Last updated: 31 พ.ค. 2566 | 666 จำนวนผู้เข้าชม |
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2561
การกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนผู้กระทำความผิดต้องได้มีเวลาคิดไตร่ตรองและทบทวนแล้วจึงตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น หาใช่กรณีที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่ และการจะเป็นตัวการร่วมฐานความผิดดังกล่าวจะต้องมีลักษณะมีการวางแผนและคบคิดมาแต่ต้น โดยคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด แม้การท้าทายถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์คิดไตร่ตรองจะฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 แต่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ปฏิเสธคำท้าทายของจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่สามารถเริ่มลงมือกระทำแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ตามคำท้าทายได้ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามรู้ว่าหลังจากวางสายโทรศัพท์แล้วโจทก์ร่วมที่ 2 ไปไหนหรืออยู่ที่ใด และจำเลยทั้งสามออกตามหาโจทก์ร่วมที่ 2 ต่อไปหรือไม่ กรณีจึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสามมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 ในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนออกมายิงโจทก์ร่วมที่ 2 ทันที ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนจัดเตรียมของจำเลยทั้งสาม แต่เป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันทีที่ขับรถมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 โดยบังเอิญ ส่วนการตามไล่ยิงไปอย่างกระชั้นชิดจนถึงบ้านโจทก์ร่วมที่ 3 ก็ยังได้ยิงเข้าไปในบ้านอีก 1 นัด เป็นเพียงการกระทำต่อเนื่องหลังจากประสบโอกาสที่จะยิงโจทก์ร่วมที่ 2 อย่างทันทีทันใดเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 80, 83, 91, 288, 289, 358, 371 ริบของกลางและบวกโทษของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3247/2556 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1277/2557 ของศาลชั้นต้น ตามลำดับ เข้ากับโทษของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ระหว่างพิจารณา นายแสด บิดาของนายคัดเค้า ผู้ตาย นายคราม ผู้เสียหายที่ 1 และนางเทา ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายแสดเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนข้อหาร่วมกันมีและพาอาวุธปืนไม่เป็นผู้เสียหายจึงไม่อนุญาต อนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 2 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ส่วนข้อหาร่วมกันมีและพาอาวุธปืนผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต โดยให้เรียกนายแสดเป็นโจทก์ร่วมที่ 1 เรียกผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 เป็นโจทก์ร่วมที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ และโจทก์ร่วมทั้งสามขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 800,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ค่าสินไหมทดแทน 400,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 และค่าสินไหมทดแทน 300,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 3
จำเลยทั้งสามให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 288 ประกอบมาตรา 80, 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 358, 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 และที่ 3 อายุ 20 ปีเศษ มีความรู้ผิดชอบแล้วจึงไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละตลอดชีวิต ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ (ที่ถูก บวกโทษ) ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เนื่องจากศาลลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตลอดชีวิต จึงไม่อาจเพิ่มโทษ (ที่ถูก บวกโทษ) ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51 (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 51) ให้ยกคำขอส่วนนี้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 700,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ชำระเงิน 58,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันทำละเมิด (วันที่ 2 กันยายน 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งระหว่างโจทก์ร่วมทั้งสามกับจำเลยทั้งสามให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ไม่วางโทษความความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และจำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยต่อโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 3 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 2 คน ร่วมกันมีอาวุธปืนขนาด 9 มม. มีเครื่องหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ 1 กระบอก ซึ่งเป็นของผู้อื่น และกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด 9 มม. หลายนัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันพาอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนข้างวัดโคกคีรี ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง อันเป็นในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ทั้งไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแห่งพฤติการณ์ จำเลยที่ 1 กับพวกได้ร่วมกันฆ่านายคัดเค้า ผู้ตาย โดยใช้อาวุธปืนยิงที่ศีรษะมีแผลเป็นรูที่กะโหลกศีรษะบริเวณเหนือใบหูซ้ายและแผลฉีกขาดที่ขมับขวา (หางตาขวา) เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 กับร่วมกันพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 3 โดยใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในบ้านเลขที่ 2/31 ถนนไชยบุรี อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง ของโจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 1 นัด กระสุนปืนถูกประตูและเก้าอี้ได้รับความเสียหาย สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษในความผิดข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ในความผิดข้อหาดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนร้ายคดีนี้หรือไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า พยานโจทก์กล่าวอ้างลอย ๆ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าคนที่โทรศัพท์มาขู่ฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 ตามหมายเลขโทรศัพท์เป็นจำเลยที่ 2 และที่ 3 โจทก์ร่วมที่ 2 จอดรถข้างกำแพงวัดซึ่งสูงประมาณ 1.50 เมตร ไม่สามารถมองเห็นคนร้ายขับรถจักรยานยนต์มาได้ และจุดดังกล่าวห่างจากเสาไฟฟ้าประมาณ 27 เมตร แต่แสงสว่างสามารถมองเห็นกันได้ในระยะประมาณ 10 เมตร โจทก์ร่วมที่ 2 คงอาศัยแสงสว่างจากไฟหน้ารถจักรยานยนต์เท่านั้น ไม่สามารถมองเห็นคนร้ายอย่างชัดเจน ทั้งโจทก์ร่วมที่ 2 กำลังโต้เถียงกับนางสาวยี่โถและเห็นคนร้ายในเวลาสั้น ไม่มีเวลาจดจำหน้าคนร้าย และโจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถหนีคนร้ายซึ่งขับรถจักรยานยนต์ตามหลังในระยะประมาณ 30 เมตร ไม่ได้หันหลังดู โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่สามารถจำคนร้ายได้อย่างแน่นอน ในข้อนี้โจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 19 นาฬิกา ขณะที่โจทก์ร่วมที่ 2 ผู้ตาย และนายสำรองไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลอยู่ที่บ้านของผู้ตาย นางมะเดื่อ มารดาผู้ตายโทรศัพท์มาบอกกับนายสำรองให้บอกโจทก์ร่วมที่ 2 ว่ามีคนโทรศัพท์มาหานางมะเดื่อ พูดจาข่มขู่จะใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงสอบถามนางมะเดื่อว่าหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้โทรมาเป็นหมายเลขอะไร นางมะเดื่อก็บอกหมายเลขโทรศัพท์ให้โจทก์ร่วมที่ 2 ทราบ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงโทรกลับไปยังโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าว