Last updated: 14 พ.ค. 2566 | 437 จำนวนผู้เข้าชม |
กฎหมายแพ่งและพานิชย์
ลักษณะ 9
ยืม
หมวด 1
ยืมใช้คงรูป
มาตรา 640 อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง
เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้
สอยเสร็จแล้ว
มาตรา 641 การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม
มาตรา 642 ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและค่าส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี
ย่อมตกแก่ผู้ยืมเป็นผู้เสีย
มาตรา 643 ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น
หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่
ควรจะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่ง
อย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้อง
สูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
มาตรา 644 ผู้ยืมจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง
มาตรา 645 ในกรณีทั้งหลายดั่งกล่าวไว้ใน มาตรา 643 นั้นก็ดี หรือถ้าผู้ยืมประพฤติฝ่าฝืนต่อความใน
มาตรา 644 ก็ดี ผู้ให้ยืมจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้
มาตรา 646 ถ้ามิได้กำหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จ
แล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การ
ที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว
ถ้าเวลาก็มิได้กำหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่า
ผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไรก็ได้
มาตรา 647 ค่าใช้จ่ายอันเป็นปกติแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งยืมนั้นผู้ยืมต้องเป็นผู้เสีย
มาตรา 648 อันการยืมใช้คงรูปย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม
มาตรา 649 ในข้อความรับผิดเพื่อเสียค่าทดแทนอันเกี่ยวกับการยืมใช้คงรูปนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้อง
เมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา
หมวด 2
ยืมใช้สิ้นเปลือง
มาตรา 650 อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไป
นั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และ
ปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม
มาตรา 651 ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาก็ดี ค่าส่งมอบและส่งคืนทรัพย์สินซึ่งยืมก็ดี ย่อมตกแก่
ผู้ยืมเป็นผู้เสีย
มาตรา 652 ถ้าในสัญญาไม่มีกำหนดเวลาให้คืนทรัพย์สินซึ่งยืมไป ผู้ให้ยืมจะบอกกล่าวแก่ผู้ยืมให้
คืนทรัพย์สินภายในเวลาอันควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้
มาตรา 653 การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใด
อย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐาน
เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้น
ได้เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว
“วรรหนึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น
ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี
มาตรา 655 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยในดอกเบี้ยที่ค้างชำระ แต่ทว่าเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระไม่น้อย
กว่าปีหนึ่ง คู่สัญญากู้ยืมจะตกลงกันให้เอาดอกเบี้ยนั้นทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยใน
จำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นก็ได้ แต่การตกลงเช่นนั้นต้องทำเป็นหนังสือ
ส่วนประเพณีการค้าขายที่คำนวณดอกทบต้นในบัญชีเดินสะพัดก็ดี ในการค้าขายอย่าง
อื่นทำนองเช่นว่านี้ก็ดี หาอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติซึ่งกล่าวมาในวรรคก่อนนั้นไม่
มาตรา 656 ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นแทน
จำนวนเงินนั้นไซร้ ท่านให้คิดเป็นหนี้เงินค้างชำระโดยจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของ
หรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการ
ชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับ
ราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ
ความตกลงกันอย่างใดๆ ขัดกับข้อความดั่งกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ
ลักษณะ 10
ฝากทรัพย์
หมวด 1
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
มาตรา 657 อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ฝาก ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่
บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับฝากและผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่ง
ตน แล้วจะคืนให้
มาตรา 658 ถ้าโดยพฤติการณ์พึงคาดหมายได้ว่าเขารับฝากทรัพย์ก็เพื่อจะได้รับบำเหน็จค่าฝากทรัพย์
