันคลาดเคลื่อนไปด้วย
สำคัญผิด  และในกรณีลงวันผิดทุกสถาน หากว่าในภายหลังตั๋วเงินนั้นตกไปยังมือผู้ทรงโดยชอบ
ด้วยกฎหมายแล้ว  ตั๋วเงินจะเสียไปเพราะเหตุนั้นก็หาไม่  ท่านให้คงเป็นตั๋วเงินที่ใช้ได้ และพึงใช้เงิน
กันเสมือนดั่งว่าวันที่ได้จดลงนั้นเป็นวันที่ถูกต้องแท้จริง
               มาตรา 933 ถ้าการรับรองมิได้ลงวัน  ท่านให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาอันกำหนดไว้เพื่อรับ
รองนั้นเป็นวันรับรอง
               มาตรา 934 ถ้าผู้จ่ายเขียนคำรับรองลงในตั๋วแลกเงินแล้ว  แต่หากกลับขีดฆ่าเสียก่อนตั๋วเงินนั้นหลุด
พ้นไปจากมือตนไซร้  ท่านให้ถือเป็นอันว่าได้บอกปัดไม่รับรอง  แต่ถ้าผู้จ่ายได้แจ้งความเป็นหนังสือ
ไปยังผู้ทรง  หรือคู่สัญญาฝ่ายอื่นซึ่งได้ลงนามในตั๋วเงินว่าตนรับรองตั๋วเงินนั้นก่อนแล้ว  จึ่งมาขีดฆ่า
คำรับรองต่อภายหลังไซร้  ท่านว่าผู้จ่ายก็คงต้องผูกพันอยู่ตามเนื้อความที่ตนได้เขียนรับรองนั้นเอง
               มาตรา 935 อันการรับรองนั้นย่อมมีได้สองสถาน  คือรับรองตลอดไปหรือรับรองเบี่ยงบ่าย
               การรับรองตลอดไป คือยอมตกลงโดยไม่แก้แย้งคำสั่งของผู้สั่งจ่ายแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย
               ส่วนการรับรองเบี่ยงบ่ายนั้น  กล่าวเป็นเนื้อความทำผลแห่งตั๋วเงินให้แผกไปจากที่เขียนสั่งไว้
               กล่าวโดยเฉพาะก็คือว่า  ถ้าคำรับรองมีเงื่อนไขก็ดี หรือรับรองแต่เพียงบางส่วนก็ดี
ท่านว่าเป็นรับรองเบี่ยงบ่าย
               มาตรา 936 คำรับรองเบี่ยงบ่ายนั้น  ผู้ทรงตั๋วแลกเงินจะบอกปัดเสียก็ได้  และถ้าไม่ได้คำรับรองอันไม่
เบี่ยงบ่าย  จะถือเอาตั๋วเงินนั้นเป็นอันขาดความเชื่อถือรับรองก็ได้
               ถ้าผู้ทรงรับเอาคำรับรองเบี่ยงบ่าย  และผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังมิได้ให้อำนาจแก่ผู้ทรง
โดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้รับเอาคำรับรองเบี่ยงบ่ายเช่นนั้นก็ดี หรือไม่ยินยอมด้วยใน
ภายหลังก็ดี ท่านว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังนั้นๆ ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามตั๋วเงินนั้น  แต่
บทบัญญัติทั้งนี้ท่านมิให้ใช้ไปถึงการรับรองแต่บางส่วนซึ่งได้บอกกล่าวก่อนแล้วโดยชอบ
               ถ้าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังตั๋วเงินรับคำบอกกล่าวการรับรองเบี่ยงบ่ายแล้วไม่โต้แย้งไปยัง
ผู้ทรงภายในเวลาอันสมควร  ท่านให้ถือว่าผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังนั้นเป็นอันได้ยินยอมด้วยกับการ
นั้นแล้ว
               มาตรา 937 ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้วย่อมต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรอง
ตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน
 
