กฎหมายเเพ่งและพานิชย์ บรรพ1 ลักษณะ 2 หมวด 1

Last updated: 13 พ.ค. 2566  |  307 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฎหมายเเพ่งและพานิชย์ บรรพ1 ลักษณะ 2 หมวด 1

              กฎหมายแพ่งและพานิชย์ บรรพ1 

               ลักษณะ 2
               บุคคล
               หมวด 1
               บุคคลธรรมดา
               ส่วนที่ 1
               สภาพบุคคล
 
               มาตรา 15 สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย
               ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก
               มาตรา 16 การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด  ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด
ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด  แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใด
ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด
               มาตรา 17 ในกรณีบุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน  ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้
ว่าคนไหนตายก่อนหลัง  ให้ถือว่าตายพร้อมกัน
               มาตรา 18 สิทธิของบุคคลในการที่จะใช้นามอันชอบที่จะใช้ได้นั้นถ้ามีบุคคลอื่นโต้แย้งก็ดี หรือ
บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามนั้นต้องเสื่อมเสียประโยชน์  เพราะการที่มีผู้อื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้
รับอำนาจให้ใช้ได้ก็ดี  บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามจะเรียกให้บุคคลนั้นระงับความเสียหายก็ได้ ถ้าและ
เป็นที่พึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไปจะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้
 