จำเลยที่ 3 รับสายพูดกับโจทก์ร่วมที่ 2 ว่า อย่าไปยุ่งเกี่ยวกับนางสาวมะพร้าว เพราะเป็นภริยาของคนอื่น โจทก์ร่วมที่ 2 พูดตอบว่า ให้ไปถามนางสาวมะพร้าว จำเลยที่ 3 จึงพูดท้าทายให้โจทก์ร่วมที่ 2 ไปยิงกัน โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่รับคำท้า จากนั้นโจทก์ร่วมที่ 2 และผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ไปบ้านของนางสาวมะพร้าวโดยจอดรถจักรยานยนต์ที่บริเวณปากซอยทางเข้าบ้าน ครู่หนึ่งนางสาวมะพร้าวขับรถจักรยานยนต์มาที่โจทก์ร่วมที่ 2 พูดคุยกันสักครู่หนึ่ง โจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของนางสาวมะพร้าวให้นางสาวมะพร้าวนั่งซ้อนท้าย เพื่อไปบ้านโจทก์ร่วมที่ 2 ส่วนผู้ตายขับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งแล่นตามหลังมา เมื่อไปถึงบริเวณข้างวัดโคกคีรี นางสาวมะพร้าวให้โจทก์ร่วมที่ 2 จอดรถจักรยานยนต์ใกล้ ๆ ริมกำแพงวัดโคกคีรีแล้วลงจากรถไปพูดทางโทรศัพท์ ส่วนผู้ตายก็ขับรถจักรยานยนต์แล่นเข้ามาจอดใกล้ ๆ ห่างกันไม่เกิน 2 เมตร เมื่อนางสาวมะพร้าวพูดโทรศัพท์เสร็จแล้ว โจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์แล่นออกไปได้ประมาณ 3 ถึง 4 เมตร เห็นจำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายตรงกลาง จำเลยที่ 3 นั่งซ้อนท้ายคนหลังสุดแล่นมาทางริมกำแพงวัดจะเลี้ยวโค้งตรงมายังจุดที่โจทก์ร่วมที่ 2 จอดรถจักรยานยนต์ในลักษณะสวนทางกับโจทก์ร่วมที่ 2 ในระยะห่างประมาณ 6 เมตร จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนสั้นยิงมาทางโจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 1 นัด โจทก์ร่วมที่ 2 เร่งเครื่องจักรยานยนต์ขับหลบหนีตรงขึ้นไปทางถนนสายบายพาส เมื่อรถแล่นแผ่นสามแยกไปได้ประมาณ 4 ถึง 5 เมตร ได้ยินเสียงปืนนัดที่สองดังขึ้น โจทก์ร่วมที่ 2 หันกลับไปมอง เห็นรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่ขับแล่นตามหลังมาล้มลงข้างทาง และก่อนที่จะแล่นขึ้นถนนบายพาส โจทก์ร่วมที่ 2 ได้ยินเสียงปืนนัดที่สามดังขึ้นอีก 1 นัด เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์แล่นไปตามถนนเส้นบายพาสเลี้ยวไปทางขวาเพื่อกลับไปที่บ้าน โจทก์ร่วมที่ 2 หันไปมองเห็นรถจักรยานยนต์ของจำเลยทั้งสามขับตามหลังมาอย่างกระชั้นชิดห่างกันไม่น่าจะเกิน 15 เมตร โจทก์ร่วมที่ 2 จึงขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวเข้าไปในซอยก่อนที่จะถึงบ้านของโจทก์ร่วมที่ 2 เมื่อขับรถเข้าไปในซอยแล้วไม่น่าจะเกิน 2 นาที ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้นอีก 1 นัด จากบริเวณปากซอยหน้าบ้านโจทก์ร่วมที่ 2 เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ไปที่บ้านพบโจทก์ร่วมที่ 3 และเจ้าพนักงานตำรวจ โจทก์ร่วมที่ 2 บอกกับโจทก์ร่วมที่ 3 ว่าถูกจำเลยทั้งสามขับรถจักรยานยนต์ไล่ยิงมา โจทก์ร่วมที่ 3 ก็บอกว่าก่อนหน้านี้ไม่นานมีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปภายในบ้านกระสุนปืนถูกบริเวณประตูเหล็กหน้าบ้าน โจทก์ร่วมที่ 2 จดจำจำเลยทั้งสามได้เพราะโจทก์ร่วมที่ 2 เปิดไฟหน้ารถจักรยานยนต์ส่องสว่างสามารถมองเห็นหน้าจำเลยทั้งสามได้ นอกจากนี้บริเวณทางโค้งใกล้ ๆ กับวัดโคกคีรีก็มีแสงไฟจากเสาไฟฟ้าสาธารณะส่องแสงสว่าง โจทก์ร่วมที่ 2 รู้จักกับจำเลยทั้งสามก่อนเกิดเหตุประมาณ 4 ถึง 5 ปี และก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 ปี โจทก์ร่วมที่ 2 เคยมีเรื่องทะเลาะชกต่อยกับจำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความยืนยันว่ามีโอกาสเห็นคนร้ายทั้งสามตั้งแต่ก่อนคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 2 และผู้ตาย โดยคนร้ายขับรถจักรยานยนต์และนั่งซ้อนท้ายกันมาขณะโจทก์ร่วมที่ 2 จอดรถคุยกับนางสาวมะพร้าวบริเวณทางโค้งข้างกำแพงวัดโคกคีรี และโจทก์ร่วมที่ 2 เห็นจำเลยทั้งสามในระยะห่างประมาณ 5 ถึง 6 เมตร ซึ่งนางสาวมะพร้าวก็เบิกความว่า