               ส่วนที่ 3
               อาวัล
 
               มาตรา 938 ตั๋วแลกเงินจะมีผู้ค้ำประกันรับประกันการใช้เงินทั้งจำนวนหรือแต่บางส่วนก็ได้ ซึ่งท่าน
เรียกว่า "อาวัล"
               อันอาวัลนั้นบุคคลภายนอกคนใดคนหนึ่งจะเป็นผู้รับหรือแม้คู่สัญญาแห่งตั๋วเงินนั้นฝ่าย
ใดฝ่ายหนึ่งจะเป็นผู้รับก็ได้
               มาตรา 939 อันการรับอาวัลย่อมทำให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วแลกเงินนั้นเอง หรือที่ใบประจำต่อ
               ในการนี้พึงใช้ถ้อยคำสำนวนว่า "ใช้ได้เป็นอาวัล" หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น
และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล
               อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน  ท่านก็จัดว่าเป็นคำรับ
อาวัลแล้ว  เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่าย หรือผู้สั่งจ่าย
               ในคำรับอาวัลต้องระบุว่ารับประกันผู้ใด  หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่ารับประกันผู้สั่งจ่าย
               มาตรา 940 ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน
               แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้น จะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใดๆ
นอกจากเพราะทำผิดแบบระเบียบ ท่านว่าข้อที่สัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์
               เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว  ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคล
ซึ่งตนได้ประกันไว้ กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น
 
               ส่วนที่ 4
               การใช้เงิน
 
               มาตรา 941 อันตั๋วแลกเงินนั้น  ย่อมจะพึงใช้เงินในวันถึงกำหนด และถึงกำหนดวันใด  ผู้ทรงต้องนำ
ตั๋วเงินไปยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันนั้น
               มาตรา 942 อันจะบังคับให้ผู้ทรงตั๋วแลกเงินรับเงินใช้ก่อนตั๋วเงินถึงกำหนดนั้น  ท่านว่าหาอาจจะทำ
ได้ไม่
               อนึ่ง ผู้จ่ายคนใดใช้เงินไปแต่ก่อนเวลาตั๋วเงินถึงกำหนด  ท่านว่าย่อมทำเช่นนั้นด้วยเสี่ยงเคราะห์
ของตนเอง
               มาตรา 943 อันการถึงกำหนดแห่งตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินเมื่อสิ้นระยะเวลาอันใดอันหนึ่งนับแต่วัน
ได้เห็นนั้น  ท่านให้กำหนดนับแต่วันรับรองหรือวันคัดค้าน
               ถ้าไม่มีคำคัดค้าน และคำรับรองมิได้ลงวัน  ท่านให้ถือว่าผู้รับรองได้ให้คำรับรองนั้นใน
วันท้ายแห่งกำหนดเวลาซึ่งจำกัดไว้ตามกฎหมาย หรือตามสัญญาเพื่อการยื่นตั๋วนั้น
               มาตรา 944 อันตั๋วแลกเงินซึ่งให้ใช้เงินเมื่อได้เห็นนั้น  ท่านว่าย่อมจะพึงใช้เงินในวันเมื่อยื่นตั๋ว ทั้งนี้
ต้องยื่นให้ใช้เงินภายในกำหนดเวลาซึ่งบังคับไว้เพื่อการยื่นให้รับรองตั๋วเงินชนิดให้ใช้เงินในเวลาใด
เวลาหนึ่งภายหลังได้เห็นนั้น
               มาตรา 945 การใช้เงินจะเรียกเอาได้ต่อเมื่อเวนตั๋วแลกเงินให้  ผู้ใช้เงินจะให้ผู้ทรงลงลายมือชื่อรับ
เงินในตั๋วเงินนั้นก็ได้
               มาตรา 946 อันตั๋วแลกเงินนั้น  ถ้าเขาจะใช้เงินให้แต่เพียงบางส่วน ท่านว่าผู้ทรงจะบอกปัดเสียไม่
ยอมรับเอาก็ได้
               ถ้าและรับเอาเงินที่เขาใช้แต่เพียงบางส่วน  ผู้ทรงต้องบันทึกข้อความนั้นลงไว้ในตั๋วเงิน
และส่งมอบใบรับให้แก่ผู้ใช้เงิน
               มาตรา 947 ถ้าตั๋วแลกเงินมิได้ยื่นเพื่อให้ใช้เงินในวันถึงกำหนดไซร้ ท่านว่าผู้รับรองจะเปลื้องตนให้
พ้นจากความรับผิดโดยวางจำนวนเงินที่ค้างชำระตามตั๋วนั้นไว้ก็ได้
               มาตรา 948 ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินยอมผ่อนเวลาให้แก่ผู้จ่ายไซร้  ท่านว่าผู้ทรงสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่
ผู้เป็นคู่สัญญาคนก่อนๆ ซึ่งมิได้ตกลงในการผ่อนเวลานั้น
               มาตรา 949 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 1009 บุคคลผู้ใช้เงินในเวลาถึงกำหนดย่อมเป็นอัน
หลุดพ้นจากความรับผิด  เว้นแต่ตนจะได้ทำการฉ้อฉลหรือมีความประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรง
อนึ่งบุคคลซึ่งกล่าวนี้จำต้องพิสูจน์ให้เห็นจริงว่าได้มีการสลักหลังติดต่อกันเรียบร้อยไม่ขาดสาย
แต่ไม่จำต้องพิสูจน์ลายมือชื่อของเหล่าผู้สลักหลัง
 
