Last updated: 14 พ.ค. 2566 | 594 จำนวนผู้เข้าชม |
กฎหมายแพ่งและพานิชย์
ลักษณะ 15
ตัวแทน
หมวด 1
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
มาตรา 797 อันว่าสัญญาตัวแทนนั้น คือสัญญาซึ่งให้บุคคลคนหนึ่งเรียกว่าตัวแทน มีอำนาจทำการ
แทนบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าตัวการและตกลงจะทำการดั่งนั้น
อันความเป็นตัวแทนนั้นจะเป็นโดยตั้งแต่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ย่อมได้
มาตรา 798 กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการ
อันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย
กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอัน
นั้นก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย
มาตรา 799 ตัวการคนใดใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทน ท่านว่าตัวการคนนั้นย่อมต้องผูกพัน
ในกิจการที่ตัวแทนกระทำ
มาตรา 800 ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจแต่เฉพาะการ ท่านว่าจะทำการแทนตัวการได้แต่เพียงในสิ่งที่
จำเป็นเพื่อให้กิจอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสำเร็จลุล่วงไป
มาตรา 801 ถ้าตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไป ท่านว่าจะทำกิจใดๆ ในทางจัดการแทนตัวการก็ย่อม
ทำได้ทุกอย่าง
แต่การเช่นอย่างจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าหาอาจจะทำได้ไม่ คือ
(1) ขายหรือจำนองอสังหาริมทรัพย์
(2) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์กว่าสามปีขึ้นไป
(3) ให้
(4) ประนีประนอมยอมความ
(5) ยื่นฟ้องต่อศาล
(6) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
มาตรา 802 ในเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะป้องกันมิให้ตัวการต้องเสียหาย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัว
แทนจะทำการใดๆ เช่นอย่างวิญญูชนจะพึงกระทำ ก็ย่อมมีอำนาจจะทำได้ทั้งสิ้น
มาตรา 803 ตัวแทนไม่มีสิทธิจะได้รับบำเหน็จ เว้นแต่จะได้มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญาว่ามีบำเหน็จ
หรือทางการที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันนั้นเป็นปริยายว่ามีบำเหน็จ หรือเคยเป็นธรรมเนียมมี
บำเหน็จ
มาตรา 804 ถ้าในสัญญาอันเดียว ตัวการคนเดียวตั้งตัวแทนหลายคนเพื่อแก่การอันเดียวกันไซร้
ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าตัวแทนจะต่างคนต่างทำการนั้นๆ แยกกันไม่ได้
มาตรา 805 ตัวแทนนั้น เมื่อไม่ได้รับความยินยอมของตัวการ จะเข้าทำนิติกรรมอันใดในนามของ
ตัวการทำกับตนเองในนามของตนเองหรือในฐานเป็นตัวแทนของบุคคลภายนอกหาได้ไม่ เว้นแต่
นิติกรรมนั้นมีเฉพาะแต่การชำระหนี้
มาตรา 806 ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใดๆ ซึ่งตัว
แทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ แต่ถ้าตัวการผู้ใดได้ยอมให้ตัวแทนของตนทำการออกหน้าเป็นตัวการ
ไซร้ ท่านว่าตัวการผู้นั้นหาอาจจะทำให้เสื่อมเสียถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันเขามีต่อตัวแทน
และเขาขวนขวายได้มาแต่ก่อนที่รู้ว่าเป็นตัวแทนนั้นได้ไม่
หมวด 2
หน้าที่และความรับของตัวแทนต่อตัวการ
มาตรา 807 ตัวแทนต้องทำการตามคำสั่งแสดงออกชัดหรือโดยปริยายของตัวการ เมื่อไม่มีคำสั่งเช่น
นั้น ก็ต้องดำเนินตามทางที่เคยทำกันมาในกิจการค้าขายอันเขาให้ตนทำอยู่นั้น
อนึ่ง บทบัญญัติ มาตรา 659 ว่าด้วยการฝากทรัพย์นั้น ท่านให้นำมาใช้ด้วยโดยอนุโลมตามควร
มาตรา 808 ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจใช้ตัวแทนช่วงทำการได้
มาตรา 809 เมื่อตัวการมีประสงค์จะทราบความเป็นไปของการที่ได้มอบหมายแก่ตัวแทนนั้นในเวลา
ใดๆ ซึ่งสมควรแก่เหตุ ตัวแทนก็ต้องแจ้งให้ตัวการทราบ อนึ่ง เมื่อการเป็นตัวแทนนั้นสิ้นสุดลง
แล้ว ตัวแทนต้องแถลงบัญชีด้วย