               ส่วนที่ 2
               ความสามารถ
 
               มาตรา 19 บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์
               มาตรา 20 ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำตามบทบัญญัติ
มาตรา 1448.
               มาตรา 21 ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใดๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน  การใดๆ
ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ  เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
               มาตรา 22 ผู้เยาว์อาจทำการใดๆ ได้ทั้งสิ้นหากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็น
การเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง
               มาตรา 23 ผู้เยาว์อาจทำการใดๆ ได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว
               มาตรา 24 ผู้เยาว์อาจทำการใดๆ ได้ทั้งสิ้นซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็น
ในการดำรงชีพตามสมควร
               มาตรา 25 ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่ออายุสิบห้าปีบริบูรณ์
               มาตรา 26 ถ้าผู้แทนโดยชอบธรรมอนุญาตให้ผู้เยาว์จำหน่ายทรัพย์สินเพื่อการอันใดอันหนึ่งอันได้
ระบุไว้  ผู้เยาว์จะจำหน่ายทรัพย์สินนั้นเป็นประการใดภายในขอบของการที่ระบุไว้นั้นก็ทำได้ตาม
ใจสมัคร  อนึ่ง ถ้าได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทรัพย์สินโดยมิได้ระบุว่าเพื่อการอันใด  ผู้เยาว์ก็
จำหน่ายได้ตามใจสมัคร
               มาตรา 27 ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ในการประกอบธุรกิจทางการค้า หรือ
ธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานได้ ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรม
ไม่ให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร  ผู้เยาว์อาจร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตได้
               ในความเกี่ยวพันกับการประกอบธุรกิจหรือการจ้างแรงงานตามวรรคหนึ่ง  ให้ผู้เยาว์มี
ฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว
               ถ้าการประกอบธุรกิจหรือการทำงานที่ได้รับความยินยอมหรือที่ได้รับอนุญาตตามวรรค
หนึ่ง  ก่อให้เกิดความเสียหายถึงขนาดหรือเสื่อมเสียแก่ผู้เยาว์  ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจบอกเลิก
ความยินยอมที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์เสียได้ หรือในกรณีที่ศาลอนุญาต  ผู้แทนโดยชอบธรรมอาจร้องขอ
ต่อศาลให้เพิกถอนการอนุญาตที่ได้ให้แก่ผู้เยาว์นั้นเสียได้
               ในกรณีที่ผู้แทนโดยชอบธรรมบอกเลิกความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร  ผู้เยาว์อาจ
ร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนการบอกเลิกความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมได้
               การบอกเลิกความยินยอมโดยผู้แทนโดยชอบธรรมหรือการเพิกถอนการอนุญาตโดยศาล
ย่อมทำให้ฐานะเสมือนดังบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วของผู้เยาว์สิ้นสุดลง แต่ไม่กระทบกระเทือน
การใดๆ ที่ผู้เยาว์ได้กระทำไปแล้วก่อนมีการบอกเลิกความยินยอมหรือเพิกถอนการอนุญาต
               มาตรา 28 บุคคลวิกลจริตผู้ใด ถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวดก็ดี
ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูกหลาน เหลนลื่อก็ดี ผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคล
นั้นอยู่ก็ดี  หรือพนักงานอัยการก็ดี  ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความ
สามารถ  ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้
               บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่งต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล
การแต่งตั้งผู้อนุบาล  อำนาจหน้าที่ของผู้อนุบาลและการสิ้นสุดของความเป็นผู้อนุบาลให้เป็นไป
ตามบทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้
               คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               มาตรา 29 การใดๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง  การนั้นเป็นโมฆียะ
               มาตรา 30 การใดๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง
การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่  และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้
รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต
               มาตรา 31 ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว และเมื่อบุคคลผู้นั้นเองหรือ
บุคคลใดๆ ดังกล่าวมาใน มาตรา 28 ร้องขอต่อศาล  ก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคน
ไร้ความสามารถนั้น
               คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               มาตรา 32 บุคคลใดมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็น
อาจิณ หรือติดสุรายาเมาหรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้นจนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดย
ตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว  เมื่อ
บุคคลตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 28  ร้องขอต่อศาล  ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความ
สามารถก็ได้
               บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถตามวรรคหนึ่งต้องจัดให้อยู่ใน
ความพิทักษ์  การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายนี้
               ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสิ้นสุดของความเป็นผู้ปกครองใน บรรพ 5 แห่งประมวล
กฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของการเป็นผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
               คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               มาตรา 33 ในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนไร้ความสามารถเพราะวิกลจริต  ถ้า
ศาลพิจารณาได้ความว่าบุคคลนั้นไม่วิกลจริต แต่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  เมื่อศาล
เห็นสมควรหรือเมื่อมีคำขอของคู่ความหรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 28  ศาลอาจสั่งให้
บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้  หรือในคดีที่มีการร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็น
คนเสมือนไร้ความสามารถเพราะมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ  ถ้าทางพิจารณาได้ความว่าบุคคล
นั้นวิกลจริตเมื่อมีคำขอของคู่ความหรือของบุคคลตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 28   ศาลอาจสั่งให้บุคคล
นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้
               มาตรา 34 คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการ
อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้
               (1) นำทรัพย์สินไปลงทุน
               (2) รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุนต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น
               (3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงินยืม หรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
               (4) รับประกันโดยประการใดๆอันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
               (5) เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าหกเดือน หรือ
อสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่าสามปี
               (6) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคม หรือตาม
หน้าที่ธรรมจรรยา
               (7) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันหรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
               (8) ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มาหรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์หรือใน
สังหาริมทรัพย์อันมีค่า
               (9) ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
               (10) เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ  เว้นแต่การร้องขอตาม มาตรา 35
หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
               (11) ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
               ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวในวรรคหนึ่งซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไป
ในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว  ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้
ความสามารถหรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลัง  ศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถ
นั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้
               ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาใน
วรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเองเพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณี
เช่นนี้ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
               คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
               การใดกระทำลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้  การนั้นเป็นโมฆียะ
               **หมายเหตุ  มาตรา 34 (3) “บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่
ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการให้กู้ยืมเงิน
ที่ผู้เสมือนไร้ความสามารถได้กระทำขึ้นก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” (มาตรา 5 แห่ง
พระราชบัญญัติ ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระ
ใหม่ พ.ศ. 2535 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 42 หน้า 1 วันที่ 8 เมษายน 2535)
               มาตรา 35 ในกรณีที่ผู้พิทักษ์ไม่ยินยอมให้คนเสมือนไร้ความสามารถกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด
ตาม มาตรา 34 โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เมื่อคนเสมือนไร้ความสามารถร้องขอ  ศาลจะมี
คำสั่งอนุญาตให้กระทำการนั้นโดยไม่ต้องรับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก็ได้ ถ้าการนั้นจะเป็นคุณ
ประโยชน์แก่คนเสมือนไร้ความสามารถ
               มาตรา 36 ถ้าเหตุที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดไปแล้ว  ให้นำบทบัญญัติ
มาตรา 31  มาใช้บังคับโดยอนุโลม
 