               ส่วนที่ 5
               การสอดเข้าแก้หน้า
 
               มาตรา 950 ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังจะระบุบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดไว้ก็ได้ว่าเป็นผู้จะรับรอง หรือใช้เงินยาม
ประสงค์ ณ สถานที่ใช้เงิน
               ภายในเงื่อนบังคับดั่งจะกล่าวต่อไปข้างหน้า บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดจะรับรองหรือใช้เงินตาม
ตั๋วแลกเงินในฐานเป็นผู้สอดเข้าแก้หน้าบุคคลใดผู้ลงลายมือชื่อในตั๋วนั้นก็ได้
               ผู้สอดเข้าแก้หน้านั้นจะเป็นบุคคลภายนอกก็ได้ แม้จะเป็นผู้จ่ายหรือบุคคลซึ่งต้องรับผิด
โดยตั๋วเงินนั้นอยู่แล้วก็ได้  ห้ามแต่ผู้รับรองเท่านั้น
               ผู้สอดเข้าแก้หน้าจำต้องให้คำบอกกล่าวโดยไม่ชักช้าเพื่อให้คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตนเข้าแก้หน้า
นั้นทราบการที่ตนเข้าแก้หน้า
 
               (1)  การรับรองเพื่อแก้หน้า
 
               มาตรา 951 การรับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้า  ย่อมมีได้ในบรรดากรณีซึ่งผู้ทรงมีสิทธิไล่เบี้ยได้ก่อนถึง
กำหนดตามตั๋วเงินอันเป็นตั๋วสามารถจะรับรองได้
               การรับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้านั้น ผู้ทรงจะบอกปัดเสียก็ได้  แม้ถึงว่าบุคคลผู้ซึ่งบ่งไว้ว่า
จะเป็นผู้รับรอง  หรือใช้เงินยามประสงค์นั้น จะเป็นผู้เสนอเข้ารับรองก็บอกปัดได้
               ถ้าผู้ทรงยอมให้เข้ารับรองแล้ว  ผู้ทรงย่อมเสียสิทธิไล่เบี้ยก่อนถึงกำหนดเอาแก่คู่สัญญา
ทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดต่อตน
               มาตรา 952 อันการรับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้านั้น  ย่อมทำด้วยเขียนระบุความลงบนตั๋วแลกเงิน
และลงลายมือชื่อของผู้สอดเข้าแก้หน้าเป็นสำคัญ อนึ่ง ต้องระบุลงไว้ว่าการรับรองนั้นทำให้เพื่อผู้ใด
ถ้ามิได้ระบุไว้เช่นนั้น ท่านให้ถือว่าทำให้เพื่อผู้สั่งจ่าย
               มาตรา 953 ผู้รับรองด้วยสอดเข้าแก้หน้าย่อมต้องรับผิดต่อผู้ทรงตั๋วเงินนั้น และรับผิดต่อผู้สลักหลัง
ทั้งหลายภายหลังคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตนเข้าแก้หน้าอย่างเดียวกันกับที่คู่สัญญาฝ่ายนั้นต้องรับผิดอยู่เอง
               (2)  การใช้เงินเพื่อแก้หน้า
               มาตรา 954 อันการใช้เงินเพื่อแก้หน้าย่อมมีได้ในบรรดากรณีซึ่งผู้ทรงมีสิทธิไล่เบี้ยเมื่อตั๋วเงินถึง
กำหนดหรือก่อนถึงกำหนด
