ความผิดอาญาเกี่ยวกับเช็ค การสั่งจ่ายเช็คพิพาท

Last updated: 22 พ.ค. 2566  |  1069 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความผิดอาญาเกี่ยวกับเช็ค การสั่งจ่ายเช็คพิพาท

เช็ค คือ เอกสารในรูปแบบของตราสารซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า "ผู้สั่งจ่าย" สั่ง "ธนาคาร" ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อทวงถามให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรือให้ใช้ตามคำสั่งของบุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ผู้รับเงิน"

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534
มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2535”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3  ให้ยกเลิก

(1) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497

(2) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196 ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2515


มาตรา 4  ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น

(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้

(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น

(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้

(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต

เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
มาตรา 5  ความผิดตามมาตรา 4 เป็นความผิดอันยอมความได้

มาตรา 6  การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง แต่ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล สั่งปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันแต่ไม่มีหลักประกัน หรือมีประกันและหลักประกันไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนเงินตามเช็ค

มาตรา 7  ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ใช้เงินตามเช็คแก่ผู้ทรงเช็คหรือแก่ธนาคารภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ออกเช็คได้รับหนังสือบอกกล่าวจากผู้ทรงเช็คว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น หรือหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 4 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 8  ถ้าจำนวนเงินในเช็คแต่ละฉบับหรือหลายฉบับรวมกันไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งได้ การฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินตามเช็คนั้นจะรวมฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 9  สำหรับบรรดาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 197 ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งอยู่ในระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือการดำเนินคดีของพนักงานอัยการก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือการดำเนินคดีของพนักงานอัยการที่ได้ดำเนินการไปตามกฎหมายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นอันใช้ได้ แต่การดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่ได้มีการควบคุมหรือขังผู้ต้องหามาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้รวมกับการควบคุมหรือขังผู้ต้องหามาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ควบคุมหรือขังได้ไม่เกินกำหนดเวลาควบคุมหรือขังที่กำหนดไว้ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

มาตรา 10  สำหรับบรรดาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 196 ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2515 ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ศาลนั้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาต่อไปได้