               ส่วนที่ 3
               ภูมิลำเนา
 
               มาตรา 37 ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ
               มาตรา 38 ถ้าบุคคลธรรมดามีถิ่นที่อยู่หลายแห่งซึ่งอยู่สับเปลี่ยนกันไป หรือมีหลักแหล่งที่ทำการงาน
เป็นปกติหลายแห่ง  ให้ถือเอาแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น
               มาตรา 39 ถ้าภูมิลำเนาไม่ปรากฏ ให้ถือว่าถิ่นที่อยู่เป็นภูมิลำเนา
               มาตรา 40 บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้ไม่มีที่อยู่ปกติเป็นหลักแหล่ง  หรือเป็นผู้ครองชีพในการเดินทาง
ไปมาปราศจากหลักแหล่งที่ทำการงาน พบตัวในถิ่นไหนให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาของบุคคลนั้น
               มาตรา 41 ภูมิลำเนาย่อมเปลี่ยนไปด้วยการย้ายถิ่นที่อยู่พร้อมด้วยเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยน
ภูมิลำเนา
               มาตรา 42 ถ้าบุคคลใดได้เลือกเอาถิ่นใดโดยมีเจตนาปรากฏชัดแจ้งว่าจะให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการ
เพื่อทำการใด  ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการนั้น
               มาตรา 43 ภูมิลำเนาของสามีและภริยา  ได้แก่ถิ่นที่อยู่ที่สามีและภริยาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา
เว้นแต่สามีหรือภริยาได้แสดงเจตนาให้ปรากฏว่ามีภูมิลำเนาแยกต่างหากจากกัน
               มาตรา 44 ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ได้แก่ภูมิลำเนาของผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง
หรือผู้ปกครอง
               ในกรณีที่ผู้เยาว์อยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา ถ้าบิดาและมารดามีภูมิลำเนา
แยกต่างหากจากกัน  ภูมิลำเนาของผู้เยาว์ได้แก่ภูมิลำเนาของบิดาหรือมารดาซึ่งตนอยู่ด้วย
               มาตรา 45 ภูมิลำเนาของคนไร้ความสามารถ ได้แก่ภูมิลำเนาของผู้อนุบาล
               มาตรา 46 ภูมิลำเนาของข้าราชการ  ได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่  หากมิใช่เป็น
ตำแหน่งหน้าที่ชั่วคราวชั่วระยะเวลาหรือเป็นเพียงแต่งตั้งไปเฉพาะการครั้งเดียวคราวเดียว
               มาตรา 47 ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วย
กฎหมาย  ได้แก่เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว
 