รถจักรยานยนต์ทั้งสองคันแล่นสวนกันในระยะห่างไม่เกิน 2 เมตร แสดงว่าโจทก์ร่วมที่ 2 เห็นคนร้ายทั้งสามในระยะใกล้ซึ่งในพฤติการณ์เช่นนี้โดยปกติวิสัยของคนทั่วไปคนที่ขับรถจักยานยนต์ทั้งสองคันหรือคนที่นั่งซ้อนท้ายสามารถมองเห็นหน้าอีกฝ่ายได้อย่างชัดเจน แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนประมาณ 21 นาฬิกา แต่โจทก์ร่วมที่ 2 ยืนยันว่าสามารถมองเห็นหน้าคนร้ายจากแสงสว่างของไฟหน้ารถจักรยานยนต์ และมีแสงสว่างจากโคมไฟติดอยู่ที่เสาไฟฟ้าตามเส้นทางอีก 2 ถึง 3 เสา ซึ่งโจทก์มีภาพถ่ายเป็นพยานแสดงให้เห็นบริเวณสถานที่เกิดเหตุ โดยนางสาวมะพร้าวเบิกความอธิบายในภาพถ่ายว่า จุดหมายเลข 1 เป็นจุดที่พยานจอดรถคุยกับโจทก์ร่วมที่ 2 จุดหมายเลข 2 เป็นจุดที่รถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 2 แล่นสวนทางกับรถจักรยานยนต์ของคนร้ายทั้งสาม และจุดหมายเลข 3 เป็นจุดที่โจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถพาพยานหลบหนี ซึ่งเมื่อพิจารณาภาพถ่ายแล้ว เห็นได้ว่า บริเวณที่เกิดเหตุเป็นสามแยกข้างรั้ววัดโคกคีรี มีการติดตั้งโคมไฟฟ้าสาธารณะชนิดหลอดยาวไว้กับเสาไฟฟ้าที่มุมหนึ่งของสามแยก และมีเสาไฟฟ้าปักพาดสายเรียงเป็นแนวไปตามของถนนขนานไปกับรั้ววัดโคกคีรี เป็นการบ่งชี้ว่าที่สามแยกบริเวณจุดเกิดเหตุนั้นโดยปกติในเวลากลางคืนมีแสงสว่างจากโคมไฟที่ติดอยู่กับเสาไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งในข้อนี้ร้อยตำรวจโทกันเกรา พนักงานสอบสวนเบิกความประกอบว่า เมื่อพยานได้รับแจ้งเหตุก็ได้ออกไปที่เกิดเหตุทันที พบศพผู้ตายห่างจากเสาไฟฟ้าบริเวณทางโค้งประมาณ 10 เมตร มีหลอดไฟฟ้าที่เสาไฟฟ้าดังกล่าวส่องสว่างสูงจากพื้นประมาณ 7 เมตร รัศมีส่องสว่างประมาณ 10 เมตร สามารถมองเห็นหน้ากันได้ สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 จึงเชื่อว่าขณะเกิดเหตุบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากไฟฟ้าสาธารณะด้วย เมื่อได้ความว่าจุดที่ 2 ตามภาพถ่าย ซึ่งรถของโจทก์ร่วมที่ 2 แล่นสวนกับรถของคนร้ายห่างกันเพียงเล็กน้อย รถจักรยานยนต์ของคนร้ายย่อมอยู่ในรัศมีส่องสว่างของแสงไฟจากหน้ารถจักรยานยนต์และจากไฟฟ้าสาธารณะ ทั้งกำแพงหรือรั้ววัดก็ไม่ได้กีดขวางการมองเห็นคนร้ายของโจทก์ร่วมที่ 2 ดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาแต่ประการใด ทัศนะวิสัยของบริเวณที่เกิดเหตุในขณะนั้น จึงอยู่ในวิสัยที่โจทก์ร่วมที่ 2 มองเห็นหน้าคนร้ายในขณะที่ขับรถจักรยานยนต์แล่นสวนทางกันได้จริง โจทก์ร่วมที่ 2 รู้จักจำเลยทั้งสามมาก่อนเกิดเหตุประมาณ 6 ปี ยิ่งมีความคุ้นเคยสามารถจดจำจำเลยทั้งสามได้อย่างง่ายดาย ที่โจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความว่าเห็นและจดจำคนร้ายได้โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนขับ จำเลยที่ 1 นั่งกลาง จำเลยที่ 3 นั่งหลังสุด และจำเลยที่ 1 เป็นคนใช้อาวุธปืนยิง จึงสมเหตุผลมีน้ำหนักรับฟังได้ ร้อยตำรวจโทกันเกราเบิกความอีกว่า พยานได้สอบโจทก์ร่วมที่ 2 ในคืนเกิดเหตุ โจทก์ร่วมที่ 2 ให้การว่า จำเลยทั้งสามเป็นคนร้ายและบันทึกไว้ซึ่งปรากฏว่าคำให้การของโจทก์ร่วมที่ 2 ดังกล่าวมีรายละเอียดทำนองเดียวกันกับที่โจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความในชั้นพิจารณา อันเป็นการบ่งชี้ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 รู้ตัวคนร้ายตั้งแต่ขณะเกิดเหตุและสามารถยืนยันคนร้ายได้ตลอดมาอย่างถูกต้องแม่นยำไม่ผิดตัว โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามยังมีนางมะเดื่อ มารดาผู้ตายเบิกความประกอบว่า ก่อนเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา มีคนโทรศัพท์เข้ามาแจ้งว่าชื่อ เป้ และมีนายอิฐ นายยมหิน พูดทางโทรศัพท์ต่อจากนายการะเกด ทั้งสามคนถามหมายเลขโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมที่ 2 เมื่อพยานตอบไปว่าไม่มี หนึ่งในสามคนนั้นฝากให้บอกโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าจะยิงหัวโจทก์ร่วมที่ 2 