               การใช้เงินนั้น ท่านว่าอย่างช้าที่สุดต้องทำในวันรุ่งขึ้นแต่วันท้ายแห่งกำหนดเวลาซึ่งจำกัด
อนุญาตไว้ให้ทำคำคัดค้านการไม่ใช้เงิน
               มาตรา 955 ถ้าตั๋วแลกเงินได้รับรองเพื่อแก้หน้าแล้วก็ดี หรือได้มีตัวบุคคลระบุว่าเป็นผู้จะใช้เงิน
ยามประสงค์แล้วก็ดี ผู้ทรงต้องยื่นตั๋วเงินนั้นต่อบุคคลนั้นๆ ณ สถานที่ใช้เงินและถ้าจำเป็นก็ต้องจัด
การทำคำคัดค้านการไม่ใช้เงินอย่างช้าที่สุดในวันรุ่งขึ้นแต่วันท้ายแห่งกำหนดเวลาอันจำกัดไว้
เพื่อทำคำคัดค้าน
               ถ้าไม่คัดค้านภายในกำหนดเวลานั้น ท่านว่าคู่สัญญาฝ่ายที่ได้ระบุตัวผู้ใช้เงินยาม
ประสงค์  หรือคู่สัญญาฝ่ายซึ่งได้มีผู้รับรองตั๋วเงินให้แล้วนั้น  กับทั้งบรรดาผู้สลักหลังในภายหลัง
ย่อมเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด
               มาตรา 956 การใช้เงินเพื่อแก้หน้านั้น  ใช้เพื่อคู่สัญญาฝ่ายใดต้องใช้จงเต็มจำนวนอันคู่สัญญา
ฝ่ายนั้นจะต้องใช้  เว้นแต่ค่าชักส่วนลดดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 968 (4)
               ผู้ทรงคนใดบอกปัดไม่ยอมรับเงินอันเขาใช้ให้  ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นย่อมเสียสิทธิในอันจะ
ไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น ซึ่งพอที่จะได้หลุดพ้นจากความรับผิดเพราะการใช้เงินนั้น
               มาตรา 957 การใช้เงินเพื่อแก้หน้าต้องทำให้เป็นหลักฐานด้วยใบรับเขียนลงในตั๋วแลกเงิน 
ระบุความว่าได้ใช้เงินเพื่อบุคคลผู้ใด  ถ้ามิได้ระบุตัวไว้ดั่งนั้นท่านให้ถือว่าการใช้เงินนั้นได้ทำไปเพื่อผู้สั่งจ่าย
               ตั๋วแลกเงินกับทั้งคำคัดค้านหากว่าได้ทำคัดค้าน  ต้องส่งให้แก่บุคคลผู้ใช้เงินเพื่อแก้หน้า
               มาตรา 958 บุคคลผู้ใช้เงินเพื่อแก้หน้าย่อมรับช่วงสิทธิทั้งปวงของผู้ทรงอันมีต่อคู่สัญญาฝ่ายซึ่งตน
ได้ใช้เงินแทนไป และต่อคู่สัญญาทั้งหลายผู้ต้องรับผิดต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นแต่หาอาจจะสลักหลัง
ตั๋วแลกเงินนั้นอีกต่อไปได้ไม่
               อนึ่ง บรรดาผู้ซึ่งสลักหลังภายหลังคู่สัญญาฝ่ายซึ่งเขาได้ใช้เงินแทนไปนั้นย่อมหลุดพ้น
จากความรับผิด
               ในกรณีแข่งกันเข้าใช้เงินเพื่อแก้หน้า  ท่านว่าการใช้เงินรายใดจะให้ผลปลดหนี้มากราย
ที่สุด พึงนิยมเอารายนั้นเป็นดียิ่ง
               ถ้าไม่ดำเนินตามวิธีดั่งกล่าวนี้  ท่านว่าผู้ใช้เงินทั้งที่รู้เช่นนั้นย่อมเสียสิทธิในอันที่จะไล่เบี้ย
เอาแก่บุคคลทั้งหลาย ซึ่งพอที่จะได้หลุดพ้นจากความรับผิด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้