               ส่วนที่ 4
               สาบสูญ
 
               มาตรา 48 ถ้าบุคคลใดไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้
และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ
ศาลจะสั่งให้ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคล
ผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้
               เมื่อเวลาได้ล่วงเลยไปหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ไม่อยู่นั้นไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่
และไม่มีผู้ใดได้รับข่าวเกี่ยวกับบุคคลนั้นประการใดเลยก็ดี หรือหนึ่งปีนับแต่วันมีผู้ได้พบเห็นหรือ
ได้ทราบข่าวมาเป็นครั้งหลังสุดก็ดี  เมื่อบุคคลตามวรรคหนึ่งร้องขอ  ศาลจะตั้งผู้จัดการทรัพย์สิน
ของผู้ไม่อยู่ขึ้นก็ได้
               มาตรา 49 ในกรณีที่ผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้และสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไป
หรือปรากฏว่าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปได้จัดการทรัพย์สินนั้นในลักษณะที่อาจเสียหายแก่
บุคคลดังกล่าว  ให้นำ มาตรา 48  มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               มาตรา 50 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ
ทั่วไปจัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ขึ้นตามที่ศาลจะมีคำสั่งก็ได้
               มาตรา 51 ภายใต้บังคับ มาตรา 802 ถ้าตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำ
การอันใดอันหนึ่งเกินขอบอำนาจที่ได้รับไว้  ต้องขออนุญาตต่อศาลและเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึง
จะกระทำการนั้นได้
               มาตรา 52 ผู้จัดการทรัพย์สินที่ศาลได้ตั้งขึ้นต้องทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้เสร็จภายในสาม
เดือนนับแต่วันทราบคำสั่งตั้งของศาล  แต่ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้ขยายเวลาก็ได้
               **หมายเหตุ  มาตรา 52 “ผู้จัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ที่ศาลได้ตั้งขึ้นก่อนวันพระราช
บัญญัตินี้ใช้บังคับ หากยังมิได้จัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่หรือจัดทำยังไม่แล้วเสร็จให้จัดทำ
ให้แล้วเสร็จภายในสามเดือน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำมาตรา 52 และ
มาตรา 53 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัติขึ้นมาใช้
บังคับ” มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติที่บรรพ 1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและ
พาณิชย์ที่ได้ตรวจใหม่ พ.ศ. 2535 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 42 หน้า 1 วันที่ 8 เมษายน 2535)
               มาตรา 53 บัญชีทรัพย์สินตาม มาตรา 50 และ มาตรา 52 ต้องมีพยานลงลายมือชื่อรับรองความ
ถูกต้องอย่างน้อยสองคน  พยานสองคนนั้นต้องเป็นคู่สมรสหรือญาติของผู้ไม่อยู่ซึ่งบรรลุนิติภาวะ
แล้ว  แต่ถ้าไม่มีคู่สมรสหรือหาญาติไม่ได้ หรือคู่สมรสและญาติไม่ยอมเป็นพยาน  จะให้ผู้อื่นซึ่ง
บรรลุนิติภาวะแล้วเป็นพยานก็ได้
               มาตรา 54 ผู้จัดการทรัพย์สินมีอำนาจหน้าที่อย่างเดียวกับตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปตาม
มาตรา 801 และ มาตรา 802  ถ้าผู้จัดการทรัพย์สินเห็นเป็นการจำเป็นจะต้องทำการอันใดอันหนึ่ง
เกินขอบอำนาจต้องขออนุญาตต่อศาลและเมื่อศาลสั่งอนุญาตแล้วจึงจะกระทำการนั้นได้
               มาตรา 55 ถ้าผู้ไม่อยู่ได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจเฉพาะการอันใดไว้  ผู้จัดการทรัพย์สินจะเข้าไป
เกี่ยวข้องกับการอันเป็นอำนาจเฉพาะการนั้นไม่ได้ แต่ถ้าปรากฏว่าการที่ตัวแทนจัดทำอยู่นั้นอาจ
จะเสียหายแก่ผู้ไม่อยู่  ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอให้ศาลถอดถอนตัวแทนนั้นเสียก็ได้
               มาตรา 56 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอหรือเมื่อศาลเห็นสมควร  ศาลอาจสั่งอย่าง
หนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
               (1)  ให้ผู้จัดการทรัพย์สินหาประกันอันสมควรในการจัดการทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่
ตลอดจนการมอบคืนทรัพย์สินนั้น
               (2)  ให้ผู้จัดการทรัพย์สินแถลงถึงความเป็นอยู่แห่งทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่
               (3)  ถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน และตั้งผู้อื่นให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินแทนต่อไป