มาตรา 11  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2565
ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนสหกรณ์จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือมีเงินเหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็ค เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ว่าในวันที่ออกเช็คนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ว่าในวันที่ออกเช็คนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้เช่นกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิดอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และกรณีนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 มาตรา 215 มาตรา 213 และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 และมาตรา 195 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1730/2565
แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ต้องกระทำโดยการแสดงเจตนาในการกระทำความผิดผ่านทางจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 กล่าวคือ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการสหกรณ์ในคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เลขานุการในคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 ร่วมกันลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ออกเช็คตามฟ้อง เพื่อชำระหนี้เงินฝากคืนแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนสหกรณ์จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ว่าในวันที่ออกเช็คนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ว่าในวันที่ออกเช็คนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิดอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามที่โจทก์ฟ้อง และกรณีนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 มาตรา 215 มาตรา 213 และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1237/2565
ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย อันเป็นองค์ประกอบในการกระทำความผิด แต่จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่ อ. ไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ อ. ทำการก่อสร้างบ้านในเฟสที่ 2 แล้ว อ. นำเช็คสองฉบับดังกล่าวมอบให้แก่โจทก์เพื่อชำระค่าวัสดุก่อสร้างที่ อ. ซื้อไปจากโจทก์ โดยหนี้ค่าก่อสร้างยังไม่เกิดขึ้นขณะที่มีการออกเช็ค เมื่อต่อมาจำเลยได้เลิกสัญญาการก่อสร้างบ้านในเฟสที่ 2 โดยไม่มีการก่อสร้างบ้านในเฟสที่ 2 ย่อมไม่มีมูลหนี้ตามเช็คทั้งสองฉบับ จำเลยออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับโดยมิใช่เป็นการชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิด จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3766/2564
เมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ตกลงซื้อสินค้าทั้งห้ารายการจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อของตนและประทับตราของจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาท 5 ฉบับ ให้แก่โจทก์โดยมอบให้แก่พนักงานขายของโจทก์ แล้วพนักงานขายของโจทก์ออกใบรับเงินค่าสินค้าทั้งห้ารายการมอบให้แก่จำเลยทั้งสองย่อมก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมีผลบังคับโดยสมบูรณ์นับแต่เวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่โจทก์คือการชำระราคาค่าสินค้าที่ซื้อ และโจทก์มีหนี้ที่จะต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 คือการส่งมอบสินค้าที่ซื้อขาย ส่วนจำเลยที่ 1 กับโจทก์จะตกลงให้ส่งมอบสินค้าที่ซื้อขายหรือจะชำระราคากันเมื่อใดนั้น ไม่เกี่ยวกับความสมบูรณ์และบังคับได้ของสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายตั้งแต่เวลาที่จำเลยทั้งสองกับโจทก์ตกลงทำสัญญาซื้อขายกันดังกล่าว เมื่อความปรากฏว่า โจทก์มอบสินค้าที่ซื้อขายให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 4 รายการ ในวันที่ 12 เมษายน 2561 อันเป็นวันเดียวกับวันที่โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และส่งมอบสินค้าแก่จำเลยที่ 1 อีก 1 รายการ ในวันที่ 25 เมษายน 2561 จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องชำระราคาซื้อขายสินค้าทั้งห้ารายการให้แก่โจทก์ภายในวันที่ลงในเช็คแต่ละฉบับ เมื่อเช็คพิพาททั้งห้าฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการใช้เงินเพราะจำเลยทั้งสองเปลี่ยนลายมือชื่อผู้มีสิทธิสั่งจ่ายเช็คของจำเลยที่ 1 ก่อนที่จะถึงวันที่ลงในเช็คฉบับที่ 1 เพียง 1 วัน และจำเลยทั้งสองมีคำสั่งห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็ค การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และออกเช็คโดยห้ามมิให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริตตามฟ้องโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2564
จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ภายหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ตามกฎหมายลักษณะตั๋วเงินประเภทเช็คซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลย โดยมิใช่กรณีกระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 หนี้ตามเช็คพิพาทไม่สามารถบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จำเลยไม่มีความผิดตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3961/2560
จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่และออกเช็คให้โจทก์ แม้หนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ ข้อ 2 เขียนว่า เช็คเงินสด เลขที่ 0094654 ลงวันที่ 11-08-2556 จำนวนเงิน 400,000 บาท ของธนาคาร ท. เลขที่บัญชี 974300XXXX เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วย และเช็คเงินสด เลขที่ 0094655 เลขที่บัญชี 974300XXXX ของธนาคาร ท. จำนวนเงิน 427,600 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวข้างต้น (เช็คลงวันที่ 11-08-2556) ให้ท่านถือไว้เป็นประกันด้วยก็ตาม แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และออกเช็คให้โจทก์ เชื่อว่าจำเลยออกเช็คดังกล่าวเพื่อชำระหนี้เงินกู้ มิใช่ออกเช็คเพื่อเป็นประกัน เมื่อหนี้ดังกล่าวมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6581 - 6582/2556
จำเลยออกเช็คให้ผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายรู้ดีว่าขณะที่ออกเช็คนั้น จำเลยไม่อาจชำระเงินตามเช็คได้ แต่จำเลยอยู่ในภาวะที่ต้องออกเช็คเพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้เสียหายในเวลาที่ผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยยังไม่มีเงินที่จะมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกับผู้เสียหายมีเจตนาใช้เช็คพิพาทเป็นการชำระหนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2556
ความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือฐานออกเช็คโดยไม่มีเงินในบัญชีอันจะพึงจ่ายให้ได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่วันที่สั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามเช็ค เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าเช็คพิพาทที่จำเลยออกไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่ายไว้ในขณะที่ออกเช็ค ย่อมถือว่าไม่มีวันที่จำเลยกระทำความผิด แม้ ป.พ.พ. มาตรา 910 ประกอบมาตรา 989 จะให้สิทธิผู้ทรงเช็คไว้ว่า ถ้าเช็ครายการใดมิได้ลงวันออกเช็ค ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้นั้น กฎหมายเพียงแต่ให้เช็คฉบับนั้นเป็นเช็คที่มีรายการสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แม้โจทก์จะอ้าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 คลาดเคลื่อนไปเป็น พ.ศ.2497 ก็ตาม แต่มิใช่ข้อสำคัญที่จะทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5388/2556
จำเลยจงใจเขียนเช็คทั้งสองฉบับด้วยการลงลายมือชื่อในเช็คไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารและจงใจเขียนตัวเลขอารบิกให้แตกต่างกันอีก พฤติการณ์ดังกล่าวส่อแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตเพื่อให้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่มีเงินในบัญชีของธนาคารดังกล่าวการกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14397/2555
เช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีการเปิดบัญชีไว้กับธนาคารในนามของ ณ. จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าว เมื่อโจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ถือว่าจำเลยออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น


คำพิพากษาฎีกาที่ 755/2547
การที่จำเลยออกเช็คโดยไม่ได้ลงวันที่สั่งจ่าย ถือได้ว่าไม่มีวันที่ผู้ออกเช็คคือจำเลยกระทำความผิด การที่ พ. และโจทก์ตกลงกันลงวันที่สั่งจ่ายเช็คพิพาท ก็เป็นเพียงแต่ให้เช็คมีรายการต่าง ๆ สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพื่อฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในทางแพ่งเท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 989 วรรคหนึ่ง ที่ให้สิทธิผู้ทรงลงวันที่สั่งจ่ายที่แท้จริงได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้