เท่านั้นไซร้ ท่านให้ถือว่าเป็นอันได้ตกลงกันแล้วโดยปริยายว่ามีบำเหน็จเช่นนั้น
มาตรา 659 ถ้าการรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่าไม่มีบำเหน็จไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความ
ระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง
ถ้าการรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ท่านว่าผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวัง
และใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น ทั้งนี้
ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย
ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จำ
ต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้า
ขายหรืออาชีวะอย่างนั้น
มาตรา 660 ถ้าผู้ฝากมิได้อนุญาต และผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกใช้สอยเอง หรือเอาไปให้
บุคคลภายนอกใช้สอย หรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษาไซร้ ท่านว่าผู้รับฝากจะต้องรับผิดเมื่อ
ทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่
จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไรๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง
มาตรา 661 ถ้าบุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยื่นฟ้องผู้รับฝากก็ดี หรือยึด
ทรัพย์สินนั้นก็ดี ผู้รับฝากต้องรับบอกกล่าวแก่ผู้ฝากโดยพลัน
มาตรา 662 ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ท่านว่าผู้รับฝากไม่มีสิทธิ
จะคืนทรัพย์สินก่อนถึงเวลากำหนด เว้นแต่ในเหตุจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้
มาตรา 663 ถึงแม้ว่าคู่สัญญาจะกำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไรก็ตาม ถ้าว่า
ผู้ฝากจะเรียกคืนในเวลาใดๆ ผู้รับฝากก็ต้องคืนให้
มาตรา 664 ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไรไซร้ ผู้รับฝากอาจ
คืนทรัพย์สินนั้นได้ทุกเมื่อ
มาตรา 665 ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝากหรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้
ใด คืนให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สินนั้นไปแก่ผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น
แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท
มาตรา 666 เมื่อคืนทรัพย์ ถ้ามีดอกผลเกิดแต่ทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเท่าใด ผู้รับฝากจำต้องส่งมอบ
พร้อมไปกับทรัพย์สินนั้นด้วย
มาตรา 667 ค่าคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น ย่อมตกแก่ผู้ฝากเป็นผู้เสีย
มาตรา 668 ค่าใช้จ่ายใดอันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นๆ ผู้ฝากจำต้องชดใช้ให้แก่
ผู้รับฝาก เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ โดยสัญญาฝากทรัพย์ว่าผู้รับฝากจะต้องออกเงินค่าใช้จ่ายนั้นเอง
มาตรา 669 ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา หรือไม่มีกำหนดโดยจารีตประเพณีว่าบำเหน็จค่าฝาก
ทรัพย์นั้นจะพึงชำระเมื่อไรไซร้ ท่านให้ชำระเมื่อคืนทรัพย์สินซึ่งฝาก ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้เป็น
ระยะอย่างไร ก็พึงชำระเมื่อสิ้นระยะเวลานั้นทุกคราวไป
มาตรา 670 ผู้รับฝากชอบที่จะยึดหน่วงเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นไว้ได้ จนกว่าจะได้รับเงินบรรดาที่ค้าง
ชำระแก่ตนเกี่ยวด้วยการฝากทรัพย์นั้น
มาตรา 671 ในข้อความรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ก็ดี ชดใช้เงินค่าใช้จ่ายก็ดี ใช้ค่าสินไหม
ทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ก็ดี ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา
หมวด 2
วิธีเฉพาะการฝากเงิน
มาตรา 672 ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืนเป็นเงินทองตราอันเดียว
กันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
อนึ่ง ผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวนเท่านั้น
แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวนดั่งว่านั้น
มาตรา 673 เมื่อใดผู้รับฝากจำต้องคืนเงินแต่เพียงเท่าจำนวนที่ฝาก ผู้ฝากจะเรียกถอนเงินคืนก่อน
ถึงเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ไม่ได้ หรือฝ่ายผู้รับฝากจะส่งคืนเงินก่อนถึงกำหนดเวลานั้นก็ไม่ได้ดุจกัน
หมวด 3
วิธีเฉพาะสำหรับเจ้าสำนักโรงแรม
มาตรา 674 เจ้าสำนัก โรงแรม หรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อความ
สูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา
มาตรา 675 เจ้าสำนักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทาง หรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลาย
ไปอย่างใดๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม
โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้น ก็คงต้องรับผิด
ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวน
สินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่นๆ ให้จำกัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้
ไว้แก่เจ้าสำนักและได้บอกราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง
แต่เจ้าสำนักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือ
แต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวาร
ของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ
“วรรคสองแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 14) พ.ศ.2548”
มาตรา 676 ทรัพย์สินซึ่งมิได้นำฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น
คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสำนัก โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที
มิฉะนั้นท่านว่าเจ้าสำนักย่อมพ้นจากความรับผิดดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 674 และ 675
มาตรา 677 ถ้ามีคำแจ้งความปิดไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทำนองเช่นว่านี้ เป็นข้อความ
ยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของเจ้าสำนักไซร้ ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะ เว้นแต่คนเดินทางหรือ
แขกอาศัยจะได้ตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดดั่งว่านั้น
มาตรา 678 ในข้อความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อทรัพย์สินของคนเดินทางหรือของแขกอาศัย
สูญหายหรือบุบสลายนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่คนเดินทางหรือแขก
อาศัยออกไปจากสถานที่นั้น
มาตรา 679 เจ้าสำนักชอบที่จะยึดหน่วงเครื่องเดินทางหรือทรัพย์สินอย่างอื่นของคนเดินทางหรือ
แขกอาศัยอันเอาไว้ในโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นได้จนกว่าจะได้รับใช้เงินบรรดาที่ค้าง
ชำระแก่ตน เพื่อการพักอาศัยและการอื่นๆ อันได้ทำให้แก่คนเดินทางหรือแขกอาศัยตามที่เขาพึง
ต้องการนั้น รวมทั้งการชดใช้เงินทั้งหลายที่ได้ออกแทนไปด้วย
เจ้าสำนักจะเอาทรัพย์สินที่ได้ยึดหน่วงไว้เช่นว่านั้นออกขายทอดตลาดแล้วหักเอาเงินใช้
จำนวนที่ค้างชำระแก่ตน รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดนั้นจากเงินที่
ขายทรัพย์สินนั้นก็ได้ แต่ท่านมิให้เจ้าสำนักใช้สิทธิดั่งว่านี้ จนเมื่อ
(1) ทรัพย์สินนั้นตกอยู่แก่ตนเป็นเวลานานถึงหกสัปดาห์ยังมิได้รับชำระหนี้สิน และ
(2) อย่างน้อยเดือนหนึ่งก่อนวันขายทอดตลาด ซึ่งได้ประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์
ประจำท้องถิ่นฉบับหนึ่งแจ้งความจำนงที่จะขายทรัพย์สิน บอกลักษณะแห่งทรัพย์สินที่จะขาย
โดยย่อ กับถ้ารู้ชื่อเจ้าของก็บอกด้วย
เมื่อขายทอดตลาดหักใช้หนี้ดั่งกล่าวแล้ว มีเงินเหลืออยู่อีกเท่าใดต้องคืนให้แก่เจ้าของ
หรือฝากไว้ ณ สำนักงานฝากทรัพย์ตามบทบัญญัติใน มาตรา 331 และ 333
ลักษณะ 11
ค้ำประกัน
หมวด 1
บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
มาตรา 680 อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ค้ำประกัน ผูกพันตน
ต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
อนึ่ง สัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือ
ชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
มาตรา 681 อันค้ำประกันนั้นจะมีได้แต่เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์
ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตน
เพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ในกรณีเช่นนั้นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น
ย่อมไม่มีสิทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690
หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้
แต่ต้องระบุวัตถุประสงค์ในการก่อหนี้รายที่ค้ำประกัน ลักษณะของมูลหนี้ จำนวนเงินสูงสุดที่ค้ำประกัน
และระยะเวลาในการก่อหนี้ที่จะค้ำประกัน เว้นแต่เป็นการค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราว
ตามมาตรา 699 จะไม่ระบุระยะเวลาดังกล่าวก็ได้
สัญญาค้ำประกันต้องระบุหนี้หรือสัญญาที่ค้ำประกันไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ค้ำประกันย่อมรับผิด
เฉพาะหนี้หรือสัญญาที่ระบุไว้เท่านั้น
หนี้อันเกิดแต่สัญญาซึ่งไม่ผูกพันลูกหนี้เพราะทำด้วยความสำคัญผิดหรือเพราะเป็นผู้ไร้
ความสามารถนั้นก็อาจจะมีประกันอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าหากว่าผู้ค้ำประกันรู้เหตุสำคัญผิด