เพราะชอบแย่งผู้หญิงของคนอื่น พยานเล่าให้โจทก์ร่วมที่ 2 ทราบ โจทก์ร่วมที่ 2 ถามว่า โทรศัพท์หมายเลข 09 3670 xxxx หรือไม่ พยานตรวจดูในเครื่องโทรศัพท์ปรากฏว่า ใช่ นางมะเดื่อไม่ได้ยืนยันว่าทั้งสามคนที่โทรศัพท์มา คือ จำเลยทั้งสาม คำเบิกความของนางมะเดื่อจึงไม่มีข้อสงสัยว่าจะแต่งเรื่องราวขึ้นเองเพื่อปรักปรำจำเลยทั้งสาม จึงเชื่อได้ว่านางมะเดื่อเบิกความตามข้อเท็จจริงที่ตนได้รู้เห็นมาเท่านั้น แสดงว่าก่อนเกิดเหตุมีผู้ปองร้ายโจทก์ร่วมที่ 2 คือ นายการะเกด นายอิฐ และนายยมหิน เนื่องจากกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ไปยุ่งเกี่ยวกับคนรักของคนอื่น แม้ลำพังหมายเลขโทรศัพท์จะไม่อาจยืนยันถึงคนร้ายได้โดยตรง แต่การที่โจทก์ร่วมที่ 2 สอบถามถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาถามนางมะเดื่อ และยังได้นำเรื่องนี้ไปสอบถามนางสาวมะพร้าวด้วย ย่อมแสดงว่าโจทก์ร่วมที่ 2 และบุคคลทั้งสามต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี หลังจากเหตุการณ์คนร้ายโทรศัพท์มาขู่จะฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่นานก็มีคนร้ายสามคนขับรถจักรยานยนต์และนั่งซ้อนท้ายกันมาใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 2 และผู้ตาย ซึ่งโจทก์ร่วมที่ 2 ยืนยันว่า คือ จำเลยทั้งสาม ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ก็เบิกความรับว่ามีชื่อเล่นว่า เป้ ก้าม และ เก้า ตามลำดับ สอดคล้องกับข้อมูลที่นางมะเดื่อได้รับมา และเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องเชื่อมโยงให้เห็นว่าคนร้ายที่โทรศัพท์มาข่มขู่กับที่ตามมายิงโจทก์ร่วมที่ 2 และผู้ตายเป็นกลุ่มเดียวกัน โจทก์ร่วมที่ 2 รู้จักจำเลยที่ 2 ก่อนเกิดเหตุเป็นเวลานาน แม้จะเคยมีเรื่องชกต่อยกับจำเลยที่ 2 เมื่อก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 ปี ก็ยังไม่มีเหตุระแวงว่า โจทก์ร่วมที่ 2 จะเพิ่งมาปรักปรำจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 เองยืนยันว่าไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับโจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่มีข้อสงสัยว่าโจทก์ร่วมที่ 2 จะปรักปรำจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ พฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีกลับไปที่บ้านซึ่งโจทก์ร่วมที่ 2 พักอาศัยอยู่กับโจทก์ร่วมที่ 3 โดยจำเลยทั้งสามขับรถจักรยานยนต์ไล่ยิงอย่างกระชั้นชิดจนมีการยิงเข้าไปในบ้านเกิดเหตุของโจทก์ร่วมที่ 3 แล้วเหตุการณ์จึงสงบลง ย่อมเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องโดยคนร้ายกลุ่มเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดแก่โจทก์ร่วมที่ 3 จึงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากเป็นการกระทำของจำเลยทั้งสาม ซึ่งเชื่อว่าโจทก์ร่วมที่ 2 หลบหนีเข้าไปในบ้านดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนร้ายคดีนี้จริง ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 พยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสามโทรศัพท์มาข่มขู่จะยิงโจทก์ร่วมที่ 2 ผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนางมะเดื่อมารดาผู้ตาย เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ทราบหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาจากนางมะเดื่อ โจทก์ร่วมที่ 2 ได้โทรศัพท์กลับไปตามหมายเลขดังกล่าว จำเลยที่ 3 รับสายบอกโจทก์ร่วมที่ 2 ว่า อย่ามายุ่งกับนางสาวมะพร้าวและท้าทายให้โจทก์ร่วมที่ 2 ออกไปยิงกันที่ถนนบายพาส แต่โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่รับคำท้า แล้วขับรถจักรยานยนต์ไปกับผู้ตายเพื่อพบนางสาวมะพร้าว นางสาวมะพร้าวขับรถจักรยานยนต์ออกมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ปากซอยทางเข้าบ้าน โจทก์ร่วมที่ 2 ลงไปขับรถจักรยานยนต์ของนางสาวมะพร้าวโดยให้นางสาวมะพร้าวนั่งซ้อนท้ายมุ่งไปที่บ้านโจทก์ร่วมที่ 2 เมื่อถึงที่เกิดเหตุโจทก์ร่วมที่ 2 