มาตรา 810 เงินและทรัพย์สินอย่างอื่นบรรดาที่ตัวแทนได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้น ท่านว่า
ตัวแทนต้องส่งให้แก่ตัวการจงสิ้น
อนึ่ง สิทธิทั้งหลายซึ่งตัวแทนขวนขวายได้มาในนามของตนเอง แต่โดยฐานที่ทำการแทน
ตัวการนั้น ตัวแทนก็ต้องโอนให้แก่ตัวการจงสิ้น
มาตรา 811 ถ้าตัวแทนเอาเงินซึ่งควรจะได้ส่งแก่ตัวการ หรือซึ่งควรจะใช้ในกิจของตัวการนั้นไปใช้
สอยเป็นประโยชน์ตนเสีย ท่านว่าตัวแทนต้องเสียดอกเบี้ยในเงินนั้นนับแต่วันที่ได้เอาไปใช้
มาตรา 812 ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดี เพราะ
ไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่า
ตัวแทนจะต้องรับผิด
มาตรา 813 ตัวแทนผู้ใดตั้งตัวแทนช่วงตามที่ตัวการระบุตัวให้ตั้ง ท่านว่าตัวแทนผู้นั้นจะต้องรับผิด
แต่เพียงในกรณีที่ตนได้รู้ว่าตัวแทนช่วงนั้นเป็นผู้ที่ไม่เหมาะแก่การหรือเป็นผู้ที่ไม่สมควรไว้วางใจ
แล้ว และมิได้แจ้งความนั้นให้ตัวการทราบ หรือมิได้เลิกถอนตัวแทนช่วงนั้นเสียเอง
มาตรา 814 ตัวแทนช่วงย่อมรับผิดโดยตรงต่อตัวการฉันใด กลับกันก็ฉันนั้น
หมวด 3
หน้าที่ความรับผิดของตัวการต่อตัวแทน
มาตรา 815 ถ้าตัวแทนมีประสงค์ไซร้ ตัวการต้องจ่ายเงินทดรองให้แก่ตัวแทนตามจำนวนที่จำเป็น
เพื่อทำการอันมอบหมายแก่ตัวแทนนั้น
มาตรา 816 ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนได้ออกเงินทดรองหรือออก
เงินค่าใช้จ่ายไป ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอา
เงินชดใช้จากตัวการ รวมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันที่ได้ออกเงินไปนั้นด้วยก็ได้
ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น ตัวแทนต้องรับภาระเป็นหนี้ขึ้นอย่าง
หนึ่งอย่างใด ซึ่งพิเคราะห์ตามเหตุควรนับว่าเป็นการจำเป็นได้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกให้ตัวการ
ชำระหนี้แทนตนก็ได้ หรือถ้ายังไม่ถึงเวลากำหนดชำระหนี้ จะให้ตัวการให้ประกันอันสมควรก็ได้
ถ้าในการจัดทำกิจการอันเขามอบหมายแก่ตนนั้น เป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหาย
อย่างหนึ่งอย่างใด มิใช่เป็นเพราะความผิดของตนเองไซร้ ท่านว่าตัวแทนจะเรียกเอาค่าสินไหม
ทดแทนจากตัวการก็ได้
มาตรา 817 ในกรณีที่มีบำเหน็จตัวแทน ถ้าไม่มีข้อสัญญาตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าบำเหน็จ
นั้นพึงจ่ายให้ต่อเมื่อการเป็นตัวแทนได้สุดสิ้นลงแล้ว
มาตรา 818 การในหน้าที่ตัวแทนส่วนใด ตัวแทนได้ทำมิชอบในส่วนนั้น ท่านว่าตัวแทนไม่มีสิทธิจะ
ได้บำเหน็จ
มาตรา 819 ตัวแทนชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินอย่างใดๆ ของตัวการอันตกอยู่ในความครอบครอง
ของตนเพราะเป็นตัวแทนนั้นเอาไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาค้างชำระแก่ตนเพราะการเป็นตัวแทน
หมวด 4
ความรับผิดของตัวการและตัวแทนต่อบุคคลภายนอก
มาตรา 820 ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือตัวแทน
ช่วงได้ทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน
มาตรา 821 บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วยอมให้บุคคลอีก
คนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคล
ภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน
มาตรา 822 ถ้าตัวแทนทำการอันใดเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอก
มีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนไซร้ ท่านให้ใช้บทบัญญัติ
มาตราก่อนนี้เป็นบทบังคับ แล้วแต่กรณี
มาตรา 823 ถ้าตัวแทนกระทำการอันใดอันหนึ่งโดยปราศจากอำนาจก็ดี หรือทำนอกทำเหนือขอบ
อำนาจก็ดี ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันตัวการเว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น
ถ้าตัวการไม่ให้สัตยาบัน ท่านว่าตัวแทนย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกโดยลำพังตน
เอง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลภายนอกนั้นได้รู้อยู่ว่าตนทำการโดยปราศจากอำนาจ หรือทำ
นอกเหนือขอบอำนาจ
มาตรา 824 ตัวแทนคนใดทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศ และมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ
ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะต้องรับผิดตามสัญญานั้นแต่ลำพังตนเอง แม้ทั้งชื่อของตัวการจะได้เปิด
เผยแล้ว เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทน
มาตรา 825 ถ้าตัวแทนเข้าทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยเห็นแก่อามิสสินจ้างเป็นทรัพย์สินอย่าง
ใดๆ หรือประโยชน์อย่างอื่นอันบุคคลภายนอกได้ให้เป็นลาภส่วนตัวก็ดี หรือให้คำมั่นว่าจะให้ก็ดี
ท่านว่าตัวการหาต้องผูกพันในสัญญาซึ่งตัวแทนของตนได้ทำนั้นไม่เว้นแต่ตัวการจะได้ยินยอมด้วย
หมวด 5
ความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาตัวแทน
มาตรา 826 อันสัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไปด้วยตัวการถอนตัวแทนหรือด้วยตัวแทนบอกเลิกเป็น
ตัวแทน
อนึ่ง สัญญาตัวแทนย่อมระงับสิ้นไป เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายหรือตกเป็นผู้ไร้
ความสามารถ หรือล้มละลาย เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับข้อสัญญาหรือสภาพแห่งกิจการนั้น
มาตรา 827 ตัวการจะถอนตัวแทน และตัวแทนจะบอกเลิกเป็นตัวแทนเสียในเวลาใดๆ ก็ได้ทุกเมื่อ
คู่สัญญาฝ่ายซึ่งถอนตัวแทนหรือบอกเลิกเป็นตัวแทนในเวลาที่ไม่สะดวกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
จะต้องรับผิดต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นในความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้น เว้นแต่ในกรณีที่
เป็นความจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้
มาตรา 828 เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตายก็ดี ตัวการตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
หรือล้มละลายก็ดี ท่านว่าตัวแทนต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อัน
เขาได้มอบหมายแก่ตนไป จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้นๆ ได้
มาตรา 829 เมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวแทนตายก็ดี ตัวแทนตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
หรือล้มละลายก็ดี ท่านว่าทายาทหรือบุคคลผู้รับหน้าที่ดูแลทรัพย์มรดกของตัวแทนโดยชอบด้วย
กฎหมายต้องบอกกล่าวแก่ตัวการและจัดการเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของตัวการไปตามสมควร
แก่พฤติการณ์จนกว่าตัวการอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้นๆ ได้
มาตรา 830 อันเหตุที่ทำให้สัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปนั้น จะเกิดแต่ตัวการหรือตัวแทนก็ตาม ท่านห้าม
มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง จนกว่าจะได้บอกกล่าวเหตุนั้นๆ ไปยังคู่สัญญาฝ่ายนั้น
แล้ว หรือจนกว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นจะได้ทราบเหตุแล้ว
มาตรา 831 อันความระงับสิ้นไปแห่งสัญญาตัวแทนนั้น ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภาย
นอกผู้ทำการโดยสุจริต เว้นแต่บุคคลภายนอกหากไม่ทราบความนั้นเพราะความประมาทเลินเล่อ
ของตนเอง
มาตรา 832 ในเมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป ตัวการชอบที่จะเรียกให้เวนคืนหนังสือมอบอำนาจ
อย่างใดๆ อันได้ให้ไว้แก่ตัวแทนนั้นได้
หมวด 6
ตัวแทนค้าต่าง
มาตรา 833 อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทำการซื้อ หรือขายทรัพย์สิน
หรือรับจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ
มาตรา 834 ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างชอบที่จะได้รับบำเหน็จโดยอัตรา
