ถูกเลิกจ้าง ไม่ผ่านทดลองงาน มีสิทธิรับเงินหรือไม่?

Last updated: 3 มิ.ย. 2566  |  509 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ถูกเลิกจ้าง ไม่ผ่านทดลองงาน มีสิทธิรับเงินหรือไม่?

ถูกเลิกจ้าง ไม่ผ่านทดลองงาน มีสิทธิรับเงินหรือไม่?
 
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17
                 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกําหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดย มิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
            ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกําหนดระยะเวลา นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกําหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้แต่ไม่จําต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน ทั้งนี้ ให้ถือว่าสัญญาจ้างทดลองงานเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกําหนดระยะเวลาด้วย
              การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตาม จํานวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกําหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้าง ออกจากงานทันทีได้
              การบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตาม มาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้และมาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์
 
 
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 กำหนดว่า “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้าง ดังต่อไปนี้ “ค่าชดเชย” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
 
 
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ได้บัญญัติยกเว้นให้ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้ (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
 
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5131/2550
จำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้าทำงานโดยให้ทดลองงาน ซึ่งตามสัญญาทดลองการจ้างแรงงานข้อ 1 ระบุว่า ผู้จ้างตกลงจ้างผู้รับจ้างเป็นประชาสัมพันธ์ทดลองงานของโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2547 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2547 และตามหนังสือการสังเกตการณ์ผลงาน โจทก์ได้คะแนนรวมจากการประเมินผลงาน 11 คะแนน จาก 35 คะแนน หนังสือดังกล่าวระบุว่า คุณมีการผิดพลาดในงานเอกสารและทำงานล่าช้า คุณควรมีการปรับปรุงการทำงาน ทางโรงเรียนจะพิจารณาการผ่านงานของคุณในครั้งที่สองและแจ้งให้คุณทราบอีกครั้งเมื่อสิ้นสุดภาคเรียน จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์ทดลองงานต่อไปหลังจากที่ครบกำหนดตามสัญญาทดลองการจ้างแรงงานไปจนถึงสิ้นสุดภาคเรียนโดยไม่ได้กำหนดวันที่ให้ชัดเจนว่าจะสิ้นสุดการทดลองงานวันใด การที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานต่อมาจึงไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใดจึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา การบอกเลิกสัญญาจ้างจึงอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง ซึ่งไม่มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (1) ไม่ได้บัญญัติข้อยกเว้นให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในระหว่างการทดลองงานหรือตามสัญญาจ้างทดลองงาน จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานตั้งแต่วันเข้าทำงานไม่ว่าจะมีการทดลองงานหรือไม่จนถึงวันเลิกจ้าง หากลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแล้วถูกเลิกจ้างโดยมิใช่กรณีหนึ่งกรณีใดที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังกล่าว เมื่อโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2547 แล้วถูกเลิกจ้างในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน
 
 
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6238/254
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่สัญญาคือนายจ้างและลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิที่จะตกลงเกี่ยวกับการเลิกสัญญาจ้างเป็นอย่างอื่น มาตราดังกล่าวบัญญัติถึงการเลิกสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไว้สามกรณี โดยไม่มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา โจทก์จึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใด เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้า เมื่อโจทก์เลิกจ้างโดยมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างเป็นหนังสือล่วงหน้า จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างตามมาตราดังกล่าว

การจ้างโดยมีกำหนดทดลองงานไม่เกิน 120 วัน นั้น หมายถึง นายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างโดยให้ทดลองทำงานไม่เกิน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานก็จะจ้างกันต่อไปถ้าไม่ผ่านการทดลองงานนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้