หนี้จากการใช้บัตรเครดิตหากมีการฟ้องร้องมีอายุความกี่ปี

Last updated: 23 พ.ค. 2566  |  1888 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หนี้จากการใช้บัตรเครดิตหากมีการฟ้องร้องมีอายุความกี่ปี

คดีบัตรเครดิต  หากถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับบัตรเครดิต จะถือเป็นการฟ้องคดีแพ่ง ผลลัพธ์คือ การบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ และเรียกค่าเสียหายเท่านั้น
 
ในคดีบัตรเครดิตโดยทั่วไปเมื่อถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้อายุความจะเริ่มนับทันทีในวันถัดไป โดยมีอายุความ 2 ปีนับจากผิดนัดชำระหนี้ ถ้าธนาคารไม่ฟ้องภายใน 2 ปี ก็จะขาดอายุความซึ่งทำให้ธนาคารหมดสิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้ 
 
ทั้งนี้แม้จะขาดอายุความไปแล้วเจ้าหนี้ยังสามารถยื่นฟ้องได้ โดยศาลจะดำเนินกระบวนการต่อไป โดยลูกหนี้ต้องยื่นคำให้การต่อสู้คดีในเรื่องของการขาดอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาลเอง ซึ่งศาลก็จะนำมาพิจารณาและ"ยกฟ้อง" หากข้อเท็จจริงปรากฎดังเช่นว่านั้น  ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 193/29 กำหนดไว้ว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10969/2555
เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอันเกิดจากการกระทำของลูกหนี้อาจเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ รวมไปถึงการชำระหนี้ให้บางส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยตกลงชำระหนี้บัตรเครดิตโดยยินยอมให้โจทก์หักเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลย และสัญญาการใช้บัตรเครดิตระบุว่า หากมีการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าด้วยเหตุประการใด ให้ถือว่าเป็นการยกเลิกการใช้บัตรเครดิตเท่านั้น มิใช่เป็นการยกเลิกสัญญา และหากปรากฏว่ามียอดเงินเป็นลูกหนี้โจทก์ จำเลยตกลงที่จะชำระหนี้โดยให้โจทก์หักเงินจากบัญชีชำระหนี้ได้ ดังนี้ การที่โจทก์หักเงินจากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยเพื่อชำระหนี้จึงเป็นกรณีที่จำเลยยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์หักเงินจากบัญชีของจำเลยตามอำเภอใจไม่ กรณีจึงเป็นการรับสารภาพหนี้ต่อโจทก์ด้วยการชำระหนี้ให้บางส่วนอันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) เช่นนี้นับแต่วันที่จำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายจนถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8051/2551
การที่โจทก์นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยมาชำระหนี้หลังจากสัญญาบัตรเครดิตและข้อตกลงในสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้วจึงเป็นการกระทำของโจทก์เอง หาใช่ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยชำระหนี้ให้เจ้าหนี้บางส่วนไม่ กรณีย่อมไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2544 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ



คำพิพากษาฎีกาที่ 5384/2551
หนี้จากการใช้บัตรเครดิตไม่ว่าจะเป็นหนี้จากการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ หรือหนี้จากการถอนเงินสด ล้วนเป็นหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตด้วยกัน จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) ไม่อาจแยกบังคับนับอายุความแตกต่างกันได้การรับสภาพหนี้โดยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จำเลยจะต้องเป็นผู้กระทำหรือยินยอมให้กระทำ ดังนั้น การที่โจทก์หักทอนบัญชีเงินฝากของจำเลยชำระหนี้บัตรเครดิตอันเป็นการใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ โดยมิได้มีข้อตกลงกันไว้ขณะทำสัญญา ดังนี้ แม้จำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจะถือว่าจำเลยยินยอมในการกระทำของโจทก์ดังกล่าวด้วยหาได้ไม่ กรณีไม่ถือว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนอันเป็นการรับสภาพหนี้ซึ่งจะมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงได้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2551
ในวันนัดสืบพยาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตและการชำระหนี้บัตรเครดิตของจำเลย ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว และรับว่าใบแจ้งหนี้ที่โจทก์อ้างส่งถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงงดสืบพยานโจทก์ แล้วพิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความ ถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และประกอบธุรกิจให้บริการประเภทบัตรเครดิตมีลักษณะเป็นการทำกิจการงานให้บริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการซื้อสินค้าและการใช้บริการ ส่วนการให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าด้วยบัตรเครดิต เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้แก่สมาชิก การที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนก็ดี หรือให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังก็ดี ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไป การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1687/2551
ครบกำหนดชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าธนาคารยอมให้จำเลยใช้บัตรเครดิตอีก แสดงว่าธนาคารกับจำเลยถือว่าสัญญาที่มีต่อกันเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 ธนาคารย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2538 แต่จำเลยนำเงินมาชำระให้ธนาคารวันที่ 10 กรกฎาคม 2539 จำนวน 5,000 บาท อันเป็นการรับสภาพหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 2 ปี ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2541 การที่ธนาคารนำเงินจำนวน 6.68 บาท จากบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมาหักชำระหนี้บัตรเครดิตเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2541 หลังจากจำเลยผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 โดยปล่อยเวลาให้ผ่านไปถึง 2 ปีเศษ และคิดดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าตลอดมา นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า ธนาคารอาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้ธนาคารได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้ดอกเบี้ยและค่าเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าระหว่างนั้นและเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง

จำเลยนำเงินมาชำระหนี้บางส่วนโดยให้ธนาคารหักเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 จำนวน 1,000 บาท เป็นการชำระหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้ภายหลังจากสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกเงินคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิจากธนาคารนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2543 จึงเกิน 2 ปี นับแต่วันที่เริ่มนับอายุความใหม่วันที่ 10 กรกฎาคม 2539 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

ปัญหาเรื่องการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นเรื่องอำนาจฟ้องและเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 ประกอบมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6500/2550
ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธินำคดีที่ศาลไม่รับหรือคืนหรือยกฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลไปฟ้องใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ย่อมหมายถึงคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ได้อ่านหรือถือว่าได้อ่านให้คู่ความฟังแล้ว เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ซึ่งไม่ใช่วันนัดพิจารณาหรือนัดฟังคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันที่ศาลนัดสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์มาศาลและลงลายมือชื่อทราบคำพิพากษา กรณีถือว่าทนายโจทก์เพิ่งทราบคำพิพากษาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548 เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลชั้นต้นในคดีนี้วันที่ 4 เมษายน 2548 ซึ่งอยู่ในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3831/2547
การที่โจทก์ให้บริการการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียม โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ ให้สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากสมาชิกภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อน กรณีจึงถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) โจทก์แจ้งยอดบัญชีส่งให้จำเลยทราบในแต่ละงวดที่เรียกเก็บและถือว่าหนี้ถึงกำหนดตามที่ระบุในใบแจ้งหนี้ เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนด โจทก์ก็อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่จำเลยผิดนัด แต่เมื่อจำเลยชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2539 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา โจทก์เพิ่งฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2546 พ้นกำหนด 2 ปี แล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้