ตามธรรมเนียมเพื่อกิจการค้าขายอันตนได้จัดการให้ตกลงไปนั้นทุกรายไป
มาตรา 835 บทบัญญัติทั้งหลายแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยตัวแทนนั้น ท่านให้ใช้บังคับถึง
ตัวแทนค้าต่างด้วยเพียงที่ไม่ขัดกับบทบัญญัติในหมวดนี้
มาตรา 836 บุคคลผู้ไร้ความสามารถหาอาจจะทำการเป็นตัวแทนค้าต่างได้ไม่ เว้นแต่จะได้รับอำนาจ
โดยชอบให้ทำได้
มาตรา 837 ในการที่ตัวแทนค้าต่างทำการขายหรือซื้อหรือจัดทำกิจการค้าขายอย่างอื่นต่างตัวการ
นั้น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างย่อมได้ซึ่งสิทธิอันมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในกิจการเช่นนั้น และตัว
แทนค้าต่างย่อมเป็นผู้ต้องผูกพันต่อคู่สัญญาฝ่ายนั้นด้วย
มาตรา 838 ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อตัวการ
เพื่อชำระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดในสัญญาหรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับ
ตัวแทนประพฤติต่อกัน หรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น
อนึ่ง ตัวแทนค้าต่างคนใดเข้ารับประกันการปฏิบัติตามสัญญาโดยนัยดั่งกล่าวมาใน
วรรคก่อนนั้นไซร้ ท่านว่าตัวแทนคนนั้นชื่อว่าเป็นตัวแทนฐานประกัน ชอบที่จะได้รับบำเหน็จพิเศษ
มาตรา 839 ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายเป็นราคาต่ำไปกว่าที่ตัวการกำหนด หรือทำการซื้อเป็น
ราคาสูงไปกว่าที่ตัวการกำหนดไซร้ หากว่าตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดเกินนั้นแล้ว ท่านว่าการขาย
หรือการซื้ออันนั้น ตัวการก็ต้องรับขายรับซื้อ
มาตรา 840 ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทำการขายได้ราคาสูงกว่าที่ตัวการกำหนด หรือทำการซื้อได้ราคา
ต่ำกว่าที่ตัวการกำหนดไซร้ ท่านว่าตัวแทนหาอาจจะถือเอาเป็นประโยชน์ของตนได้ไม่ ต้องคิดให้
แก่ตัวการ
มาตรา 841 ตัวแทนค้าต่างทำการไปอย่างไรบ้าง ท่านให้แถลงรายงานแก่ตัวการ และเมื่อได้ทำ
การค้าเสร็จลงแล้ว ก็ให้แจ้งแก่ตัวการทราบมิให้ชักช้า
มาตรา 842 เมื่อใดเขามอบหมายทรัพย์สินไว้แก่ตัวแทนค้าต่าง ท่านให้นำบทบัญญัติทั้งหลายแห่ง
ประมวลกฎหมายนี้ลักษณะฝากทรัพย์มาใช้บังคับอนุโลมตามควร
อนึ่ง ในกรณีที่เป็นความจำเป็นอันมิก้าวล่วงเสียได้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างจะจัดการแก่
ทรัพย์สินนั้นตามวิธีการดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 631 ว่าด้วยรับขนนั้นก็ได้
มาตรา 843 ตัวแทนค้าต่างคนใดได้รับคำสั่งให้ขายหรือซื้อทรัพย์สินอันมีรายการขานราคาของสถาน
แลกเปลี่ยน ท่านว่าตัวแทนคนนั้นจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายเองก็ได้ เว้นแต่จะมีข้อห้ามไว้ชัดแจ้งโดย
สัญญา ในกรณีเช่นนั้น ราคาอันจะพึงใช้เงินแก่กัน ก็พึงกำหนดตามรายการขานราคาทรัพย์สินนั้น
ณ สถานแลกเปลี่ยนในเวลาเมื่อตัวแทนค้าต่างให้คำบอกกล่าวว่าตนเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย
เมื่อตัวการรับคำบอกกล่าวเช่นนั้น ถ้าไม่บอกปัดเสียในทันที ท่านให้ถือว่าตัวการเป็น
อันได้สนองรับการนั้นแล้ว
อนึ่ง แม้ในกรณีเช่นนั้น ตัวแทนค้าต่างจะคิดเอาบำเหน็จก็ย่อมคิดได้
มาตรา 844 ในระหว่างตัวการกับตัวแทนค้าต่าง ท่านให้ถือว่ากิจการอันตัวแทนได้ทำให้ตกลงไปนั้น
ย่อมมีผลเสมือนดั่งว่าได้ทำให้ตกลงไปในนามของตัวการโดยตรง
ลักษณะ 16
นายหน้า
มาตรา 845 บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการ
ให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกัน
สำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไข
เป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว
นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อ
นี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ
มาตรา 846 ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้
แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า
ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม
มาตรา 847 ถ้านายหน้าทำการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือได้รับคำมั่นแต่บุคคลภายนอกเช่น
นั้นว่าจะให้ค่าบำเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทำการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตน
เข้ารับทำหน้าที่ไซร้ ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จ หรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่
มาตรา 848 ตัวนายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งได้ทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ
เว้นแต่จะมิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่งให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง
มาตรา 849 การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า
นายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทนผู้เป็นคู่สัญญา
ลักษณะ 17
ประนีประนอมยอมความ
มาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อ
พิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปเสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
มาตรา 851 อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง
ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้
บังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 852 ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอม
สละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน
ลักษณะ 18
การพนัน และขันต่อ
มาตรา 853 อันการพนันหรือขันต่อนั้น ท่านว่าก่อให้เกิดหนี้ไม่ สิ่งที่ได้ให้กันไปในการพนันหรือขันต่อก็
จะทวงคืนไม่ได้ เพราะเหตุหามูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดมิได้
ข้อบัญญัติที่กล่าวนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงข้อตกลงเป็นมูลหนี้อย่างหนึ่งอย่างใดอันฝ่ายข้าง
เสียพนันขันต่อหากทำให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งเพื่อจะใช้หนี้เงินพนันหรือขันต่อนั้นด้วย
มาตรา 854 อันการออกสลากกินแบ่งก็ดี ออกสลากกินรวบก็ดี ท่านว่าเป็นสัญญาอันจะผูกพันต่อ
เมื่อรัฐบาลได้ให้อำนาจ หรือให้สัตยาบันแก่การนั้นเฉพาะราย นอกนั้นท่านให้บังคับตามบทบัญญัติ
มาตรา 853
มาตรา 855 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 312 และ 916 ตั๋วเงินหรือเอกสารอย่างอื่นทุกฉบับ
ซึ่งออกให้เต็มจำนวน หรือแต่โดยส่วนเพื่อแทนเงินใดๆ อันได้แต่ชนะพนัน หรือขันต่อก็ดี ออกให้
เพื่อใช้เงินที่ยืมมาใช้ในการพนันหรือขันต่อเช่นว่านั้นก็ดี ท่านว่าไม่สมบูรณ์
เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัตินี้เงินรายใดให้ยืมแก่บุคคลกำลังเล่นการพนันหรือขันต่อ
ในเวลา หรือ ณ สถานที่เล่นเช่นนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เงินนั้นได้ให้ยืมไปเพื่อเล่นการพนัน
หรือขันต่อ
ลักษณะ 19
บัญชีเดินสะพัด
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไป
หรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่งให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการ
ในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
มาตรา 857 การนำตั๋วเงินลงเป็นรายการในบัญชีเดินสะพัดนั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าได้ลงด้วย
เงื่อนไขว่าจะมีผู้ชำระเงินตามตั๋วนั้น ถ้าและตั๋วนั้นมิได้ชำระเงินไซร้ จะเพิกถอนรายการอันนั้นเสียก็ได้
มาตรา 858 ถ้าคู่สัญญามิได้กำหนดกันไว้ว่าให้หักทอนบัญชีโดยระยะเวลาอย่างไรไซร้ ท่านให้ถือ
เอาเป็นกำหนดหกเดือน
มาตรา 859 คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด และให้หักทอนบัญชีกันเสียในเวลา