จอดรถคุยกับนางสาวมะพร้าวข้างกำแพงวัดโคกคีรีอยู่ครู่หนึ่ง เมื่อขับออกไปได้ประมาณ 3 ถึง 4 เมตร จำเลยทั้งสามขับรถจักรยานยนต์มาทางริมกำแพงวัด เมื่อเห็นโจทก์ร่วมที่ 2 จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 ขับหนีไปทางถนนบายพาส จำเลยทั้งสามขับรถไล่ตามและยิงอีก 2 นัด จำเลยทั้งสามยังขับรถติดตามไปอย่างกระชั้นชิด จนโจทก์ร่วมที่ 2 ขับหนีเข้าไปในซอยข้างบ้าน จำเลยทั้งสามจึงหันไปยิงใส่บ้านโจทก์ร่วมที่ 3 ก่อนพากันหลบหนีไป เห็นว่า การกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น ผู้กระทำความผิดต้องได้มีเวลาคิดไตร่ตรองและทบทวนแล้วจึงตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น หาใช่กรณีที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่ และการจะเป็นตัวการร่วมฐานความผิดดังกล่าวจะต้องมีลักษณะมีการวางแผนและคบคิดมาแต่ต้นที่จะไปฆ่าผู้อื่น โดยคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด แม้การท้าทายถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์คิดไตร่ตรองจะฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 แต่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ปฏิเสธคำท้าของจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่สามารถเริ่มลงมือกระทำแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ตามคำท้าได้ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามรู้ว่าหลังจากวางสายโทรศัพท์แล้วโจทก์ร่วมที่ 2 ไปไหนหรืออยู่ที่ใด และจำเลยทั้งสามออกตามหาโจทก์ร่วมที่ 2 ต่อไปหรือไม่ กรณีจึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสามมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 ในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนออกมายิงโจทก์ร่วมที่ 2 ทันที ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนตระเตรียมของจำเลยทั้งสาม แต่เป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันทีที่ขับรถมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 โดยบังเอิญ ส่วนการตามไล่ยิงไปอย่างกระชั้นชิดจนถึงบ้านโจทก์ร่วมที่ 3 ก็ยังได้ยิงเข้าไปในบ้านอีก 1 นัด เป็นเพียงการกระทำต่อเนื่องหลังจากประสบโอกาสที่จะยิงโจทก์ร่วมที่ 2 อย่างทันทีทันใดเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้น ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษความผิดฐานนี้ใหม่ให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งความผิด เหตุดังกล่าวเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 ที่ไม่ได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยให้จำคุกตลอดชีวิต และข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน หนักเกินไปหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว มูลเหตุคดีนี้มาจากเรื่องชู้สาวซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จำเลยทั้งสามกลับใช้ความรุนแรงเพื่อกำจัดคู่อริอย่างไร้เหตุผล แม้กระทั่งผู้ตายซึ่งไม่มีส่วนสร้างความโกรธแค้นให้แก่จำเลยทั้งสาม ทั้งยังติดตามไล่ยิงโจทก์ร่วมที่ 2 ในทางสาธารณะโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง อันเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ ประพฤติตนเยี่ยงอันธพาลเป็นภัยต่อสังคมอย่างยิ่ง จึงสมควรลงโทษในสถานหนัก โทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น และข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นนั้นเหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นควรแก้ไข ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ลงโทษจำคุก 13 ปี 4 เดือน ส่วนโทษในความผิดฐานอื่นและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
องค์คณะ
ชื่อองค์คณะ วัฒนา วิทยกุล ประสิทธิ์ เจริญถาวรโพคา สมศักดิ์ คุณเลิศกิจ
ที่มา
แหล่งที่มา กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
16 พ.ย. 2565
16 พ.ย. 2565
2 มิ.ย. 2566