หรือไร้ความสามารถนั้นในขณะที่เข้าทำสัญญาผูกพันตน
*มาตรา 681 วรรคสอง เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558
มาตรา 681/1 ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือ
ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
*มาตรา 681 และมาตรา 681/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557
มาตรา 682 ท่านว่าบุคคลจะยอมเข้าเป็นผู้รับเรือน คือเป็นประกันของผู้ค้ำประกันอีกชั้นหนึ่งก็เป็นได้
ถ้าบุคคลหลายคนยอมตนเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้รายเดียวกันไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกัน
เหล่านั้นมีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน แม้ถึงว่ามิได้เข้ารับค้ำประกันรวมกัน
มาตรา 683 ค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัดนั้นย่อมคุ้มถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ
ตลอดจนค่าภารติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นด้วย
มาตรา 684 ผู้ค้ำประกันประกันย่อมรับผิดเพื่อค่าฤชาธรรมเนียมความซึ่งลูกหนี้ต้องใช้ให้แก่เจ้าหนี้
แต่ถ้าโจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้เรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้นั้นก่อนไซร้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันหาต้องรับผิด
เพื่อใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเช่นนั้นไม่
มาตรา 685 เมื่อบังคับตามสัญญาค้ำประกันนั้น ผู้ค้ำประกันไม่ชำระหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้ รวมทั้ง
ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน และอุปกรณ์ด้วยไซร้ หนี้ยังเหลืออยู่เท่าใด ท่านว่าลูกหนี้ยังคงรับผิด
ต่อเจ้าหนี้ในส่วนที่เหลือนั้น
มาตรา 685/1 บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคหนึ่ง
วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 686 มาตรา 694 มาตรา 698 และมาตรา 699 เป็นโมฆะ
*มาตรา 685/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558
หมวด 2
ผลก่อนชำระหนี้
มาตรา 686 เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวัน
นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใดเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่
หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันมิได้ แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ค้ำประกันที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ
ในกรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้น
จากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น
บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง
เมื่อเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้หรือผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ตามวรรคหนึ่ง
ผู้ค้ำประกันอาจชำระหนี้ทั้งหมดหรือใช้สิทธิชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่กับ
เจ้าหนี้ก่อนการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่ตนต้องรับผิดก็ได้ และให้นำความในมาตรา 701
วรรคสองมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในระหว่างที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามวรรคสาม
เจ้าหนี้จะเรียกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเพราะเหตุที่ลูกหนี้ผิดนัดในระหว่างนั้นมิได้
การชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันตามมาตรานี้ ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ค้ำประกันตามมาตรา 693
*มาตรา 686 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557
มาตรา 687 ผู้ค้ำประกันไม่จำต้องชำระหนี้ก่อนถึงเวลากำหนดที่จะชำระ แม้ถึงว่าลูกหนี้จะไม่อาจ
ถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาเริ่มต้นหรือเวลาสุดสิ้นได้ต่อไปแล้ว
มาตรา 688 เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้
เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้ว หรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใด
ในพระราชอาณาเขต
มาตรา 689 ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดั่งกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกัน
พิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการ
ยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน
มาตรา 690 ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้
จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน
มาตรา 691 ในกรณีที่เจ้าหนี้ตกลงกับลูกหนี้ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกัน
รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้เจ้าหนี้มีหนังสือ
แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตกลงกันนั้น ถ้าลูกหนี้ได้ชำระหนี้
ตามที่ได้ลดแล้วก็ดี ลูกหนี้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดไม่ครบถ้วนแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือนั้นแล้วก็ดี
หรือลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดนั้นแล้วก็ดี ให้ผู้ค้ำประกัน
เป็นอันหลุดพ้นจากการค้ำประกัน ในการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันดังกล่าว ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้
แม้จะล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาชำระหนี้ดังกล่าว
ในกรณีที่เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้
ตามที่ได้ลดแล้ว ให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกัน
ทราบถึงข้อตกลงนั้น ทั้งนี้ ข้อตกลงที่ทำขึ้นภายหลังที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว หากในข้อตกลงนั้น
มีการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ มิให้ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาตามมาตรา 700
*มาตรา 691 แก้ไขโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558
มาตรา 692 อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย
หมวด 3
ผลภายหลังชำระหนี้
มาตรา 693 ผู้ค้ำประกันซึ่งได้ชำระหนี้แล้ว ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้เพื่อต้นเงิน กับดอกเบี้ย
และเพื่อการที่ต้องสูญหายหรือเสียหายไปอย่างใดๆ เพราะการค้ำประกันนั้น
อนึ่ง ผู้ค้ำประกันย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วย
มาตรา 694 นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้
ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย
มาตรา 695 ผู้ค้ำประกันซึ่งละเลยไม่ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้นั้น ท่านว่าย่อมสิ้นสิทธิที่จะ
ไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้เพียงเท่าที่ไม่ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้ว่ามีข้อต่อสู้เช่น
นั้นและที่ไม่รู้นั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของตนด้วย
มาตรา 696 ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิจะไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ได้ ถ้าว่าตนได้ชำระหนี้แทนไปโดยมิได้บอก
ลูกหนี้ และลูกหนี้ยังมิรู้ความมาชำระหนี้ซ้ำอีก
ในกรณีเช่นว่านี้ ผู้ค้ำประกันก็ได้แต่เพียงจะฟ้องเจ้าหนี้เพื่อคืนลาภมิควรได้เท่านั้น
มาตรา 697 ถ้าเพราะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้เองเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันไม่อาจเข้ารับ
ช่วงได้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในสิทธิก็ดีจำนองก็ดี จำนำก็ดี และบุริมสิทธิอันได้ให้ไว้แก่เจ้าหนี้แต่
ก่อนหรือในขณะทำสัญญาค้ำประกันเพื่อชำระหนี้นั้น ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับ
ผิดเพียงเท่าที่ตนต้องเสียหายเพราะการนั้น
หมวด 4
ความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกัน
มาตรา 698 อันผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในขณะเมื่อหนี้ของลูกหนี้ระงับสิ้นไปไม่ว่า
เพราะเหตุใด
มาตรา 699 การค้ำประกันเพื่อกิจการเนื่องกันไปหลายคราวไม่มีจำกัดเวลาเป็นคุณแก่เจ้าหนี้นั้น
ท่านว่าผู้ค้ำประกันอาจเลิกเสียเพื่อคราวอันเป็นอนาคตได้ โดยบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่เจ้าหนี้
ในกรณีเช่นนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในกิจการที่ลูกหนี้กระทำลงภายหลังคำ
บอกกล่าวนั้นได้ไปถึงเจ้าหนี้
มาตรา 700 ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อน
เวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ผู้ค้ำประกันจะได้ตกลงด้วยใน
การผ่อนเวลานั้น
ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทำไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาอันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา
ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้
ความในวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้าง
เป็นปกติธุระ
*มาตรา 700 แก้ไขโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557
*มาตรา 700 วรรคสาม แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558
มาตรา 701 ผู้ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระก็ได้
ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด
17 พ.ค. 2566
12 พ.ค. 2566
17 พ.ค. 2566
17 พ.ค. 2566