ใดๆ ก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรปรากฏเป็นข้อขัดกับที่กล่าวมานี้
มาตรา 860 เงินส่วนที่ผิดกันอยู่นั้น ถ้ายังมิได้ชำระ ท่านให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่หักทอนบัญชี
เสร็จเป็นต้นไป
ลักษณะ 20
ประกันภัย
หมวด 1
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
มาตรา 861 อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้
ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย
มาตรา 862 ตามข้อความในลักษณะนี้
คำว่า "ผู้รับประกันภัย" ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้
คำว่า "ผู้เอาประกันภัย" ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
คำว่า "ผู้รับประโยชน์" ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับ
จำนวนเงินใช้ให้
อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้
มาตรา 863 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้
ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
มาตรา 864 เมื่อคู่สัญญาประกันภัยยกเอาภัยใดโดยเฉพาะขึ้นเป็นข้อพิจารณาในการวางกำหนด
จำนวนเบี้ยประกันภัยและภัยเช่นนั้นสิ้นไปหามีไม่แล้ว ท่านว่าภายหน้าแต่นั้นไปผู้เอาประกันภัย
ชอบที่จะได้ลดเบี้ยประกันภัยลงตามส่วน
มาตรา 865 ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการ
ใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง
ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา
หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะ
บอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอัน
ระงับสิ้นไป
มาตรา 866 ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดั่งกล่าวใน มาตรา 865 นั้นก็ดี หรือรู้ว่าข้อแถลง
ความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดั่งจะพึงคาดหมายได้แต่
วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์
มาตรา 867 อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อ
ฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัย
ฉบับหนึ่ง
กรมธรรม์ประกันภัยต้องลงลายมือของผู้รับประกันภัยและมีรายการดั่งต่อไปนี้
(1) วัตถุที่เอาประกันภัย
(2) ภัยใดซึ่งผู้รับประกันภัยรับเสี่ยง
(3) ราคาแห่งมูลประกันภัย ถ้าหากได้กำหนดกันไว้
(4) จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย
(5) จำนวนเบี้ยประกันภัย และวิธีส่งเบี้ยประกันภัย
(6) ถ้าหากสัญญาประกันภัยมีกำหนดเวลา ต้องลงเวลาเริ่มต้น และเวลาสิ้นสุดไว้ด้วย
(7) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้รับประกันภัย
(8) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้เอาประกันภัย
(9) ชื่อของผู้รับประโยชน์ ถ้าจะพึงมี
(10) วันทำสัญญาประกันภัย
(11) สถานที่และวันที่ได้ทำกรมธรรม์ประกันภัย
มาตรา 868 อันสัญญาประกันภัยทะเล ท่านให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล
หมวด 2
ประกันวินาศภัย
ส่วนที่ 1
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
มาตรา 869 อันคำว่า "วินาศภัย" ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่ง
จะพึงประมาณเป็นเงินได้
มาตรา 870 ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อความวินาศภัยอันเดียว
กัน และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับ
ประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศจริงเท่านั้น ผู้รับประกันภัยแต่
ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประกันภัยไว้
อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย ถ้าลงวันเดียวกัน ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน
ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ท่านว่าผู้รับ
ประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อน ถ้าและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรก
ได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยไซร้ ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้น
ต่อๆ กันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ
มาตรา 871 ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันก็ดี หรือสืบเนื่องเป็นลำดับ
กันก็ดี ท่านว่าการที่ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งนั้น ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิ
และหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่นๆ
มาตรา 872 ก่อนเริ่มเสี่ยงภัย ผู้เอาประกันภัยจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ แต่ผู้รับประกันภัยชอบที่
จะได้เบี้ยประกันภัยกึ่งจำนวน
มาตรา 873 ถ้าในระหว่างอายุสัญญาประกันภัยนั้น มูลประกันภัยได้ลดน้อยถอยลงไปหนักไซร้
ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ และลดจำนวนเงินเบี้ยประกันภัย
การลดจำนวนเบี้ยประกันนั้น ให้เป็นผลต่อในอนาคต
มาตรา 874 ถ้าคู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้ ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวน
ค่าสินไหมทดแทนก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าราคาแห่งมูลประกันภัยตามที่ได้ตกลงกันไว้นั้นเป็นจำนวน
สูงเกินไปหนัก และคืนจำนวนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วน กับทั้งดอกเบี้ยด้วย
มาตรา 875 ถ้าวัตถุอันได้ประกันภัยไว้นั้น เปลี่ยนมือไปจากผู้เอาประกันภัยโดยพินัยกรรมก็ดี หรือ
โดยบัญญัติกฎหมายก็ดี ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยก็ย่อมโอนตามไปด้วย
ถ้าในสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เมื่อผู้เอาประกันภัยโอนวัตถุที่เอาประกันภัย
และบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยไซร้ ท่านว่าสิทธิอันมีอยู่ในสัญญาประกันภัยนั้นย่อม
โอนตามไปด้วย อนึ่ง ถ้าในการโอนเช่นนี้ช่องแห่งภัยเปลี่ยนแปลงไปหรือเพิ่มขึ้นหนักไซร้ ท่านว่า
สัญญาประกันภัยนั้นกลายเป็นโมฆะ
มาตรา 876 ถ้าผู้รับประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย ผู้เอาประกันภัยจะเรียกให้หา
ประกันอันสมควรให้แก่ตนก็ได้ หรือจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
ถ้าผู้เอาประกันภัยต้องคำพิพากษาให้เป็นคนล้มละลาย ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ
ตามควรแก่เรื่อง แต่กระนั้นก็ดี ถ้าเบี้ยประกันภัยได้ส่งแล้วเต็มจำนวนเพื่ออายุประกันเป็นระยะ
เวลามากน้อยเท่าใดไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยบอกเลิกสัญญาก่อนระยะเวลานั้นสุดลง
มาตรา 877 ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ เพราะได้จัดการตาม
สมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย
(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้น
มิให้วินาศ
อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิด
ขึ้น อนึ่ง จำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอัน
ถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น
ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้
มาตรา 878 ค่าใช้จ่ายในการตีราคาวินาศภัยนั้น ท่านว่าผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกใช้
มาตรา 879 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้น
ได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สม
ประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย เว้นแต่จะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น
มาตรา 880 ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับประกันภัย
ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอา
ประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคคลภายนอกเพียงนั้น
ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้
ผู้รับประกันภัยนั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ในการที่
เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น
มาตรา 881 ถ้าความวินาศเกิดขึ้นเพราะภัยมีขึ้นดั่งผู้รับประกันภัยตกลงประกันภัยไว้ไซร้ เมื่อผู้เอา
ประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ทราบความวินาศนั้นแล้ว ต้องบอกกล่าวแก่ผู้รับประกันภัยโดยไม่ชักช้า
ถ้ามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อน ผู้รับประกันภัยอาจเรียกร้องค่า
สินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การนั้นได้ เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะพิสูจน์ได้
ว่าไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้
มาตรา 882 ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลาสองปีนับ
แต่วันวินาศภัย
ในการเรียกให้ใช้หรือให้คืนเบี้ยประกันภัย ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาสองปีนับ
แต่วันซึ่งสิทธิจะเรียกให้ใช้หรือคืนเบี้ยประกันภัยถึงกำหนด
ส่วนที่ 2
วิธีเฉพาะการประกันภัยในการรับขน
มาตรา 883 อันสัญญาประกันภัยในการรับขนนั้น ย่อมคุ้มถึงความวินาศภัยทุกอย่างซึ่งอาจเกิดแก่
ของที่ขนส่งในระหว่างเวลาตั้งแต่ผู้ขนส่งได้รับของไป จนได้ส่งมอบของนั้นแก่ผู้รับตราส่ง และ
จำนวนค่าสินไหมทดแทนนั้น ย่อมกำหนดตามที่ของซึ่งขนส่งนั้นจะได้มีราคาเมื่อถึงตำบลอันกำหนดให้ส่ง
มาตรา 884 ถ้าของซึ่งขนส่งนั้นได้เอาประกันภัยเมื่ออยู่ในระหว่างส่งเดินทางไป ท่านให้คิดมูล
ประกันภัยในของนั้นนับรวมทั้งราคาของ ณ สถานที่และในเวลาที่ผู้ขนส่งได้รับของ และให้เพิ่มค่า
ระวางส่งของไปยังสถานที่ส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง กับทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ เนื่องด้วยการส่งของไปนั้น
เข้าด้วย
กำไรอันจะพึงได้ในเวลาเมื่อส่งมอบของนั้น ย่อมจะคิดรวมเข้าเป็นมูลประกันภัยได้ต่อเมื่อ
ได้มีข้อตกลงกันไว้เช่นนั้นชัดแจ้ง
มาตรา 885 อันสัญญาประกันภัยในการรับขนนั้น ถึงแม้การขนส่งจะต้องสะดุดหยุดลงชั่วขณะหรือ
จะต้องเปลี่ยนทางหรือเปลี่ยนวิธีขนส่งอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเหตุจำเป็นในระหว่างส่งเดินทางก็ดี
ท่านว่าสัญญานั้นก็ย่อมคงเป็นอันสมบูรณ์อยู่ เว้นแต่จะได้ระบุไว้ในสัญญาเป็นอย่างอื่น
มาตรา 886 อันกรมธรรม์ประกันภัยในการรับขนนั้น นอกจากที่ได้ระบุไว้แล้วใน มาตรา 867 ต้องมี
รายการเพิ่มขึ้นอีกดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) ระบุทางและวิธีขนส่ง
(2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขนส่ง
(3) สถานที่ซึ่งกำหนดให้รับและส่งมอบของ
(4) กำหนดระยะเวลาขนส่ง ตามแต่มี
ส่วนที่ 3
ประกันภัยค้ำจุน
มาตรา 887 อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหม
ทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอา
ประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับ
ประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัย
จะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้
ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ก็ยังหา
หลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าสินไหมทดแทนนั้น
ผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว
มาตรา 888 ถ้าค่าสินไหมทดแทนอันผู้รับประกันภัยได้ใช้ไปโดยคำพิพากษานั้นยังไม่คุ้มค่าวินาศภัย
เต็มจำนวนไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยก็ยังคงต้องรับใช้จำนวนที่ยังขาด เว้นไว้แต่บุคคลผู้ต้องเสีย
หายจะได้ละเลยเสียไม่เรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู่คดีด้วยดั่งกล่าวไว้ในมาตราก่อน
17 พ.ค. 2566
12 พ.ค. 2566
17 พ.ค. 2566
17 พ.ค. 2566