               มาตรา 57 ในคำสั่งตั้งผู้จัดการทรัพย์สิน  ศาลจะกำหนดบำเหน็จให้แก่ผู้จัดการทรัพย์สินโดยจ่าย
จากทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่นั้นก็ได้ ถ้าศาลมิได้กำหนด ผู้จัดการทรัพย์สินจะร้องขอต่อศาลให้
กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้
               ถ้าผู้จัดการทรัพย์สินหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอหรือเมื่อมีกรณีปรากฏ
แก่ศาลว่าพฤติการณ์เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งกำหนดบำเหน็จ งด
ลดเพิ่มหรือกลับให้บำเหน็จแก่ผู้จัดการทรัพย์สินอีกก็ได้
               มาตรา 58 ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินย่อมสิ้นสุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
               (1)  ผู้ไม่อยู่นั้นกลับมา
               (2)  ผู้ไม่อยู่นั้นมิได้กลับมา แต่ได้จัดการทรัพย์สินหรือตั้งตัวแทนเพื่อจัดการทรัพย์สิน
ของตนแล้ว
               (3)  ผู้ไม่อยู่ถึงแก่ความตาย หรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
               (4)  ผู้จัดการทรัพย์สินลาออก หรือถึงแก่ความตาย
               (5)  ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
               (6)  ผู้จัดการทรัพย์สินเป็นบุคคลล้มละลาย
               (7)  ศาลถอดถอนผู้จัดการทรัพย์สิน
               มาตรา 59 ในกรณีที่ความเป็นผู้จัดการทรัพย์สินสิ้นสุดลงเพราะเหตุตาม มาตรา 58 (4) (5) หรือ (6)
ผู้จัดการทรัพย์สินหรือทายาทของผู้จัดการทรัพย์สิน  ผู้จัดการมรดก  ผู้อนุบาล  ผู้พิทักษ์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์  หรือผู้มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของผู้จัดการทรัพย์สิน แล้วแต่กรณี  จะต้อง
แถลงให้ศาลทราบถึงความสิ้นสุดนั้นโดยไม่ชักช้าเพื่อศาลจะได้มีคำสั่งเกี่ยวกับผู้จัดการทรัพย์สิน
ต่อไปตามที่เห็นสมควร ในระหว่างเวลาดังกล่าวนั้นบุคคลดังกล่าวจะต้องจัดการตามควรแก่
พฤติการณ์เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ไม่อยู่จนกว่าจะได้ส่งมอบทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่ให้แก่บุคคล
หนึ่งบุคคลใดตามที่ศาลจะได้มีคำสั่ง
               มาตรา 60 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่การจัดการ
ทรัพย์สินของผู้ไม่อยู่โดยอนุโลม
               มาตรา 61 ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่
หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ  ศาลจะสั่งให้บุคคล
นั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
               ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี
               (1)  นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง  ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม
และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
               (2)  นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางอับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป
               (3)  นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้า
บุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
               มาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ  ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนด
ระยะเวลาดังที่ระบุไว้ใน มาตรา 61
               มาตรา 63 เมื่อบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นเองหรือมีผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการ
ร้องขอต่อศาล และพิสูจน์ได้ว่าบุคคลผู้ถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ก็ดี  หรือว่า
ตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ใน มาตรา 62 ก็ดี  ให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ
นั้น  แต่การถอนคำสั่งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไป
โดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้น
               บุคคลผู้ได้ทรัพย์สินมาเนื่องแต่การที่ศาลสั่งให้บุคคลใดเป็นคนสาบสูญ  แต่ต้องเสียสิทธิ
ของตนไปเพราะศาลสั่งถอนคำสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควร
ได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
               มาตรา 64 คำสั่งศาลให้เป็นคนสาบสูญหรือคำสั่งถอนคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ  ให้ประกาศใน
ราชกิจจานุเบกษา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้